x close

ยุทธวิธีจัดการหนี้บัตรเครดิตให้อยู่หมัด

ยุทธวิธีจัดการหนี้บัตรเครดิตให้อยู่หมัด
ยุทธวิธีจัดการหนี้บัตรเครดิตให้อยู่หมัด

ยุทธวิธีจัดการหนี้บัตรเครดิตให้อยู่หมัด (ธนาคารกสิกรไทย)

          บัตรเครดิตช่วยสร้างความสะดวกสบายในการใช้จ่าย แต่ในขณะเดียวกันบัตรเครดิตก็สามารถทำให้คนเราเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะเวลาที่ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้า เรายังไม่ได้จ่ายเงินออกไปในทันที และโดยส่วนใหญ่เรามักได้รับอนุมัติวงเงินบัตรเครดิตประมาณ 3-5 เท่าของรายได้ต่อเดือน หลายคนจึงใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่มีอยู่ ทำให้เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระ จากเดิมเคยชำระแบบเต็มวงเงิน กลายเป็นชำระขั้นต่ำหรือชำระเพียงบางส่วน จนถึงขั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้ ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมา เช่น ดอกเบี้ยค้างชำระ, ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้, ค่าปรับจากการผิดเงื่อนไขการชำระ เป็นต้น

          ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีผลเสียจากความเครียดที่เพิ่มขึ้น และสุขภาพจิตที่เสียไปเมื่อขาดเงินชำระหนี้ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเป็นหนี้บัตรเครดิต แต่หากเป็นหนี้แล้วจะทำอย่างไร มี 3 ขั้นตอนที่นำมาฝาก ดังนี้

 ใจแข็ง ไม่ก่อหนี้เพิ่ม

          เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด โดยใช้จ่ายเฉพาะสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร ยารักษาโรค ค่าเดินทางมาทำงาน เสื้อผ้าตามความจำเป็น ฯลฯ มีข้อคิดดี ๆ สำหรับการประหยัดเงินเพื่อมาชำระหนี้เพิ่ม คือ "ถึงแม้ว่าจะถูกแค่ไหน ถ้าไม่ใช้ ก็ไม่ซื้อ"

 ชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ๆ ก่อน

          เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนลง หรือเลือกปิดบัตรที่มียอดหนี้คงเหลือต่ำ ๆ ก่อน เพื่อลดจำนวนเจ้าหนี้ที่มีลง ซึ่งช่วยสร้างขวัญและกำลังใจในการปลดหนี้ ทั้งนี้ควรมีการบันทึกบัญชีรับ-จ่าย อย่างสม่ำเสมอควบคู่กันไป เพื่อควบคุมการใช้จ่ายให้ซื้อแต่สิ่งของที่จำเป็น และเมื่อมีเงินเหลือจะได้รีบนำเงินมาปิดหนี้บัตรเพิ่มขึ้น

 เพิ่มรายได้

          หากมีเวลาว่างจากการทำงาน ลองมองหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ เช่น สมัครทำงาน Part-time ขายของตามตลาดนัด หรืออินเทอร์เน็ต เป็นต้น นอกจากนี้การขายสินทรัพย์เพื่อนำมาชำระหนี้ โดยเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ หรือไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ของสะสมที่สามารถตีมูลค่าได้ เป็นต้น หากขายและนำมาชำระหนี้ จะช่วยให้ลดภาระหนี้และดอกเบี้ยจ่ายลง ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

          หากใครที่เป็นหนี้บัตรเครดิตควรรีบชำระคืนให้เสร็จสิ้น เพราะไม่เพียงแต่ดอกเบี้ยจะทบต้นไปเรื่อย ๆ จนอาจทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ การค้างชำระหนี้บัตรเครดิตยังส่งผลต่อการขอกู้เงิน หรือการขอสินเชื่ออื่น ๆ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อส่วนบุคคล หรือการขอทำบัตรเครดิตใบใหม่ เพราะการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินต่าง ๆ จะพิจารณาประวัติการผ่อนชำระหนี้ที่ผ่านมาจากระบบข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (Credit Bureau) หากเป็นผู้ที่มีประวัติการผ่อนชำระหนี้ไม่ดี จ่ายเงินไม่ตรงเวลา ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขอสินเชื่อไม่ผ่าน

          ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเป็นหนี้บัตรเครดิต มีหลักสำคัญง่าย ๆ คือ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว และไม่ก่อหนี้สินให้เป็นภาระที่หนักเกินไป โดยไม่ควรก่อหนี้ที่มียอดผ่อนชำระต่อเดือนเกินกว่า 30% ของรายได้ หรือหากเป็นการรูดบัตรเครดิตเพื่อผ่อนซื้อสินค้า ก็ไม่ควรซื้อสินค้าที่มีราคารวมแล้วมากกว่า 3 เท่าของรายได้ต่อเดือน นอกจากนี้หากต้องการมีวินัยในการใช้จ่ายเงิน อาจลองเปลี่ยนไปใช้ "บัตรเดบิต" แทน "บัตรเครดิต" เพื่อที่จะได้ใช้จ่ายตามเงินที่มีอยู่จริงในบัญชี ซึ่งการใช้บัตรเดบิตก็เป็นการควบคุมการใช้จ่ายของเราที่ดีทางหนึ่ง

          ผู้ที่เป็นหนี้บัตรเครดิต ขอเพียงปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่าย มีความอดทน และมุ่งมั่นที่จะปลดภาระหนี้สินที่มีอยู่ รับรองว่าภาระทางการเงินนี้จัดการได้อย่างแน่นอน หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com และ เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ Twitter@KBank_Expert

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยุทธวิธีจัดการหนี้บัตรเครดิตให้อยู่หมัด อัปเดตล่าสุด 16 กันยายน 2557 เวลา 14:22:54 2,295 อ่าน
TOP