x close

เงินเฟ้อ คืออะไร ? ส่งผลกระทบอย่างไรกับ "เรา"

          เงินเฟ้อ คืออะไร อธิบายง่าย ๆ แบบที่ทุกคนเข้าใจได้ ! คนทั่วไปอย่างเราได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง สรุปแล้วเงินเฟ้อดีหรือไม่ดีต่อเศรษฐกิจ มาลองทำความเข้าใจกัน 

เงินเฟ้อ

          "เงินเฟ้อ" คำคุ้นหูที่ได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะตามหน้าหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือข่าวเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็มักจะพูดถึงอัตราเงินเฟ้อสอดแทรกมาอยู่เสมอ แต่เราเคยสงสัยบ้างไหมว่า จริง ๆ แล้ว "เงินเฟ้อ" คืออะไรกันแน่ ? มีความสำคัญและมีผลกระทบกับชีวิตเรายังไง กระปุกดอทคอม จะอธิบายให้ฟังแบบง่าย ๆ  

เงินเฟ้อ คืออะไร ?


          อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เป็นดัชนีชี้วัดราคาสินค้าและบริการในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ถ้าแบบเข้าใจง่าย ๆ เงินเฟ้อ คือ การที่สินค้ามีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง 

          เช่น 10 กว่าปีก่อน ก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 20 บาท แต่ปัจจุบันก๋วยเตี๋ยวชามละ 40 บาท ราคาก๋วยเตี๋ยวที่แพงขึ้น ทำให้เราต้องใช้เงินจำนวนเยอะขึ้น เพื่อซื้อก๋วยเตี๋ยวในปริมาณเท่าเดิม หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าเรามีเงิน 100 บาท สมัยก่อนจะซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 5 ชาม แต่วันนี้ซื้อได้เพียง 2 ชามเท่านั้น สิ่งนี้แหละที่เราเรียกว่า เงินเฟ้อ

          หรือในกรณีเราเคยซื้อสินค้าชิ้นหนึ่ง เมื่อปีที่แล้ว ราคา 100 บาท แต่ปีนี้ราคาเพิ่มเป็น 103 บาท ดังนั้นราคาเพิ่มขึ้น 3% เท่ากับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3%

          ตรงกันข้าม หากราคาสินค้าถูกลงเมื่อเทียบจากในอดีต เราก็จะเรียกสิ่งนี้ว่า "เงินฝืด" นั่นเอง สรุปคือ 

          ถ้าราคาสินค้าแพงขึ้น = เงินเฟ้อ

          ถ้าราคาสินค้าถูกลง = เงินฝืด 

วิธีคำนวณอัตราเงินเฟ้อ


          สำหรับวิธีการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน

          1. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เป็นการคิดอัตราเงินเฟ้อจากราคาสินค้าและบริการทุกประเภท รวม 7 หมวดหมู่ ได้แก่ อาหาร-เครื่องดื่ม, เครื่องนุ่งห่ม-รองเท้า, เคหสถาน, การรักษา-บริการ, พาหนะขนส่ง-การสื่อสาร, บันเทิง การอ่าน การศึกษา และยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคืออัตราเงินเฟ้อที่คนส่วนใหญ่พูดถึงกัน และเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงิน

เงินเฟ้อ

          2. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เป็นการคิดอัตราเงินเฟ้อจากราคาสินค้าและบริการ โดยที่ไม่รวมสินค้าประเภทอาหารสด (เนื้อสัตว์ ไข่ ข้าว ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม) และพลังงาน (น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาผันผวนสูง จึงสามารถสะท้อนเงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการ (Demand) ของคนได้มากขึ้น

เงินเฟ้อ

เงินเฟ้อ เกิดจากสาเหตุอะไร


          การเกิดเงินเฟ้อนั้นมีสาเหตุมาจาก 2 เรื่องหลัก ๆ ด้วยกัน คือ

          1. คนมีความต้องการซื้อสินค้ามากขึ้น (Demand-Pull Inflation) 

         
สาเหตุนี้จะเกิดจากฝั่งผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่ต้องการสินค้ามากกว่าที่ตลาดมีขาย จนทำให้สินค้าไม่เพียงพอ ผลิตไม่ทัน ดังนั้นคนขายจึงถือโอกาสนี้ปรับขึ้นราคาสินค้า เพื่อให้สมดุลกับความต้องการ และแม้ว่าราคาสินค้าจะแพงขึ้น แต่คนก็ยังต้องการซื้ออยู่ดี เหตุการณ์แบบนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อคนในประเทศรวยขึ้น มีรายได้มากขึ้น เป็นต้น   

          2. ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น (Cost-Push Inflation) 

         
อีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อ คือมาจากฝั่งผู้ผลิต ในกรณีที่ต้นทุนสูงขึ้น เช่น มีการขึ้นค่าแรง วัตถุดิบแพงขึ้น น้ำมันขึ้นราคา ทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้น โดนเก็บภาษีสูงขึ้น ฯลฯ เมื่อเป็นแบบนี้ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตาม เป็นเหตุให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา

ข้อดี-ข้อเสียของเงินเฟ้อ


          ถ้าดูเผิน ๆ เหมือนกับว่าเงินเฟ้อจะไม่ดีต่อระบบเศรษฐกิจใช่ไหม แต่ที่จริงแล้วหากสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและคนในประเทศได้เหมือนกัน เพราะเหมือนเป็นการช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตอยากขยายการลงทุนและจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้ดี

เงินเฟ้อ
         
          อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไปก็จะตามมาด้วยผลกระทบด้านลบต่าง ๆ ดังนี้

           ค่าครองชีพสูงขึ้น 

         
เมื่อของราคาแพงขึ้น เราก็ต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้า แน่นอนว่าอาจทำให้รายได้ที่เรามีอยู่ไม่เพียงพอกับการยังชีพ

          • มูลค่าของเงินลดลง 

         
เงินเฟ้อส่งผลให้ค่าของเงินลดลง หรือมีเงินเท่าเดิม แต่ซื้อสินค้าได้น้อยลง เพราะฉะนั้นใครที่ถือเงินสดไว้เฉย ๆ โดยไม่ได้นำไปลงทุนหรือทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปเงินจำนวนนั้นก็จะด้อยค่าลงเรื่อย ๆ 

          • อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลง 

         
คนส่วนใหญ่มักฝากเงินไว้กับธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยเงินฝาก แต่แน่นอนว่าหากเกิดเงินเฟ้อจะส่งผลให้มูลค่าอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่เราได้รับน้อยลงไปด้วย เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.5% ต่อปี หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ปีละ 1% แสดงว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเหลือเพียง 0.5% เท่านั้น และลองคิดดูหากเงินเฟ้อในแต่ละปีสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยล่ะ แบบนี้หมายความว่ามูลค่าเงินที่เราฝากกับธนาคารจะค่อย ๆ ลดลงทุกปีเลยนะ 

          • ภาคธุรกิจร้านค้าขายของได้น้อยลง 

         
เป็นเรื่องปกติเมื่อของราคาแพงเกินไป ผู้บริโภคอย่างเราซื้อไม่ไหว ยอดขายก็จะลดลง รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกก็จะแข่งขันได้ยากขึ้น เพราะราคาสินค้าของเราสูงกว่าประเทศอื่น ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ผู้ประกอบการบางรายอาจต้องหาทางลดต้นทุน ด้วยการชะลอการผลิต หรือย้ายฐานการผลิต และอาจนำมาสู่การเลิกจ้างพนักงานก็เป็นได้ 

          • เศรษฐกิจซบเซา 

          เมื่อคนซื้อของน้อยลง พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ดี การลงทุนชะลอตัว เกิดปัญหาการเลิกจ้าง แน่นอนว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจะแย่ลงด้วย นำมาสู่ปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย เช่น คนว่างงาน หนี้ครัวเรือน ฟองสบู่แตก
   
           ยิ่งหากรัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างรอบคอบและดีพอ ผลกระทบต่าง ๆ ยิ่งจะวนเป็นลูกโซ่ และเสี่ยงที่ปัญหาจะรุนแรงจนอาจกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) ได้เลย
 

เงินเฟ้อขั้นรุนแรง คืออะไร


          เงินเฟ้อขั้นรุนแรง หรือ Hyperinflation เป็นภาวะที่ราคาสินค้าแพงขึ้นต่อเนื่องแบบรวดเร็ว หรือมากกว่า 50% ภายใน 1 เดือน ส่งผลให้เงินด้อยค่าจนไม่มีใครต้องการ

          อย่างเช่น เหตุการณ์ในประเทศซิมบับเว ที่มีการพิมพ์เงินออกมาจำนวนมากจนเงินเฟ้อสูงเกือบ 90,000 ล้านล้านล้านเปอร์เซ็นต์ หรือวิกฤตเวเนซุเอลา (>>> วิกฤตเวเนซุเอลา ! บทเรียนแสนสาหัส ฝันร้ายของประชานิยม) ที่คนออกมาโปรยเงินทิ้งตามท้องถนน เพราะเงินกลายเป็นสิ่งไร้ค่า เพราะแค่ซื้อกระดาษชำระ 1 ม้วน ยังต้องใช้เงินถึง 2.6 ล้านโบลิวาร์ (340 บาท)

เงินเฟ้อ
ภาพจาก CRISTIAN HERNANDEZ / AFP

วิธีแก้ปัญหาเงินเฟ้อ


          อย่างที่บอกคือ เงินเฟ้อจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเมื่ออยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบัน ธปท. กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศอยู่ที่ปีละ 1-3% โดยเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญของ ธปท. สำหรับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อนั่นคือ "อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

