เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการจ่ายบัตรเครดิตช้า จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง สามารถจ่ายบัตรเครดิตช้าได้กี่วัน หาคำตอบได้ที่นี่
ในบรรดาผู้ที่ใช้บัตรเครดิตนั้น คงมีบางส่วนที่เคยยุ่งจนลืมจ่ายหนี้ หรืออาจประสบปัญหาด้านการเงิน ทำให้ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าบัตรเครดิตตามจำนวนทันเวลาที่กำหนดได้ และคงเกิดคำถามขึ้นมาว่า จริง ๆ แล้วเราสามารถจ่ายช้าได้กี่วัน หรือถ้าหากจ่ายไม่ทันจนเป็นหนี้บัตรเครดิต จะเกิดผลกระทบอะไรตามมาบ้าง วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายบัตรเครดิตช้ามาบอกกัน
การจ่ายหนี้บัตรเครดิตแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ จ่ายครบเต็มจำนวนที่รูดไป กับ จ่ายขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับเราตกลงกับสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะระบุวันครบกำหนดชำระหนี้ในแต่ละเดือนไว้ หากจ่ายตรงตามเวลา ไม่ว่าจะจ่ายเต็มจำนวนหรือจ่ายขั้นต่ำก็จะไม่ส่งผลอะไร แต่หากชำระไม่ถึงยอดขั้นต่ำหรือไม่ตรงตามวันที่กำหนด จะทำให้เกิดการค้างชำระ หรือที่เรียกว่าการจ่ายบัตรเครดิตช้านั่นเอง
จ่ายบัตรเครดิตช้า 1 วัน เป็นอะไรไหม
ในบางธนาคารหรือบางสถาบันการเงินอาจอนุโลมให้จ่ายบัตรเครดิตช้าได้ 1-3 วัน (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแห่ง) ซึ่งจะไม่ส่งผลใด ๆ รวมทั้งไม่ถูกคิดดอกเบี้ยและค่าปรับล่าช้า แต่บางสถาบันการเงินก็อาจไม่อนุโลมให้ โดยเฉพาะถ้าหากมีประวัติการชำระที่ไม่ดี
จ่ายบัตรเครดิตช้าได้กี่วัน
อย่างที่บอกว่าหากมีการจ่ายบัตรเครดิตล่าช้ากว่ากำหนด บางสถาบันการเงินอาจอนุโลมให้ชำระคืนล่าช้าได้ไม่เกิน 1-3 วัน โดยจะยังไม่ถูกคิดดอกเบี้ยและค่าปรับล่าช้า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงินและประวัติการชำระที่ผ่านมาด้วยว่าดีหรือไม่
แต่ถ้าจ่ายช้าเกินกว่านี้ เช่น จ่ายบัตรเครดิตช้า 7 วัน หรือจ่ายช้าไป 1 เดือน ก็จะถูกเรียกเก็บค่าปรับล่าช้าและดอกเบี้ย และถ้าหากจ่ายล่าช้าเกินกว่า 30 วันขึ้นไป จะส่งผลให้ถูกขึ้นสถานะเครดิตเป็นค้างชำระ
จ่ายบัตรเครดิตช้า จะเป็นอย่างไร
ในกรณีที่มีการจ่ายบัตรเครดิตช้า ไม่ว่าจะเป็นการลืมจ่ายหรือเพราะหมุนเงินไม่ทัน จะส่งผลเสียหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
1. เสียดอกเบี้ยผิดเงื่อนไข
เมื่อมีการจ่ายบัตรเครดิตล่าช้า จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยผิดเงื่อนไขนัดชำระตามอัตราที่สถาบันการเงินกำหนด โดยจะถูกคิดจากเงินต้นของค่างวดที่ผิดนัดในงวดนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ต้องผ่อนเดือนละ 6,000 บาท แยกเป็นเงินต้น 5,000 บาท ดอกเบี้ย 1,000 บาท โดยยอดเงิน 5,000 บาทจะถูกนำมาคิดดอกเบี้ยผิดเงื่อนไข
2. เสียค่าติดตามทวงถามหนี้
