x close

Blockchain คืออะไร มาทำความรู้จักกันก่อนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

          ทำความรู้จักระบบ Blockchain คืออะไร มีข้อดียังไง และมีหลักการทำงานอย่างไรบ้าง ก่อนเตรียมตัวรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
Blockchain

          จากนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทยที่คนพูดถึงกันมากที่สุด ณ ขณะนี้ โดยจะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อให้คนไทยจับจ่ายใช้สอยผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านระบบบล็อกเชน ทำให้หลายคนคงเกิดความสงสัยว่า Blockchain คืออะไร มีข้อดียังไง และมีหลักการทำงานอย่างไรบ้าง ในวันนี้เราจะพาไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน

Blockchain คืออะไร

          บล็อกเชน (Blockchain) คือ เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) กล่าวคือ ไม่มีตัวกลางเก็บข้อมูล และไม่มีใครเป็นเจ้าของข้อมูล เพราะข้อมูลจะถูกจัดเก็บในรูปแบบของบล็อก (Block) หลาย ๆ บล็อกที่เชื่อมต่อกันเป็นเส้นเครือข่าย (Chain) ผ่านการเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกจะถูกส่งต่อไปยังคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ของทุกคนที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย (Node) เพื่อให้ช่วยยืนยันการทำธุรกรรมกันเอง ทำให้ทุกคนรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของข้อมูล และยากต่อการปลอมแปลง ซึ่งส่งผลให้การทำธุรกรรมและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วย Blockchain โปร่งใสและมีความปลอดภัยสูง

Blockchain มีหลักการทำงานอย่างไร

Blockchain

1. บันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมในรูปแบบบล็อก

          เมื่อมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้นในเครือข่าย Blockchain ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมนั้น ๆ จะถูกรวบรวมและบันทึกลงในบล็อก โดยภายในแต่ละบล็อกจะประกอบด้วยข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ของการทำธุรกรรม เช่น ชื่อผู้ทำธุรกรรม ลักษณะของการทำธุรกรรม เวลาที่ทำธุรกรรม เป็นต้น

2. แต่ละบล็อกจะเชื่อมต่อกับบล็อกก่อนหน้าและบล็อกถัดไป

          เมื่อบล็อกรวบรวมและบันทึกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จะทำการเชื่อมต่อกับบล็อกในเครือข่ายที่อยู่หน้าและบล็อกที่อยู่ถัดไป โดยบล็อกจะยืนยันเวลาและลำดับที่แน่นอนของการทำธุรกรรม รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเส้นเครือข่าย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลของบล็อกใดบล็อกหนึ่งหรือเพิ่มบล็อกใหม่แทรกระหว่างบล็อกที่มีอยู่แล้ว

3. บล็อกเชื่อมต่อกันเป็นเส้นที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้

          ยิ่งมีบล็อกข้อมูลใหม่ถูกเพิ่มเข้ามาในเครือข่ายมากเท่าไร ยิ่งทำให้ข้อมูลของบล็อกที่มีอยู่ก่อนหน้าตรวจสอบได้ง่ายขึ้น จึงไม่มีใครสามารถลักลอบปลอมแปลงหรือแก้ไขข้อมูลในบล็อก เพราะจะส่งผลกระทบต่อเส้นเครือข่ายทั้งหมด ดังนั้นการทำธุรกรรมจึงเชื่อถือได้

จุดเด่นและข้อดีของ Blockchain

Blockchain

1. ความน่าเชื่อถือ

           สามารถเชื่อถือได้ว่าข้อมูลธุรกรรมจะถูกต้องแม่นยำ และมีเฉพาะสมาชิกในเครือข่ายเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้

2. ความปลอดภัย

           บล็อกเชนจะไม่จัดเก็บข้อมูลใด ๆ ไว้ที่ศูนย์กลาง แต่จะถูกกระจายไปยังเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ดังนั้นความถูกต้องของข้อมูลจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกในเครือข่ายทั้งหมด และทุก ๆ ธุรกรรมที่ผ่านการตรวจสอบจะถูกบันทึกไว้ถาวร ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลหรือธุรกรรมใด ๆ ได้ แม้จะเป็นผู้ดูแลระบบก็ตาม ข้อมูลจึงปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัว

3. ความมีประสิทธิภาพ

           Blockchain สามารถบันทึกสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) ที่เป็นระบบการทำงานอัตโนมัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยสัญญาเหล่านี้จะทำงานเมื่อเงื่อนไขตรงตามที่กำหนดไว้ ทำให้กระบวนการธุรกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็วและไร้ความผิดพลาด

4. ความรวดเร็ว

          หากเรานำเช็คไปเข้าธนาคารในวันศุกร์ เราต้องรอถึงวันจันทร์ถึงได้รับเงิน เพราะสถาบันทางการเงินปิดทำการในวันเสาร์-อาทิตย์ ขณะที่บล็อกเชนทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เราจึงสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ตลอดเวลาโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที

5. ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย

          เนื่องจากบล็อกเชนมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างแม่นยำ หน่วยงานที่ใช้ระบบนี้จึงไม่จำเป็นต้องหาบุคคลที่สาม หรือสร้างระบบขึ้นมาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอีก จึงช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้

          นอกจากนี้หากนำบล็อกเชนมาปรับใช้กับการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ แต่ละคนก็สามารถโอนเงินให้กันได้ (Peer to Peer) โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง เช่น ธนาคาร ผู้โอนก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม

Blockchain มีประโยชน์ยังไงบ้าง

Blockchain

         เนื่องจาก Blockchain มีคุณสมบัติที่สามารถจัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ จึงทำให้ปัจจุบันถูกนำมาใช้งานในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้

