สรุปมาตรการแก้หนี้ คุณสู้ เราช่วย หนี้แบบไหนสมัครได้บ้าง ลงทะเบียนอย่างไร

            มาตรการแก้หนี้ คุณสู้ เราช่วย ของ ธปท. ลงทะเบียนอย่างไร ให้ความช่วยเหลือหนี้ประเภทไหน เช็กเลยใครมีสิทธิสมัครเข้าร่วมโครงการบ้าง
คุณสู้ เราช่วย มาตรการแก้หนี้เพื่ออนาคตที่มั่นคง ลงทะเบียนอย่างไร

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้ามาตรการแก้หนี้ "คุณสู้ เราช่วย" เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ ฯลฯ ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ

  1. มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ : การปรับโครงสร้างหนี้แบบเน้นตัดเงินต้น ลดภาระดอกเบี้ย 

  2. มาตรการจ่าย-ปิด-จบ : การลดภาระหนี้ให้ลูกหนี้ NPL ที่มียอดหนี้ไม่สูง

          หลายคนคงมีข้อสงสัยในแต่ละมาตรการ วันนี้เราเลยรวบรวมคำถาม-คำตอบของมาตรการแก้หนี้ มาให้ศึกษากัน พร้อมเช็กวิธีลงทะเบียนแก้หนี้ คุณสู้ เราช่วย

รวมคำถาม
มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์

มาตรการแก้หนี้ จ่ายตรง คงทรัพย์

มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ ช่วยอะไรลูกหนี้บ้าง

          มาตรการนี้จะช่วยลดค่างวดให้ลูกหนี้เป็นเวลา 3 ปี คือ

  • ปีที่ 1 ลูกหนี้จ่าย 50% ของค่างวดเดิม

  • ปีที่ 2 ลูกหนี้จ่าย 70% ของค่างวดเดิม

  • ปีที่ 3 ลูกหนี้จ่าย 90% ของค่างวดเดิม 

          โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด (พักดอกเบี้ยเอาไว้) และหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ครบ 3 ปี สถาบันการเงินจะยกเว้นดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ทั้งหมดหลังสิ้นสุดโครงการ

          นอกจากนี้ลูกหนี้สามารถชำระค่างวดมากกว่าที่กำหนดได้ เช่น ปีที่ 1 จ่าย 60%, ปีที่ 2 จ่าย 70%, ปีที่ 3 จ่าย 90% เป็นต้น เพื่อตัดเงินต้นเพิ่มและปิดจบหนี้ได้ไวขึ้น

ใครเข้าร่วมมาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ ได้บ้าง

          ต้องเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่มีคุณสมบัติตามนี้

1. เป็นลูกหนี้ในแต่ละประเภทสินเชื่อ และมีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ดังนี้

  • สินเชื่อบ้าน และ/หรือ home for cash : วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาท

  • สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และ/หรือ car for cash : วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 8 แสนบาท

  • สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และ/หรือ car for cash : วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 หมื่นบาท

  • สินเชื่อ SMEs (ทั้งบุคคลและนิติบุคคล/มีหรือไม่มีหลักประกัน) : วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาท

  • สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่จะรวมหนี้กับสินเชื่อบ้าน/รถ (debt consolidation) ยกเว้นการรวมหนี้กับสินเชื่อบ้าน ธอส. : สามารถนำมารวมหนี้กับสินเชื่อบ้าน/บ้านแลกเงิน/สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์/สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินจะต้องไม่เกินตามที่กำหนดไว้

2. เป็นหนี้ที่เกิดก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567

3. มีสถานะบัญชี ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เป็น

  • หนี้ค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน หรือ

  • หนี้ปกติที่ไม่ค้างชำระ หรือเคยมีประวัติการค้างชำระเกิน 30 วัน และเคยปรับโครงสร้างหนี้ไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา

สถาบันการเงินแห่งไหนเข้าร่วมโครงการบ้าง

  • ธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์

  • สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (ธสน.)) 

          สามารถตรวจสอบรายชื่อสถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการได้ที่นี่

คำนวณวงเงินรวมของสินเชื่อแต่ละประเภทอย่างไร

          คำนวณจากวงเงินของสินเชื่อแต่ละประเภทที่มีกับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เช่น

  • ตัวอย่างที่ 1 : ถ้ามีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งเดียวกัน 3 บัญชี ได้แก่ สินเชื่อบ้าน 2 บัญชี (วงเงิน 5 ล้านบาท และ 2 ล้านบาท) และสินเชื่อเช่าซื้อรถ วงเงิน 8 แสนบาท หนี้บ้านจะเข้ามาตรการไม่ได้ เนื่องจากมีวงเงินรวมเกิน 5 ล้านบาท แต่หนี้เช่าซื้อรถเข้าร่วมมาตรการได้

  • ตัวอย่างที่ 2 : มีสินเชื่อกับ 2 สถาบันการเงิน ได้แก่ 

    • สถาบันการเงิน A : สินเชื่อบ้าน วงเงิน 2 ล้านบาท สินเชื่อเช่าซื้อรถ วงเงิน 8 แสนบาท หนี้ทั้ง 2 ประเภทเข้าร่วมมาตรการได้

    • สถาบันการเงิน B : สินเชื่อบ้าน วงเงิน 5 ล้านบาท เข้ามาตรการได้

กู้ร่วมกับคนอื่นเข้าร่วมมาตรการได้ไหม

          หากมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขก็สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ทั้งกู้เดี่ยวและกู้ร่วม เช่น นาย A มีสินเชื่อทั้งแบบกู้เดี่ยวและกู้ร่วม ดังนี้

  • สินเชื่อบ้าน วงเงิน 3 ล้านบาท ซึ่งมีวันค้างชำระ 180 วัน (กู้เดี่ยว) 

  • นาย A กู้ร่วมกับนาง B มีสินเชื่อบ้าน วงเงิน 5 ล้านบาท (กู้ร่วม) ซึ่งมีวันค้างชำระ 90 วัน 

          กรณีนี้ นาย A สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ทั้ง 2 สัญญา โดยสถาบันการเงินจะพิจารณาวงเงินกู้ร่วมและวงเงินกู้เดี่ยวแยกกัน

มีหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังไม่ได้รวมหนี้กับสินเชื่อบ้าน (debt consolidation) จะเข้ามาตรการนี้ได้ไหม

           สามารถนำหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลมารวมได้ หากเป็นหนี้บ้าน/หนี้รถยนต์/หนี้รถจักรยานยนต์ ที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

เคยปรับโครงสร้างหนี้มาแล้ว หรืออยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ เข้าร่วมมาตรการนี้ได้ไหม

           สามารถเข้าร่วมมาตรการได้หากมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

หนี้ที่อยู่ในกระบวนการทางศาลเข้าร่วมมาตรการนี้ได้หรือไม่

          สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ โดยสถาบันการเงินจะชะลอการฟ้องออกไปก่อน (แต่ไม่ได้ถอนฟ้อง)

          ทั้งนี้ หากลูกหนี้โดนยึดทรัพย์แล้ว แต่ทรัพย์ยังไม่ได้ถูกขายทอดตลาด หรือการขายทอดตลาดยังไม่สำเร็จ ลูกหนี้ที่เข้าข่ายตามคุณสมบัติของมาตรการสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ แต่เมื่อเข้าร่วมมาตรการแล้วและไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการได้ สถาบันการเงินจะเดินเรื่องในกระบวนการทางศาลต่อไป

มีสินเชื่อกับหลายสถาบันการเงินสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ทั้งหมดไหม

           ถ้าสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งเป็นไปตามเงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการ สามารถเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้ได้ทั้งหมด

เงื่อนไขที่ผู้เข้าร่วมมาตรการต้องปฏิบัติตาม

     1. ลูกหนี้จะไม่สามารถขอสินเชื่อใหม่ในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ ยกเว้นลูกหนี้ SMEs ที่หากจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเป็นสภาพคล่องเพิ่มเติม เจ้าหนี้สามารถปล่อยกู้ใหม่ได้ โดยพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามความเหมาะสม

     2. เจ้าหนี้จะรายงานสถานะลูกหนี้ไปยังเครดิตบูโร (NCB) ได้แก่

          รหัสที่ระบุว่าลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการ ซึ่งมีระยะเวลา 3 ปี และ

          รหัสที่ระบุว่าลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการอยู่ในระยะเวลาห้ามก่อหนี้เพิ่มเป็นเวลา 12 เดือน

จะเป็นอย่างไรหากจ่ายค่างวดไม่ได้ตามสัญญา

  • หากเราจ่ายหนี้ไม่ได้ตามเงื่อนไขของสัญญาจะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่พักไว้

  • หากสัญญาสินเชื่อนั้นมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องให้ความยินยอมและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่

รวมคำถาม
มาตรการจ่าย-ปิด-จบ

มาตรการจ่าย ปิด จบ

มาตรการจ่าย-ปิด-จบ ช่วยอะไรลูกหนี้บ้าง

           สถาบันการเงินจะปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน เพื่อช่วยให้สามารถชำระหนี้ปิดจบบัญชีได้ ซึ่งสถานะลูกหนี้ใน NCB จะถูกปรับเป็นรหัส 11 คือชำระหนี้หมดตามยอดที่ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ใครเข้าร่วมมาตรการจ่าย-ปิด-จบ ได้บ้าง

           ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 และมีภาระหนี้คงค้าง (รวมเงินต้นและดอกเบี้ย) ไม่เกิน 5,000 บาทต่อบัญชี

