กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ความหมายคืออะไร เกี่ยวข้องกับคนทั่วไปอย่างเราไหม แล้วจะมีผลอย่างไรกับเงินฝาก เงินกู้หรือเปล่า ไปหาคำตอบกัน
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 จาก 0.75% ต่อปี เหลือ 0.50% ต่อปี ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประมาณการเดิมตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาด และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด 19 จึงต้องลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยภาคธุรกิจและลดภาระลูกหนี้
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า ดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะมีผลกระทบอะไรกับคนทั่วไปอย่างเรา ๆ หรือไม่ ถ้าเช่นนั้นลองไปทำความเข้าใจกัน
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า ดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะมีผลกระทบอะไรกับคนทั่วไปอย่างเรา ๆ หรือไม่ ถ้าเช่นนั้นลองไปทำความเข้าใจกัน
ดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร
ดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศกำหนดขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และเป็นเครื่องมือหลักในการส่งสัญญาณนโยบายการเงิน โดยมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลดอกเบี้ยนโยบายให้เป็นไปภายใต้กรอบของเงินเฟ้อไม่ให้เกิน 3% เพื่อที่จะควบคุมปริมาณเงินในระบบให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องใช้ "ดอกเบี้ยนโยบาย" ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในตลาดว่าควรอยู่ที่เท่าไร ตามแต่ละสถานการณ์ เช่น
- ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา แบงก์ชาติจะประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น กระตุ้นให้คนถอนเงินไปจับจ่ายใช้สอย หรือนำเงินไปลงทุนมากขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
- ในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจเติบโตเร็วเกินไป เงินเฟ้อสูง ข้าวของแพง แบงก์ชาติก็จะประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดปริมาณเงินในระบบลง จูงใจให้ประชาชนออมเงินมากขึ้น ก็จะทำให้การใช้จ่ายในครัวเรือนลดลง เมื่อดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น คนขอสินเชื่อน้อยลง การลงทุนต่าง ๆ ก็จะลดลง จึงช่วยชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้เงินเฟ้อลดลงได้
ทั้งนี้ หากอัตราดอกเบี้ยของไทยสูงเกินไป ยังไปสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ นำเงินออมมาลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนของไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะสั้น และไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
นอกจากจะมีผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยแล้ว การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก็อาจส่งผลต่อคนทั่วไปอย่างเรา ๆ ในหลาย ๆ เรื่อง ดังนี้
* ดอกเบี้ยเงินฝาก
อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับคนที่ชอบเก็บเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์เพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อ กนง. ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารตามไปด้วย ทำให้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากน้อยลง คนทั่วไปก็จะเห็นว่าการฝากเงินในธนาคารได้ดอกเบี้ยนิดเดียว ไม่น่าสนใจ แทนที่จะนำไปฝากธนาคาร ก็นำเงินไปจับจ่ายใช้สอย หรือเคลื่อนย้ายเงินทุนไปในส่วนอื่นแทน ทำให้เงินหมุนเวียนและกระจายในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
พูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากลดลง จะทำให้คนไม่ค่อยอยากฝากเงินในธนาคาร หรืออาจถอนเงินจากธนาคารแล้วไปลงทุนสินทรัพย์อื่น ๆ แทน เช่น ตลาดหุ้น ทองคำ ฯลฯ เพราะได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก
* คนกู้บ้าน-ขอสินเชื่อบ้าน
สำหรับคนที่เป็นหนี้อยู่และต้องชำระค่างวดสินเชื่อต่าง ๆ เช่น ค่าผ่อนบ้าน อยู่ทุกเดือน หากสัญญาที่เราทำไว้เป็นแบบ "ดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว" (Floating Rate) ก็ได้รับผลดีจากการที่ภาระดอกเบี้ยลดลงตามไปด้วย หรือถ้าจะรีไฟแนนซ์บ้านในช่วงนี้ก็เป็นโอกาสดี แต่ถ้าเป็น "ดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่" (Fixed Rate) ที่มักเป็นสัญญากู้ซื้อรถ จะไม่ได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย เพราะยังต้องจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราเดิม
* นักลงทุนและผู้ประกอบการ
เช่นเดียวกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง ผู้ประกอบการที่กู้เงินมาลงทุนอยู่ก็จะจ่ายดอกเบี้ยถูกลง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง หรือสำหรับผู้ประกอบการที่คิดจะขยับขยายธุรกิจ หรือคนทั่วไปที่อยากเปิดกิจการใหม่ ก็สามารถใช้จังหวะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง รีบขอสินเชื่อมาทำธุรกิจในช่วงนี้ก็ได้เช่นกัน ทำให้ธุรกิจขยายตัว ภาคเอกชนมีการลงทุนมากขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ
* ผลตอบแทนพันธบัตร
ทั้งพันธบัตรและตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะปรับลดลงเช่นเดียวกับดอกเบี้ยเงินฝาก
* ราคาสินค้า
เมื่อราคาสินค้าแพง (เงินเฟ้อสูง) > แบงก์ชาติจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย > ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง > ราคาสินค้าถูกลง (เงินเฟ้อต่ำ) > แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ > คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้เงินเฟ้อสูง
* ค่าเงินบาท
จะสังเกตเห็นว่าก่อนแบงก์ชาติประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นมาพอสมควร เนื่องจากเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามา ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้เงินลงทุนต่างชาติไหลออกไปยังประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกดีขึ้น เพราะในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ราคาสินค้าไทยจะดูแพงขึ้นในสายตาต่างประเทศ แต่เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง ต่างชาติจะมองว่าสินค้าไทยมีราคาถูกลง
* ตลาดหุ้น
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 กนง. ได้ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วถึง 4 ครั้ง จาก 1.50% ต่อปี มาอยู่ที่ 0.50% ต่อปี สะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ชะลอตัวอย่างชัดเจน ยิ่งมาเจอพิษ COVID-19 ซ้ำเติมเศรษฐกิจทั่วโลก จึงเป็นที่น่าจับตาว่า หลังจากนี้ ทาง กนง. จะงัดมาตรการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมาใช้อีกหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้น เราอาจมีโอกาสได้เห็นดอกเบี้ยเงินฝากลดลงเหลือ 0% ก็เป็นได้
*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 21 พฤษภาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลจาก