แฟรนไชส์น่าลงทุน 2568 จับกระแสธุรกิจฮิตสำหรับคนอยากเปิดร้าน ปี 2025

          แฟรนไชส์น่าลงทุน 2568 ใครกำลังมองหาโอกาสในการสร้างธุรกิจ หรืออยากเป็นเจ้าของกิจการ ลองมาเลือกธุรกิจที่ใช่ในปี 2025 กันเลย
ธุรกิจที่น่าลงทุน 2025

         ในยุคที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้ การเลือกลงทุน ในธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) อาจตอบโจทย์คนที่อยากมีธุรกิจส่วนตัว แต่ไม่รู้ว่าจะขายอะไรดี เนื่องจากการลงทุนแฟรนไชส์ ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ มีระบบการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน เปรียบเสมือนเป็นทางลัดในการเปิดธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีแฟรนไชส์หลากหลายประเภทให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชส์อาหาร แฟรนไชส์เครื่องดื่ม เป็นต้น 

          ว่าแต่...แฟรนไชส์น่าลงทุน ปี 2568 มีอะไรบ้าง เราได้รวบรวมแนวโน้มธุรกิจและแฟรนไชส์น่าสนใจ 2025 มาไว้ให้พิจารณาเป็นไอเดีย

แฟรนไชส์น่าลงทุน ปี 2568

1. แฟรนไชส์ชาบูเสียบไม้

แฟรนไชส์อาหาร ชาบูเสียบไม้

           ชาบูรูปแบบใหม่เป็นธุรกิจที่น่าลงทุน เพราะคนที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว ไม่มีเวลานั่งกินชาบูนาน ๆ สามารถซื้อกลับไปกินคนเดียวก็ได้ จุดขายอยู่ตรงที่มีวัตถุดิบให้เลือกหลากหลายตามความชอบ อร่อยได้ในราคาเข้าถึงง่ายกว่าชาบูหม้อไฟ ทำให้คนตัดสินใจลองชิมได้ง่ายขึ้น ลองมองหาทำเลว่าง ๆ ย่านตลาดนัด ริมถนน หน้าโรงเรียน ปั๊มน้ำมัน ก็เปิดร้านได้แล้ว
ตัวอย่างแฟรนไชส์ชาบูเสียบไม้
  • อิชิ ชาบูเสียบไม้ : แฟรนไชส์ชาบูเสียบไม้ในราคาเริ่มต้นไม้ละ 10 บาท มาพร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ดและน้ำซุปสูตรต้นตำรับจากญี่ปุ่น สามารถขายได้ทั้งแบบมีหน้าร้านและเดลิเวอรี่ ไม่เก็บเปอร์เซ็นต์ยอดขาย ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี ราคาแฟรนไชส์เริ่มต้น 19,900 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • โอซาก้าชาบู ชาบูเสียบไม้ : ชาบูเสียบไม้ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นที่น้ำซุปและน้ำจิ้ม 4 แบบ ลงทุนน้อยเริ่มต้นที่ 59,900 บาท พร้อมรับอุปกรณ์ขายครบชุด (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • วานิตะ ชาบูทูโก : ชาบูแบรนด์ดังอีกเจ้าที่เปิดมาตั้งแต่ช่วงโควิด นอกจากมีเมนูชาบูเสียบไม้ให้เลือกแล้วก็ยังมีเมนูข้าว ของกินเล่น เครื่องดื่ม ให้ลิ้มลอง ลงทุนครั้งเดียวจบ พร้อมมีทีมงานช่วยเปิดร้านและอบรม ราคาแฟรนไชส์เริ่มต้น 390,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

2. แฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยว-บะหมี่

แฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยว-บะหมี่

         ก๋วยเตี๋ยวและบะหมี่เป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย ด้วยรสชาติถูกปาก ราคาจับต้องได้ มีให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ บะหมี่เกี๊ยว ฯลฯ จึงมีฐานลูกค้าที่กว้างขวาง สามารถขายได้หลากหลายทำเล ทั้งในห้างสรรพสินค้า ในตลาด ในบ้าน หรือริมถนน
ตัวอย่างแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยว-บะหมี่
  • ก๋วยเตี๋ยวโกเด้ง-โฮเด้ง : ก๋วยเตี๋ยวริมทางชื่อติดตลาด ตำนานลูกชิ้นเด้งที่มีให้เลือกทั้งลูกชิ้นเนื้อและลูกชิ้นหมู การันตีความอร่อยด้วยป้าย "เปิบพิสดาร" จึงไม่แปลกที่ร้านนี้จะขายดิบขายดี ลงทุนเริ่มต้นที่ 36,430 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • ก๋วยเตี๋ยวต้มยำกากหมูสูตรโบราณ : ร้านก๋วยเตี๋ยวรสเด็ด ชูวัตถุดิบที่คัดสรรและทำเองทุกขั้นตอน พร้อมกากหมูสูตรพิเศษแบบโบราณที่ไม่มีใครเหมือน ค่าแฟรนไชส์เริ่มต้นที่ 75,000 บาท (ไม่มีอุปกรณ์) แต่ถ้าอยากได้แบบครบชุด มีอุปกรณ์พร้อมขาย ราคาจะอยู่ที่ 299,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • เตี๋ยวตุ๋นหม้อไฟ INDY : แฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวตุ๋นหม้อไฟเจ้าแรกในประเทศไทย เสิร์ฟความอร่อยได้ทั้งแบบก๋วยเตี๋ยวหม้อไฟสูตรเข้มข้น แบบชาม หรือเมนูลวกจิ้ม ยำ กะเพรา ข้าวหน้าต่าง ๆ ทำให้ลูกค้าเลือกได้หลากหลาย ไม่เบื่อ ทางร้านมีให้เลือกแฟรนไชส์อยู่ 4 แพ็กเกจ ลงทุนได้ตั้งแต่ 19,900-999,900 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • ชายสี่หมี่เกี๊ยว : แฟรนไชส์บะหมี่สตรีตฟู้ดที่หลายคนคุ้นเคย เพราะมีสาขามากมาย และเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงจึงง่ายต่อการทำการตลาด สามารถเลือกลงทุนได้หลายรูปแบบ เริ่มต้นที่ 100,000 บาทขึ้นไป (ข้อมูลเพิ่มเติม)

3. แฟรนไชส์ลูกชิ้น

แฟรนไชส์ลูกชิ้น

          ของกินเล่นที่ขายง่าย กำไรดีอย่าง "ลูกชิ้น" ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่สูงเมื่อเทียบกับการเปิดร้านอาหารอื่น ๆ และเป็นอาหารที่เหมาะกับคนยุคนี้ที่ชอบกินอะไรง่าย ๆ สะดวก รวดเร็ว ยิ่งร้านไหนมีลูกชิ้นให้เลือกหลากหลาย มากับน้ำจิ้มแซ่บ ๆ แทบจะต้องต่อคิวรอ
ตัวอย่างแฟรนไชส์ลูกชิ้น
  • แพนด้าลูกชิ้นปลาระเบิด : ลูกชิ้นปลาทอดและลูกชิ้นกุ้งทอดที่ใช้วัตถุดิบเกรดเอ ผนวกกับน้ำจิ้มสูตรเด็ดและแบบมะขามเข้มข้น ราคาลงทุนขั้นต่ำก็แค่หลักพันเท่านั้น เริ่มต้นที่ 4,900 บาท เหมาะกับคนที่อยากทดลองขายดูก่อน แต่ถ้าอยากขยับขยายมากขึ้นก็สามารถลงทุนในแพ็กเกจมาตรฐานที่หลักหมื่นต้น ๆ ได้เช่นกัน (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • แม่ประณาม : ลูกชิ้นเกาหลีภูเขาไฟ การันตีความอร่อยด้วยพริกเกาหลีและน้ำจิ้มภูเขาไฟลาวาที่เผ็ดร้อนถูกปากคนไทย เหมาะกับทำเลใกล้ออฟฟิศ ตลาดนัด หน้าโรงเรียน หรือออกบูธต่าง ๆ มีแพ็กเกจให้เลือกหลายเซต เริ่มต้นที่ 59,999 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)  

  • ไจแอ้น ลูกชิ้นระเบิดเถิดเทิง : แบรนด์ลูกชิ้นทอดที่ขายมานานกว่า 15 ปี นอกจากลูกชิ้นปลาก็ยังมีลูกชิ้นกุ้ง ลูกชิ้นปลาหมึก ไส้กรอกไก่ ปลาเส้น ฮ่อยจ๊อปู กุ้งเส้น ฯลฯ มีแฟรนไชส์มากกว่า 2,000 สาขา ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จึงขายง่าย ขายได้ทุกทำเล ด้วยชุดแฟรนไชส์กว่า 20 รูปแบบ หรือจะสั่งตัดเองก็ได้ ราคาเริ่มต้น 3,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

