
ดอกเบี้ยแบบไหนถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
ดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 หรือ มาตรา 40(4) ก เช่นเดียวกับดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีซื้อ-ขายหลักทรัพย์ ถือเป็นภาษีสุดท้าย (Final Tax) คือเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว 15% เราสามารถเลือกได้ว่าจะนำมารวมหรือไม่รวมคำนวณในการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เช่น หากเราเปิดบัญชีเงินฝากประจำ 12 เดือน แล้วได้รับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1,000 บาท ธนาคารจะจ่ายให้เราแค่ 850 บาท และหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 150 บาท โดยในส่วน 150 บาทนี้เราสามารถเลือกขอคืนภาษีได้ในช่วงที่ยื่นภาษีปีถัดไป
ทั้งนี้ ดอกเบี้ยตามมาตรานี้มีอยู่หลายประเภท มีทั้งประเภทที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ดังนี้
-
ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ส่วนที่ไม่เกิน 20,000 บาท/ปี (นับรวมทุกบัญชี ทุกธนาคาร) จะได้รับยกเว้นภาษี หมายความว่าคนที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์ไม่เกิน 20,000 บาท/ปี ธนาคารจะไม่ได้หักภาษีไว้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องยื่นขอคืนภาษี
-
ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับตั้งแต่ 20,000 บาท/ปีขึ้นไป (นับรวมทุกบัญชี ทุกธนาคาร) ธนาคารจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ตั้งแต่บาทแรก ส่วนนี้เราสามารถยื่นขอคืนภาษีภายหลังได้
-
ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รับยกเว้นภาษี แม้ว่าจะได้รับเกิน 20,000 บาทก็ไม่เสียภาษี
-
ดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไปจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีได้ในภายหลัง
-
ดอกเบี้ยเงินฝากประจำปลอดภาษีที่มีระยะเวลาฝากติดต่อกันตั้งแต่ 24 เดือนขึ้นไป ยอดฝากรวมไม่เกิน 600,000 บาท เมื่อฝากครบกำหนดจะได้รับการยกเว้นภาษี จึงไม่สามารถขอคืนภาษีได้ แต่ในกรณีที่ผู้ฝากทำผิดเงื่อนไข เช่น ฝากไม่ครบกำหนด จะต้องเสียภาษีตามปกติ
-
ผู้สูงอายุ 55 ปีขึ้นไปที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากประจำตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป รวมทุกธนาคารไม่เกิน 30,000 บาท/ปี จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าได้รับดอกเบี้ยเงินฝากประจำรวมแล้วเกิน 30,000 บาท/ปี จะต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก
-
ดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีที่ใช้ซื้อ-ขายหลักทรัพย์ (บัญชีพอร์ตหุ้น) จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
-
เงินปันผลและดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของสหกรณ์ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี
ใครควรขอคืนภาษี
ดอกเบี้ยเงินฝาก/พันธบัตร/หุ้นกู้

เราสามารถเลือกได้ว่าจะขอคืนภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยพันธบัตร หรือดอกเบี้ยหุ้นกู้หรือไม่ โดยคนที่ควรขอคืนภาษี ได้แก่
-
คนที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีประจำปี : คือคนที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท/ปี ควรเลือกนำมารวมคำนวณกับเงินได้อื่น ๆ เพื่อขอคืนภาษีที่ถูกหักไป ซึ่งจะได้ภาษีดอกเบี้ยคืนเต็ม ๆ
-
คนที่มีรายได้สุทธิถึงเกณฑ์เสียภาษี แต่ฐานภาษีน้อยกว่า 15% : หากนำดอกเบี้ยส่วนนี้ไปรวมกับรายได้อื่น ๆ แล้วมีฐานภาษีน้อยกว่า 15% จะได้ภาษีดอกเบี้ยคืนบางส่วน เช่น คนมีฐานภาษี 5% ถ้ายื่นขอคืนภาษีดอกเบี้ยเงินฝากก็จะได้ส่วนของดอกเบี้ยคืน 10% (จากที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว 15%) เท่ากับว่าเราเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากแค่ 5% ตามฐานภาษีปกติของเรา
-
ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป : คนที่อายุ 65 ปีขึ้นไป และไม่มีรายได้จากแหล่งอื่น หรือมีรายได้ไม่สูง เพราะสามารถลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้อีก 190,000 บาท
ทั้งนี้ แนะนำให้นำรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก/พันธบัตร/หุ้นกู้ มารวมกับรายได้อื่น ๆ ทั้งหมด แล้วลองคำนวณดูว่าเราอยู่ในฐานภาษีอัตราไหน
-
ถ้าฐานภาษีต่ำกว่า 15% : สามารถยื่นขอคืนภาษีดอกเบี้ยเงินฝากได้
-
ถ้าฐานภาษีเท่ากับ 15% : ไม่จำเป็นต้องยื่นขอคืนภาษีดอกเบี้ยส่วนนี้ เพราะได้ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว 15% เท่ากัน
-
ถ้าฐานภาษีสูงกว่า 15% : ไม่ต้องยื่นขอคืนภาษีดอกเบี้ย เนื่องจากเราจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น
ขอคืนภาษีดอกเบี้ย
ใช้เอกสารอะไรบ้าง
เราจะต้องรวบรวมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือ ใบ 50 ทวิ ของดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ได้รับและถูกหักภาษีทุกแห่ง แนบไปพร้อมกับเอกสารและแบบฟอร์มยื่นภาษี หากไม่มีใบ 50 ทวิ สามารถขอเอกสารหรือใบแทนได้ ดังนี้
-
ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร : ติดต่อขอใบ 50 ทวิได้ที่ธนาคารที่จ่ายดอกเบี้ยให้เรา สาขาใดก็ได้
-
ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรออมทรัพย์ : โดยปกติธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดส่งเอกสารมาให้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ แต่หากทำหายสามารถติดต่อขอใบ 50 ทวิ ได้ที่ส่วนพันธบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 กด 3 หรือขอผ่านอีเมล INT@bot.or.th
- ดอกเบี้ยหุ้นกู้ : โดยปกติธนาคารพาณิชย์ที่เป็นนายทะเบียนหุ้นกู้จะจัดส่งเอกสารมาให้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ แต่ถ้าไม่ได้รับหรือสูญหาย ให้ติดต่อนายทะเบียนของหุ้นกู้แต่ละรายการเพื่อขอใบแทน
วิธีขอคืนภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก
ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้
กรณียื่นภาษีแบบกระดาษ
กรณียื่นภาษีออนไลน์
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ rd.go.th แล้วกรอกข้อมูลยื่นภาษีตามขั้นตอนปกติ
2. เลื่อนไปที่ช่อง “รายได้จากการลงทุน” แล้วกด “ระบุข้อมูล” ตรงมาตรา 40(4)

