วิกฤตเวเนซุเอลา ! บทเรียนแสนสาหัส ฝันร้ายของประชานิยม

          สรุป "วิกฤตเวเนซุเอลา" เกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้  ถึงทำให้เศรษฐีน้ำมัน กลับกลายเป็นประเทศยากจน !
          เศรษฐกิจตกต่ำ เงินไร้ค่า ผู้คนอดอยาก ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้าใช้ แตกแยกทางการเมือง ! ทั้งหมดนี้่คือฝันร้ายที่เกิดขึ้นกับประเทศเวเนซุเอลาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากประเทศที่เคยร่ำรวยด้วยน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติ อะไรกันที่ทำให้เวเนซุเอลา กลับต้องมาเจอปัญหารอบด้านเช่นนี้
วิกฤตเวเนซุเอลา เริ่มมาจากไหน ?

          ย้อนไปในอดีต เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก เพราะมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นกว่า 20% ของปริมาณน้ำมันดิบทั่วโลก ทำให้รายได้ของเวเนซุเอลากว่า 90% มาจากการส่งออกน้ำมันดิบ 


          จนเมื่อปี 1976 รัฐบาลของประธานาธิบดีคาร์ลอส แอนเดรส เปเรซ ออกนโยบายที่เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ก็ว่าได้ ด้วยการตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" เพื่อให้รัฐบาลเข้าไปควบคุมธุรกิจพลังงานทั้งหมดในประเทศ แทนที่จะเป็นบริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผลคือ ทำให้รัฐบาลเวเนซุเอลาตอนนั้นรวยขึ้นแบบสุด ๆ จากการขายน้ำมัน แต่กลับบริหารจัดการทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์นี้อย่างไร้ประสิทธิภาพ

วิกฤตเวเนซุเอลา

          ก่อนที่ในปี 1999 "ฮูโก ชาเวซ" จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งเขามีแนวคิดรัฐสวัสดิการ จึงนำเงินจำนวนมากมาใช้กับโครงการประชานิยมแบบสุดโต่ง เพื่อเอาใจประชาชนด้วยหวังจะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน เช่น 
อุ้มราคาสินค้า
          โดยควบคุมและกำหนดราคาสินค้าให้ถูกกว่าความเป็นจริงมาก จนภาคธุรกิจขาดทุน อยู่ไม่ได้ ต้องปิดกิจการไป ไม่มีใครผลิตสินค้า สุดท้ายรัฐบาลต้องลงมาผลิตสินค้าขายเอง หรือหากสินค้าใดขาดตลาด รัฐบาลจะใช้วิธีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทดแทน
สร้างบ้านราคาถูกกว่าท้องตลาด
          ทำลายกลไกราคาตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ด้วยการสร้างบ้านให้ประชาชนกว่า 2 ล้านหลัง เป็นเหตุให้ภาคเอกชนไม่สามารถแข่งขันได้
อุดหนุนราคาพลังงาน
          อุ้มราคาน้ำมันและไฟฟ้าให้ถูกราวกับแจกฟรี ส่งผลให้ประชาชนในประเทศผลาญพลังงานอย่างสิ้นเปลือง 
 สนับสนุนให้คนหยุดทำการเกษตร
          โดยให้นำเข้าอาหารแทบทั้งหมดจากต่างประเทศ 
ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน
          เพื่อป้องกันไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศ จนทำให้ตลาดค่าเงินเวเนซุเอลาพัง ขาดแคลนเงินสกุลต่างชาติ เป็นจุดเริ่มต้นของเงินเฟ้อขั้นรุนแรง 
วิกฤตเวเนซุเอลา

ภาพจาก CRISTIAN HERNANDEZ / AFP


          อย่างไรก็ดี ด้วยนโยบายเหล่านั้น ได้ทำให้ "ฮูโก ชาเวซ” กลายเป็นที่รักของคนยากจนในประเทศ เพราะสามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ยกคุณภาพชีวิตคนจนในเวลานั้นอย่างทั่วถึงจริง ๆ ซึ่งแม้ "ฮูโก ชาเวซ" จะเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2013 และได้ "นิโกลัส มาดูโร" ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่แทน แต่รัฐบาลก็ยังไม่หยุดใช้นโยบายประชานิยมต่อไป

