ก่อนลงทุนต้องคิดอะไรบ้าง
สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนจะนำเงิน 10,000 บาทไปลงทุน มีอะไรบ้าง
-
วางเป้าหมายลงทุน : กำหนดเป้าหมายว่าเราต้องการออมเงินเพื่ออะไร เช่น เพื่อจ่ายค่าเล่าเรียน ซื้อบ้าน ซื้อรถ ค่าเดินทางไปต่างประเทศ เก็บเงินแต่งงาน เกษียณ เน้นสร้างผลตอบแทนระยะยาว เพื่อเลือกวิธีการออมและลงทุนที่เหมาะสม ตอบโจทย์เป้าหมายของตัวเองมากที่สุด
-
ระยะเวลาการลงทุน : เราต้องการลงทุนในระยะสั้น กลาง หรือยาว เพราะการลงทุนแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกัน หากต้องการใช้เงินในระยะสั้น เช่น 6 เดือน หรือ 1-2 เดือน ก็ควรเลือกฝากประจำ แต่ถ้ายังไม่ต้องการใช้เงินก้อนนี้ อยากเก็บไว้ยาว ๆ เกิน 3 ปี 5 ปี 10 ปี ก็พิจารณาการลงทุนแบบอื่น เช่น สลากออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ เป็นต้น
-
ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ : เราสามารถรับความเสี่ยงต่อการขาดทุนได้แค่ไหน
-
หากรับความเสี่ยงไม่ได้เลย ไม่ต้องการขาดทุน ไม่ต้องการสูญเสียเงิน 10,000 บาทก้อนนี้ไป ก็ต้องเลือกวิธีที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด หรือแทบไม่เสี่ยงเลย เช่น เงินฝากธนาคาร สลากออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล
-
หากรับความเสี่ยงต่อการขาดทุนได้ เพื่อแลกกับโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนมากขึ้น สามารถเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
-
-
ความรู้และประสบการณ์ที่มี : ควรเลือกลงทุนในสิ่งที่ตัวเองเข้าใจ หากไม่เข้าใจให้ศึกษาหาข้อมูลและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อน เพราะการลงทุนในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้อาจตัดสินใจผิดพลาด หรือตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง
-
ค่าธรรมเนียมและภาษี : การลงทุนบางรูปแบบมีการเก็บค่าธรรมเนียมและต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย ดังนั้น เวลาคำนวณผลตอบแทนต้องไม่ลืมหักลบส่วนนี้
ทั้งนี้ แนะนำให้มีเงินสำรองฉุกเฉินให้เพียงพออย่างน้อย 6 เดือน ก่อนนำมาลงทุน ถ้าใครมีเงินออมเพียงพอแล้วก็มาดูกันว่าถ้ามีเงิน 10,000 บาท เราจะสามารถลงทุนในรูปแบบไหนได้บ้าง
มีเงิน 10,000 บาท
ลงทุนอะไรดี ปี 2567
1. ฝากบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง
ตัวอย่างบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง (ข้อมูล ณ วันที่ 24 กันยายน 2567)
-
บัญชีออมทรัพย์ Dime! Save ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ให้ดอกเบี้ย 3% สำหรับเงิน 10,000 บาทแรก หากฝากไว้ 1 ปี จะได้ดอกเบี้ย 300 บาท
-
บัญชีเงินฝาก ME Save ธนาคารทหารไทยธนชาต ให้ดอกเบี้ย 2.2% เมื่อมียอดเงินฝากมากกว่าถอนในแต่ละเดือน หากฝากไว้ 1 ปี และทำตามเงื่อนไข จะได้ดอกเบี้ย 220 บาท
-
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์อัลฟา ธนาคารไทยเครดิต ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ถ้าฝาก 10,000 บาท จะได้ดอกเบี้ย 200 บาท/ปี
2. ฝากบัญชีเงินฝากประจำ
ตัวอย่างบัญชีเงินฝากประจำ (ข้อมูล ณ วันที่ 24 กันยายน 2567)
-
บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 10 เดือน ธนาคารออมสิน ดอกเบี้ย 1.82% ต่อปี ไม่เสียภาษี ถ้าฝาก 10,000 บาท จะได้รับดอกเบี้ยประมาณ 149 บาท
-
บัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน ธนาคารไทยเครดิต ดอกเบี้ย 2.15% ต่อปี ถ้าฝาก 10,000 บาท ครบ 2 ปี จะได้รับดอกเบี้ย 430 บาท (ยังไม่หักภาษี)
-
บัญชีเงินฝากประจำ 36 เดือน ธนาคารกรุงไทย ดอกเบี้ย 2.3% ต่อปี ถ้าฝาก 10,000 บาท จะได้รับดอกเบี้ย 690 บาท (ยังไม่หักภาษี)
รวมเงินฝากดอกเบี้ยสูง ปี 2567 บัญชีไหนน่าสนใจ จ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน
3. ซื้อสลากออมทรัพย์
ตัวอย่างสลากออมทรัพย์ ปี 2567 (ข้อมูล ณ วันที่ 24 กันยายน 2567)
-
สลากออมสินพิเศษ 2 ปี ราคาหน่วยละ 100 บาท ถ้าซื้อ 10,000 บาท ได้ดอกเบี้ยรวม 125 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 0.625% ต่อปี (ยังไม่รวมกรณีถูกรางวัล)
-
สลาก ธ.ก.ส. ถุงเงิน อายุ 3 ปี ราคาหน่วยละ 100 บาท ถ้าซื้อ 10,000 บาท ได้ดอกเบี้ยรวม 190 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 0.633% ต่อปี (ยังไม่รวมกรณีถูกรางวัล)
-
สลาก ธอส. นาคราช อายุ 3 ปี ราคาหน่วยละ 1,000 บาท ถ้าซื้อ 10,000 บาท ได้ดอกเบี้ยรวม 300 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 1% ต่อปี (ยังไม่รวมกรณีถูกรางวัล)
4. พันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรออมทรัพย์
พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรออมทรัพย์ เป็นการลงทุนที่เปรียบเสมือนเราให้รัฐบาลกู้ยืมเงิน ดังนั้น จึงมั่นคง มีความน่าเชื่อถือสูง ความเสี่ยงน้อยมาก และให้ผลตอบแทนแน่นอนราว ๆ 2-4% (ขึ้นอยู่กับอายุของพันธบัตร) สามารถขายคืนพันธบัตรได้ตลอดเวลาแม้จะยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าอยากจะซื้อก็ซื้อได้เลย เพราะต้องรอให้กระทรวงการคลังเปิดขายเป็นรอบ ๆ ในแต่ละปี หรือถ้าไม่อยากรออาจจะซื้อจากตลาดรองก็ได้เช่นกัน เพียงแต่ราคาที่ซื้ออาจจะสูงกว่า เท่ากัน หรือต่ำกว่าพันธบัตรที่เปิดขายรอบแรก
5. กองทุนรวม
กองทุนรวม คือ การนำเงินของหลาย ๆ คนมารวมกันแล้วนำไปลงทุนต่อในสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. เป็นผู้บริหารจัดการเงินก้อนนี้ให้ เหมาะกับคนที่ต้องการกระจายความเสี่ยง และไม่มีเวลาศึกษาตลาดเองมากนัก เมื่อก่อนต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 1,000 บาท หรือ 10,000 บาท แต่ปัจจุบันมีหลายกองทุนที่กำหนดเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 1 บาท หรือ 100 บาท ช่วยให้คนมีเงินออมไม่มากสามารถลงทุนได้
ทั้งนี้ กองทุนรวมมีหลายประเภทให้เลือก เพื่อให้เหมาะกับความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้ เช่น
-
กองทุนรวมตลาดเงิน : ความเสี่ยงต่ำ เพราะเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากธนาคาร ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงิน และตราสารหนี้ระยะสั้นอื่น ๆ จึงให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 1-1.4% ต่อปี เหมาะกับคนที่ต้องการรักษาเงินต้นเอาไว้
-
กองทุนรวมตราสารหนี้ : เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรองค์กร ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้เอกชน ตราสารหนี้ของต่างประเทศ เป็นต้น ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำเช่นกัน ผลตอบแทนจึงพอ ๆ กับกองทุนรวมตลาดเงิน หรืออาจดีกว่าเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของแต่ละกอง
-
