x close

แฟรนไชส์น่าลงทุน 2567 รวมธุรกิจน่าสนใจ กำไรดี สำหรับคนอยากเปิดร้านปี 2024

           แฟรนไชส์น่าลงทุน 2567 สำหรับคนอยากทำธุรกิจส่วนตัวแล้วสนใจซื้อแฟรนไชส์ ตามมาดูไอเดียแฟรนไชส์ขายดีกัน
แฟรนไชส์น่าลงทุน 2567

           หลายคนอยากทำธุรกิจส่วนตัว แต่ไม่รู้จะขายอะไรดี หรือไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นจากตรงไหน ทำอะไรบ้าง การเลือกลงทุน ในแฟรนไชส์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เพราะมีการวางระบบมาให้แล้วทั้งหมดและมีมืออาชีพที่มีประสบการณ์คอยให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจ แต่ในปีนี้จะลงทุนในกลุ่มธุรกิจไหนดี วันนี้เรารวบรวมแฟรนไชส์ น่าสนใจในปี 2567 มาให้ลองพิจารณา

แฟรนไชส์น่าลงทุน ปี 2567

1. แฟรนไชส์ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ

แฟรนไชส์ไอศกรีม

          ขนมหวานยอดฮิตที่ขายง่าย ราคาไม่แพงทำให้คนตัดสินใจซื้อซ้ำได้บ่อย ใช้เงินลงทุนก็ไม่สูงเท่าไหร่ ไม่ต้องมีพื้นที่มากก็สามารถเปิดร้านได้สบาย ๆ เหมาะกับทำเลที่มีคนสัญจรผ่านไป-มา เช่น โรงเรียน สำนักงาน ตลาด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า
ตัวอย่างแฟรนไชส์ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ
  • Mixue Ice Cream&Tea : มี่เสวี่ย แบรนด์ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเจ้าดังจากจีนที่มีสาขากว่า 30,000 แห่งทั่วโลก แม้จะเพิ่งเปิดสาขาในไทยเมื่อปี 2022 แต่ได้รับความนิยมและตั้งเป้าขยายสาขาไปทั่วประเทศ โดยต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นประมาณ 800,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • iCreamy : แฟรนไชส์ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก แพ็กเกจเริ่มต้นอยู่ที่ 59,900 บาท และไม่มีสัญญาผูกมัดใด ๆ (ข้อมูลเพิ่มเติม)  

  • HAKO Soft Cream : แฟรนไชส์ตู้จำหน่ายไอศกรีมอัตโนมัติเจ้าแรกในไทย สร้างรายได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีพนักงานขาย ราคาลงทุนเริ่มต้น 99,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

2. แฟรนไชส์น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋

แฟรนไชส์น้ำเต้าหู้ปาท่องโก๋

           ของกินเล่นอย่างปาท่องโก๋ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจแฟรนไชส์ที่คนให้ความสนใจ เพราะใช้งบลงทุนไม่มาก ทำง่าย ขายง่าย ขายดี คืนทุนไว และปัจจุบันร้านต่าง ๆ ก็ปรับรูปแบบปาท่องโก๋ให้หลากหลายมากขึ้น มีทั้งแบบสอดไส้ หรือจิ้มดิปปิ้งซอสหลายรสชาติ
ตัวอย่างแฟรนไชส์น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋
  • โก๋นักบิน : แฟรนไชส์ปาท่องโก๋จากอดีตนักบินที่ผันตัวมาทำธุรกิจ มีจุดเด่นอยู่ที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากฝรั่งเศส ทำให้ได้ปาท่องโก๋ที่กรอบนอก นุ่มหนึบ ไร้แอมโมเนีย ค่าแพ็กเกจแฟรนไชส์เริ่มต้นอยู่ที่ 39,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • โก๋ป๊ะคะ : แฟรนไชส์น้ำเต้าหู้-ปาท่องโก๋ที่มีสาขามากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ขายดิบขายดีด้วยปาท่องโก๋ 7 รสที่ไม่เหมือนใคร เช่น แบบเกลียว แบบโฮลวีต ใบเตย กล้วยหอม ชาร์โคล เสิร์ฟพร้อมน้ำเต้าหู้ร้อน ๆ ราคาแฟรนไชส์เริ่มต้น 85,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • โต้ว : แฟรนไชส์ร้านขายน้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ และยังมีเมนูเครื่องดื่มพร้อมขนมหวานอื่น ๆ เช่น นมสดเฉาก๊วย ซุปงาดำ เต้าทึง เต้าฮวยงาดำ เต้าฮวยน้ำเต้าหู้ เสิร์ฟสายเฮลท์ตี้โดยเฉพาะ ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นประมาณ 800,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

3. แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก-เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ

แฟรนไชส์เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ

           เป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตได้ดีในสังคมเมือง เพราะเป็นบริการที่ช่วยทุ่นแรงและประหยัดเวลาในการซักผ้า อีกทั้งเป็นธุรกิจที่รับเงินสดทันที จึงมักได้ผลตอบแทนกลับมาเร็ว
ตัวอย่างแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก-เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ
  • UWASH : ร้านสะดวกซักสไตล์ SMART kiosk เจ้าแรกในประเทศ มีจุดเด่นตรงที่ไม่เก็บส่วนแบ่งตลอดชีพและไม่เสียค่าแฟรนไชส์ คืนทุนเร็วไม่ถึง 2 ปี เพราะราคาลงทุนเริ่มต้นที่หลักแสน คือ 490,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • สนุกซัก : ร้านสะดวกซักที่เปิดง่ายคืนทุนไว มีพื้นที่ว่าง 40 ตร.ม. ก็เปิดได้แล้ว และทางแบรนด์ก็ไม่แบ่งเปอร์เซ็นต์ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน-รายปี ราคาแฟรนไชส์เริ่มต้น 1,580,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)  

  • Otteri Wash & Dry : ร้านสะดวกซักแบรนด์อันดับ 1 ที่มีมากกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ หากสนใจลงทุนต้องใช้งบประมาณขั้นต่ำ 2,422,380 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

4. แฟรนไชส์สุกี้

แฟรนไชส์สุกี้

          ธุรกิจอาหารประเภทสุกี้ ชาบู ยังได้รับความนิยมไม่แผ่ว เราถึงได้เห็นแบรนด์แฟรนไชส์สุกี้หน้าใหม่เปิดตัวออกมาเรื่อย ๆ โดยมีให้เลือกรับประทานตั้งแต่ระดับราคาย่อมเยาไปจนถึงร้านระดับพรีเมียม
ตัวอย่างแฟรนไชส์สุกี้
  • สุกี้นายพัน : ร้านสุกี้ชื่อดังที่ขายมานานกว่า 15 ปี ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 39,000 บาท โดยจะได้รับอุปกรณ์ครบชุด พร้อมสอนงานก่อนเปิดขายจริง (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • มูมมามสุกี้ : บุฟเฟ่ต์สุกี้ที่ไม่จำกัดเวลารับประทาน จึงมีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย โดยทางแบรนด์จะช่วยอบรมและหาพนักงาน และจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ทั้งหมด ค่าแฟรนไชส์เริ่มต้น 250,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)  

  • สึนามิ สุกี้สายพาน : แบรนด์สุกี้หม่าล่าสายพาน 2 in 1 ต้มก็ได้ ปิ้งย่างก็ดี นำสูตรมาจากนครฉงชิ่ง โดยทางแบรนด์การันตีว่าขายได้กำไรเกิน 50% แน่นอน และไม่เก็บทั้งค่า Royalty และเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย ราคาลงทุนเริ่มต้น 1,500,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

5. แฟรนไชส์ชาไข่มุก

แฟรนไชส์ชาไข่มุก

          ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ชานมไข่มุกก็ยังติดอันดับเมนูเครื่องดื่มขายดีและมีแบรนด์แฟรนไชส์เจ้าใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี ลองมาดูกันว่าในปีนี้มีแบรนด์ไหนน่าสนใจบ้าง
ตัวอย่างแฟรนไชส์ชาไข่มุก
  • ไอ-ฉะ : แฟรนไชส์ชานมไข่มุกและเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีรสชาติกลมกล่อม ได้รับความสนใจไม่น้อยเพราะค่าแฟรนไชส์ไม่แพง แพ็กเกจเริ่มต้นอยู่ที่ 39,000 บาท ซึ่งสามารถคืนทุนได้ภายใน 1-2 เดือน ทางร้านพร้อมสอนอบรมวิธีการทำทุกขั้นตอน (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • Hop Chafe : แบรนด์ชานมไข่มุกที่มีจุดเด่นเรื่องรสชาติที่นุ่มนวล และขายเพียง 20 บาทราคาเดียว ฟรีไข่มุก เป็นธุรกิจลงทุนง่าย คืนทุนไว กำไร 60% มีแพ็กเกจให้เลือกตั้งแต่ราคา 39,000-89,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)  

  • MIKUCHA : แฟรนไชส์ชานมไข่มุกที่มีมากกว่า 140 สาขา และยังมีเมนูอื่น ๆ ให้เลือกกอีกกว่า 40 เมนู แพ็กเกจลงทุนเริ่มต้นอยู่ที่ 350,000 บาท และมีค่า Royalty 3%, ค่าการตลาด 1% โดยมีอายุสัญญาแฟรนไชส์ 3 ปี (ข้อมูลเพิ่มเติม)

6. แฟรนไชส์ร้านทุกอย่างราคาเดียว

แฟรนไชส์ร้านทุกอย่าง 20 บาท

ภาพจาก : TY Lim / Shutterstock.com

           ถือเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ไม่น้อย เพราะมักจะมีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย บางคนไม่ได้ตั้งใจซื้ออะไร แต่พอได้เดินชมก็ต้องหยิบอะไรติดไม้ติดมือกลับไป ตอบโจทย์คนต้องการสินค้าราคาย่อมเยา
ตัวอย่างแฟรนไชส์ร้านทุกอย่างราคาเดียว
  • Miki Miki : สินค้าน่ารัก ๆ ทุกชิ้น 10 บาทราคาเดียว โดยของที่วางขายในร้าน ทางแบรนด์คัดเลือกเองจากต่างประเทศแล้วสั่งผลิต จึงได้สินค้าราคาย่อมเยา โดยหากต้องการซื้อแฟรนไชส์จะต้องลงทุนเริ่มต้นประมาณ 390,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • หยี่จั๊บ แฟรนไชส์ทุกอย่าง 20 บาท : แบรนด์นี้ก็ไม่เสียค่าแรกเข้า ไม่เสียค่าแฟรนไชส์ตลอดชีพ และไม่ต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์กำไร งบลงทุนขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • ทัดดาว 20 : แฟรนไชส์ทุกอย่าง 20 บาทที่สามารถสร้างแบรนด์ได้เอง มีหลายแพ็กเกจให้เลือกลงทุน เริ่มต้น 89,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

7. แฟรนไชส์ขนมปังนมสด

แฟรนไชส์ร้านขนมปังนมสด

           อีกหนึ่งเมนูของกินเล่นที่ทำง่าย กินง่าย ขายง่าย ใช้งบประมาณลงทุนไม่สูงนัก ถูกอกถูกใจคนทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่น วัยทำงาน เหมาะกับการขายตามตลาดนัดหรือย่านโรงเรียน มหาวิทยาลัย ออฟฟิศ
ตัวอย่างแฟรนไชส์ขนมปังนมสด
  • เอชเจ เฟรชมิลค์ ปังหยา-นมสด : ร้านนี้มีชื่อเสียงเพราะขายมานานกว่า 40 ปี และมีเมนูใหม่ ๆ ที่หลากหลาย สามารถเลือกลงทุนได้ทั้งแบบประหยัด เริ่มต้น 18,900 บาท หรือแบบรถเข็น แบบมีเคาน์เตอร์ แบบคีออส ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไป (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • Jipjip สังขยา&นมสด : คาเฟ่ขนมหวานในคอนเซปต์แคลฯ น้อยอร่อยมาก มีเมนูซิกเนเจอร์คือ ขนมปังสังขยาและนมสดที่ใช้วัตถุเกรดพรีเมียม ค่าแฟรนไชส์เริ่มต้น 99,999 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)  

  • นมปังสด : แฟรนไชส์ขนมปังสังขยา นมสด ชานมไข่มุก พร้อมเครื่องดื่มอีกหลายชนิด เปิดร้านง่าย ๆ เริ่มต้น 39,999 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

8. แฟรนไชส์คาร์แคร์

แฟรนไชส์คาร์แคร์

          แม้จะใช้งบประมาณหลักล้าน แต่ธุรกิจบริการล้างรถยนต์และดูแลรถยนต์ก็ยังเป็นโอกาสในการลงทุนระยะยาว ตอบโจทย์คนรักรถที่ต้องการดูแลรักษารถให้ดูใหม่อยู่เสมอ

ตัวอย่างแฟรนไชส์คาร์แคร์

  • WASH AT ME : เหมาะกับผู้ประกอบการที่มีร้านคาร์แคร์อยู่แล้ว แต่ต้องการปรับโฉมและตกแต่งร้านให้เป็นแฟรนไชส์ วอช แอท มี โดยลงทุนเพียงครั้งเดียว 150,000 บาท ตลอดอายุสัญญา พร้อมเข้าฝึกอบรมการบริหารจัดการคาร์แคร์ แต่ถ้ายังไม่มีร้านคาร์แคร์จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1.39 ล้านบาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)  