หากมีหนี้บัตรเครดิตค้างชำระสะสมมากกว่า 1,000 บาทขึ้นไป ในกรณีค้างจ่าย 1 งวด จะมีค่าใช้จ่ายทวงถามหนี้ไม่เกิน 50 บาทต่อรอบ แต่ถ้าหากค้างจ่าย 2 งวดขึ้นไป จะมีค่าใช้จ่ายทวงถามหนี้ไม่เกิน 100 บาทต่อรอบ
3. เสียประวัติ
ถ้าหากมีการจ่ายบัตรเครดิตล่าช้าบ่อย ๆ ไม่ว่าจะแค่ 5 วัน, 7 วัน, 1 เดือน หรือ 2 เดือน ถึงแม้ว่าจะยังไม่เป็นหนี้เสียหรือ NPL (หนี้ค้างชำระมากกว่า 90 วัน) แต่สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลไปที่เครดิตบูโรว่ามีการค้างชำระเป็นจำนวนกี่วันตามความเป็นจริง ซึ่งส่งผลให้เรามีเครดิตการเงินที่ไม่ดี ความน่าเชื่อถือด้านการเงินลดลง โอกาสที่จะผ่านการพิจารณาขอสินเชื่อในอนาคตก็จะยากขึ้น
4. เกิดเป็นสถานะหนี้เสีย
ในกรณีที่มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือ 3 งวด จะถูกจัดเป็นหนี้เสีย หรือที่เราเรียกกันว่า "ติดเครดิตบูโร" คราวนี้การทำธุรกรรมทางการเงินใด ๆ เช่น การขอสินเชื่อ การสมัครบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด จะผ่านการพิจารณายากขึ้น และเครดิตบูโรจะจัดเก็บข้อมูลไว้ 3 ปี นับจากวันที่ชำระเงินปิดหนี้ หมายความว่าแม้ในอนาคตเราจะจ่ายหนี้ครบทั้งหมดแล้ว แต่ประวัติในเครดิตบูโรจะไม่ถูกลบในทันที โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกเก็บไว้อีกไม่เกิน 3 ปี
5. ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
เมื่อไม่สามารถผ่อนชำระได้ครบตามที่กำหนดเป็นเวลานาน และลูกหนี้ตกลงกับเจ้าหนี้ไม่ได้ หรือไม่ยอมเข้ามาติดต่อ หายหน้าไปเลย ทางสถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะส่งหนังสือทวงถามหนี้ (Notice) ไปเตือนลูกหนี้ให้ชำระหนี้ให้เรียบร้อย หรือมาไกล่เกลี่ยกันก่อน แต่ถ้ายังเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใด ๆ เลย เจ้าหนี้จะส่งเรื่องฟ้องดำเนินคดี โดยจะมีหมายศาลส่งมาให้ลูกหนี้ยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน หลังจากนั้นลูกหนี้ต้องไปขึ้นศาลเพื่อขอประนีประนอม
ในกรณีที่แพ้คดี ลูกหนี้จะต้องหาเงินมาชำระหนี้ แต่ถ้าไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ ศาลจะสั่งบังคับคดี ยึดทรัพย์ และอาจถึงขั้นถูกฟ้องให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย
จากผลกระทบต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปนั้น จะเห็นได้ว่าการจ่ายบัตรเครดิตช้าเป็นสิ่งที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้นหากเป็นไปได้ก็ควรใช้จ่ายบัตรเครดิตเท่าที่สามารถจ่ายได้ไหว ไม่ใช้จ่ายเกินตัว เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเป็นหนี้บัตรเครดิต แถมยังไม่ต้องถูกเก็บดอกเบี้ยทั้งที่ไม่ควรจะต้องเสียอีกด้วย ส่วนคนที่มักจะลืมกำหนดวันชำระ แนะนำให้ตั้งการแจ้งเตือนเอาไว้ หรือตั้งเวลาโอนเงินอัตโนมัติในวันที่ครบกำหนด รวมทั้งสมัครบริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ เท่านี้ก็จะไม่ลืมจ่ายหนี้แล้ว
บทความที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต