แฟรนไชส์อาหารน่าลงทุน 2565 ขายอะไรดี ถูกใจสายกิน ปี 2022

          แฟรนไชส์อาหารน่าลงทุน ปี 2565 มีอะไรบ้าง ใครอยากเปิดร้านอาหารหรือขายของกิน ของทานเล่น ต้องดูไว้เป็นไอเดีย

           หลายคนอยากเปิดร้านหรือแผงขายอาหารเล็ก ๆ แต่ก็ยังคิดไม่ตกว่าจะขายอะไรดี หรือซื้อแฟรนไชส์อาหาร หรือเครื่องดื่มประเภทไหน ที่ลงทุนน้อย แต่ขายง่าย ขายดี ได้กำไรพอสมควร วันนี้เราก็เลยคัดเอา 10 แฟรนไชส์อาหาร มีทั้งอาหารจานหลัก ของกินเล่น และเครื่องดื่มมาให้ดูไว้เป็นไอเดีย ถ้าสนใจแฟรนไชส์ ประเภทไหน แนะนำให้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้งก่อนลงทุนนะคะ
จะซื้อแฟรนไชส์อาหาร ต้องดูอะไรบ้าง
แฟรนไชส์อาหาร

          เนื่องจากแฟรนไชส์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีอยู่หลายชนิดอาหาร และหลายแบรนด์ ซึ่งแต่ละร้านก็มีจุดเด่นและเงื่อนไขของการซื้อแฟรนไชส์ที่แตกต่างกัน เราลองมาดูกันว่า ก่อนตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์อาหารแบรนด์ไหนควรพิจารณาอะไรบ้าง

  • เลือกจากความชอบและความถนัดของตัวเอง : ในทีนี้คือ ตัวเองชอบอาหารประเภทไหน หรือมีใจรักในการทำอาหารอะไร ก็อาจตัดสินใจเลือกลงทุนแฟรนไชส์ของอาหารชนิดนั้น เพราะแม้จะซื้อแฟรนไชส์มา แต่เราก็ต้องสามารถประกอบอาหารหรือชงเครื่องดื่มเหล่านั้นได้คล่องด้วย 
     

  • เลือกจากทำเลที่ตั้งร้าน : พิจารณาว่าร้านของเราตั้งอยู่ตรงไหน คนที่สัญจรผ่านแถวนั้นเป็นใครบ้าง คนกลุ่มนี้ล่ะที่จะเป็นลูกค้าหลัก เช่น หากร้านอยู่ใกล้โรงเรียน มหาวิทยาลัย ก็สามารถเลือกขายขนมหรือของกินเล่นที่มีราคาไม่สูงมาก แต่ต้องดูน่ากิน ถ่ายรูปสวย เป็นอาหารที่กินง่าย หรือถ้าทำเลตั้งอยู่ในบริเวณที่มีร้านอาหารเยอะอยู่แล้ว ก็ต้องลองเลือกขายอาหารที่ไม่ซ้ำใคร เพื่อดึงดูดลูกค้า
     

  • เลือกจากลักษณะของกลุ่มลูกค้า : ทั้งเรื่องรสนิยมการกิน ฐานะทางการเงิน เป็นปัจจัยว่าลูกค้ากลุ่มไหนจะใช้บริการร้านของเรา เช่น ถ้าต้องการจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนทำงานในย่านธุรกิจ ก็สามารถขายอาหารที่ดูพรีเมียม มีราคาสูงขึ้นมาหน่อย อาจที่นั่งรับประทานในร้านด้วยก็ได้ แต่หากกลุ่มลูกค้าของเราคือชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ก็ควรเลือกอาหารที่รับประทานง่าย พกพาไปกินระหว่างทางได้ ที่สำคัญก็คือ ราคาอาหารต้องไม่แพง  
     

  • ดูงบประมาณในกระเป๋า : แฟรนไชส์แต่ละเจ้าจะลงทุนเริ่มต้นไม่เท่ากัน บางแบรนด์มีงบประมาณแค่หลักพันก็เปิดร้านได้แล้ว แต่บางร้านอาจต้องลงทุนขั้นต่ำเป็นหลักแสน ตรงนี้ก็ลองพิจารณาจากงบประมาณของเราอีกที ซึ่งใครยังมีงบไม่มาก อาจใช้วิธีซื้อแฟรนไชส์ไซซ์เล็กสุดของร้านนั้น ๆ มาทดลองขายดูก่อน ถ้าดูแล้วไปได้ดีก็ค่อยขยับขยาย
     

  • หาจุดเด่น-จุดด้อยของแบรนด์นั้น : ลองพิจารณาว่าแบรนด์นั้นมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร เช่น เรื่องรสชาติอาหาร การบริการ การคิดค้นเมนูใหม่ ๆ กระแสตอบรับของลูกค้าที่ใช้บริการในสาขาต่าง ๆ ว่ามีคอมเมนต์ในทิศทางบวกหรือลบ รวมทั้งแบรนด์นั้นมีระบบการจัดการธุรกิจอย่างไร มีนโยบายอย่างไร ธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้อีกแค่ไหน จะทำให้เราเข้าใจธุรกิจของเขามากขึ้น 
     

  • พิจารณาเรื่องค่าแฟรนไชส์และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ : การซื้อแฟรนไชส์บางร้านอาจต้องเสียค่าแฟรนไชส์ ค่าธรรมเนียมรายปี เปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งจากยอดขาย ฯลฯ แนะนำให้สอบถามข้อมูลจากเจ้าของแฟรนไชส์ให้ชัดเจนว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ถ้าใครไม่อยากเสียเงินส่วนนี้ก็ต้องลองมองหาร้านที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว 
     

  • พิจารณาบริการหลังการขาย : นอกจากจะฝึกอบรมการทำอาหาร ให้เราแล้ว เจ้าของแบรนด์ต้องสามารถให้คำแนะนำในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องทำการตลาด ฯลฯ พร้อมกับให้คำปรึกษาเมื่อมีปัญหาใด ๆ หลังจากซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว 

          เมื่อทราบคร่าว ๆ แล้วว่าต้องพิจารณาอะไรบ้างก่อนซื้อแฟรนไชส์ คราวนี้ลองมาดูแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มที่น่าสนใจลงทุนในปี 2565 กันเลย

1. แฟรนไชส์กัญชา
แฟรนไชส์อาหาร

          ช่วงนี้กัญชง กัญชากำลังฟีเว่อร์ ร้านอาหาร เบเกอรี่ และเครื่องดื่มหลายเจ้า จึงโดดเข้าร่วมวงด้วยการนำกัญชง หรือกัญชามาผสมอาหาร สร้างความแปลกใหม่ให้ลูกค้าอยากทดลองชิม

ตัวอย่างแฟรนไชส์กัญชา

  • กัญธารา : เป็นร้านอาหารที่ได้ใบรับรองการทำธุรกิจแฟรนไชส์กัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เหมาะกับคนที่มีร้านเครื่องดื่มและร้านอาหารอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่มมูลค่าด้วยเมนูกัญชาให้อาหารและเครื่องดื่ม เพราะที่นี่จำหน่ายซอสปรุงรสผสมกัญชาหลากหลายชนิด ทั้งโชยุ บาร์บีคิว เทอริยากิ ยากินิคุ พอนสึ หรือน้ำกัญชาเข้มข้นสำหรับผสมเครื่องดื่ม ซึ่งผลิตมาจากใบกัญชาออร์แกนิก ลงทุนเพียง 5,000 บาท ก็เป็นเจ้าของแฟรนไชส์กัญธาราได้แล้ว (ข้อมูลเพิ่มเติม)
     

  • ฮิพกัญ : แฟรนไชส์สายเขียวที่มีใบรับรองถูกกฎหมาย ที่นี่มีเมนูเครื่องดื่มจากกัญชาให้เลือกมากมาย รวมทั้งดริปกัญชา และคราฟกัญชา พร้อมสอนให้ทุกสูตร ลงทุนเริ่มต้นด้วยงบ 19,900 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

2. แฟรนไชส์ชาไข่มุก
แฟรนไชส์อาหาร

           ฮอตฮิตติดอันดับมาทุกปีสำหรับแฟรนไชส์ชานมไข่มุกที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังเป็นเครื่องดื่มขายดิบขายดี ด้วยราคาต่อแก้วไม่แพง เหมาะกับอากาศร้อน ๆ ของบ้านเรา

ตัวอย่างแฟรนไชส์ชานมไข่มุก

  • ลิ่ว-ชา (Liu’-Cha) : แฟรนไชส์ชานมไข่มุกไต้หวัน จุดเด่นอยู่ที่ใช้ใบชาแท้ 100% จากไต้หวัน และต้มชาใหม่ทุกวัน ชงสดทุกแก้ว มีให้เลือกกว่า 50 เมนู และมีเมนูใหม่ ๆ ตลอดเวลา ตอนนี้มีแพ็กเกจลงทุนตั้งแต่ 49,000-139,000 บาท ซึ่งทางร้านบอกว่า ถ้าได้ทำเลดี ๆ สามารถทำกำไรได้ถึง 65% และคืนทุนได้ไม่เกินภายใน 3 เดือน (ข้อมูลเพิ่มเติม)
     

  • ชาไข่มุกดอทคอม : แฟรนไชส์ชาไข่มุกขายดี เพราะมีถึง 47 เมนู โดยเมนูเด็ดก็คือ ชาไข่มุกลาวาครีมชีสพ่นไฟ ใครอยากลงทุน ทางร้านก็มีหลายแพ็กเกจเริ่มต้น 9,900 บาท ไปจนถึง 500,000 บาท พร้อมสอนต้มชา ต้มไข่มุก และการเตรียมเปิดร้านครบครัน เรียนครั้งเดียวก็สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ทันที (ข้อมูลเพิ่มเติม)  
     

  • i-cha : ชาไข่มุกไอ-ฉะ เป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์ชานมไข่มุกที่ขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ด้วยงบลงทุนแค่หลักหมื่นต้น ๆ แต่สามารถคืนทุนได้ภายใน 1-3 เดือน จึงเป็นที่สนใจของคนอยากเป็นเจ้าของร้านชา ซึ่งทางร้านจะให้วัตถุดิบและอุปกรณ์ สอนวิธีต้มชา ชงชาพร้อมขายได้ทันที แพ็กเกจเริ่มต้นแบบไม่มีเคาน์เตอร์อยู่ที่ 39,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)
3. แฟรนไชส์กาแฟ
แฟรนไชส์อาหาร

          กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่หลายคนขาดไม่ได้ ต้องดื่มแทบทุกวัน จึงมีลูกค้าเดินเข้า-ออกตามร้านกาแฟต่าง ๆ ไม่ขาดสาย ซึ่งแฟรนไชส์กาแฟก็มีให้เลือกหลายระดับ ตั้งแต่ราคาขายหลักสิบไปจนถึงหลักร้อย ทำให้ราคาแฟรนไชส์แตกต่างกันไปตามกลุ่มเป้าหมาย

ตัวอย่างแฟรนไชส์กาแฟ

  • Tea-mocca : ร้านกาแฟสดเจ้าดังที่มีสาขามากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ด้วยเครื่องดื่มมากถึง 70 เมนู ทั้งกาแฟ ชาเพื่อสุขภาพ ชาไต้หวัน ชาไข่มุก ลงทุน 13,500 บาทก็เปิดร้านพร้อมขายได้แล้ว ไม่ต้องจ่ายค่าแฟรนไชส์รายเดือน รายปี (ข้อมูลเพิ่มเติม)  
     

  • กาแดง กาแฟโบราณ : แฟรนไชส์กาแฟโบราณที่ไม่โบราณ เพราะใส่มากับถุงซิปล็อกเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ซึ่งบรรจุภัณฑ์นี้ออกแบบมาให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ จึงมีลูกค้าชื่นชอบทุกเพศ ทุกวัย และสามารถทำกำไรเฉลี่ยได้ถึง 30,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ราคาแฟรนไชส์เริ่มต้นแค่ 29,900 บาท เท่านั้น (ข้อมูลเพิ่มเติม)
     

  • ตู้เต่าบิน : อีกหนึ่งแฟรนไชส์กาแฟรูปแบบใหม่ที่กำลังมาแรง เพราะเป็นคาเฟ่อัตโนมัติที่ให้ลูกค้ากดสั่งกาแฟและชงผ่านหุ่นยนต์อัจฉริยะได้ตลอด 24 ชั่วโมง เราไม่ต้องชงเอง หรือเฝ้าร้าน แค่มีพื้นที่สำหรับติดตั้งตู้ก็พร้อมเสิร์ฟมากกว่า 170 เมนู ทั้งร้อน เย็น ปั่น และชำระเงินได้ทุกธนาคาร (ข้อมูลเพิ่มเติม)   
     

  • ร้านกาแฟอินทนิล : สำหรับคนที่มีงบเยอะและอยากเปิดร้านกาแฟอินทนิลต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่ทางแฟรนไชส์กำหนด ซึ่งจะต้องนัดสัมภาษณ์และพิจารณาความพร้อมของเราด้วย โดยใช้งบลงทุนขั้นต่ำ 2-3 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมแรกเข้า เงินค้ำประกันสัญญา 6 ปี ค่าก่อสร้างและตกแต่งร้าน ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และเรายังต้องจ่ายส่วนแบ่งของยอดขายอีก 6% ให้ทางแฟรนไชส์ด้วย (ข้อมูลเพิ่มเติม)

4. แฟรนไชส์อาหารญี่ปุ่น
แฟรนไชส์อาหาร

           อาหารญี่ปุ่นมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งอาหารจานหลัก ของคาว ของหวาน ขนม ดังนั้นราคาแฟรนไชส์ก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร รวมทั้งรูปแบบของร้านด้วย ซึ่งมีตั้งแต่เริ่มต้นลงทุนหลักพัน ไปจนถึงหลักแสน

ตัวอย่างแฟรนไชส์อาหารญี่ปุ่น

  • สึนามิ ข้าวถ้วยเทปปันยากิ : ร้านข้าวถ้วยฟิวชั่นโมเดลใหม่สไตล์ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไทย ที่มีให้เลือกมากกว่า 20 เมนู ราคาเริ่มต้นแค่ถ้วยละ 45 บาท จึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างเดียว ทำให้เพียงปีเดียวเปิดไปแล้วกว่า 200 สาขา มีราคาแฟรนไชส์ต่ำสุดที่ 128,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม
     

  • เลอมง ราเมง : ร้านราเมงริมทางสไตล์ญี่ปุ่นที่มีงบลงทุนเริ่มต้น 55,555 บาท จุดเด่นของร้านนี้อยู่ที่เส้นเหนียวนุ่ม อร่อยเด้ง ด้วยสูตรลับที่ทำขายมานานถึง 90 ปี ราคาต่อถ้วยก็ไม่แพง ถูกสุดชามละ 55 บาท แต่มีกำไรเกิน 50% ต่อชาม จึงคืนทุนไว (ข้อมูลเพิ่มเติม)  
     

  • ทาโกะยากิ โมชิ โมชิ : ทาโกะยากิต้นตำรับจากญี่ปุ่นที่ได้รับการันตีด้วยมาตรฐานแฟรนไชส์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รสชาติกรอบนอกนุ่มใน ไม่เหมือนใคร ขายง่าย คืนทุนไว ค่าแฟรนไชส์เริ่มต้นที่ 19,900 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)
5. แฟรนไชส์อาหารเกาหลี
แฟรนไชส์อาหาร

           ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้อาหารเกาหลียังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลายเมนูที่ถูกใจสายกิน เช่น ไก่เกาหลี ข้าวยำ กิมจิ ใครชอบเมนูไหนลองเลือกไปเปิดร้านกันได้

ตัวอย่างแฟรนไชส์อาหารเกาหลี

  • Kokekokko : แฟรนไชส์ไก่กรอบเกาหลีฉ่ำซอส กรอบนอก นุ่มใน ด้วย 3 รสชาติแปลกใหม่ ทั้งรสโชยุญี่ปุ่น รสเผ็ด และรสส้ม เวลาออกบูธที่ไหนก็ขายง่าย ขายดีเสมอ งบลงทุนเริ่มตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน (ข้อมูลเพิ่มเติม)  
     

  • Yeong Ju Korean & Japanese Restaurant : ร้านอาหารเกาหลีและญี่ปุ่น 2 สไตล์ที่เปิดมานาน 9 ปี โดยทางร้านจะให้คำปรึกษาและวางระบบต่าง ๆ พร้อมคัดสรรและฝึกอบรบพนักงาน ไปจนถึงดูแลคุณภาพของวัตถุดิบ ที่สำคัญยังช่วยพิจารณาหาทำเลที่เหมาะสมสำหรับการเปิดร้านให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม (ข้อมูลเพิ่มเติม)
6. แฟรนไชส์สเต๊ก
แฟรนไชส์อาหาร

           อีกหนึ่งเมนูอาหารที่ทั้งอิ่ม ทั้งคุ้ม ถูกใจวัยรุ่น วัยทำงาน เพราะเจาะกลุ่มลูกค้าตลาดกลางและตลาดล่าง ราคาขายต่อจานจึงไม่แพงเกินไป เพียงแค่หาทำเลดี ๆ ใกล้มหาวิทยาลัย ใกล้ตลาด หรือห้างสรรพสินค้า ก็เตรียมรับทรัพย์ได้เลย

ตัวอย่างแฟรนไชส์สเต๊ก

  • สเต็กลุงหยิก : ร้านสเต๊กที่กำลังมาแรงสุด ๆ ชูจุดขายความเป็นร้านสเต๊กถาดใหญ่ ถูกใจคนกินจุ กินเยอะ พร้อมเสิร์ฟเมนูอิ่มจุก ๆ ในราคาประหยัด จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนต่อคิวยาวทุกคืน ราคาแฟรนไชส์พร้อมค่าตกแต่งร้านต่าง ๆ อยู่ที่ราว ๆ 1 ล้านบาท แนะนำให้ลองสอบถามราคาจากทางร้านได้เลย (ข้อมูลเพิ่มเติม)  
     

  • สเต็ก Hipster : ร้านสเต๊กน้องใหม่ที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ในงบขั้นต่ำแค่ 9,900 บาท ด้วยรสชาติอร่อยยืนหนึ่ง ซึ่งทางร้านการันตีว่า ขายหมด คืนทุนตั้งแต่เริ่ม ตอบโจทย์คนที่อยากสร้างรายได้ สร้างอาชีพในงบประมาณที่ไม่สูงมาก (ข้อมูลเพิ่มเติม)
7. แฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยว
แฟรนไชส์อาหาร

           อาหารจานหลักที่กินง่าย ขายดี มีให้เลือกหลากหลายสูตร ทั้งก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นแคะ ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น ก๋วยเตี๋ยวไก่มะระ เย็นตาโฟ ฯลฯ ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีเอกลักษณ์และจุดขายที่แตกต่างกันไป

ตัวอย่างแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยว

  • นายลี้ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นแคะ : เป็นแฟรนไชส์ที่เปิดมานานกว่า 20 ปี การันตีคุณภาพและความอร่อย ซึ่งลูกชิ้นแคะจะมีลักษณะแปลกไปจากลูกชิ้นธรรมดา ๆ เลยเป็นจุดขายที่น่าสนใจ ถ้าหาทำเลดี ๆ ได้แล้วก็พร้อมเปิดร้านได้เลย โดยมีงบประมาณเริ่มต้นที่ 45,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)
     

  • โอ้โฮ นิวลูกชิ้นปลานายใบ้ : ลูกชิ้นปลารสเด็ด สูตรลับเฉพาะตามแบบฉบับนายใบ้ที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้มีชื่อเสียงมากว่า 40 ปี มีโปรโมชั่นแพ็กเกจเปิดร้านเริ่มต้น 29,999 บาท พร้อมสอนทำก๋วยเตี๋ยวที่หน้าร้านจริงแบบไม่จำกัดชั่วโมงเรียน (ข้อมูลเพิ่มเติม)
8. แฟรนไชส์ลูกชิ้น
แฟรนไชส์อาหาร

          ปกติก็ขายดีอยู่แล้ว ยิ่งมีกระแสลิซ่า แบล็กพิงค์ ก็ยิ่งมีแรงดันให้แฟรนไชส์ลูกชิ้นโด่งดังขึ้นไปอีก ซึ่งนอกจากรสชาติของลูกชิ้นจะต้องอร่อยแล้ว ทีเด็ดยังอยู่ที่น้ำจิ้ม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเจ้า

ตัวอย่างแฟรนไชส์ลูกชิ้น

  • เจ้พงษ์ลูกชิ้นยืนกินบุรีรัมย์ : ลูกชิ้นยืนกินเจ้าแรกในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เปิดมานานกว่า 30 ปี เป็นเจ้าของสูตรน้ำจิ้มน้ำพริกเผาต้นตำรับที่เขาว่ากันว่ารสเด็ดสุด ๆ ใคร ๆ ก็ยอมต่อคิวเพื่อลิ้มลอง ตอนนี้เปิดรับแฟรนไชส์แล้ว โดยราคาแพ็กเกจอยู่ที่ 12,900-65,900 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)
     

  • ลูกชิ้นจัง : ลูกชิ้นปลาทอดเจ้าแรกของเมืองไทย อยู่ในตลาดมาแล้ว 13 ปี และมีแฟรนไชส์กว่า 600 สาขาทั่วประเทศ เริ่มต้นลงทุนแค่หลักพันก็เปิดร้านได้เลย โดยมีหลายแพ็กเกจ เช่น ชุดลองขาย 1,999 บาท, ชุดตั้งโต๊ะ 5,900 บาท ไปจนถึงราคา 49,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)
9. แฟรนไชส์เฟรนช์ฟรายส์
แฟรนไชส์อาหาร

           ถ้าพูดถึงแฟรนไชส์ของกินเล่นขายดี ต้องมีเฟรนช์ฟรายส์ติดลิสต์มาด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเห็นคนต่อคิวซื้อเป็นประจำ ยิ่งร้านไหนมีท็อปปิ้งให้เลือกมากมาย ยิ่งขายไม่ทัน

ตัวอย่างแฟรนไชส์เฟรนช์ฟรายส์

  • ชีสซี่ฟราย สแน็ค : เฟรนช์ฟรายส์ชีสขายดีที่มีซอสและชีสให้เลือกดิปหลายรสชาติ คลุกเคล้าด้วยผงปรุงรสสูตรลับเฉพาะของร้าน หรือจะเปลี่ยนจากเฟรนช์ฟรายส์เป็นชิคเก้นสติ๊ก ไก่กรอบ นักเกตไก่ หรือชีสบอลก็อร่อยฟินไม่แพ้กัน มีค่าแฟรนไชส์เริ่มต้นที่ 29,900 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)
     

  • โอ้ มาย ชีส : เฟรนช์ฟรายส์นำเข้าเกรดพรีเมียม ทอดด้วยสูตรเฉพาะของ โอ้ มาย ชีส พร้อมราดซอสที่มีให้เลือกหลายรสชาติ ทำให้ลูกค้าติดใจไปตาม ๆ กัน ลงทุนเริ่มต้น 19,900 บาท ซึ่งทางร้านบอกว่า ถ้าขายเฟรนช์ฟรายส์หมด 1 ลัง จะได้กำไรประมาณ 2,000-5,000 บาท เลยทีเดียว (ข้อมูลเพิ่มเติม)
10. แฟรนไชส์เครป
แฟรนไชส์อาหาร

           ปิดท้ายที่แฟรนไชส์ของกินเล่นอย่าง "เครป" ที่เดี๋ยวนี้มีหลากหลายสไตล์ ทั้งเครปธรรมดา เครปเย็น เครปกรอบ จัดเป็นของว่างที่กินง่าย มีจุดขายตรงที่เลือกรสชาติ เลือกไส้ได้ตามความชอบใจ หากได้ทำเลเหมาะ ๆ ตามโรงเรียน ตลาดชุมชน รับรองว่าเตาไม่ว่างแน่นอน

ตัวอย่างแฟรนไชส์เครป

  • เครปญี่ปุ่น มิกะจัง : เครปแบรนด์ดังที่มีสูตรเด็ดตรงแป้งที่หอมกรอบนาน มีหลายแพ็กเกจให้เลือกตั้งแต่ 15,900-22,900 บาท เรียนรู้เทคนิคการทำเครปเพียง 1 วัน ก็เตรียมขายได้เลย (ข้อมูลเพิ่มเติม)  
     

  • สถานีเครปบุฟเฟ่ต์ไส้เยอะ : เป็นแฟรนไชส์ที่มีมากกว่า 200 สาขา มีเงินทุนเริ่มต้นเพียง 16,500 บาท ก็เปิดร้านได้แล้ว ไม่มีส่วนแบ่งยอดขาย ไม่เก็บรายปี ซึ่งทางร้านการันตีว่าขายแค่เดือนเดียวก็คืนทุน แถมยังสอนทำโตเกียว แพนเค้ก ฯลฯ เพิ่มเติมให้ด้วย (ข้อมูลเพิ่มเติม)
           การซื้อแฟรนไชส์ซึ่งมีโมเดลต้นแบบเป็นสูตรสำเร็จอยู่แล้วจะช่วยให้เราประหยัดเวลา ประหยัดเงิน เพราะไม่ต้องลองผิดลองถูก จึงช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ แต่ก็อาจมีข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องทำตามเงื่อนไขของร้าน ดังนั้นก็ต้องศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบกันให้ดี และลองชั่งใจดูว่าแฟรนไชส์ร้านไหนที่ตอบโจทย์เรามากที่สุด

บทความเกี่ยวกับแฟรนไชส์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แฟรนไชส์อาหารน่าลงทุน 2565 ขายอะไรดี ถูกใจสายกิน ปี 2022 อัปเดตล่าสุด 8 มิถุนายน 2565 เวลา 09:26:28 166,206 อ่าน
TOP
x close