รู้ไหม เงินประกันสังคมที่จ่ายแต่ละเดือน ไปอยู่ไหนบ้าง ?

           ประกันสังคม จ่ายกันทุกเดือน ๆ แต่มีใครรู้บ้างเงินที่เราจ่ายไปนั้น ไปอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วเราจะได้คืนบ้างไหม ?

ประกันสังคม
 
          มนุษย์เงินเดือนคงไม่มีใครไม่รู้จัก "ประกันสังคม" เป็นแน่ ก็เพราะทุก ๆ เดือน นายจ้างจะหักเงินจากเรา 5% ของเงินเดือนนำส่งให้กับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งก็ทำให้หลายคนแอบบ่นอยู่เหมือนกันว่า ทำไมเราต้องส่งเงินที่ได้จากหยาดเหงื่อแรงงานของเราทุกเดือน ๆ ให้กับกองทุนประกันสังคมด้วยล่ะ แล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรจากเงินส่วนนี้ ใครที่กำลังคาใจเรื่องนี้อยู่ กระปุกดอทคอมจะมาให้คำตอบว่า เงินสมทบกองทุนประกันสังคมของเราไปอยู่ที่ไหนกันบ้าง ?

          ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า การจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมนั้น เป็นข้อบังคับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลูกจ้างต้องส่งเงินให้กองทุน 5% ของเงินเดือน ส่วนนายจ้างก็ต้องสมทบให้อีก 5% โดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างจริงต่ำสุด 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท


          คิดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป จะต้องถูกหักเงินส่งเข้ากองทุนประกันสังคมสูงสุดไม่เกิน 750 บาท แต่ถ้าใครมีเงินเดือนน้อยกว่า 15,000 บาท ก็จะคิดคำนวณหัก 5% ตามเงินเดือนจริงที่ได้รับ

          ทีนี้เรามาดูกันว่า เงินสมทบ 5% ของเรา และเงินสมทบ 5% ของนายจ้าง จะถูกแบ่งไปเข้าส่วนไหน แล้วเราจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ?

          โดยสมมติว่า เราส่งเงินเข้าประกันสังคมเดือนละ 750 บาท ในกรณีนี้ นายจ้างจะสมทบให้อีก 750 บาท เช่นกัน ซึ่งเงินที่เราจ่ายไปในแต่ละเดือนนั้น จะถูกแบ่งสำหรับคุ้มครอง 3 กรณี คือ

ประกันสังคม

1. กรณีประกันสุขภาพ

          ถ้าจ่ายเงินเข้ากองทุนเดือนละ 750 บาท เงินจะถูกแบ่งมาเข้าในส่วนนี้ 225 บาท หรือ 1.5% ของฐานเงินเดือน 15,000 บาท เพื่อใช้กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ประกอบด้วย

           - เข้ารับการบริการทางการแพทย์จนสิ้นสุดการรักษา ปลูกถ่ายไขกระดูก เปลี่ยนอวัยวะกระจกตา อวัยวะและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค บริการด้านทันตกรรม และเงินทดแทนการขาดรายได้

          ผู้ใช้สิทธิต้องส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่เข้ารับบริการทางการแพทย์

               * ประกันสังคม ทำฟันอะไรได้บ้าง สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้ประกันตนควรรู้ !

           - เบิกค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย ได้ 13,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง กรณีผู้ประกันตนเป็นผู้หญิง สามารถเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลา 98 วัน กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่สำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน โดยบุตรที่นำมาใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรแล้วไม่สามารถนำมาใช้สิทธิได้อีก

          ผู้ใช้สิทธิต้องจ่ายเงินสมทบครบ 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร

               * ตอบทุกคำถาม ! ประกันสังคม ผ่าคลอด เบิกเงินได้เท่าไหร่ ให้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

           - กรณีทุพพลภาพ สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐได้ตามจริง สามารถเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิต รวมทั้งได้รับค่าบริการทางการแพทย์ ค่ารถพยาบาล เงินบำเหน็จชราภาพ และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

           ผู้ใช้สิทธิต้องจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้เป็นผู้ทุพพลภาพ และเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจนถึงขั้นทุพพลภาพ

           - กรณีเสียชีวิต จะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท (ผู้ใช้สิทธิต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน) และทายาทมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ กรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 36 เดือนขึ้นไป

           อีกทั้งจะยังได้รับเงินสงเคราะห์ โดยจ่ายให้บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้รับสิทธิ แต่ถ้าไม่ได้ระบุไว้ ก็ให้นำเงินสงเคราะห์มาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามีหรือภรรยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน ในจำนวนที่เท่ากัน ดังนี้

          1. ถ้าก่อนเสียชีวิตผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือน แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน

          2. ถ้าก่อนเสียชีวิตผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน


          อย่างไรก็ตาม เงินที่ถูกส่งมาสมทบในส่วนนี้ หากผู้ประกันตนไม่ใช้สิทธิ ก็จะไม่ได้รับเงินส่วนนี้คืน

ประกันสังคม

2. กรณีว่างงาน 

          ถ้าจ่ายเงินเข้ากองทุนเดือนละ 750 บาท เงินจะถูกแบ่งมาเข้าในส่วนนี้ 75 บาท หรือ 0.5% ของฐานเงินเดือน โดยได้รับความคุ้มครอง 2 กรณี คือ


           - ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เช่น มีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน

          แต่หากเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ผู้ประกันตนจะได้รับเงินชดเชย 70% ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 200 วัน โดยมีผลบังคับใช้ 2 ปี

           - ลาออก จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย เช่น มีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน

          แต่หากเป็นการลาออกตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ผู้ประกันตนจะได้รับเงินชดเชย 45% ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 90 วัน โดยมีผลบังคับใช้ 2 ปี

           ผู้ใช้สิทธิต้องจ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีว่างงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย โดยต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านเว็บไซต์ empui.doe.go.th

          สำหรับเงินที่สมทบในส่วนนี้ หากผู้ประกันไม่ว่างงานเลย ทำให้ไม่ได้ใช้สิทธิส่วนนี้ เงินส่วนนี้ก็จะหายไป ไม่ได้คืน

           * มนุษย์เงินเดือนรู้ไว้ ! ถูกเลิกจ้าง ประกันสังคมช่วยเหลืออะไรได้บ้าง
           * คู่มือมนุษย์เงินเดือน ! ลาออกจากงาน...ต้องทำยังไงกับประกันสังคม
 
ประกันสังคม
 
3. กรณีสงเคราะห์บุตร และชราภาพ

          ถ้าจ่ายเงินเข้ากองทุนเดือนละ 750 บาท เงินจะถูกแบ่งมาเข้าในกรณีชราภาพ 450 บาท หรือ 3% ของฐานเงินเดือน ซึ่งเป็นเงินออมที่จะได้รับเงินคืนเมื่ออายุครบ 55 ปี อย่างไรก็ตาม การจะได้รับเงินคืนนั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้

          1. หากจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือน ผู้ประกันตนจะได้รับ "เงินบำเหน็จชราภาพ" เท่ากับจำนวนเงินสมทบที่จ่ายมาเพื่อประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

          เช่น จ่ายประกันสังคมเดือนละ 750 บาท ในจำนวนนี้จะถูกแบ่งมาเข้ากรณีชราภาพ 450 บาท หากจ่ายมาแล้ว 10 เดือน เท่ากับว่าจะได้เงินบำเหน็จชราภาพคืนไป 450x10 = 4,500 บาท

          2. หากจ่ายเงินสมทบเกิน 12 เดือน แต่ยังไม่ถึง 180 เดือน (15 ปี) ผู้ประกันตนจะได้รับ "เงินบำเหน็จชราภาพ" เท่ากับจำนวนเงินสมทบที่จ่ายมาเพื่อประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ รวมกับส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบมาให้ด้วย

          เช่น จ่ายประกันสังคมเดือนละ 750 บาท ในจำนวนนี้จะถูกแบ่งมาเข้ากรณีชราภาพ 450 บาท หากจ่ายมาแล้ว 5 ปี (60 เดือน) เท่ากับว่าจะได้เงินบำเหน็จชราภาพคืนไป 450 บาท (ส่วนที่ตัวเองจ่าย) + 450 บาท (ส่วนที่นายจ้างจ่าย) x 60 เดือน = 54,000 บาท

          3. หากจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 180 เดือน (15 ปี) ผู้ประกันตนจะได้รับ "เงินบำนาญชราภาพ" ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง โดยรับเป็นรายเดือน

          เช่น ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ 15,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญร้อยละ 20 คือ 3,000 บาท ไปทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต

          4. หากจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน (15 ปี) ผู้ประกันตนจะได้รับ "เงินบำนาญชราภาพ" ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และยังจะได้รับโบนัสเพิ่ม 1.5% ในส่วนปีที่เกินมาจาก 15 ปี

          เช่น ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ 15,000 บาท จ่ายสมทบประกันสังคมมาแล้ว 20 ปี (เท่ากับมีส่วนเกิน 15 ปี ไปอีก 5 ปี) ดังนั้น จะได้รับบำนาญ (20% x 15,000 บาท) + โบนัส (1.5% x 15,000 บาท x 5 ปี) = 3,000+1,125 = 4,125 บาท คือจะได้รับเงินเดือนละ 4,125 บาท ไปจนกว่าจะเสียชีวิต

          แต่หากผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญชราภาพยังไม่ครบ 5 ปี (60 เดือน) แต่เสียชีวิตก่อน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย เช่น เดือนที่แล้วรับเงินบำนาญชราภาพมา 5,500 บาท หากตอนนี้เสียชีวิต สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้ 55,000 บาท


          ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตรนั้น ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาท ต่อบุตร 1 คน ซึ่งจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย มีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน

ประกันสังคม

          ผู้ใช้สิทธิต้องจ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีสงเคราะห์บุตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน และต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39

          ทีนี้ก็คงรู้กันแล้วว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราจ่ายเพื่อเข้ากองทุนประกันสังคมถูกนำไปเก็บไว้ในส่วนใดบ้าง และนี่ก็คือประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับ เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินชีวิตต่อไป


*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 23 กันยายน 2563


ขอบคุณข้อมูลจาก


 
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ไหม เงินประกันสังคมที่จ่ายแต่ละเดือน ไปอยู่ไหนบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 24 กันยายน 2563 เวลา 11:36:00 45,377 อ่าน
TOP
x close