รับภาษีคืนทุกเดือนด้วยแบบฟอร์ม ลย.01 เพื่อลดหย่อนภาษี

           ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากการออมและลงทุนแล้ว อย่าลืมยื่นแบบ ลย.01 กับ HR บริษัท เพื่อลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย ยิ่งยื่นเร็ว ยิ่งได้คืนเร็ว
ลย.01

           สำหรับผู้มีเงินเดือนทุกคนที่ลงทุนใน LTF, RMF ซื้อประกันชีวิต ตามสิทธิ์ที่ได้รับเพื่อหวังลดหย่อนภาษีประจำปีมากบ้างน้อยบ้าง ข้อน่าเสียดายข้อหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำกันคือ การยื่นแบบฟอร์ม ลย.01 ต่อบริษัทแสดงรายการลดหย่อนภาษีของตนเอง เพื่อให้บริษัทหักภาษี ณ ที่จ่ายใกล้เคียงกับความจริงที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งคือ เราจะได้รับเงินเดือนที่จ่ายเข้ากระเป๋ามากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง วันนี้ กระปุกดอทคอม นำรายละเอียดเรื่องนี้จาก K-Expert ธนาคารกสิกรไทย มาฝากกัน

ลย.01 คืออะไร


           ลย.01 คือแบบแจ้งรายการเพื่อการลดหย่อนภาษี ที่พนักงานหรือลูกจ้างสามารถใช้ยื่นข้อมูลแสดงการลดหย่อนภาษีที่มีทั้งด้านสถานะสมรส การเลี้ยงดูบิดามารดา รวมถึงรายการที่เป็นการวางแผนภาษีประจำปี การลงทุนใน LTF, RMF หรือการซื้อประกันชีวิต รวมไปถึงเงินบริจาค

           ส่วนใหญ่ฝ่ายบุคคลของบริษัทมักจะให้พนักงานอัปเดตกันตอนต้นปี แต่ก็มีอีกหลายบริษัทที่เปิดโอกาสให้ทำได้ระหว่างปีด้วย (อันนี้แต่ละคนต้องลองตรวจสอบกับบริษัทกันดู)

ตัวอย่างแบบฟอร์ม ลย.01
ลย.01

ยื่น ลย.01 แล้วดีอย่างไร

           คำตอบคือ ยื่นแล้วเราได้เงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้นทันที หลักการง่ายมาก HR บริษัทไม่มีทางรับรู้รายการลดหย่อนภาษีของพนักงานได้ ถ้าพนักงานไม่เป็นคนบอก ดังนั้น โดยทั่วไป HR จะคำนวณรายการลดหย่อนเท่าที่บริษัททราบและไม่ผิดแน่ เช่น หักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนตัวผู้เสียภาษีอีก 60,000 บาท ประกันสังคม 9,000 บาท ถ้าไม่มีการแจ้งอะไรก็ถือว่าเอารายการเหล่านี้ไปหักลบออกจากเงินเดือนทั้งปีคำนวณเป็นภาระภาษีของแต่ละคน (ซึ่งต้องสูงกว่าปกติอยู่แล้ว เพราะยังมีค่าลดหย่อนอื่นที่ไม่ได้เอามาลบออก) แล้วก็มาเฉลี่ยตัดเป็น ภาษี หัก ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือนให้ใกล้เคียงกับภาระภาษีที่คำนวณได้

           ในฐานะพนักงาน : เงินได้ - ภาษี หัก ณ ที่จ่าย = เงินได้ที่ได้รับจริงแต่ละเดือน

           ในฐานะบริษัท : เงินได้ทั้งปี (คาดการณ์) - รายการลดหย่อน (เท่าที่ HR มี) = เงินได้สุทธิ (นำมาคำนวณภาระภาษี)

           ภาระภาษีทั้งปี นำมาเฉลี่ย หักออกเป็น ภาษี หัก ณ ที่จ่ายแต่ละเดือน นำส่งสรรพากร

           ใครอัปเดตรายการลดหย่อนเพิ่มเข้าไปอีกตามจริงที่มีและที่คิดวางแผนไว้ว่าจะทำในปีนั้น ๆ ย่อมทำให้ยอด หัก ณ ที่จ่ายลดลง แบบนี้ก็เหลือเงินเข้ากระเป๋าเยอะขึ้นทันที

ลย.01

รอเงินคืนภาษีเป็นก้อนกับได้เงินเข้ากระเป๋าทันที

           เงินเดือนถูกหักไปมากกว่าที่ควรจะเป็นในทุกเดือน ถ้าเลือกได้เราจะรอขอคืนปีหน้า หรืออยากจะได้เลยในทุกเดือน อันนี้ ไม่น่าเลือกยากนะ

คำแนะนำสำคัญ

           ให้ประเมินเงินที่จะได้รับเพิ่มเติมจากการนำรายการลดหย่อนกรอกใน ลย.01 ทดไว้ล่วงหน้า แล้วเก็บออมหรือลงทุนแทนการนำไปใช้จ่าย โดยใช้สูตร 10% เช่น เงินเดือน 40,000 ก็ให้กันเงิน 4,000 บาท ตัดออมหรือลงทุนอัตโนมัติทุกเดือนเอาไว้เลย ถ้าให้ดีตัดบัญชีซื้อ LTF และ/หรือ RMF ไว้เลยก็จะดีมาก ส่วนใครต้องการตัดมากกว่า 10% ก็ขอให้อย่าเกิน 15% ของยอดซื้อ LTF และ RMF ในแต่ละรายการ

ลย.01

           จะเห็นว่าการยื่น ลย.01 ทำปีละครั้งเท่านั้น (อาจทำได้มากกว่านี้ขึ้นกับแต่ละบริษัท หรือข้อมูลของผู้เสียภาษีที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ระหว่างปี) ผลลัพธ์ที่ได้ในทางตัวเลขสำหรับบางคนอาจรู้สึกไม่แตกต่างกับการรอรับเงินคืนภาษีตอนต้นปี หรือบางคนคิดว่าให้สรรพากรช่วยเก็บเงินก็ดี เพราะถ้าได้เงินเข้ากระเป๋ามากก็ใช้มาก ซึ่งในความเป็นจริง เงินคืนภาษีที่ได้ต้นปีก็นำไปใช้จ่ายเช่นกันไม่ได้เหลือเก็บ คำแนะนำให้ออมหรือลงทุนอัตโนมัติด้วยเงินภาษี ณ ที่จ่าย ที่ได้รับเพิ่มนี้ นอกจากช่วยสร้างวินัยออมเงินแล้ว หากใครหักบัญชีเข้าไปลงทุนใน LTF, RMF ด้วย ก็จะช่วยให้ปลายปีมีเงินเหลือมากขึ้นอันเนื่องจากไม่ต้องขนเงินก้อนใหญ่ไปรอลงทุน หรือยังเพิ่มโอกาสลงทุนได้มากกว่าทุกปีได้ด้วย ง่าย ๆ แบบนี้ลองไปทำกันดูนะ
 
K-Expert Action

           - ยื่นอัปเดต ลย.01 กับ HR บริษัท ตามสิทธิ์และเงื่อนไขของบริษัทที่มี
           - เมื่อภาษีหัก ณ ที่จ่ายลดลง ให้กันเงินออมและลงทุนแบบอัตโนมัติทันทีขั้นต่ำ 10% อย่าเผลอนำไปใช้จ่าย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับภาษีคืนทุกเดือนด้วยแบบฟอร์ม ลย.01 เพื่อลดหย่อนภาษี อัปเดตล่าสุด 3 ตุลาคม 2561 เวลา 13:43:45 71,316 อ่าน
TOP
x close