x close

Stablecoin คืออะไร เกี่ยวข้องกับวงการคริปโตยังไง ?

           ทำความรู้จักกับ Stablecoin คืออะไร เกี่ยวข้องกับวงการคริปโตและเหรียญ LUNA อย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

            หลังจากเกิดปรากฏการณ์เหรียญ LUNA ราคาดิ่งลงเหว จนทำให้หลายคนที่อยู่ในวงการคริปโทเคอร์เรนซีขาดทุนอย่างหนัก และนั่นก็ทำให้ช่วงนี้มีคนพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า Stablecoin กันค่อนข้างมาก แต่สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักว่ามันคืออะไร แล้วเกี่ยวข้องกับเหรียญ LUNA อย่างไร วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน
Stablecoin คืออะไร ?
Stablecoin

            Stablecoin คือกลุ่มเหรียญคริปโตประเภทหนึ่งที่มีจุดเด่นที่แตกต่างจากคริปโตประเภทอื่นคือ มีการอ้างอิงกับค่าเงินหรือสินทรัพย์บางอย่างไว้ เช่น อ้างอิงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ้างอิงกับราคาทอง ราคาน้ำมัน เพื่อตรึงมูลค่าของเหรียญให้มีความมั่นคง ไม่ผันผวนสูงเหมือนกับเหรียญคริปโตทั่ว ๆ ไป ทำให้ Stablecoin มีรูปแบบคล้ายกับเงินจริง ๆ ที่สามารถรักษามูลค่าในตัวเองได้ รวมทั้งเหมาะเป็นที่พักเงินไว้ในขณะที่ราคาเหรียญคริปโตอื่น ๆ กำลังอยู่ในช่วงผันผวนสูง
Stablecoin มีประเภทไหนบ้าง
Stablecoin

1. Stablecoin ที่ผูกมูลค่าไว้กับค่าเงิน

            Stablecoin ประเภทนี้จะถูกนำไปผูกไว้กับค่าเงิน (FIAT) สกุลเงินต่าง ๆ ของโลก ยกตัวอย่างเช่น เหรียญ USDT ที่ผูกกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทผู้ออกเหรียญจะต้องมีเงินดอลลาร์สหรัฐฝากธนาคารไว้ในจำนวนที่เท่ากับจำนวนเหรียญ USDT ที่อยู่ในตลาดด้วย แต่สามารถตรวจสอบได้ยากว่าบริษัทมีเงินฝากไว้เท่ากับจำนวนเหรียญทั้งหมดในตลาดจริงหรือไม่

2. Stablecoin ที่ผูกมูลค่าไว้กับสินทรัพย์

            เป็น Stablecoin ที่ผูกไว้กับสินทรัพย์มีค่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ น้ำมัน หุ้น และอื่น ๆ  ยกตัวอย่างเช่น เหรียญ PAXG (PAX Gold) ที่ผูกไว้กับทองคำ ซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานหรือตัวกลางที่ทำหน้าที่ดูแลและออกเหรียญเช่นเดียวกับ Stablecoin ที่ผูกไว้กับค่าเงิน

3. Stablecoin ที่ผูกมูลค่าไว้กับคริปโต

           Stablecoin ประเภทนี้จะถูกสร้างขึ้นมาโดยมีคริปโตอย่างเช่น Bitcoin มาค้ำ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้คริปโตในการค้ำมากกว่ามูลค่า Stablecoin ที่สร้างขึ้นมา เนื่องจากว่าคริปโตนั้นมีความผันผวนที่ค่อนข้างสูง แต่มีข้อดีคือไม่ต้องมีตัวกลางใด ๆ 

4. Stablecoin แบบ Algorithmic

           เป็น Stablecoin ที่ไม่ได้ผูกมูลค่าไว้กับอะไร แต่ใช้ระบบ Smart Contract ในการควบคุมปริมาณเหรียญในตลาด โดยในช่วงที่เหรียญมีราคาต่ำเกินไป ระบบก็จะปรับลดจำนวนเหรียญในตลาดลง เพื่อลดปริมาณ Supply ให้เหรียญมีราคาสูงขึ้น หรือถ้าเหรียญมีราคาสูงเกินไป ระบบก็จะปรับเพิ่มจำนวนเหรียญในตลาดแทน เพื่อให้เหรียญกลับมามีราคาต่ำลง
ตัวอย่าง Stablecoin ที่ควรรู้จัก
           หากพูดถึงเหรียญ Stablecoin ทั้งหมดนั้น จะมีอยู่มากกว่า 200 เหรียญ แต่ถ้าให้ยกตัวอย่างเฉพาะเหรียญที่มีมูลค่าในตลาด (Market Cap) สูง ๆ ก็มีดังนี้

1. USDT (Tether)

Stablecoin

            เป็น Stablecoin ตัวแรกของโลกที่ออกเมื่อปี 2014 โดยบริษัท Tether Limited ของฮ่องกง มีดอลลาร์สหรัฐเป็นสินทรัพย์อ้างอิงในอัตรา 1 USDT : 1 USD ปัจจุบัน (เดือนพฤษภาคม 2565) มีมูลค่าในตลาดสูงที่สุด ราว 2 ล้านล้านบาท

2. USDC (USD Coin)

Stablecoin

          เป็น Stablecoin ที่ถูกสร้างขึ้นมาในปี 2018 โดย Circle Internet Financial และ Exchange ชื่อดังอย่าง Coinbase มีดอลลาร์สหรัฐเป็นสินทรัพย์อ้างอิงในอัตรา 1 USDC : 1 USD เช่นเดียวกัน ปัจจุบัน (เดือนพฤษภาคม 2565) มีมูลค่าในตลาดประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท

3. BUSD (Binance USD)

Stablecoin

          อีกหนึ่ง Stablecoin ที่อ้างอิงกับค่าดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 1 BUSD : 1 USD ออกโดย Binance เว็บเทรดคริปโตอันดับ 1 ของโลก ปัจจุบันมี Market Cap ประมาณ 6 แสนล้านบาท  

4. DAI (Dai)

Stablecoin

           เป็น Stablecoin จากโปรเจกต์ MakerDAO ที่สร้างอยู่บนเครือข่าย Ethereum ถูกตรึงไว้กับดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 1:1 โดยมีมูลค่าในตลาดอยู่ที่ราว ๆ 2 แสนล้านบาท

5. UST (TerraUSD)

Stablecoin

           UST เป็น Stablecoin แบบ Algorithmic บนบล็อกเชน Terra ที่เกิดจาก Terraform Labs และ Bittrex Global โดยผลิตมาจากการเผา (Burn) เหรียญ LUNA ซึ่งหาก LUNA มีค่ามากขึ้นก็จะยิ่งทำให้ผลิต UST ได้มากขึ้นตามไปด้วย เหรียญนี้ถูกตรึงไว้ในอัตรา 1 : 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หากราคา UST สูงกว่า 1 ดอลลาร์เมื่อใด นักลงทุนจะแห่นำเหรียญ LUNA ไปแลก UST เพื่อทำกำไรส่วนต่าง และทำให้เหรียญ UST กลับมามีมูลค่าอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ตามเดิม ถือเป็นกลไกที่ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาให้กับเหรียญ UST
ประโยชน์และข้อดีของ Stablecoin

          เนื่องจาก Stablecoin มีมูลค่าที่ค่อนข้างคงที่ มีความผันผวนต่ำกว่าเหรียญคริปโตประเภทอื่น ๆ จีงทำให้มักถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางสำหรับซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินค้า บริการ และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ รวมทั้งใช้เป็นที่พักเงินไว้ในขณะที่ราคาเหรียญคริปโตอื่น ๆ กำลังอยู่ในช่วงผันผวนสูง

          อีกทั้ง Stablecoin ยังเหมาะที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการโอนเงินให้กันทั่วโลก เนื่องจากการทำธุรกรรมจะอยู่บนบล็อกเชนที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลได้ยาก การทำธุรกรรมต่าง ๆ จึงค่อนข้างโปร่งใส ตรวจสอบได้

          แต่แน่นอนว่าการที่ Stablecoin มีความผันผวนต่ำ คนจึงไม่ค่อยนิยมที่จะใช้สำหรับเก็งกำไรนัก แม้ว่าจะมีโอกาสที่ราคาจะสูงขึ้นในบางช่วงก็ตาม

ความเสี่ยงที่ต้องระวังของ Stablecoin
Stablecoin

ภาพจาก : Hasbi Sahin/Shutterstock

         ถึงแม้ว่า Stablecoin จะได้ชื่อว่าเป็นเหรียญที่ความผันผวนต่ำ และเหมาะที่จะเอาไว้พักเงินในช่วงที่ตลาดคริปโตกำลังอยู่ในขาลงก็ตาม แต่การถือ Stablecoin ไว้ก็ไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป เพราะมันก็ยังมีความเสี่ยงที่ต้องระวังอยู่เช่นกัน

         ประการแรกเลยก็คือ เรื่องความน่าเชื่อถือของบริษัทที่สร้างเหรียญ Stablecoin ผูกมูลค่าไว้กับค่าเงินขึ้นมา เพราะถ้าหากบริษัทนำเงินที่ฝากไว้ไปใช้ทำอย่างอื่น จนมีเงินฝากในธนาคารไม่เท่ากับจำนวนเหรียญในตลาด ก็จะเท่ากับว่าเหรียญนั้น ๆ ไม่ได้มีอัตราเท่ากับ 1:1 นั่นเอง

         ต่อมาคือ Stablecoin กลุ่มที่ผูกมูลค่าไว้กับเหรียญคริปโต ก็ยังต้องประสบกับความผันผวนตามราคาขึ้น-ลงของเหรียญคริปโตด้วย แม้ Stablecoin จะมีความน่าเชื่อถือกว่าก็ตาม

         นอกจากนี้ ยังต้องระวังการโจมตีค่าเงิน ดังที่เป็นข่าวดังในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 เมื่อเหรียญ UST (TerraUSD) ที่เป็น Stablecoin ซึ่งผลิตมาจากการเผาเหรียญ LUNA กลับมีราคาร่วงลงเหลือน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกแห่เทขายอย่างต่อเนื่อง ทำจุดต่ำสุดลงไปเรื่อย ๆ จนแทบไม่เหลือค่า ส่งผลให้ตลาดเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Exchange ต่าง ๆ ต้องระงับการซื้อ-ขายไปจนถึงการถอนเหรียญ LUNA ออกจากตลาด

           เหตุการณ์นี้ทำให้นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นไปไม่น้อย ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของ Stablecoin ที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่หลายคนไม่คาดคิด และแสดงให้เห็นว่า มันอาจไม่ได้มั่นคงสมชื่อเสมอไป ดังนั้นหากจะเข้าสู่ตลาดคริปโตควรศึกษาหาความรู้และหาวิธีป้องกันความเสี่ยงให้ดี

บทความที่เกี่ยวข้องกับคริปโต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Stablecoin คืออะไร เกี่ยวข้องกับวงการคริปโตยังไง ? อัปเดตล่าสุด 21 พฤษภาคม 2565 เวลา 08:47:08 39,470 อ่าน
TOP