สินเชื่อแบบไหนเข้าร่วมมาตรการจ่าย-ปิด-จบได้บ้าง

           มาตรการนี้สำหรับหนี้บุคคลธรรมดาทุกประเภททั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการ

มีหนี้หลายบัญชีสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ทั้งหมดไหม

           หากสินเชื่อแต่ละแห่งมียอดหนี้ไม่เกิน 5,000 บาท และค้างชำระหนี้มาเกิน 90 วันแล้ว (ตามข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567) สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ทุกบัญชี

วิธีลงทะเบียนมาตรการแก้หนี้

วิธีลงทะเบียนมาตรการแก้หนี้

ภาพจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ขั้นตอนการลงทะเบียนมาตรการแก้หนี้

          ทั้ง 2 มาตรการสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 (เวลา 08.30 น.) - 28 กุมภาพันธ์ 2568 (เวลา 23.59 น.) ดังนี้

     1. เข้าเว็บไซต์ https://www.bot.or.th/khunsoo  

     2. อ่านรายละเอียดมาตรการ ตรวจสอบคุณสมบัติ และเงื่อนไขเข้าร่วมก่อนลงทะเบียน จากนั้นกดลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ

     3. เตรียม ThaID เพื่อเข้าระบบและยืนยันตัวตน (ดูวิธีการลงทะเบียน ThaiD ได้ที่นี่)

     4. เข้าสู่ระบบ โดยสามารถทำได้ 2 แบบ คือ

          เข้าสู่ระบบผ่าน ThaID - ต้อง Scan ThaID ผ่านแอปพลิเคชันทุกครั้งที่เข้ามาใช้ระบบ

          เข้าระบบผ่านอีเมล (e-mail) โดยยืนยันตัวตนผ่าน ThaID ครั้งแรกเท่านั้น

     5. กรอกข้อมูลเพิ่มเพื่อลงทะเบียนขอเข้าร่วมมาตรการ ทั้งข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลหนี้ 

     6. กดยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการและกดส่ง ระบบจะขึ้นข้อความการลงทะเบียนสำเร็จและแสดงหมายเลขคำร้องเพื่อให้ลูกหนี้ใช้ติดตามสถานะการลงทะเบียน

     7. หลังการลงทะเบียนเสร็จสิ้นแล้ว สถาบันการเงินจะได้รับข้อมูลทันทีโดยอัตโนมัติ

กู้ร่วมต้องลงทะเบียนอย่างไร

           ไม่ต้องลงทะเบียนทุกคน แต่ให้ลูกหนี้ที่กู้ร่วมเพียงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ลงทะเบียน โดยเจ้าหนี้จะติดต่อลูกหนี้และผู้กู้ร่วม หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดเพื่อเข้าร่วมมาตรการต่อไป

สถาบันการเงินจะติดต่อกลับภายในกี่วัน

  • ลงทะเบียนก่อนวันที่ 2 มกราคม 2568 : สถาบันการเงินจะเริ่มทยอยติดต่อตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

  • ลงทะเบียนหลังวันที่ 2 มกราคม 2568 : สถาบันการเงินจะติดต่อกลับภายใน 10 วันทำการหลังลงทะเบียนสำเร็จ

          ทั้งนี้ หลังจากลงทะเบียนแล้วสามารถติดตามสถานะการลงทะเบียนได้ผ่านเว็บไซต์ https://services.bot.or.th/cpm โดยเลือกเมนูตรวจสอบสถานะคำร้อง > บริการแก้หนี้ > เลือกหมายเลขคำร้องที่ได้รับหลังลงทะเบียนสำเร็จ

โครงการ คุณสู้ เราช่วย ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว สำหรับลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 12 ธ.ค. 2567 - 28 ก.พ. 2568 ที่เว็บไซต์แบงก์ชาติ

ภาพจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย

           อย่างไรก็ตาม หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสมัครเข้าร่วมโครงการ หรือติดปัญหาในการลงทะเบียน สามารถติดต่อได้ที่สาขา หรือ call center ของสถาบันการเงินที่ลงทะเบียน แล้วกด 99 ทั้งนี้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสายด่วนแบงก์ชาติ โทร. 1213 ได้ในวัน-เวลาทำการ

บทความที่เกี่ยวข้องกับมาตรการแก้หนี้ คุณสู้ เราช่วย

ขอบคุณข้อมูลจาก :  ธนาคารแห่งประเทศไทย (1), (2), (3), (4)
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปมาตรการแก้หนี้ คุณสู้ เราช่วย หนี้แบบไหนสมัครได้บ้าง ลงทะเบียนอย่างไร อัปเดตล่าสุด 20 ธันวาคม 2567 เวลา 16:18:55 7,013 อ่าน
TOP
x close