x close

ประกันสุขภาพ เหมาจ่าย ที่ไหนดี ปี 2567 เปรียบเทียบแผนวงเงินค่ารักษา 3-5 ล้านบาท

           ประกันสุขภาพ เหมาจ่าย ตัวไหนดี ใครอยากทำประกันสุขภาพในปี 2567 ลองมาอ่านข้อมูลเปรียบเทียบประกันสุขภาพ แผนความคุ้มครอง 3-5 ล้านบาทของแต่ละค่ายกัน
ประกันสุขภาพเหมาจ่าย 2567

           หลายคนเก็บออมเงิน มานานแสนนาน แต่เมื่อล้มป่วยหรือประสบอุบัติเหตุกะทันหัน เงินที่อุตส่าห์ออมไว้กลับต้องนำออกมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลจนเกือบหมด การทำประกันสุขภาพ จึงเป็นหนึ่งในตัวช่วยป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน เพราะหากเจ็บป่วยขึ้นมาวันไหนก็ยังเบิกเคลมจากประกันได้บ้าง ไม่ต้องควักเงินก้อนใหญ่เอง ซึ่งปัจจุบันแบบประกันที่นิยมมากคือ ประกันสุขภาพ เหมาจ่าย ที่ให้ความคุ้มครองค่อนข้างครอบคลุม แต่สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกทำประกันสุขภาพตัวไหนดี วันนี้เรามีความรู้เบื้องต้นพร้อมเปรียบเทียบแผนประกันสุขภาพ ปี 2567 มาให้พิจารณา

ประกันสุขภาพมีแบบไหนบ้าง

          ประกันสุขภาพ คือ ประกันที่บริษัทจะจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้ในกรณีเจ็บป่วย โดยมีอยู่หลายแบบ เช่น

  • ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน (IPD) : คุ้มครองค่าใช้จ่ายกรณีมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 6 ชั่วโมงขึ้นไป เช่น การผ่าตัดต่าง ๆ ทั้งจากอาการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ

  • ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก (OPD) : คุ้มครองค่าใช้จ่ายกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล เช่น เป็นหวัด ท้องเสีย มีทั้งแบบวงเงินต่อครั้ง และวงเงินเหมาจ่ายต่อปี

  • ประกันโรคร้ายแรง : คุ้มครองเมื่อผู้ทำประกันป่วยด้วยโรคร้ายแรงตามเงื่อนไขที่กำหนด บางแผนคุ้มครองเฉพาะโรคหลัก ๆ เช่น มะเร็ง หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย แต่บางแผนก็ครอบคลุมหลายโรค โดยมีทั้งแบบให้เงินก้อนแบบเจอ จ่าย จบ กับกรณีจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ แต่จะไม่ได้เงินก้อน

  • ประกันชดเชยรายได้ : เป็นแผนที่เราจะได้เงินชดเชยเป็นรายวัน เมื่อต้องนอนโรงพยาบาลหรือผ่าตัด และไม่สามารถออกไปทำงานได้

  • ประกันคุ้มครองการคลอดบุตร : ให้วงเงินค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร หรือกรณีต้องรักษาภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์และคลอดบุตร

  • ประกันสุขภาพอื่น ๆ : เช่น ให้ความคุ้มครองกรณีตรวจสุขภาพประจำปี รักษาโรคทางตา รักษาทันตกรรม โรคจิตเวช ฯลฯ

ประกันสุขภาพเหมาจ่าย คืออะไร

ประกันสุขภาพเหมาจ่าย

          ประกันสุขภาพเหมาจ่าย คือ ประกันสุขภาพที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตามจริง ภายในวงเงินที่กำหนดขึ้นอยู่กับแผนความคุ้มครองที่เราเลือก ซึ่งประกันสุขภาพเหมาจ่ายค่อนข้างครอบคลุมกว่าประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่าย ที่กำหนดวงเงินค่ารักษาพยาบาลแต่ละประเภท ทำให้บางครั้งต้องจ่ายค่ารักษาส่วนเกิน

          เช่น หากมีค่าใช้จ่ายจากการผ่าตัด 100,000 บาท กรณีทำประกันสุขภาพเหมาจ่ายแผนความคุ้มครองมากกว่า 100,000 บาท มักจะไม่ต้องจ่ายส่วนเกินเอง แต่หากเลือกทำประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่าย และมีวงเงินค่าผ่าตัดเพียง 50,000 บาท เราต้องจ่ายส่วนที่เหลือเองอีก 50,000 บาท

          ด้วยเหตุนี้ ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายจึงให้ความคุ้มครองสูงกว่า เพราะครอบคลุมหลายรายการ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเบี้ยประกันที่สูงกว่าประกันสุขภาพแยกค่าใช้จ่าย

สิ่งที่ควรพิจารณา
ก่อนซื้อประกันสุขภาพ

  • มีงบประมาณแค่ไหน : ประกันสุขภาพปรับเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ตามอายุ ดังนั้น ให้วางแผนดูก่อนว่าปัจจุบันเรามีกำลังจ่ายไหวแค่ไหน และค่าเบี้ยประกันในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นเท่าไร เพราะเป็นช่วงที่เบี้ยเพิ่มขึ้นสูงมากเป็นเท่าตัว จากปกติเคยจ่ายหลักหมื่นในวัยทำงานอาจกลายเป็นหลักแสนได้เลย

  • มีสวัสดิการอะไรอยู่บ้าง : หากตัวเองมีสวัสดิการราชการ สวัสดิการจากที่ทำงาน หรือมีประกันสุขภาพเล่มเดิมอยู่แล้ว แต่ต้องการซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติม สามารถเลือกแผนประกันที่มีความรับผิดส่วนแรก (Deduction) ได้ จะช่วยให้เราจ่ายค่าเบี้ยประกันถูกลงกว่า 30-80%
    โดยความรับผิดส่วนแรก (Deduction) ของแต่ละบริษัทจะมีให้เลือกในวงเงินแตกต่างกัน เช่น ถ้าเลือกความรับผิดส่วนแรก 30,000 บาท หมายความว่า หากเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลครั้งนั้น เราจะต้องจ่ายเองก่อน 30,000 บาท โดยส่วนนี้สามารถเบิกจากสวัสดิการต่าง ๆ ที่มีอยู่ แล้วส่วนที่เกิน 30,000 บาท ประกันถึงจะจ่ายให้ 

  • มีความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บมากแค่ไหน : คนชอบนอนดึก สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารไม่ครบหมู่ ทำงานในบริเวณที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือมีโรคทางกรรมพันธุ์ ย่อมมีโอกาสป่วยได้ง่ายกว่าคนอื่น ต้องวางแผนเลือกประกันสุขภาพที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น มีวงเงินค่ารักษาพยาบาลสูง มีวงเงินเพิ่มเติมกรณีป่วยโรคร้าย หรือซื้อประกันโรคร้ายแรง ประกันชดเชยรายได้เพิ่มเติม

วิธีเลือกประกันสุขภาพเหมาจ่าย

ประกันสุขภาพ เหมาจ่าย ที่ไหนดี

          ก่อนซื้อประกันสุขภาพสักเล่มควรเปรียบเทียบแผนความคุ้มครองต่าง ๆ โดยพิจารณาดังนี้

  • วงเงินความคุ้มครอง : ตรวจสอบให้ดีว่าแผนประกันเล่มนั้นให้ความคุ้มครองในวงเงินต่อการรักษาพยาบาลครั้งใดครั้งหนึ่ง หรือให้ความคุ้มครองต่อปีกรมธรรม์ เช่น 

    • แผน A คุ้มครอง 5 ล้านบาทต่อครั้ง หมายความว่า ในการเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคเดียวกันจะสามารถเคลมได้ตามจริง แต่ไม่เกินครั้งละ 5 ล้านบาท หากปีนั้นป่วย 2 ครั้งในช่วงต้นปีและปลายปี ก็จะได้วงเงินค่ารักษาสูงสุด 10 ล้านบาท 

    • แผน B คุ้มครอง 5 ล้านบาทต่อปี หมายความว่า ไม่ว่าจะป่วยด้วยโรคอะไร เข้าโรงพยาบาลกี่ครั้งก็ตามภายในปีกรมธรรม์นั้น จะมีวงเงินค่ารักษารวมทั้งปีให้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทเท่านั้น

  • ค่าห้องพัก : แผนประกันที่ขายในปัจจุบันมีค่าห้องพักอยู่ 2 แบบ คือ

    • กำหนดวงเงินค่าห้องพักต่อวัน เช่น จำกัดที่ 3,000 บาทต่อวัน ดังนั้น ถ้าเราเลือกนอนห้องที่มีราคาสูงกว่าวงเงิน 3,000 บาท ส่วนที่เกินเราต้องจ่ายเอง

    • จ่ายตามจริงในราคาห้องเดี่ยวมาตรฐานของโรงพยาบาล หมายความว่า ไม่ว่าเราจะเข้าโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ เอกชนทั่วไป โรงพยาบาลรัฐ หากนอนห้องพักเดี่ยวราคาเริ่มต้นของโรงพยาบาลนั้น ประกันจะจ่ายให้ทั้งหมด เราจึงไม่ต้องจ่ายส่วนเกิน

  • อายุที่รับประกันและการต่ออายุ : ถ้าจะทำประกันสุขภาพเด็กก็ต้องเลือกแผนที่รับประกันตั้งแต่อายุน้อย ๆ และหากต้องการให้ประกันเล่มนี้คุ้มครองไปยาว ๆ ควรเลือกแผนที่ให้ต่ออายุได้จนถึงอายุ 80-99 ปี เพื่อจะได้ไม่ต้องไปทำเล่มใหม่กลางทาง ซึ่งยิ่งอายุมากขึ้นหรือมีโรคประจำตัวแล้วก็ยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธการรับประกัน

  • ความคุ้มครองชีวิต : การทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตจะต้องทำพ่วงกับประกันชีวิตหลัก 1 เล่ม ซึ่งเราเลือกได้ว่าต้องการวงเงินคุ้มครองชีวิตเท่าไร แต่หากทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย ส่วนใหญ่จะสามารถซื้อแยกได้เลย ไม่ต้องพ่วงประกันชีวิต

  • ความคุ้มครองโรคร้ายแรง : แผนประกันสุขภาพเหมาจ่ายให้ความคุ้มครองโรคร้ายแรงอยู่แล้ว และจะมีบางแผนที่เพิ่มวงเงินค่ารักษาให้อีกเมื่อเป็นโรคร้ายแรงที่กำหนด ทำให้ได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้น 

  • ความคุ้มครองกรณีล้างไต เคมีบำบัด-เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษาโรคมะเร็ง : หลายค่ายให้ความคุ้มครองส่วนนี้แบบเหมาจ่ายตามจริง แต่บางค่ายไม่ได้ให้ความคุ้มครองส่วนนี้ หรือให้ความคุ้มครองในวงเงินที่จำกัด เราก็ต้องพิจารณาให้ดีว่าตัวเองมีความเสี่ยงแค่ไหนที่จะป่วยด้วยโรคไตหรือมะเร็ง

  • ความคุ้มครองผู้ป่วยนอก OPD : บางแผนมีวงเงินค่ารักษาพยาบาลกรณี OPD รวมมาให้ในแพ็กเกจแล้ว แต่บางแผนไม่มี หรือบางแผนต้องซื้อออปชั่นเสริมเพิ่มเอง ดังนั้น ใครมักป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปหาหมอบ่อย ๆ อาจจะเลือกแผนที่มี OPD ซึ่งแน่นอนว่าเบี้ยประกันย่อมแพงกว่า หรือถ้างบประมาณไม่พอก็อาจเลือกใช้สิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคม บัตรทอง หรือตามสวัสดิการของตัวเองแทน 

  • ความคุ้มครองอื่น ๆ เพิ่มเติม : หลายแผนมีออปชั่นพิเศษเพิ่มเข้ามา เช่น มีค่าตรวจสุขภาพประจำปี ค่าฉีดวัคซีน ทำฟัน ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังออกจากโรงพยาบาล ค่าเวชภัณฑ์นอกร่างกาย ค่าเตียงเสริมเฝ้าไข้ ผลประโยชน์กรณีเสียชีวิต ค่าทำ MRI หรือ CT Scan ฯลฯ ให้ลองพิจารณาดูว่าเราต้องการมาก-น้อยแค่ไหน 

          นอกจากเปรียบเทียบแผนประกันสุขภาพแล้ว อย่าลืมพิจารณาความน่าเชื่อถือของบริษัทที่รับประกันด้วยว่าสภาพคล่องทางการเงินยังดีอยู่ไหม การเบิกเคลมยุ่งยากหรือไม่ รวมทั้งมีจำนวนโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญามาก-น้อยแค่ไหน โดยเฉพาะคนที่พักอาศัยในต่างจังหวัด หากเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่คู่สัญญา เราจะต้องออกค่ารักษาเองไปก่อนถึงค่อยทำเรื่องเบิกเคลมภายหลัง

ประกันสุขภาพเหมาจ่าย ที่ไหนดี
แผน 3-5 ล้านบาท

           เนื่องจากประกันสุขภาพมีอยู่หลายแผนความคุ้มครอง วันนี้เลยขอนำข้อมูลเปรียบเทียบประกันสุขภาพ เหมาจ่าย แผนที่มีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล 3-5 ล้านบาทของแต่ละค่ายมาให้พิจารณา

1. ประกันสุขภาพ Health Fit DD จากไทยประกันชีวิต

ประกันสุขภาพ ไทยประกันชีวิต

ภาพจาก : ไทยประกันชีวิต

          แผนประกันสุขภาพเหมาจ่ายที่ให้ความคุ้มครองถึงอายุ 99 ปี โดยหากเลือกแผน 5 ล้านบาท จะมีวงเงินค่าห้องผู้ป่วยใน 3,000 บาท/วัน ค่ายากลับบ้าน 20,000 บาท/ครั้ง ส่วนอื่น ๆ จ่ายตามจริง รวมถึงกรณีต้องล้างไตหรือทำเคมีบำบัด แต่ถ้าต้องการความคุ้มครองผู้ป่วยนอก (OPD) ด้วย สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มได้ และสำหรับคนที่มีสวัสดิการเดิมอยู่แล้วก็ยังเลือกแบบที่มีความรับผิดส่วนแรกได้ตั้งแต่ 30,000-100,000 บาท

  • อายุรับประกัน : 1 เดือน - 80 ปี (ต่ออายุได้ถึง 98 ปี คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี)

  • แผนประกัน : มี 4 แผน คือ 1 ล้าน / 5 ล้าน / 15 ล้าน / 30 ล้านบาท

  • การประกันชีวิต : ต้องทำประกันชีวิตเป็นแผนหลักก่อน 

  • ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : 0 / 30,000 / 50,000 / 100,000 บาทต่อครั้ง
ตัวอย่างความคุ้มครองแผน 5 ล้านบาท
  • ค่ารักษาพยาบาล : เหมาจ่ายตามจริงไม่เกิน 5 ล้านบาท/ปีกรมธรรม์

  • ค่าห้อง : 3,000 บาท/วัน สูงสุด 365 วัน (ICU จ่ายตามจริง)

  • ค่าแพทย์ : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ายากลับบ้าน : 20,000 บาท/ครั้ง

  • ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน-หลังนอนโรงพยาบาล 30 วัน : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ภายใน 24 ชม. : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังนอนโรงพยาบาล (เช่น กายภาพบำบัด) : เหมาจ่ายตามจริง (สูงสุด 2 ครั้งต่อการรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง)

  • ค่าล้างไต เคมีบำบัด-เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษาโรคมะเร็ง : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) : ไม่คุ้มครอง แต่สามารถซื้อเพิ่มได้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ไทยประกันชีวิต

2. ประกันสุขภาพลักซ์ชัวรี่ แคร์ จากซัมซุงประกันชีวิต

ประกันสุขภาพ ซัมซุงประกันชีวิต

ภาพจาก : ซัมซุงประกันชีวิต

          สัญญาเพิ่มเติม ลักซ์ชัวรี่ แคร์ จากซัมซุงประกันชีวิต มีแผน 3 ล้านบาท และ 5 ล้านบาท ให้เลือก จุดเด่นของค่ายนี้คือ เพิ่มความคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุร้ายแรงเป็น 2 เท่า เช่น แผน 4 จะให้ความคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุทั่วไปสูงสุด 5 ล้านบาท/ปี และคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุร้ายแรง 10 ล้านบาท/ปี มีค่าห้องผู้ป่วยในวันละ 6,000 บาท ค่ายากลับบ้าน 20,000 บาท นอกนั้นจ่ายตามจริง และยังพ่วงความคุ้มครองผู้ป่วยนอกให้อีก 7,500 บาท/ปี ไม่ต้องซื้อเพิ่ม

  • อายุรับประกัน : 30 วัน ถึง 65 ปี (ต่ออายุได้ถึง 98 ปี ให้ความคุ้มครองถึงอายุ 99 ปี)

  • แผนประกัน : มี 7 แผน คือ 5 แสนบาท / 1.5 ล้าน / 3 ล้าน /  5 ล้าน / 15 ล้าน / 20 ล้าน / 30 ล้านบาท

  • การประกันชีวิต : ต้องทำประกันชีวิตเป็นแผนหลักก่อน 

  • ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : 0 / 25,000 / 50,000 / 100,000 บาทต่อครั้ง
ตัวอย่างความคุ้มครองแผน 5 ล้านบาท
  • ค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยและอุบัติเหตุทั่วไป : เหมาจ่ายตามจริงไม่เกิน 5 ล้านบาท/ปีกรมธรรม์

  • ค่ารักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุทั่วไปร้ายแรง : เหมาจ่ายตามจริงไม่เกิน 10 ล้านบาท/ปีกรมธรรม์

  • ค่าห้อง : 6,000 บาท/วัน สูงสุด 365 วัน (ICU จ่ายตามจริง)

  • ค่าแพทย์ : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ายากลับบ้าน : 20,000 บาท/ครั้ง

  • ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน-หลังนอนโรงพยาบาล 30 วัน : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ภายใน 24 ชม. : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังนอนโรงพยาบาล (เช่น กายภาพบำบัด) : เหมาจ่ายตามจริง (สูงสุด 15 ครั้งต่อการรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง)

  • ค่าล้างไต เคมีบำบัด-เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษาโรคมะเร็ง : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) : มีวงเงินค่ารักษาให้ 7,500 บาท/ปี 

  • ค่ารักษาพยาบาลจากการผ่าตัด จากความผิดปกติที่เกิดจากโรคหรืออาการหยุดหายใจขณะหลับ : เหมาจ่ายตามจริง สูงสุด 1 ครั้ง/ปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : ซัมซุงประกันชีวิต

3. ประกันสุขภาพ BLA Happy Health จากกรุงเทพประกันชีวิต

ประกันสุขภาพ กรุงเทพประกันชีวิต

ภาพจาก : กรุงเทพประกันชีวิต

          BLA Happy Health มีแผนประกันสุขภาพเหมาจ่ายที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล 5 ล้านบาท/ครั้ง ต่างกับค่ายอื่นที่เป็นวงเงินต่อปี อีกทั้งยังเพิ่มวงเงินให้อีก 5 แสนบาท สำหรับการรักษาพยาบาลโรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ยังไม่จำกัดวงเงินค่าห้อง ขอแค่เป็นห้องพักเดี่ยวมาตรฐานของโรงพยาบาลนั้น ๆ ก็เบิกเคลมได้ทั้งหมด ไม่ต้องจ่ายส่วนเกินเอง แต่จะจำกัดวงเงินค่าล้างไต เคมีบำบัด เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษาโรคมะเร็ง อยู่ที่ 100,000 บาท/ปี และไม่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกทุกกรณี รวมถึงกรณีอุบัติเหตุ