กองทุนรวมหุ้น : เน้นลงทุนในหุ้นทั้งในและต่างประเทศ แต่มีความผันผวนสูงมาก จึงมีโอกาสขาดทุนและทำกำไรได้ไม่ต่างกัน ในช่วงที่หุ้นขึ้นอาจทำกำไรได้เกิน 10-20% ต่อปี ทว่าในช่วงที่หุ้นตกก็มีโอกาสขาดทุนสูญเสียเงินต้นได้มากกว่า 10-20% ต่อปี หรือมากกว่านี้
-
กองทุนรวมผสม : เป็นกองทุนที่ลงทุนทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ผสมกัน เพื่อกระจายความเสี่ยง อัตราผลตอบแทนจึงอยู่ตรงกลางระหว่างกองทุนรวมตราสารหนี้และกองทุนรวมหุ้น แต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง
เล่นหุ้นเอง VS ซื้อกองทุนรวมหุ้น ชี้ชัด ๆ ทางเลือกไหนใช่สำหรับคุณ
6. หุ้นกู้
หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนเพื่อกู้ยืมเงินของเราแล้วให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ยให้ดอกเบี้ย 3-5% ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการลงทุน รวมถึงเรตติ้งหุ้นกู้ หากเป็นหุ้นกู้เรตติ้ง A ขึ้นไปก็จะให้ดอกเบี้ยน้อยกว่าเรตติ้ง BBB เมื่อเทียบในระยะเวลาที่เท่ากัน เช่น หุ้นกู้เรตติ้ง AA อายุ 3 ปี อาจให้ดอกเบี้ย 3% ในขณะที่หุ้นกู้เรตติ้ง BBB+ อายุ 3 ปี อาจให้ดอกเบี้ย 4.2% เป็นต้น
ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นกู้คือการผิดนัดชำระหนี้ หมายความว่ามีโอกาสที่ผู้ลงทุนจะไม่ได้เงินต้นคืนหรือไม่ได้รับดอกเบี้ย จึงต้องพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับคนที่มีเงินออม 10,000 บาท อาจมีหุ้นกู้ให้เลือกไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่จะต้องลงทุนขั้นต่ำ 100,000 บาท ยกเว้นหุ้นกู้ดิจิทัลที่เปิดขายผ่านแอปฯ เป๋าตัง หรือหุ้นกู้ตลาดรองที่เปิดขายผ่านแอปฯ SCB EASY สามารถลงทุนขั้นต่ำได้ที่ 1,000 บาท
7. หุ้น
เงิน 10,000 บาทก็สามารถเปิดพอร์ตหุ้นได้เช่นกัน แต่ต้องทำความเข้าใจว่าการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงสูงมาก ราคาหุ้นสามารถขึ้นหรือลงได้ตลอดเวลา เงินก้อนนี้อาจจะขาดทุนมากกว่า 20% หรือได้กำไรเกิน 20% ก็ได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้น ๆ งบการเงิน ข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงติดตามสถานการณ์ตลาดหุ้นอย่างใกล้ชิด หรืออาจจะใช้วิธีลงทุนในหุ้นปันผล เน้นผลตอบแทนระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ก็จะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดได้บ้าง
7 วิธีเล่นหุ้นฉบับคนไม่มีเวลา มนุษย์เงินเดือนทำได้ ไม่ต้องนั่งเฝ้าจอทั้งวัน
8. ทองคำ
แม้ราคาทองจะพุ่งไปเกินบาทละ 40,000 บาท แต่คนที่มีเงิน 10,000 บาทก็ลงทุนในทองคำได้ ซึ่งมีหลายวิธีให้เลือก
-
กองทุนรวมทองคำ : ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นแค่ 1 บาท หรือ 100 บาท (ขึ้นอยู่กับนโยบายกองทุน) ทยอยสะสมไปเรื่อย ๆ สามารถซื้อ-ขายผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้
-
ออมทอง : คือการซื้อทองสะสมไปเรื่อย ๆ ขั้นต่ำ 100-1,000 บาท (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่แต่ละร้านกำหนด) ช่วยเฉลี่ยราคาทองคำที่ผันผวน เมื่อสะสมครบปริมาณที่กำหนดก็สามารถแลกเป็นทองจริงได้ แต่ต้องเลือกร้านทองที่น่าเชื่อถือ
-
เม็ดทองคำ : ร้านทองบางแห่งจัดทำเม็ดทองคำ น้ำหนักเริ่มต้น 0.5 กรัม และ 1 กรัม ให้นักลงทุนที่มีเงินน้อยได้สะสม แทนที่จะต้องซื้อทองหนัก 1 สลึง หรือ 1 บาท ซึ่งใช้เงินลงทุนเยอะ
-