  • การเงิน : เช่น การโอนเงินข้ามประเทศที่ช่วยให้ทำธุรกรรมได้เร็วขึ้น รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการโอนเงินจริงผ่านธนาคาร

  • ธุรกิจ : เช่น การระดมทุน ICO (Initial Coin Offering) โดยบริษัทที่ต้องการเงินทุนจะเสนอขายโทเคนให้ผู้ลงทุนที่สนใจโครงการนั้น 

  • อสังหาริมทรัพย์ : เช่น การทำสัญญา Smart Contract เพื่อช่วยตรวจสอบข้อมูลและลดตัวกลางในการทำสัญญา

  • การแพทย์ : เช่น นำบล็อกเชนมาใช้เก็บข้อมูลทางการแพทย์ที่ต้องมีความเป็นส่วนตัวสูง หรือใช้สำหรับการวิจัยทางการแพทย์

  • อุตสาหกรรมบันเทิง : เป็นช่องทางให้ศิลปินมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังป้องกันเรื่องลิขสิทธิ์ได้

  • โลจิสติกส์ : ใช้ในการติดตามกระบวนการผลิตและการขนส่งสินค้า ซึ่งจะทราบได้ว่าสินค้ามีปริมาณเท่าไร หมดอายุเมื่อไร ถูกส่งไปเมื่อไร เป็นต้น

  • โภชนาการและอาหาร : ใช้ติดตามแหล่งกำเนิดของอาหาร และระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการจัดจำหน่าย

  • ภาครัฐ : ใช้ในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลของประชาชน และสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วประเทศ จึงง่ายต่อการตรวจสอบ

  • การเมืองและการเลือกตั้ง : หากลงคะแนนผ่านระบบบล็อกเชน จะช่วยลดปัญหาการนับคะแนนผิดและการทุจริตต่าง ๆ เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ลงคะแนนไปแล้วได้

  • ธุรกิจประกัน : ช่วยลดความซับซ้อนในกระบวนการของการเคลมและการชดเชย

ข้อเสียและข้อจำกัดของ Blockchain

Blockchain

          ถึงแม้ว่า Blockchain จะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็มีข้อเสียหรือข้อจำกัดบางประการเช่นกัน ดังต่อไปนี้

1. ไม่สามารถแก้ไขได้

          เนื่องจาก Blockchain เป็นระบบที่ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงย้อนหลังได้ จึงทำให้ข้อมูลหรือธุรกรรมใด ๆ ที่ถูกบันทึกลงใน Blockchain แล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้อีก จึงควรตรวจสอบให้ดีก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง

2. ใช้พลังงานสูง

          Blockchain ที่ยิ่งมีจำนวนสมาชิกเข้าถึงมาก ยิ่งมีความโปร่งใสและปลอดภัยสูง แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยการใช้พลังงานที่สูงขึ้นตามไปด้วย

3. การเก็บรักษา Private Key

          กุญแจส่วนตัว หรือ Private Key เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการเข้าถึงทรัพย์สินหรือเงินดิจิทัล ซึ่งผู้ใช้จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบและเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะได้รู้วิธีเก็บ Private Key อย่างปลอดภัย เพราะถ้าหากสูญเสีย Private Key ไปแล้ว จะทำให้เสียบัญชีและทรัพย์สินดิจิทัลไปตลอดกาล

4. ความเป็นส่วนตัว

         Blockchain ที่แชร์แบบสาธารณะ อาจทำให้คนอื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือการทำธุรกรรมที่เป็นส่วนตัวได้ ซึ่งถึงแม้ว่า Blockchain จะมีความปลอดภัยสูง แต่หากต้องการแก้ไขหรือลบข้อมูลที่เป็นส่วนตัวจะไม่สามารถทำได้

5. บางครั้งใช้เวลาทำธุรกรรมนาน

          บล็อกเชนทำงานได้เร็วก็จริง แต่หากมีการเพิ่มบล็อกใหม่ให้กับบล็อกเชนจะต้องใช้เวลาประมวลผลนานพอสมควร ทำให้ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าในแต่ละบล็อกเชนควรมีขนาดเท่าไรถึงจะเหมาะสมต่อการจัดเก็บข้อมูล

6. มีต้นทุนทางเทคโนโลยี

          การใช้ Blockchain มีต้นทุนในเรื่องเทคโนโลยี หรือค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ ที่เพิ่มเข้ามาค่อนข้างมาก เช่น การตั้งเซิร์ฟเวอร์ การสร้างระบบในการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรม หรือในกรณีที่เราต้องการขุดบิตคอยน์ก็ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ที่มีกำลังแรง ยังไม่รวมถึงค่าไฟและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

7. อาจถูกนำไปใช้ในทางผิดกฎหมาย

           แม้ว่าเครือข่ายบล็อกเชนจะถูกป้องกันจากแฮกเกอร์ แต่ก็ยังมีการอนุญาตให้มีการซื้อ-ขายที่ผิดกฎหมายบนเครือข่ายบล็อกเชนอยู่ อย่างในต่างประเทศเคยมีกรณีที่เว็บมืดให้ผู้ใช้เข้ามาซื้อ-ขายสินค้าผิดกฎหมายได้ผ่านสกุลเงินดิจิทัล
          ทั้งหมดนี้ก็คือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบ Blockchain สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยังไม่ค่อยรู้จักเทคโนโลยีนี้ หวังว่าจะได้ความรู้ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์กันนะครับ

บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชน

ขอบคุณข้อมูลจาก : ธนาคารกสิกรไทย, ibm.com, investopedia.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Blockchain คืออะไร มาทำความรู้จักกันก่อนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท อัปเดตล่าสุด 2 กันยายน 2566 เวลา 00:12:36 37,893 อ่าน
TOP