หนี้บัตรเครดิต เป็นแล้วสิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้คืออะไร ผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้จะร้ายแรงแค่ไหน ติดตามได้จากบทความนี้
หนี้บัตรเครดิต ที่หลายคนก่อไว้มาจากเหตุผลแตกต่างกันออกไป บางคนเกิดจากการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยเกินฐานะความจำเป็น อยากได้สิ่งของราคาแพงแต่ไม่มีเงิน จึงต้องนำเงินในอนาคตมาใช้ แต่บางคนก็ต้องแบกรับภาระหลายทาง ไหนจะค่าเทอมลูก ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ดังนั้น ภาระความจำเป็นของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ทุกสาเหตุนำไปสู่ผลลัพธ์เดียวกันคือ การเป็นหนี้
หากถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้อง คดีที่เกี่ยวกับหนี้บัตรเครดิต ถือเป็นคดีประเภทใด
ในกรณีที่คุณเป็นหนี้บัตรเครดิต ตามกฎหมายจะถือเป็น คดีแพ่ง ส่วนโทษในคดีแพ่งจะมีเพียงการชำระหนี้และชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น
หากถูกฟ้องจะต้องขึ้นศาลอะไร ที่ไหน
กรณีที่เป็นคดีเกี่ยวกับหนี้บัตรเครดิตจะเข้าข่ายคดีเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคล ซึ่งสถานที่ที่เจ้าหนี้สามารถยื่นฟ้องลูกหนี้ ได้แก่ 1. ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล 2. ศาลที่มูลคดีเกิด (ที่ตั้งของสถาบันการเงินที่ลูกหนี้ได้ไปรับบัตรเครดิต)
1. ดูประเภทของคดีก่อนว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด
2. ดูทุนทรัพย์ของคดีว่าอยู่ในอำนาจศาลจังหวัดหรือศาลแขวง
เช่น ศาลจังหวัด จะพิจารณาคดีแพ่งที่มีจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาที่พิพาทเกินกว่า 300,000 บาท ส่วนศาลแขวง จะพิจารณาคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกิน 300,000 บาท
คดีบัตรเครดิตจะเริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อใดและมีอายุความกี่ปี
ในคดีบัตรเครดิตโดยทั่วไป เมื่อเจ้าหนี้ได้แจ้งกำหนดการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ทราบแล้ว เมื่อถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด อายุความจะเริ่มนับทันทีในวันถัดไป ส่วนคดีหนี้บัตรเครดิตจะมีอายุความทั้งสิ้น 2 ปี
คำตอบคือ ได้ โดยเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี หากลูกหนี้ไม่ชำระคืนตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน เจ้าหนี้มีสิทธิ์ยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิ์เรียกร้องของลูกหนี้ได้ โดยศาลจะตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อออกหมายยึดและอายัดต่อไป ซึ่งทรัพย์สินที่สามารถยึดได้ มีดังนี้
1. ของมีค่า เครื่องประดับทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพชร พลอย นาฬิกา และของสะสมที่มีมูลค่า
2. บ้าน ที่ดิน และถึงแม้ว่าจะยังติดจำนองอยู่ก็สามารถที่จะยึดได้เช่นกัน
3. รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ และไม่ได้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ
4. ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ ที่มีมูลค่ารวมกันเกิน 20,000 บาท
5. เครื่องมือในการประกอบอาชีพของลูกหนี้ ที่มีมูลค่ารวมกันเกิน 100,000 บาท
ข้อควรรู้ หากมีเจ้าหนี้หลายราย ทรัพย์ใดถูกยึดไปแล้ว ห้ามเจ้าหนี้รายอื่นมายึดซ้ำ เจ้าหนี้รายใดยึดก่อนก็ได้สิทธิ์ก่อน
เจ้าหนี้สามารถทำเรื่องขออายัดเงินเดือนของลูกหนี้ได้หรือไม่
อีกสิ่งสำคัญของคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิตควรจะทราบไว้เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการรายได้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน กรณีที่ถูกเจ้าหนี้ทำเรื่องขออายัดเงินเดือน โดยถ้าลูกหนี้เพิกเฉยไม่ยอมติดต่อเจ้าหนี้ ไม่ยอมใช้หนี้ หรือตกลงเรื่องการจ่ายเงินไม่ได้ ทนายของฝ่ายเจ้าหนี้ก็อาจจะทำเรื่องขอยึดทรัพย์ หรืออายัดเงินเดือนได้ โดยกรมบังคับคดีกำหนดให้ลูกหนี้ที่เป็นพนักงานเอกชนและพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง จะสามารถถูกอายัดเงินเดือนได้ ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
1. เงินเดือน อายัดได้ไม่เกิน 30% และต้องมีเงินเดือนมากกว่า 20,000 บาท ถึงจะสามารถอายัดได้ ทั้งนี้ เงินส่วนที่ไม่ได้อายัดจะต้องคงเหลือไม่น้อยกว่า 20,000 บาทด้วย และถ้าลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่ารักษาพยาบาล ก็สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่กรมบังคับคดี เพื่อลดเปอร์เซ็นต์การอายัดเงินเดือนได้
ตัวอย่างเช่น
- ลูกหนี้ A มีเงินเดือน 15,000 บาท >> กรณีนี้ไม่ถูกอายัดเงินเดือน
- ลูกหนี้ B มีเงินเดือน 25,000 บาท >> กรณีนี้จะถูกอายัดได้ไม่เกิน 30% คือ 7,500 บาท แต่อายัดได้จริง ๆ แค่ 5,000 บาท เพราะลูกหนี้ B ต้องมีเงินคงเหลือ 20,000 บาท
- ลูกหนี้ C มีเงินเดือน 40,000 บาท >> กรณีนี้จะถูกอายัดได้ไม่เกิน 30% คือ 12,000 บาท คงเหลือเงินเดือนที่ไม่ถูกอายัด 28,000 บาท
2. เงินโบนัส อายัดได้ไม่เกิน 50%
3. เงินตอบแทนการออกจากงาน
4. เงินค่าตอบแทน ค่าสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตำแหน่ง
5. เงินในบัญชีเงินฝาก หรือเงินปันผลจากการลงทุน
6. ทรัพย์สินที่เป็นการลงทุน เช่น หุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ หรือกองทุน
7. เงินค่าตำแหน่งทางวิชาการ ที่เป็นสังกัดเอกชน
แล้วเงินแบบไหนอายัดไม่ได้ ?
1. เงินเดือน ค่าจ้าง บํานาญ บําเหน็จ เบี้ยหวัดของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ
2. เงินเบี้ยเลี้ยงชีพ (เบี้ยคนชรา เบี้ยคนพิการ)
3. เงินค่าวิทยฐานะ (ค่าตำแหน่งทางวิชาการ) กรณีเป็นข้าราชการ
4. เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
5. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
6. รายได้ที่บุคคลอื่นมอบให้เพื่อเลี้ยงชีพ แต่ต้องมีจำนวนไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน (หากเกินสามารถถูกยึดได้)
7. บำเหน็จ หรือรายได้อื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน ของพนักงานที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ ที่มีจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท (หากเกินสามารถถูกยึดได้)
8. เงินฌาปนกิจสงเคราะห์จากการตายของบุคคลอื่น
กรณีคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์สินภายในบ้านได้หรือไม่
ถ้าเป็นกรณีที่เป็นสามีภรรยาโดยถูกต้องตามกฎหมาย ให้ถือว่าทรัพย์สินภายในบ้านเป็นสินสมรส เจ้าหนี้มีสิทธิ์นำชี้แถลงยืนยันต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี พร้อมนำส่งเอกสารประกอบการยึดทรัพย์ได้ หากทรัพย์ภายในบ้านเป็นสินสมรสจริง
ในกรณีที่ลูกหนี้เสียชีวิตใครจะเป็นผู้รับผิดชอบภาระหนี้สินดังกล่าว
หลายคนอาจสงสัยว่าหากเจ้าหนี้เสียชีวิตลง ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินที่ผู้ตายได้ก่อไว้ก่อนเสียชีวิต เรื่องนี้มีคำตอบครับ ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับหนี้สินกันก่อน ซึ่งตามกฎหมายระบุไว้ว่า "หนี้" ถ้าคนไหนก่อคนนั้นก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบครับ คนอื่นไม่เกี่ยว ดังนั้น ชัดเจนแล้วว่าคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายไม่ต้องเป็นกังวลไปนะครับว่าจะโดนทวงหนี้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ความเป็นหนี้จะสิ้นสุดลงตามการเสียชีวิตของลูกหนี้ คนมีหนี้ก็ต้องใช้หนี้กันไป โดยกฎหมายระบุไว้ว่า เมื่อลูกหนี้ได้เสียชีวิตลง เจ้าหนี้ก็จะต้องไปทวงหนี้เอาจากกองมรดกของลูกหนี้เท่านั้นครับ แต่ถ้าหากลูกหนี้ไม่มีมรดกก่อนเสียชีวิตก็จบครับ เป็นอันว่า “เจ้าหนี้ก็ไม่ได้รับชำระหนี้คืนเลย”
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ดูเหมือนลูกหนี้จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ฝ่ายเดียว แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังใจไป ในทางปฏิบัติแล้วยังพอมีหนทางที่ลูกหนี้จะสามารถเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ได้ ซึ่งกระปุกดอทคอมขอยกมา 3 วิธี ได้แก่ การประนอมหนี้ การโอนหนี้บัตรเครดิต และการปรับโครงสร้างหนี้
1. การประนอมหนี้
การประนอมหนี้ คือ การที่เจ้าหนี้ยินยอมลดจำนวนหนี้สินลง หรืออาจจะยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ เพื่อให้ลูกหนี้ได้ผ่อนชำระในจำนวนเงินที่น้อยลงสมกับสถานะทางการเงินปัจจุบันของลูกหนี้ ส่วนจำนวนหนี้ที่ยอมลดให้จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการต่อรองระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ แม้ว่าบางครั้งเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ไม่สูง แต่ถือว่าดีกว่าไปฟ้องร้อง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายทางศาล และเป็นการรักษาชื่อเสียงของเจ้าหนี้ว่าเจ้าหนี้รายนั้นไม่ใช่เจ้าหนี้หน้าเลือด
ส่วนใหญ่เวลาคนเป็นหนี้บัตรเครดิตมักเกิดจากหนี้บัตรเครดิตหลาย ๆ ใบ ทำให้ต้องชำระหนี้หลายช่องทางพ่วงด้วยอัตราดอกเบี้ยตามจำนวนบัตรที่ถือ ซึ่งภาระเรื่องดอกเบี้ยนี่แหละที่เป็นตัวการใหญ่ของปัญหาหนี้บัตรเครดิต ดังนั้น จึงมีหลายสถาบันการเงินที่รับโอนหนี้ ซึ่งการโอนหนี้ก็คือ การถ่ายโอนหนี้ค้างชำระจากสถาบันการเงินเดิมไปรวมไว้ยังสถาบันการเงินแห่งใหม่ ซึ่งลูกหนี้จะสะดวกในการรวมชำระหนี้ให้เป็นแห่งเดียว และจะทำให้ดอกเบี้ยลดลง ง่ายต่อการชำระหนี้มากขึ้น
ลูกหนี้สามารถเลือกผ่อนชำระได้นานขึ้น ทำให้มีเวลาในการตั้งตัวและหาเงินมาใช้หนี้
รวมไปถึงช่วยลดภาระการชำระหนี้ต่อเดือน เช่น การผ่อนบัตรเครดิต
ต้องชำระขั้นต่ำ 10% ของยอดคงค้าง ถ้าโอนหนี้แล้วลูกหนี้สามารถเลือกผ่อนได้น้อยลง ขึ้นอยู่กับจำนวนเดือนที่เลือกผ่อนชำระกับทางสถาบันการเงิน
ปัจจุบันมีโครงการคลินิกแก้หนี้ ที่ช่วยรวมหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดจากหลายแห่งมาไว้ที่เดียว แล้วทยอยผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ย 4-7% ต่อปี โดยสามารถผ่อนได้นานสูงสุด 10 ปี (120 งวด) ดังนั้นยอดผ่อนต่อเดือนจะไม่สูงมาก เช่น ยอดหนี้ 50,000 บาท จะผ่อนชำระขั้นต่ำเดือนละ 583 บาท จึงช่วยปลดหนี้เสียต่าง ๆ ได้ไวขึ้น และเมื่อผ่อนชำระเสร็จสิ้นตามสัญญาจะยกดอกเบี้ยค้างชำระให้ทั้งหมด
ทั้งนี้ แม้จะเป็นผู้ที่ถูกฟ้องดำเนินคดี ถูกฟ้องดำเนินคดีแล้วแต่ยังไม่มีคำพิพากษา หรือถูกฟ้องดำเนินคดีและมีคำพิพากษาแล้ว ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของคลินิกแก้หนี้ได้เลย
ทั้งนี้ แม้จะเป็นผู้ที่ถูกฟ้องดำเนินคดี ถูกฟ้องดำเนินคดีแล้วแต่ยังไม่มีคำพิพากษา หรือถูกฟ้องดำเนินคดีและมีคำพิพากษาแล้ว ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของคลินิกแก้หนี้ได้เลย
เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยบรรเทาภาระหนี้สิน เนื่องจากโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงินของลูกหนี้ในเวลาปัจจุบัน การปรับโครงสร้างหนี้มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปโดยผ่อนค่างวดน้อยลง อัตราดอกเบี้ยคงเดิม, ขอจ่ายดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียวสักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจึงขอจ่ายเป็นค่างวดตามเงื่อนไขเดิม พร้อมกับขยายระยะเวลาการกู้ออกไป เป็นต้น ดังนั้น พูดได้ว่าการปรับโครงสร้างหนี้ทำให้ลูกหนี้สามารถที่จะชำระหนี้ได้โดยที่ไม่ต้องไปขึ้นศาล และไม่ต้องถูกฟ้องล้มละลาย แต่ทั้งนี้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน
ดังนั้น จึงอยากจะฝากข้อคิดถึงผู้ที่เป็นหนี้ทุกประเภทว่าจะใช้จ่ายอะไรก็ตาม ขอให้นึกถึงความจำเป็นและศักยภาพในการชำระหนี้ของเราเป็นหลัก เพราะถ้าทำตามความต้องการของตัวเองมากจนเกินไปอาจก่อให้เกิดหนี้สินพะรุงพะรังจนเราไม่สามารถใช้หนี้ได้หมด และอาจโดนฟ้องร้องจนเป็นเหตุให้เสียทรัพย์สินตามมาก็เป็นได้
***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมบังคับคดี, ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล, บริษัท สำนักงานจรัสทนายความและการบัญชี จำกัด, บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด, บริษัท อาณาจักรกฎหมาย จำกัด