  • อายุรับประกัน : 11-80 ปี และสามารถซื้อความคุ้มครองต่อไปได้เท่ากับระยะเวลาเอาประกันภัยของสัญญาประกันชีวิต สูงสุดถึงอายุ 99 ปี

  • แผนประกัน : มี 4 แผน คือ แผน 5 แสน / 1 ล้าน / 5 ล้าน / 10 ล้านบาท

  • การประกันชีวิต : ต้องทำประกันชีวิตเป็นแผนหลักก่อน 

  • ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : 0 / 30,000 / 50,000 / 100,000 บาทต่อครั้ง และสามารถปรับลดความรับผิดส่วนแรกได้โดยไม่ต้องแถลงสุขภาพใหม่ในช่วงอายุ 55-65 ปี
ตัวอย่างความคุ้มครองแผน 5 ล้านบาท
  • ค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ : เหมาจ่ายตามจริงไม่เกิน 5 ล้านบาท/ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้งต่อปี)

  • ค่ารักษาพยาบาลกรณีป่วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง : เหมาจ่ายตามจริงไม่เกิน 5.5 ล้านบาท/ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้งต่อปี)

  • ค่าห้อง : จ่ายตามค่าห้องพักเดี่ยวราคาเริ่มต้นของโรงพยาบาล สูงสุด 180 วัน (ICU จ่ายตามจริง)

  • ค่าแพทย์ : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ายากลับบ้าน : 20,000 บาท/ครั้ง

  • ค่ารักษาและค่าบริการทางการแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน-หลังนอนโรงพยาบาล 30 วัน : 2,000 บาท/ครั้ง

  • ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ภายใน 24 ชม. : ไม่คุ้มครอง

  • ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังนอนโรงพยาบาล (เช่น กายภาพบำบัด) : ไม่คุ้มครอง

  • ค่าล้างไต เคมีบำบัด-เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษาโรคมะเร็ง : 100,000 บาท/ปี

  • ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) : ไม่คุ้มครอง แต่สามารถซื้อเพิ่มได้

ข้อมูลเพิ่มเติม : กรุงเทพประกันชีวิต

4. ประกันสุขภาพ D Health Plus จากเมืองไทยประกันชีวิต

ประกันสุขภาพ เมืองไทยประกันชีวิต

ภาพจาก : เมืองไทยประกันชีวิต

         อีกหนึ่งแผนประกันสุขภาพที่ให้ผลประโยชน์เหมาจ่าย 5 ล้านบาท/ครั้ง และไม่จำกัดค่าห้อง โดยสามารถพักในห้องเดี่ยวมาตรฐานของโรงพยาบาลได้แบบไม่ต้องจ่ายค่าห้องส่วนเกิน พร้อมกับให้ความคุ้มครองเหมาจ่ายกรณีตรวจวินิจฉัยก่อน-หลังนอนโรงพยาบาล 30 วัน รวมถึงกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ แต่จะไม่คุ้มครองค่าล้างไต เคมีบำบัด-เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษาโรคมะเร็ง

  • อายุรับประกัน : อายุ 11-90 ปี และคุ้มครองสูงสุดถึง 99 ปี

  • แผนประกัน : มี 2 แผน คือ แผน 1 ล้านบาท และแผน 5 ล้านบาท

  • การประกันชีวิต : ต้องทำประกันชีวิตเป็นแผนหลักก่อน 

  • ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : 0 / 30,000 / 50,000 / 100,000 บาทต่อครั้ง และสามารถปรับลดความรับผิดส่วนแรกได้โดยไม่ต้องแถลงสุขภาพใหม่ในช่วงอายุ 55-65 ปี
ตัวอย่างความคุ้มครองแผน 5 ล้านบาท
  • ค่ารักษาพยาบาล : เหมาจ่ายตามจริงไม่เกิน 5 ล้านบาท/ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้งต่อปี)

  • ค่าห้อง : จ่ายตามค่าห้องพักเดี่ยวมาตรฐานของโรงพยาบาล สูงสุด 180 วัน (ICU จ่ายตามจริง)

  • ค่าแพทย์ : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ายากลับบ้าน : 20,000 บาท/ครั้ง

  • ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน-หลังนอนโรงพยาบาล 30 วัน : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ภายใน 24 ชม. : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังนอนโรงพยาบาล (เช่น กายภาพบำบัด) : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่าล้างไต เคมีบำบัด-เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษาโรคมะเร็ง : ไม่คุ้มครอง แต่สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มได้

  • ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก : ไม่คุ้มครอง แต่สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มได้

ข้อมูลเพิ่มเติม : เมืองไทยประกันชีวิต

5. ประกันสุขภาพ AIA Health Happy จากเอ ไอ เอ

ประกันสุขภาพ aia

ภาพจาก : AIA

          สัญญาเพิ่มเติมเอไอเอ เฮลธ์ แฮปปี้ แผน 5 ล้านบาท จุดเด่นอยู่ที่เพิ่มผลประโยชน์ให้เป็น 2 เท่า เมื่อป่วยด้วยโรคร้ายแรงเป็นครั้งแรกตามเงื่อนไขที่กำหนด เท่ากับว่าจะได้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเป็น 10 ล้านบาท เป็นเวลาต่อเนื่องรวม 4 ปีกรมธรรม์ และให้เงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตอีก 10,000 บาท อย่างไรก็ตาม แผนนี้จำกัดค่าแพทย์ที่วันละ 2,000 บาท และไม่คุ้มครองผู้ป่วยนอก ยกเว้นว่าจะเลือกแผน 25 ล้านบาท ถึงมีวงเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกให้ 2,000 บาท/ครั้ง สูงสุดปีละ 30 ครั้ง

  • อายุรับประกัน : 6-75 ปี ต่ออายุถึง 98 ปี คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี

  • แผนประกัน : มี 4 แผน คือ แผน 1 ล้าน / 5 ล้าน / 15 ล้าน / 25 ล้านบาท

  • การประกันชีวิต : ต้องทำประกันชีวิตเป็นแผนหลักก่อน 

  • ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : ไม่มี

ตัวอย่างความคุ้มครองแผน 5 ล้านบาท
  • ค่ารักษาพยาบาล : เหมาจ่ายตามจริงไม่เกิน 5 ล้านบาท/ปี

  • ค่ารักษาพยาบาลกรณีป่วยโรคร้ายแรงที่กำหนด : เพิ่มค่ารักษาให้เป็น 10 ล้านบาท/ปี รวม 4 ปีกรมธรรม์ต่อเนื่อง

  • ค่าห้อง : 3,000 บาท/วัน สูงสุด 365 วัน (ICU จ่ายตามจริง)

  • ค่าแพทย์ : 2,000 บาท/วัน

  • ค่ายากลับบ้าน : 20,000 บาท/ครั้ง

  • ค่าบริการทางการแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน-หลังนอนโรงพยาบาล 30 วัน : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ภายใน 24 ชม. : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังนอนโรงพยาบาล (เช่น กายภาพบำบัด) : เหมาจ่ายตามจริง (สูงสุด 2 ครั้ง/ปี)

  • ค่าล้างไต เคมีบำบัด-เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษาโรคมะเร็ง : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) : ไม่คุ้มครอง 

  • ผลประโยชน์กรณีเสียชีวิต : 10,000 บาท

ข้อมูลเพิ่มเติม : AIA

6. ประกันสุขภาพ Tokio Good Health จาก โตเกียวมารีนประกันชีวิต

ประกันสุขภาพ โตเกียวมารีน

ภาพจาก : โตเกียวมารีนประกันชีวิต

          ประกันสุขภาพเหมาจ่าย สัญญาเพิ่มเติม โตเกียว กู๊ด เฮลธ์ (Tokio Good Health) เป็นแผนที่ให้ความคุ้มครองค่อนข้างครบถ้วน โดยแผนที่ให้ผลประโยชน์ 3 ล้านบาท/ปีกรมธรรม์ มีทั้งค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ซึ่งหากปีไหนไม่ได้ใช้วงเงินผู้ป่วยนอกก็สามารถใช้ตรวจสุขภาพประจำปีหรือฉีดวัคซีนแทนได้ นอกจากนี้ยังให้ความคุ้มครองเพิ่มเป็น 2 เท่า คือ 6 ล้านบาท เมื่อป่วยด้วยโรคร้ายแรง 18 โรค และยังเหมาะเป็นประกันสุขภาพเด็ก เนื่องจากมีค่าเตียงเสริมให้ผู้ปกครอง กรณีเฝ้าไข้ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี

  • อายุรับประกัน : 1 เดือน 1 วัน - 70 ปี (ต่ออายุได้ถึง 84 ปี คุ้มครองถึง 85 ปี)

  • แผนประกัน : มี 9 แผน คือ แผน 5 แสน / 1 ล้าน / 2 ล้าน / 3 ล้าน / 6 ล้าน / 12 ล้าน / 30 ล้าน / 80 ล้าน / 120 ล้านบาท

  • การประกันชีวิต : ต้องทำประกันชีวิตเป็นแผนหลักก่อน 

  • ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : ไม่มี

ตัวอย่างความคุ้มครองแผน 3 ล้านบาท
  • ค่ารักษาพยาบาล : เหมาจ่ายตามจริงไม่เกิน 3 ล้านบาท/ปีกรมธรรม์

  • ค่าห้อง : 6,000 บาท/วัน สูงสุด 365 วัน (ICU จ่ายตามจริง)

  • ค่าแพทย์ : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ายากลับบ้าน : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน-หลังนอนโรงพยาบาล 30 วัน : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ภายใน 24 ชม. : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังนอนโรงพยาบาล (เช่น กายภาพบำบัด) : 10,000 บาท

  • ค่าล้างไต เคมีบำบัด-เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษาโรคมะเร็ง : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก : 8,000 บาท/ปี (สามารถใช้ตรวจสุขภาพประจำปี หรือฉีดวัคซีนได้)

  • ค่าเตียงเสริมบิดา-มารดา สำหรับผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี : 6,000 บาท/วัน

  • ค่าเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ เช่น เฝือกอ่อน อวัยวะเทียมนอกร่างกาย : 10,000 บาท/ปี

  • ค่าพยาบาลเฝ้าไข้เมื่อพักฟื้นที่บ้าน : 2,000 บาท/วัน (สูงสุด 28 วัน)

  • กรณีป่วยด้วยโรคร้ายแรง 18 โรคที่กำหนด : เพิ่มความคุ้มครองเป็น 6 ล้านบาท

ข้อมูลเพิ่มเติม : โตเกียวมารีนประกันชีวิต

7. ประกันสุขภาพ iHealthy Ultra จากกรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต

ประกันสุขภาพ กรุงไทย axa

ภาพจาก : กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต

          หากต้องการวงเงินคุ้มครอง 3-5 ล้านบาทต่อปี ทางกรุงไทย-แอกซ่า มีแผนสมาร์ท 3 ล้านบาท ที่ให้ค่าห้อง 1,500 บาท/วัน ส่วนอื่น ๆ เหมาจ่ายเกือบทั้งหมด ครอบคลุมทั้งค่ารักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุภายใน 24 ชั่วโมง ค่าตรวจวินิจฉัยก่อน-หลังเป็นผู้ป่วยใน รวมทั้งค่าล้างไต ทำเคมีบำบัด แต่แผนนี้ไม่คุ้มครองผู้ป่วยนอก OPD และไม่มีทางเลือกความรับผิดส่วนแรก

  • อายุรับประกัน : 6 - 80 ปี (ต่ออายุได้ถึง 89 ปี คุ้มครองถึงอายุ 90 ปี)

  • แผนประกัน : มี 6 แผน คือ 3 ล้าน / 10 ล้าน / 15 ล้าน / 25 ล้าน / 70 ล้าน / 100 ล้านบาท

  • การประกันชีวิต : ต้องทำประกันชีวิตเป็นแผนหลักก่อน 

  • ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : ไม่มี
ตัวอย่างความคุ้มครองแผน 3 ล้านบาท
  • ค่ารักษาพยาบาล : เหมาจ่ายตามจริงไม่เกิน 3 ล้านบาท/ปีกรมธรรม์

  • ค่าห้อง : 1,500 บาท/วัน สูงสุด 365 วัน (ICU จ่ายตามจริง)

  • ค่าแพทย์ : 1,000 บาท/วัน (อายุ 6-10 ขวบ) และเหมาจ่ายสำหรับผู้ป่วยอายุ 11 ปีขึ้นไป 

  • ค่ายากลับบ้าน : เหมาจ่าย (สูงสุด 15 วัน/ครั้ง)

  • ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน-หลังนอนโรงพยาบาล 30 วัน : เหมาจ่ายตามจริง (สูงสุด 2 ครั้งต่อการรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง)

  • ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ภายใน 24 ชม. : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังนอนโรงพยาบาล (เช่น กายภาพบำบัด) : ไม่คุ้มครอง

  • ค่าล้างไต เคมีบำบัด-เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษาโรคมะเร็ง : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) : ไม่คุ้มครอง

ข้อมูลเพิ่มเติม : กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต

8. ประกันสุขภาพ Precious Care จาก FWD

ประกันสุขภาพ fwd

ภาพจาก : FWD Thailand

         สำหรับคนที่ต้องการวงเงินคุ้มครอง 3-5 ล้านบาท ทาง FWD จะมีแผนซิลเวอร์ เหมาจ่ายตามจริงไม่เกิน 3 ล้านบาท/ปีกรมธรรม์ ซึ่งวงเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในยังครอบคลุมค่าผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ รวมทั้งกรณีศัลยกรรมเต้านม/องคชาตจากอุบัติเหตุหรือโรคร้ายแรง และครอบคลุมกรณีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตร ให้ค่าห้องวันละ 4,000 บาท และคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก 5,000 บาท/ปี 

  • อายุรับประกัน : 6-75 ปี ต่ออายุได้ถึง 84 ปี คุ้มครองถึงอายุ 85 ปี

  • แผนประกัน : มี 6 แผน คือ แผนบรอนซ์ (1 ล้าน) / ซิลเวอร์ (3 ล้าน) / โกลด์ (6 ล้าน) / แพลทินัม (12 ล้าน) / แซฟไฟร์ (40 ล้าน) / ไดมอนด์ (100 ล้าน)

  • การประกันชีวิต : ต้องทำประกันชีวิตเป็นแผนหลักก่อน 

  • ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : 0 / 30,000 / 50,000 บาทต่อครั้ง
ตัวอย่างความคุ้มครองแผน 3 ล้านบาท
  • ค่ารักษาพยาบาล : เหมาจ่ายตามจริงไม่เกิน 3 ล้านบาท/ปี โดยครอบคลุมค่าผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ รวมทั้งกรณีศัลยกรรมเต้านมและองคชาตจากอุบัติเหตุหรือโรคร้ายแรง 

  • ค่าห้อง : 4,000 บาท/วัน (ICU จ่ายตามจริง)

  • ค่าแพทย์ : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ายากลับบ้าน : เหมาจ่ายตามจริง (สูงสุด 14 วัน)

  • ค่ารักษาและค่าบริการทางการแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน-หลังนอนโรงพยาบาล 30 วัน : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ภายใน 24 ชม. : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังนอนโรงพยาบาล (เช่น กายภาพบำบัด) : เหมาจ่ายตามจริง (สูงสุด 2 ครั้ง/ปี)

  • ค่าล้างไต เคมีบำบัด-เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษาโรคมะเร็ง : เหมาจ่ายตามจริง

  • ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) : วงเงินค่ารักษาพยาบาล 5,000 บาท/ปี

  • ค่าใช้จ่ายกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตรจากการตั้งครรภ์ธรรมชาติ : เหมาจ่ายตามจริง

ข้อมูลเพิ่มเติม : FWD
ตาราง ประกันสุขภาพ

ประกันสุขภาพ คุ้มครองทันทีเลยไหม

          การทำประกันสุขภาพไม่ได้คุ้มครองทันที แต่จะมีระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง หรือระยะเวลารอคอย (Waiting Period) ตามเงื่อนไขที่ประกันแต่ละฉบับกำหนด โดยส่วนใหญ่หากเป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป จะมีระยะเวลารอคอย 30 วัน แต่ถ้าเป็นการเจ็บป่วยด้วยอาการเนื้องอก ถุงน้ำหรือมะเร็งทุกชนิด การตัดทอนซิลหรืออะดีนอยด์ ริดสีดวงทวาร นิ่วทุกชนิด ไส้เลื่อนทุกชนิด เส้นเลือดขอดที่ขา ต้อเนื้อหรือต้อกระจก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จะมีระยะเวลารอคอย 120 วัน

          นั่นหมายความว่า หากเราเจ็บป่วยในช่วงระยะเวลารอคอยจะไม่สามารถเคลมประกันได้ ซึ่งที่ต้องกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ก็เพราะป้องกันคนที่มีอาการป่วยอยู่แล้วมาทำประกัน เพื่อหวังเคลมเงินประกันนั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม หากประกันสุขภาพฉบับนั้นมีการประกันอุบัติเหตุอยู่ด้วย ส่วนนี้จะได้รับความคุ้มครองทันทีหลังกรมธรรม์อนุมัติ ไม่มีระยะเวลารอคอย

ประกันสุขภาพ ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่

กรณีทำประกันสุขภาพให้ตัวเอง

          ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตแล้วจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท โดยประกันสุขภาพที่นำมาลดหย่อนได้ มีดังนี้

  • ประกันให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ

  • ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก

  • ประกันภัยโรคร้ายแรง

  • ประกันภัยการดูแลระยะยาว

กรณีทำประกันสุขภาพให้พ่อ-แม่

          สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ

  • บิดา-มารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป

  • บิดาหรือมารดาต้องอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 180 วัน ในปีภาษีนั้น

  • ลูกที่จะใช้สิทธิต้องเป็นบุตรตามกฎหมายเท่านั้น บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิได้

  • ลูกสามารถใช้สิทธิได้หลายคน โดยหารเฉลี่ยกัน เช่น ลูก 2 คน ร่วมกันซื้อประกันสุขภาพให้บิดา จำนวน 15,000 บาท ดังนั้น ลูกแต่ละคนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพบิดาไปลดหย่อนภาษีได้คนละ 7,500 บาท

  • แบบประกันสุขภาพของบิดา-มารดาที่นำมาลดหย่อนภาษีได้จะต้องเป็นความคุ้มครองด้านใดด้านหนึ่งใน 4 ด้านเท่านั้น คือ ค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย กรณีเจ็บป่วยทั่วไป, ค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย กรณีอุบัติเหตุ, ประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง และประกันคุ้มครองการพยาบาลสำหรับการเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care)

           ทั้งนี้ ก่อนทำประกันสุขภาพควรศึกษาข้อมูล ทำความเข้าใจในเงื่อนไขต่าง ๆ ของแผนประกันโดยละเอียด เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเวลาเบิกเคลม

บทความที่เกี่ยวข้องกับประกันสุขภาพ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (1), (2), ไทยประกันชีวิต, ซัมซุงประกันชีวิต, กรุงเทพประกันชีวิต, เมืองไทยประกันชีวิต, AIA, โตเกียวมารีนประกันชีวิต, กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต, FWD

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประกันสุขภาพ เหมาจ่าย ที่ไหนดี ปี 2567 เปรียบเทียบแผนวงเงินค่ารักษา 3-5 ล้านบาท อัปเดตล่าสุด 15 มีนาคม 2567 เวลา 15:21:54 20,441 อ่าน
TOP