คำนวณหักภาษีเงินเดือน เรื่องง่าย ๆ ที่คุณก็ทำได้

          คำนวณหักภาษีเงินเดือน มาร่วมเรียนรู้วิธีการคิดคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีว่าในแต่ละปีคุณต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเท่าไร และมีอะไรบ้างที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษี เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องรับภาระภาษีหนักจนเกินไป

หักภาษีเงินเดือน

          ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป อย่างมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็จะต้องยื่นภาษีฯ ทุกปี ซึ่งทางบริษัทก็จะหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินเดือนไว้ส่วนหนึ่ง ทำให้หลายคนอาจสงสัยว่าเขามีวิธีคิดคำนวณอย่างไร ลองมาดูวิธีคำนวณง่าย ๆ ด้วยตัวเองตามข้อมูลข้างล่างนี้

วิธีคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเงินเดือน


1. คำนวณหาจำนวนเงินได้พึงประเมินทั้งปี


          โดยให้นำเงินได้พึงประเมินไปคูณด้วยจำนวนครั้งที่นายจ้างจ่ายเงินเราต่อปี ดังนี้

                ก. หากคุณได้ค่าจ้างเป็นรายเดือน ให้คูณด้วย 12

                ข. หากคุณได้ค่าจ้างเดือนละ 2 ครั้ง ให้คูณด้วย 24

                ค. หากคุณได้ค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ ให้คูณด้วย 52

          เช่น นายสมชาย ได้รับเงินเดือนจากบริษัทที่ว่าจ้าง เดือนละ 30,000 บาท (เงินได้พึงประเมิน) ดังนั้น เงินได้พึงประเมินทั้งปีของนายสมชาย จะเท่ากับ 30,000 x 12 = 360,000 บาท

หมายเหตุ :

          * เงินได้พึงประเมิน คือ รายได้ที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเป็นรายเดือน, เดือนละ 2 ครั้ง หรือรายสัปดาห์

          ** สำหรับเงินรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี (ไม่ต้องนำมาคำนวณภาษี) เช่น ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง บำนาญพิเศษ บำเหน็จพิเศษ เป็นต้น ส่วนจะมีรายได้อะไรบ้างที่ได้รับการยกเว้น ดูเพิ่มเติมได้จาก กรมสรรพากร
                     
         
*** การจ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเข้าทำงานระหว่างปี ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่ละคราวในปีที่เข้าทำงานด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายจริงสำหรับปีนั้น เช่น เข้าทำงานวันที่ 1 เมษายน และกำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน จำนวนคราวที่จะต้องจ่ายสำหรับปีที่เข้าทำงานจะเท่ากับ 9 (ตั้งแต่เมษายน - ธันวาคม = 9)

2. นำจำนวนเงินได้พึงประเมินที่คำนวณได้ตามข้อ 1 มาหักค่าใช้จ่าย


          เมื่อคำนวณเงินได้พึงประเมินในปีนั้นแล้ว คราวนี้ก็ให้นำมาหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน แล้วจึงไปคำนวณตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา

          ตรงนี้ล่ะที่แต่ละคนจะได้สิทธิ์ลดหย่อนแตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าใครจะมีค่าลดหย่อนภาษีมาก-น้อยกว่ากัน ซึ่งค่าลดหย่อนภาษีที่สามารถใช้ได้ เช่น จำนวนเงินที่จ่ายสมทบประกันสังคม ค่าลดหย่อนบิดา-มารดา ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนจากการลงทุนกองทุนรวม SSF-RMF ค่าลดหย่อนจากการซื้อประกันชีวิต เป็นต้น สามารถตรวจสอบค่าลดหย่อนทั้งหมดได้ที่บทความด้านล่างนี้


          ทั้งนี้ หากเราจะใช้ค่าลดหย่อนตัวไหน จะต้องกรอกแบบฟอร์ม ล.ย.01 ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปีที่เริ่มหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะจ่ายค่าลดหย่อนนั้นในเดือนใดของปีก็ตาม เพื่อให้นายจ้างนำไปใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณภาษี ยกเว้นว่าเป็นค่าลดหย่อนเงินบริจาค ให้นำมาหักได้เมื่อมีการจ่ายเงินบริจาคจริงเท่านั้น และกรณีเรามีค่าลดหย่อนเพิ่มเติมก็สามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งนายจ้างก็จะคำนวณตามข้อมูลที่เราให้ไว้