ภาพจาก : กรมสรรพากร
3. กรอกข้อมูลประเภทธุรกิจ โดยเลือก “ดอกเบี้ย/เงินเทียบเท่าเงินปันผลจาก THAI NVDR” แล้วกรอกเงินได้ทั้งหมด ภาษีที่ถูกหักไว้ รวมถึงเลขของผู้จ่ายเงินได้

ภาพจาก : กรมสรรพากร
หากมีดอกเบี้ยที่ต้องการขอคืนหลายรายการสามารถกด “เพิ่มรายการอื่น” แล้วกรอกให้ครบทั้งหมด
4. เมื่อกรอกส่วนของรายได้ครบทั้งหมดแล้ว ให้กรอกส่วนอื่น ๆ ตามขั้นตอนจนเสร็จสิ้น ระบบจะคำนวณให้ว่าเราจะได้รับเงินคืนภาษีเท่าไร
สำหรับคนที่อยากศึกษาวิธียื่นภาษีออนไลน์ สามารถดูขั้นตอนการกรอกข้อมูลต่าง ๆ ได้ที่นี่
ทั้งนี้ เราสามารถทดลองกรอกข้อมูลก่อนยื่นภาษีจริง ๆ ได้ เพื่อเปรียบเทียบดูว่า ถ้าเลือกขอคืนภาษีเงินดอกเบี้ยเงินฝาก/พันธบัตร/หุ้นกู้ จะได้รับเงินคืนภาษีมากกว่าหรือน้อยกว่าการไม่ยื่นขอคืนภาษีดอกเบี้ย
ในกรณีที่กรอกข้อมูลดอกเบี้ยแล้วกลับต้องเสียภาษีเพิ่ม หรือได้รับภาษีคืนน้อยกว่าเดิม เราก็ไม่จำเป็นต้องยื่นขอคืนภาษีส่วนของดอกเบี้ย เพราะถือว่าเราได้จ่ายภาษี 15% เต็ม ๆ ไปแล้ว
ข้อควรระวัง

-
หากตัดสินใจยื่นขอคืนภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก/ดอกเบี้ยพันธบัตร/ดอกเบี้ยหุ้นกู้ จะต้องยื่นให้ครบ ไม่สามารถเลือกยื่นเฉพาะดอกเบี้ยประเภทใดประเภทหนึ่งได้ เช่น ถ้ายื่นดอกเบี้ยหุ้นกู้ ก็ต้องยื่นดอกเบี้ยพันธบัตรด้วย
-
ต้องยื่นข้อมูลทุกรายการที่มี เช่น มีดอกเบี้ยเงินฝากที่ถูกหักภาษีไว้ 5 บัญชี เราก็ต้องยื่นข้อมูลทั้ง 5 บัญชี จะเลือกยื่นขอคืนภาษีแค่บัญชีเดียวไม่ได้ หรือถ้ามีดอกเบี้ยหุ้นกู้ 10 รายการ ก็ต้องยื่นให้ครบทั้ง 10 รายการ
-
คำนวณรายได้และฐานภาษีของตัวเองให้ดีก่อนยื่นขอคืนภาษีดอกเบี้ย เพราะหากนำเงินได้จากดอกเบี้ยไปรวมกับรายได้อื่น ๆ แล้วมีฐานภาษีเกิน 15% นอกจากจะไม่ได้เงินคืนภาษีดอกเบี้ยแล้ว ยังต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก