อ้อ...ก่อนออกเดินทางท่องเที่ยว อย่าลืมเช็กค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยน เช็กสภาพอากาศ ติดตามข่าวสถานการณ์บ้านเมือง รวมถึงพกบัตรเครดิต และทำประกันการเดินทางไว้ เพื่อความอุ่นใจ สบายใจตลอดการเดินทางด้วยนะ
• คนไทยนิยมไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น โดยปี 2560 สูงถึง 8.83 ล้านคน มียอดใช้จ่ายสูงถึง 286.02 พันล้านบาท และมีทริปเฉลี่ยเกือบ 4 ทริปต่อปี
• K-Expert แนะนำให้คุณลองเลือกประเทศที่ไปเที่ยวจากการดูค่าเงินในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ นำโดยประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยุโรปตะวันออก ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้
ใกล้จะปลายปีแล้ว ไปเที่ยวไหนดีนะ ? ญี่ปุ่น เกาหลี หรือยุโรปดี ?
จากตัวเลขจะเห็นว่า คนไทยนิยมไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงมียอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยปี 2560 มีจำนวนนักท่องเที่ยวขาออกสูงถึง 8.83 ล้านคน มียอดใช้จ่ายรวม 286.02 พันล้านบาท ส่วนจุดหมายปลายทางว่าประเทศไหนคนไทยชอบไปกันมาก ก็หนีไม่พ้นโซนเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้
นอกจากนี้ จากผลสำรวจแผนการท่องเที่ยวระดับโลกของวีซ่า (Visa Global Travel Intentions Study) ถึงการวางแผนท่องเที่ยวในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยสำรวจเกี่ยวกับเทรนด์และพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักเดินทาง 17,500 ราย จาก 27 ประเทศทั่วโลก พบว่า นักท่องเที่ยวไทยติดอับดับการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยที่สุด ด้วยจำนวนทริปที่คาดว่าจะเพิ่มเป็นปีละ 3.9 ทริปภายในปี 2562
ย้อนกลับมาคำถามที่ว่า แล้วปีนี้จะไปเที่ยวไหนดี ?
โดยทั่วไป ถ้าจะเดินทางออกนอกประเทศเพื่อการพักผ่อนหรือไปเที่ยวกับครอบครัวในวันหยุดยาว การเลือกประเทศจุดหมายปลายทางนั้นอาจมาจากความชอบ สายการบินขยายเส้นทาง จุดหมายปลายทางใหม่ ๆ งบประมาณหรือการจัดโปรโมชั่นราคา
แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา สังเกตไหมว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในมุมคนอยากไปเที่ยวนอก การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเท่ากับว่าเราใช้เงินจำนวนเท่าเดิม แต่จะแลกเงินของประเทศปลายทางได้เพิ่มขึ้น และนั่นก็หมายความว่า ไปเที่ยวแล้วคุ้มขึ้นนั่นเอง !!! ได้เวลาไปเที่ยวแล้วสิเรา
ลองปักหมุดประเทศปลายทางจากค่าเงิน
อันดับแรก K-Expert เอาตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่าง ๆ ในปี 2561 เทียบกับปี 2562 พบว่า ในทุกประเทศประเทศหลักนั้น เงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบทั้งหมด นำมาโดยประเทศแถบสแกนดิเวียอย่าง สวีเดน นอร์เวย์ ตามมาด้วยประเทศในแถบยุโรปตะวันออกอย่าง ฮังการี เช็ก โปแลนด์
ส่วนประเทศยอดนิยมสำหรับชาวไทยอย่างญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน หรือเวียดนามที่เป็นน้องใหม่มาแรงสำหรับนักเดินทาง ค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นเช่นกัน แต่อาจจะน้อยกว่าหน่อย อย่างไรก็ดี ถือว่ายังเหมาะกับการจัดกระเป๋าเดินทางไปเยือน
คำถามคือ อัตราแลกเปลี่ยนมีผลกับการเลือกประเทศไปเที่ยวจริงเหรอ ?
ตัวอย่างงานศึกษาของ World Travel & Tourism Council ที่ใช้ตัววัดที่เรียกว่า Visitor-weighted exchange rate เพื่อดูผลจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินต่อตัวเลขการท่องเที่ยวในประเทศต่าง ๆ พบว่า การแข็งขึ้นหรืออ่อนลงของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนักท่องเที่ยว มีผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศปลายทาง เช่น เม็กซิโกมีนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศที่ใช้เงินสกุล USD เป็นหลัก ดังนั้นช่วงปี 2012-2015 ที่เงิน USD แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบเปโซ นักท่องเที่ยวรู้สึกว่างบเที่ยวของพวกเขาถูกลงไปมาก จึงส่งผลให้ออกเดินทางไปนอกประเทศและมีผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวในเม็กซิโกนั่นเอง
ดังนั้น คุณอาจลองเล็งประเทศปลายทางสำหรับทริปถัดไป จากตารางอัตราแลกเปลี่ยนข้างบนดูก็ได้นะ
เช็กสภาพอากาศว่า อยากไปเที่ยวแบบไหน
อีกเรื่องที่พลาดไม่ได้เวลาวางแผนเที่ยว ก็หนีไม่พ้นการเช็กสภาพอากาศของประเทศปลายทาง บางประเทศเหมาะที่จะไปเพียงบางฤดูกาล อย่างโซนสแกนดิเนเวีย แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่มีอะไรให้เที่ยวได้ ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะแถบเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลองมาดูตัวอย่างกันหน่อยว่า ในกลุ่มประเทศที่ค่าเงินถูกลง เดือนไหนเป็นฤดูอะไรกันบ้าง
ก่อนออกเดินทาง อยากให้เตรียมอีกนิด
หลังจากเลือกประเทศได้แล้ว เลือกช่วงเวลาสำหรับการเดินทางแล้ว อยากฝากให้คุณตามข่าวสถานการณ์บ้านเมือง ของประเทศปลายทางด้วยว่าเป็นอย่างไร หลายครั้งที่บางประเทศเกิดความไม่สงบทางการเมือง พายุเข้า แผ่นดินไหว เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยระหว่างเดินทาง และคงอรรถรสในการเที่ยวนั่นเอง
นอกจากนี้ ประกันการเดินทางก็เป็นอีกสิ่งที่อยากให้เตรียมไป หลายประเทศเป็นข้อบังคับ แต่นอกเหนือจากนั้น ก็เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน คุณจะได้มีคนดูแลค่าใช้จ่าย อีกทั้งการพกบัตรเครดิตที่เหมาะสมกับการใช้งานในต่างประเทศไปด้วย นอกจากจะไว้ใช้เผื่อกรณีแลกเงินไปไม่พอ ก็ยังมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้ใช้ระหว่างเดินทางไม่ว่าจะเป็น การช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย หรือ Privilege อื่น ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับทริปของคุณเพิ่มขึ้นอีกด้วย
สุดท้ายเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณได้ที่เที่ยวในทริปถัดไปของคุณแล้วหรือยัง ?
K-Expert Action
• ตั้งงบประมาณในการเดินทางท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้า และพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ภายใต้งบประมาณนั้น
• เลือกแบบความคุ้มครองของประกันการเดินทางที่ต้องการและให้ครอบคลุมระยะเวลาในการเดินทาง
kasikornbank.com