เจอวิกฤตราคาน้ำมันตกต่ำ

          แต่แล้วงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมันตกต่ำ ในช่วงปี 2014-2016 ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากที่เคยสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล แน่นอนว่าเวเนซุเอลา ซึ่งพึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นหลัก รับผลกระทบไปเต็ม ๆ จนรายได้หายไปมหาศาล


          แม้จะมีสัญญาณเตือนถึงปัญหาเศรษฐกิจ ทว่า รัฐบาลกลับไม่เลือกใช้นโยบายรัดเข็มขัด แต่ยังคงเดินหน้าอัดฉีดเงินเพื่อประชานิยมต่อไป แถมยังหมดเงินจำนวนมากไปกับการซื้อเครื่องบินรบ รถถัง เพื่อเสริมกองทัพ จนต้องกู้เงินจากจีนและรัสเซีย ที่สำคัญคือ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ก็เจอกับภาวะขาดทุน เพราะการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพของภาครัฐ

วิกฤตเวเนซุเอลา

ภาพจาก Federico PARRA / AFP

พิมพ์เงินจำนวนมาก หวังแก้ปัญหา

          สุดท้ายรัฐบาลยังตัดสินใจแก้ปัญหา ด้วยการพิมพ์เงินออกมาดื้อ ๆ จำนวนมาก ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นมหาศาล เกิดเงินเฟ้อรุนแรง เมื่อกลไกค่าเงินเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ค่าเงินเวเนซุเอลาอ่อนค่าลง สินค้านำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพงขึ้น รัฐบาลจึงยกเลิกการนำเข้าสินค้าบางอย่าง ส่งผลให้อาหารและยารักษาโรคเริ่มขาดแคลน ประชาชนเริ่มอดอยาก
 
         อย่างไรก็ตาม ยิ่งเกิดภาวะเงินเฟ้อมากขึ้นเท่าไร รัฐบาลกลับยิ่งพิมพ์เงินเพิ่มแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนค่าเงิน Bolivar (โบลิวาร์) เป็นเหมือนเศษกระดาษ ในที่สุดภาวะเงินเฟ้อก็ทะลุ 80,000% ในปี 2018 โดยราคาสินค้าในเวเนซุเอลาแพงขึ้นอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นไก่สด ขายอยู่ที่ตัวละ 14.6 ล้านโบลิวาร์ หรือราว 1,900 บาท, เนื้อวัว ราคากิโลกรัมละ 9.5 ล้านโบลิวาร์ หรือราว 1,200 บาท, ข้าวสารบรรจุถุงกิโลกรัมละ 2.5 ล้านโบลิวาร์ หรือ 330 บาท กระดาษชำระม้วนละ 2.6 ล้านโบลิวาร์ หรือราว 340 บาท เป็นต้น ซึ่งราคาสินค้าที่กล่าวมาถือว่าแพงมาก เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของชาวเวเนซุเอลาที่ได้รับประมาณเดือนละ 1.8 ล้านโบลิวาร์ หรือราว 240 บาท

วิกฤตเวเนซุเอลา

ภาพจาก Federico PARRA / AFP กองธนบัตรสกุลเงินเดิม (ซ้าย) มีมูลค่าเท่ากับสกุลเงินใหม่เพียงใบเดียว (ขวา)


          ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงต้องเปลี่ยนสกุลเงินใหม่ กลายเป็น Sovereign Bolivar ด้วยการตัดเลขศูนย์ 5 ตัว เพื่อให้เงิน 100,000 Bolivar มีค่าเท่ากับ 1 Sovereign Bolivar และยังปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 3,000% เพื่อหวังให้ประชาชนมีเงินมาใช้จ่าย เป็นเหตุให้เวเนซุเอลาต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาจนถึงทุกวันนี้ และดูเหมือนสถานการณ์จะมีแต่แย่ลงเรื่อย ๆ  

วิกฤตเศรษฐกิจ สู่ความขัดแย้งทางการเมือง

          นอกจากปัญหาเศรษฐกิจที่ทำร้ายคนในประเทศนี้มายาวนาน ปัญหาทางการเมืองเองก็เลวร้ายไม่แพ้กัน ซึ่งมีต้นเหตุมาจากปี 2015 ที่พรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 1999 แต่ศาลกลับมีมติให้ "นิโกลัส มาดูโร" เป็นผู้นำรัฐบาลต่อไป เพราะมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ จากจำนวน ส.ส. ที่เข้าร่วมประชุมไม่ครบ จนกลายเป็นเหตุความรุนแรงทางการเมือง   


          และล่าสุดในปี 2018 ได้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยมี 2 แคนดิเดต คือรัฐบาลปัจจุบันอย่าง "นิโกลัส มาดูโร" และฝ่ายค้านที่นำโดย "ฮวน กุยโด" ผลปรากฏว่า "นิโกลัส มาดูโร" เป็นผู้ชนะ แต่กลับโดนวิจารณ์อย่างหนักเรื่องความไม่โปร่งใส เพราะมีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ถึง 50% ด้วยซ้ำ จนทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐอเมริกา 

วิกฤตเวเนซุเอลา

ภาพจาก Reynaldo Riobueno / Shutterstock.com


          "ฮวน กุยโด" จึงใช้โอกาสนี้ตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดี โดยมีสหรัฐฯ หนุนหลัง ขณะที่ "นิโกลัส มาดูโร" ก็ไม่ยอมเช่นกัน ยังคงนั่งในสภาต่อไป ซึ่งหนุนโดยจีนและรัสเซีย ทำให้ตอนนี้เวเนซุเอลา กลายเป็นประเทศที่มีประธานาธิบดี 2 คน โดยทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านต่างก่อเหตุปะทะกันรุนแรง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน ความบาดหมางนี้ยิ่งเหมือนเป็นการซ้ำเติมปัญหาในประเทศให้เลวร้ายขึ้นไปอีก 

ความยากลำบากของชาวเวเนซุเอลาในตอนนี้ 

เงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation)

          จนถึงตอนนี้ปัญหาเงินเฟ้อก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะควบคุมได้ และอาจทะลุ 1 ล้านเปอร์เซ็นต์ในปีนี้ เห็นได้จากที่มีคนออกมาโยนเงินทิ้งเกลื่อนถนน เพราะเหลือค่าเพียงแค่เศษกระดาษ (อ่านข่าว - เงินโบลิวาร์ไร้ค่า เวเนซุเอลาโยนเงินทิ้งเกลื่อนถนน) ขณะที่สินค้าราคาแพงมหาศาล สวนทางกับค่าแรงคนในประเทศ ซึ่งภาวะที่คนเวเนซุเอลาเจอตอนนี้ เรียกว่า เงินเฟ้อขั้นรุนแรง หรือ Hyperinflation นั่นเอง

          Hyperinflation คืออะไร ?
          ข้อมูลจาก The Guardian ให้ความหมายของ Hyperinflation ว่าเป็นภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงที่ราคาสินค้าแพงขึ้นต่อเนื่องแบบรวดเร็ว หรือมากกว่า 50% ภายใน 1 เดือน ส่งผลให้เงินด้อยค่าจนไม่มีใครอยากได้ เช่น สถานการณ์ในเวเนซุเอลาที่ต้องใช้เงินถึง 2.6 ล้านโบลิวาร์ (340 บาท) เพื่อซื้อกระดาษชำระ 1 ม้วน หรือใช้เงิน 14.6 ล้านโบลิวาร์ (1,900 บาท) ซื้อไก่ 1 ตัว

          ทั้งนี้แม้ Hyperinflation เป็นภาวะที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ก็มีหลายประเทศเคยมีบทเรียนเรื่องนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น
          - เยอรมนี ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ปี 1920
          - ฮังการี ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยมีเงินเฟ้อทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ถึง 41,900,000,000,000,000%
          - รัสเซีย หลังเกิดเหตุการณ์ล่มสลายของสหภาพโซเวียต
          - ซิมบับเว ที่พิมพ์เงินออกมาจำนวนมากจนไร้ค่า โดยเคยออกธนบัตรมูลค่า
100,000,000,000,000 ดอลลาร์ซิมบับเว ในปี 2008 ก่อนยกเลิกสกุลเงินของตัวเอง เปลี่ยนไปใช้ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2009

ขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค

วิกฤตเวเนซุเอลา

ภาพจาก Luis ROBAYO / AFP

          ปัจจุบันประชาชนจำนวนมากต้องอดอยาก ขาดแคลนอาหารและยารักษาโรคอย่างหนัก ถึงขนาดต้องต่อคิวยาวเหยียดเพื่อขออาหารจากรัฐบาล และบางคนถึงกับต้องจำใจซื้อเนื้อเน่า หรือดื่มน้ำจากท่อระบายน้ำ เพื่อประทังชีวิต ขณะที่มีเด็กทารกและผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มนับหมื่นคน เนื่องจากโรงพยาบาลขาดแคลนอาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์

ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ ไม่มีน้ำสะอาดใช้

วิกฤตเวเนซุเอลา

ภาพจาก GEORGE CASTELLANOS / AFP

           ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2019 พื้นที่ส่วนใหญ่กว่า 70% ในประเทศเวเนซุเอลา เจอกับปัญหาไฟดับติดต่อกันถึง 1 สัปดาห์แล้ว เนื่องจากโรงไฟฟ้าของเวเนซุเอลาไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อีกต่อไป ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะหยุดชะงัก โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตถูกตัดขาดไปโดยปริยาย

          การที่ไม่มีไฟฟ้านี้ยังส่งผลให้โรงพยาบาลเดือดร้อนอย่างหนัก การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบากมาก และมีผู้ป่วยโรคไตเสียชีวิต เพราะเครื่องฟอกไตและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใช้งานไม่ได้  อย่างไรก็ตามนายมาดูโร ได้อ้างว่า ปัญหาไฟดับเป็นฝีมือของกลุ่มต่อต้านที่ต้องการก่อความไม่สงบในประเทศ โดยมีสหรัฐอเมริกาสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

           ขณะเดียวกันในหลาย ๆ เมืองยังไม่มีน้ำสะอาดใช้ จากการปิดระบบประปา โดยบางเมืองรัฐบาลจะปล่อยน้ำประปาให้ใช้เพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น และแม้ว่าล่าสุด น้ำประปาในเมืองซานติเอโกจะกลับมาไหลอีกครั้งในรอบหลายเดือน แต่ทว่ากลับเจือปนด้วยน้ำมันดิบ ไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้เลย (อ่านข่าว เวเนซุเอลา ทุกข์ซ้ำ ! น้ำประปามาพร้อมน้ำมันดิบ ดำปิ๊ดปี๋ กิน-ใช้ ไม่ได้)

สงครามกลางเมือง คนเสียชีวิตจำนวนมาก

          อย่างที่บอกคือตอนนี้การเมืองเวเนซุเอลาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย จนเกิดเหตุปะทะกันต่อเนื่องจากฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คนเข้าไปแล้ว โดยนายมาดูโร มีเสียงสนับสนุนจากประเทศจีนและรัสเซีย ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย เลือกยืนข้างนายกุยโด ขณะที่ชาติยุโรปอีกหลายประเทศ ออกมาเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่

          ขณะที่ความยากจนข้นแค้น ได้ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาสร้างความรุนแรง ก่ออาชญากรรม ปล้นสะดม พยายามกักตุนทุกอย่างเอาไว้ เพื่อความอยู่รอดของชีวิต

คนหนีตายออกนอกประเทศ

วิกฤตเวเนซุเอลา

ภาพจาก Luis ROBAYO / AFP

 

          คนเวเนซุเอลาต่างสิ้นหวังกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจนถึงปัจจุบัน มีคนเวเนซุเอลามากกว่า 3 ล้านคนแล้วที่เลือกอพยพออกนอกประเทศ หวังไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยส่วนใหญ่เลือกที่จะหนีไปประเทศเพื่อนบ้านอย่าง โคลอมเบีย บราซิล เปรู และชิลี 

 

          วิกฤตเวเนซุเอลา เป็นมหากาพย์ที่สะสมมายาวนานหลายสิบปี ตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ผู้ซึ่งเริ่มต้นใช้นโยบายรัฐสวัสดิการ กระทั่งปัญหามาปะทุขึ้นในสมัยประธานาธิบดีมาดูโร เมื่อ "น้ำมัน" ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นท่อหล่อเลี้ยงชีพของชาวเวเนซุเอลา มีราคาตกลงอย่างฮวบฮาบ ปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมจึงปรากฏขึ้นดังทุกวันนี้ และยังคงไม่มีใครทราบว่าจะจบลงอย่างไร ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าทุกฝ่ายจะหาทางออกให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนชาวเวเนซุเอลาตื่นจากฝันร้ายนี้สักที

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
NBC, Worldatlas, The Guardian, Aljazeera, CGTN, BBC  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิกฤตเวเนซุเอลา ! บทเรียนแสนสาหัส ฝันร้ายของประชานิยม อัปเดตล่าสุด 16 มีนาคม 2562 เวลา 08:59:04 271,407 อ่าน
TOP
x close