ถูกฟ้องล้มละลาย ต้องทำอย่างไรดี ?

          กฎหมายล้มละลาย หากถูกฟ้องล้มละลายควรทำตัวอย่างไรดี วันนี้เรามีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกฎหมายล้มละลายมาฝาก

ล้มละลาย
 
           เรื่องเงินทองไม่เข้าใครออกใคร หากเกิดปัญหาหนี้สินขึ้นมาเมื่อไร ก็มีโอกาสถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลายได้มากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะหนี้ก้อนโตมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป เช่น ขาดส่งบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้สำหรับผู้ที่เข้าข่ายกำลังจะถูกฟ้องล้มละลาย อย่าเพิ่งตกใจและขวัญเสีย ลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลาย แล้วค่อย ๆ คิดหาทางออกกันนะคะ

เป็นหนี้แบบไหนถึงถูกฟ้องล้มละลาย

        1. บุคคลธรรมดา เป็นหนี้มูลค่ารวมเกิน 1 ล้านบาท

        2. นิติบุคคล เป็นหนี้มูลค่ารวมเกิน 2 ล้านบาท

        3. สืบแล้วพบว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ดังกล่าวได้


ขั้นตอนการฟ้องล้มละลาย

        1. มีการติดตามทวงหนี้เป็นระยะ หากไม่มีการติดต่อกลับหรือไม่มีเงินชำระหนี้ อาจถูกฟ้องล้มละลายได้

        2. เมื่อใกล้หมดอายุความ (10 ปี) เจ้าหนี้จะเร่งส่งหนังสือทวงถาม โดยช่วงปีที่ 9 และปีที่ 10 จะมีการส่งหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ภายใน 7 วัน และจะมีจดหมายทวงหนี้ซ้ำ ๆ อีก 3-4 ครั้ง หากยังไม่ตอบกลับจึงส่งฟ้องล้มละลายต่อไป

        3. มีการยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด

        4. สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยลูกหนี้จะไม่สามารถทำธุรกรรมใด ๆ กับทรัพย์สินของตนเองได้

        5. เจ้าหนี้ประชุมตกลงกันว่าจะประนอมหนี้ หรือจะเห็นควรให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย

        6. เข้าสู่กระบวนการพิพากษาเป็นบุคคลล้มละลาย
ล้มละลาย

ทางออกเมื่อถูกฟ้องล้มละลาย

        1. เมื่อได้รับจดหมายทวงหนี้ให้รีบหาทางเจรจากับเจ้าหนี้ และทำการผ่อนชำระหนี้บางส่วน เช่น 10-30% ของจำนวนหนี้ เป็นต้น

        2. ควรเจรจาขอลดหนี้ในช่วงก่อนถูกฟ้องล้มละลาย เพราะในช่วงล้มละลายเจ้าหนี้ได้ถูกตัดหนี้ที่สูญไปแล้ว เงินที่ชำระทั้งหมดจะถือเป็นกำไรของเจ้าหนี้ จึงทำให้สามารถตกลงกันได้ง่ายกว่า

        3. เมื่อได้รับหมายศาลให้รีบปรึกษาทนายความ โดยเฉพาะทนายความด้านคดีล้มละลาย เพราะมีความเชี่ยวชาญมากกว่า ไม่ควรดำเนินการด้วยตนเองเพราะอาจเกิดความเสียเปรียบหรือเสียรู้ได้

        4. หากถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ยังไม่ถือเป็นบุคคลล้มละลาย ให้ขอเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อประนอมหนี้ก่อน โดยอาจยื่นคำขอประนอมหนี้ ภายในกำหนด 7 วัน

        5. หรือหากถูกพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จะไม่สามารถทำนิติกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินได้ แต่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยควรเข้าไปติดต่อขอเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้อีกครั้ง และทยอยผ่อนชำระ แต่ถ้าได้เคยขอประนอมหนี้ไม่เป็นผลมา จะห้ามไม่ให้ขอประนอมหนี้ภายในเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่การขอประนอมหนี้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผล

บุคคลล้มละลาย

สถานะบุคคลล้มละลาย

        1. ทำธุรกรรมการเงินไม่ได้ เช่น เอกสารการเงิน เปิดบัญชีธนาคาร เพราะอำนาจในทรัพย์สินเป็นของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์สินแต่เพียงผู้เดียว

        2. หากถูกสั่งล้มละลายแล้วจะต้องเป็นบุคคลล้มละลาย 3 ปี จึงจะถูกปลดจากล้มละลาย แต่หากไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหนี้ก็อาจขยายเวลาเป็น 5 ปี หรือ 10 ปีได้

        3. สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ แต่ต้องขออนุญาตต่อพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สิน พร้อมนำส่งรายได้ประมาณ 30% เพื่อชำระหนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่

        4. หากครบกำหนด 3 ปี สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์สินเพื่อขอปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลายได้

        5. หลังจากพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ก็สามารถดำเนินชีวิต ทำงานบริษัท หรือทำธุรกรรมได้ตามปกติ


การพ้นจากบุคคลล้มละลาย

        เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายจะได้รับการปลดจากล้มละลายได้ 2 กรณี

        1. เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ได้แบ่งทรัพย์สินชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้วไม่น้อยกว่า 50%

        2. พ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย เว้นแต่หากไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหนี้ก็อาจขยายเวลาเป็น 5 ปี หรือ 10 ปีได้


       
   ทั้งนี้ นี่เป็นเพียงข้อมูลคร่าว ๆ เกี่ยวกับการถูกฟ้องล้มละลายเท่านั้น หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ควรปรึกษาทนายความเพื่อขอรับคำปรึกษาและแนวทางแก้ไขจะดีที่สุดนะคะ


*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 24 กรกฎาคม 2561


ขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถูกฟ้องล้มละลาย ต้องทำอย่างไรดี ? อัปเดตล่าสุด 30 สิงหาคม 2564 เวลา 09:21:18 114,076 อ่าน
TOP
x close