3. คำนวณภาษีตามข้อ 2 และหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย


          หลังจากคำนวณตัวเลขภาษีที่ต้องจ่ายหลังหักค่าลดหย่อนแล้ว ให้นำเงินจำนวนนั้นมาหารจำนวนคราวที่ต้องจ่าย เช่น ถ้านายจ้างจ่ายเงินให้เราเป็นรายเดือน ก็เท่ากับปีละ 12 ครั้ง ก็ให้หาร 12 แต่ถ้าเรารับค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ ก็จะต้องหาร 52

          และในกรณีที่หารแล้วไม่ลงตัว ให้ดูว่าเหลือเศษเท่าใด ก็ให้เพิ่มเงินเท่าจำนวนที่เหลือเศษนั้นรวมเข้ากับเงินภาษีที่จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในปีนั้น ซึ่งก็คือเดือนธันวาคม เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่ากับจำนวนภาษีที่ต้องเสียทั้งปี
                                                                                      

         

ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และหัก ณ ที่จ่าย

            
         เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ลองมาดูตัวอย่างการคำนวณภาษีแบบคร่าว ๆ กัน

          - นายสมชายได้รับเงินเดือน เดือนละ 30,000 บาท

          - เงินได้พึงประเมินทั้งปีของนายสมชาย เท่ากับ 30,000 x 12 = 360,000 บาท

          - หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 ของเงินได้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

          - หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

          - หักค่าประกันสังคมลดหย่อนภาษี 9,000 บาท

          - เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี เท่ากับ 360,000 - 100,000 - 60,000 - 9,000 = 191,000 บาท   


          แต่ทั้งนี้กฎหมายได้กำหนดให้เงินได้ตั้งแต่ 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้น 150,000 บาทแรกของนายสมชายจะไม่เสียภาษี แต่ส่วนที่เกินมาจาก 150,000 บาท นั่นก็คือ (191,000 - 150,000 = 41,000) ต้องเสียภาษี

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

            ดังนั้น นายสมชายเข้าเกณฑ์เงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001-300,000 บาท ต้องเสียภาษี 5% เท่ากับต้องเสียภาษีปีละ 41,000 x 5/100 = 2,050 บาท

           และเมื่อนายสมชายรับเงินเดือนปีละ 12 ครั้ง จึงนำจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายมาหาร 12 เท่ากับว่าเขาต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินเดือน ตกเดือนละ 2,050/12 = 170.833 บาท

          อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคม อาจต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย มากกว่าเดือนอื่น ๆ เนื่องจากจะมีการนำเศษคงเหลือจากการคำนวณไว้ในแต่ละเดือนมารวมไว้ด้วยนั่นเอง


          การหักภาษี ณ ที่จ่าย อาจทำให้เราไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมเมื่อยื่นภาษี เพราะทางบริษัทได้คิดคำนวณไว้แล้ว และในบางกรณีเราอาจได้ภาษีที่หักไว้คืนกลับมาด้วย หากเรามีค่าลดหย่อนเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่แจ้งบริษัทไว้ในแบบฟอร์ม ล.ย.01 ซึ่งสามารถกรอกข้อมูลเพิ่มเติมในขณะที่ยื่นภาษีได้เลย


บทความที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณภาษี

 
          - ลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง คำนวณให้ดี ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
          - รับภาษีคืนทุกเดือนด้วยแบบฟอร์ม ล.ย.01 เพื่อลดหย่อนภาษี
          - เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี เช็กเลย...ถ้ามีรายได้เท่านี้ ต้องเสียภาษีกี่บาท
          - วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นภาษี   
          - 10 ขั้นตอนง่าย ๆ ยื่นภาษีออนไลน์ มือใหม่ทำตามได้  
          - หักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว จะต้องยื่นคำนวณภาษีอีกไหม   


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 22 ธันวาคม 2565 
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร


 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คำนวณหักภาษีเงินเดือน เรื่องง่าย ๆ ที่คุณก็ทำได้ อัปเดตล่าสุด 23 ธันวาคม 2565 เวลา 00:20:54 207,598 อ่าน
TOP
x close