  • J Wash : ศูนย์บริการทำความสะอาดและบำรุงรักษารถยนต์ที่ใช้เครื่องล้างรถอัตโนมัติจากประเทศญี่ปุ่น ทำความสะอาดได้รวดเร็วภายใน 5 นาที โดยไม่ต้องลงจากรถ ซึ่งทางร้านมั่นใจว่าคืนทุนได้ใน 1-2 ปี เพราะต้นทุนการล้างต่อคันต่ำ รับลูกค้าได้มากขึ้น งบลงทุนเริ่มต้นประมาณ 3.5 ล้านบาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • ดับเบิ้ลยู บาย วิซาร์ด : ศูนย์ดูแลรถยนต์มาตรฐานครบวงจรที่มีประสบการณ์กว่า 27 ปี พร้อมช่วยซัพพอร์ตทั้งการหาทำเล ฝึกอบรมพนักงาน วางระบบบริหารจัดการในร้าน ดูแลเครื่องล้างรถอัตโนมัติ โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 2.99-3.9 ล้านบาท ตั้งเป้าหมาย 3 ปี คืนทุน (ข้อมูลเพิ่มเติม)

สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนซื้อแฟรนไชส์

  • เลือกธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต โดยต้องดูเทรนด์ของตลาดว่าสิ่งที่เราจะขายหรือให้บริการนั้นยังไปได้ดีในอนาคตหรือไม่ กลุ่มลูกค้ามีมากแค่ไหน ความต้องการของตลาดเป็นอย่างไร คู่แข่งเยอะไหม เพื่อประเมินโอกาสและความเสี่ยงก่อนลงทุน

  • เลือกตามธุรกิจที่ตัวเองสนใจและมีความรู้ เพราะแม้ว่าแฟรนไชส์จะมีการวางระบบและฝึกอบรมทุกขั้นตอนแล้ว แต่หากเราไม่ได้สนใจและไม่เคยศึกษา หรือไม่มีทักษะบางอย่างในการทำกิจการนั้น ๆ อาจไม่สามารถเปิดร้านได้ในระยะยาว รวมทั้งไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า  

  • เลือกแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อ โดยพิจารณาว่าชื่อเสียงเป็นอย่างไร มีประวัติและผลการดำเนินการที่ผ่านมาดีหรือไม่ มีข่าวด้านลบหรือคำวิจารณ์ของลูกค้าแค่ไหน เช่น ถ้าเป็นแฟรนไชส์อาหาร รสชาติต้องอร่อย ของต้องสด ใหม่ สะอาด หรือหากมีฐานลูกค้าที่รู้จักชื่อเสียงของแบรนด์อยู่ก่อนแล้วก็ยิ่งช่วยให้เราขายสินค้าได้ง่ายขึ้น

  • เลือกแบรนด์ที่มีการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เช่น ฝึกอบรมทุกขั้นตอน สอนเรื่องการตลาด วางแผนธุรกิจ การจัดการบัญชี การคัดเลือกพนักงาน ให้คำปรึกษาหลังการขาย สามารถซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ในราคาพิเศษ เป็นต้น 

  • เลือกตามงบประมาณของตัวเอง โดยนอกจากจะเปรียบเทียบเรื่องค่าแฟรนไชส์ งบลงทุนก่อสร้าง ค่าเช่าสถานที่ ค่าวัตถุดิบ-อุปกรณ์ที่ต้องใช้แล้ว ยังต้องพิจารณาเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน รายปี ค่าส่วนแบ่งการขาย ซึ่งแบรนด์ใหญ่ ๆ มักเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้ด้วย จึงต้องสอบถามให้ชัดเจน เพื่อคำนวณงบลงทุน กำไรที่คาดหวัง และจุดคุ้มทุนให้ดี

           หากใครสนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ สามารถนำคำแนะนำเบื้องต้นเหล่านี้ไปพิจารณาได้เลย และควรสอบถามเงื่อนไขรายละเอียด ข้อจำกัดต่าง ๆ จากเจ้าของแฟรนไชส์ให้ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อเลือกลงทุนในธุรกิจที่ตรงใจตัวเองมากที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แฟรนไชส์น่าลงทุน 2567 รวมธุรกิจน่าสนใจ กำไรดี สำหรับคนอยากเปิดร้านปี 2024 อัปเดตล่าสุด 31 มกราคม 2567 เวลา 11:27:27 86,933 อ่าน
TOP