Gold Wallet : เป็นการซื้อ-ขายทองคำด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแบบเรียลไทม์ ปัจจุบันมีหลายแอปฯ ให้ลงทุน เช่น แอปฯ เป๋าตัง, แอปฯ K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย
4 วิธีออมทองด้วยเงินหลักร้อย หลักพัน งบน้อยก็ลงทุนได้ ไม่ต้องใช้เงินก้อนโต
9. ธุรกิจส่วนตัว
เงิน 10,000 บาท อาจไม่ใช่เงินก้อนใหญ่ แต่ก็สามารถนำไปต่อยอดกิจการของตัวเอง หรือใช้เป็นเงินลงทุนหารายได้เพิ่มเติมได้ เช่น
-
ซื้อของมาขายออนไลน์ ขายตามตลาดนัด ขายในออฟฟิศ/โรงงาน ฯลฯ
-
ซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารขายหรือมาผลิตสินค้าขาย
-
ซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ เช่น ซื้อโน้ตบุ๊กเครื่องใหม่ที่ทำงานได้เร็วกว่าปัจจุบัน, ซื้อกล้อง ขาตั้งกล้อง ไมค์ที่มีประสิทธิภาพ มาใช้ไลฟ์ขายของ หรือซื้อเครื่องปั่นน้ำผลไม้มาใช้แทนเครื่องเดิม ฯลฯ
-
ขยายกิจการที่ทำอยู่ เช่น ถ้าขายของในตลาดนัดอยู่ก็สามารถเช่าแผงเพิ่มหรือลงทุนรับสินค้าอื่น ๆ มาขายเพิ่มเติมได้อีก
-
สมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ไม่ต้องสร้างแบรนด์เอง ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก แต่ต้องศึกษาให้ดีว่าสินค้าหรือบริการนั้นมีความต้องการในตลาดหรือไม่ มีความแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร กำไรที่คาดว่าจะได้รับคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่
10. ซื้อแฟรนไชส์สำเร็จรูป
การลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ยังไม่ต้องการเริ่มต้นจากศูนย์ เนื่องจากคนรู้จักแบรนด์อยู่แล้ว จึงมีฐานลูกค้าเดิม อีกทั้งมีระบบต่าง ๆ ที่พร้อมใช้งาน มีทีมงานช่วยจัดหาสินค้า คิดแผนการตลาด และแนะนำเรื่องการวางกลยุทธ์ พร้อมฝึกอบรมทั้งในด้านการบริหารจัดการ การขาย และการบริการลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมีแฟรนไชส์หลายแบรนด์ที่ลงทุนขั้นต่ำเริ่มต้นไม่ถึง 10,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เราต้องศึกษาข้อมูลของแฟรนไชส์ให้ดี เพื่อประเมินศักยภาพของธุรกิจ รวมถึงพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าตกแต่งร้าน ค่าอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
ข้อควรรู้ในการลงทุน
-
ศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุน : การลงทุนเป็นการตัดสินใจที่ต้องการความรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ ลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการทำกำไรได้อย่างยั่งยืน โดยเราสามารถหาความรู้ได้จากการอ่านหนังสือ เข้าคอร์สเรียนหรือคอร์สอบรมที่เกี่ยวข้อง หรือการปรึกษาผู้ที่มีประสบการณ์จริง
-
เริ่มต้นจากการลงทุนในจำนวนน้อย : ลองเริ่มต้นลงทุนในจำนวนที่พอใจก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเงินลงทุนเมื่อมีความมั่นใจมากขึ้น
-
กระจายความเสี่ยง : ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์เดียว ควรกระจายการลงทุนไปในหลาย ๆ ช่องทางเพื่อลดความเสี่ยงขาดทุน เนื่องจากสินทรัพย์บางอย่างขึ้น-ลงสวนทางกัน
-
ลงทุนระยะยาว : การลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีควรลงทุนในระยะยาว อย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป
บทความที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน
ขอบคุณข้อมูลจาก : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สมาคมตราสารหนี้ไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์