          หากต้องการให้เงินเฟ้อลดลง ธปท. จะตัดสินใจประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินและผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น จะทำให้ธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ดึงดูดให้ประชาชนลดการใช้จ่าย นำเงินมาเก็บไว้กับตัวเองหรือธนาคารมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการและภาคเอกชนจะชะลอการลงทุนไว้ก่อน เพราะอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนสูงขึ้น 
 
          >>> อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร ? ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลอะไรกับเราบ้าง
 
          หากต้องการให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ธปท. จะตัดสินใจประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ธนาคารปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยกู้ยืมตามไปด้วย เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนกู้ยืมเงินมาลงทุนมากขึ้น ขณะที่ประชาชนเมื่อเห็นว่าการฝากเงินกับธนาคารได้ดอกเบี้ยน้อยลง ผลตอบแทนไม่คุ้ม จึงนำเงินออกมาลงทุนในสินทรัพย์อื่นแทน เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ
 

          นอกจากนี้ในฝั่งของรัฐบาลก็จะมีนโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่สามารถกำหนดทิศทางของอัตราเงินเฟ้อได้เช่นกัน อาทิ การขึ้นภาษี การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ การกำหนดราคาน้ำมัน-สินค้าทางการเกษตร เป็นต้น 

วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ทำอย่างไร


          อย่างที่รู้กันว่าความน่ากลัวของเงินเฟ้อ คือทำให้มูลค่าของเงินที่เรามีลดลง จะซื้ออะไรก็ต้องใช้เงินมากขึ้นกว่าเดิม เพราะฉะนั้นการเก็บเงินไว้เฉย ๆ คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก แต่ควรหาวิธีเพิ่มมูลค่าของเงินให้สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ ด้วยการนำไปลงทุนในแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ เช่น

          • บัญชีเงินฝากประจำ


เงินเฟ้อ
          การเลือกนำเงินออมเก็บไว้กับบัญชีเงินฝากประจำ เป็นทางเลือกที่ดีกว่าฝากไว้เฉย ๆ ในบัญชีออมทรัพย์ เพราะได้ดอกเบี้ยสูงกว่า แถมมีรูปแบบบัญชีเงินฝากปลอดภาษีให้เลือกด้วย โดยต้องฝากเงินเข้าธนาคารทุกเดือนเป็นจำนวนเท่า ๆ กัน มีทั้งแบบ 12 เดือน 24 เดือน หรือ 36 เดือน จึงเป็นอีกแนวทางง่าย ๆ ที่ช่วยสร้างผลตอบแทนของเงินเก็บให้มากขึ้น


          • พันธบัตรรัฐบาล

          เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เงินต้นไม่หาย และให้ผลตอบแทนดีกว่าฝากเงินกับธนาคาร เนื่องจากเป็นหน่วยลงทุนตราสารหนี้ของกระทรวงการคลัง โดยได้ผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาที่กำหนด ยิ่งซื้อระยะเวลานานก็ยิ่งได้ดอกเบี้ยสูงตาม อย่างไรก็ดี พันธบัตรรัฐบาล เหมาะกับคนที่มีเงินเย็นเก็บไว้โดยไม่ได้ใช้ เพราะหากจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน ไถ่ถอนก่อนกำหนด ก็จะได้รับดอกเบี้ยน้อยลง หรือมีโอกาสขาดทุนได้เลย

          • หุ้น-กองทุนรวม

          การเลือกลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวม แน่นอนว่ามาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูง แต่ถ้าเราศึกษาหาความรู้ให้ดีทุกครั้งก่อนลงทุน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนในระดับสูงได้เช่นกัน นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกออมหุ้น-กองทุนแบบ DCA (Dollar Cost Average) ด้วยการทยอยซื้อเป็นงวด ๆ ในจํานวนเงินที่เท่า ๆ กัน แบบไม่ต้องสนใจราคา เพื่อสร้างวินัยการลงทุน และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

          • ลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย

เงินเฟ้อ
 
         หากใครมีเงินเก็บเหลือเป็นจำนวนมากก็สามารถนำบางส่วนไปลงทุนกับสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของเงินให้งอกเงยได้ เพราะสินทรัพย์เหล่านี้มีความมั่นคงสูง และมูลค่ามักจะเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้ออยู่แล้ว นับเป็นอีกช่องทางที่ช่วยเอาชนะเงินเฟ้อได้

          เห็นไหมว่าเรื่องของเงินเฟ้อที่หลายคนอาจจะมองว่าไม่สำคัญและดูไกลตัว ที่จริงแล้วกลับอยู่รอบ ๆ ตัวเราทุกคนจนนึกไม่ถึงเลยล่ะ 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เงินเฟ้อ คืออะไร ? ส่งผลกระทบอย่างไรกับ "เรา" อัปเดตล่าสุด 7 มิถุนายน 2565 เวลา 16:08:20 77,282 อ่าน
TOP