4. แฟรนไชส์เค้กไข่-ขนมไข่

แฟรนไชส์เค้กไข่ ขนมไข่

          มาที่แฟรนไชส์ขนมและของหวานกันบ้าง อย่างเค้กไข่และขนมไข่ที่เป็นธุรกิจน่าสนใจและกำลังได้รับความนิยม ด้วยเนื้อสัมผัสที่นุ่ม อบออกมาร้อน ๆ ส่งกลิ่นหอม ๆ ดึงดูดให้คนอยากซื้อ รสชาติก็ละมุนลิ้น และเดี๋ยวนี้ยังมีให้เลือกหลายไส้ หลายรสชาติ กินอร่อย กินเพลินแบบไม่รู้เบื่อ
ตัวอย่างแฟรนไชส์เค้กไข่
  • E-egg : เค้กไข่ไส้ทะลักแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร เจ้านี้ใช้แป้งเค้กสูตรพิเศษจากไต้หวันที่มีความหอมนุ่ม มีให้เลือกถึง 8 ไส้ ทำก็ง่าย ขายก็ดี กินได้ทุกเพศทุกวัย แถมทางร้านก็มั่นใจว่าสามารถคืนทุนไวใน 3 เดือน เพราะได้กำไรต่อกล่องมากถึง 100% ลงทุนเริ่มต้นที่ 19,900 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • The Egg : ดิ เอ้ก ขนมไข่ที่มีรูปลักษณ์ดูสมัยใหม่ แพ็กเกจจิ้งสวย แป้งหอมนุ่ม มีให้เลือกหลายรสชาติ เด็กกินได้ ผู้ใหญ่ก็ชอบ เลยขายได้ยาว ๆ ไม่ต้องกลัวตกยุค ลงทุนเริ่มต้นที่ 39,900 บาท แพ็กเกจนี้มาพร้อมอุปกรณ์และของแถมมากกว่า 50 รายการ (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • เค้กไข่ไต้หวันเบสเบค : เค้กไข่ในตำนานที่เป็นกระแสในโซเชียล ด้วยส่วนประกอบของไข่มากกว่า 90% ทำให้ได้เค้กที่นุ่มฟูเด้งดึ๋ง อร่อยไม่เหมือนใคร รสชาติก็มีหลากหลาย ขายดิบขายดีได้กำไรกว่าครึ่ง ใครอยากลงทุนต้องมีงบประมาณเบื้องต้น 220,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

5. แฟรนไชส์ไก่ทอด-ไก่ย่าง

แฟรนไชส์ไก่ทอด-ไก่ย่าง

           ไก่ย่างและไก่ทอดเป็นของกินอีกชนิดที่มีรสชาติถูกปากคนทุกเพศทุกวัย ราคาต่อชิ้นไม่แพง ลูกค้าซื้อง่าย คนขายก็ได้กำไรดี เพราะต้นทุนไม่สูง รังสรรค์เมนูได้หลากหลาย มีพื้นที่เล็ก ๆ ก็สามารถเปิดร้านเป็นของตัวเองได้แล้ว
ตัวอย่างแฟรนไชส์ไก่ทอด-ไก่ย่าง
  • ชิกกี้ชิก : เจ้านี้ไม่ได้ขายดีแค่ไก่ป๊อปในตำนาน แต่ยังมีเมนูให้เลือกทั้งเฟรนช์ฟรายส์ มันหวาน ออเนียนชีสฟรายส์ นักเก็ต หรือเมนูข้าว ซึ่งทางแบรนด์ก็แจ้งว่าจะได้กำไรขั้นต้นเฉลี่ยถึง 58% ใช้เวลาคืนทุนเพียง 4-6 เดือน เลือกลงทุนได้ทั้งแบบโมเดลคีออส เริ่มต้น 65,000 บาท หรือแบบเปิดเป็นร้านค้าล็อกเล็ก ๆ ลงทุนเริ่มต้น 55,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • นายหัว ไก่ทอดหาดใหญ่ : ไก่ทอดหาดใหญ่ สูตรต้นตำรับที่หมักเครื่องเทศมาอย่างลงตัว กินแกล้มกับหอมเจียว และข้าวเหนียวร้อน ๆ ใครได้ชิมเป็นต้องติดใจ เน้นลงทุนต่ำ คืนทุนไว ใช้เวลาเฉลี่ย 3 เดือน มีงบเริ่มต้นแค่ 2,490 บาทก็เปิดร้านได้แล้ว (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • ไก่ย่างห้าดาว : แฟรนไชส์เจ้าดังที่ครองตลาดมา 40 ปี จึงเป็นแบรนด์ที่ขายง่าย ใคร ๆ ก็รู้จัก และมีบริษัทช่วยดูแลเรื่องการตลาดให้ มีแฟรนไชส์ให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบคีออส, Glasshouse, Food Court, Open Plan หรือแบบร้านอาหาร เงินลงทุนเริ่มต้นรวมค่าแรกเข้าประมาณ 200,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม) 

6. แฟรนไชส์กาแฟ

แฟรนไชส์กาแฟ

           ตลาดกาแฟในไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปิดรับและทดลองรสชาติใหม่ ๆ รวมถึงการขยายตัวของร้านกาแฟต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟรนไชส์กาแฟที่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีจุดเด่นและรูปแบบการลงทุนแตกต่างกันไป
ตัวอย่างแฟรนไชส์กาแฟ
  • กาแฟพันธุ์ไทย : แฟรนไชส์กาแฟที่มีมากกว่า 1,400 สาขาทั่วประเทศ ทั้งในปั๊มน้ำมัน PT และนอกปั๊มน้ำมัน  นอกจากกาแฟก็ยังมีเมนูเครื่องดื่มสูตรพิเศษให้เลือกอีกเกือบ 20 รายการ สามารถลงทุนได้ 5 รูปแบบ คือ คีออส, Food Trailer, Food Truck, ร้าน Build in และร้าน Stand Alone ใช้งบประมาณเริ่มต้นที่ 1.3 ล้านบาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • STAR Coffee : ร้านกาแฟสไตล์มินิมอลคาเฟ่ที่เสิร์ฟกาแฟ ชา และเครื่องดื่มหลายชนิด พร้อมด้วยเบเกอรี่หอมกรุ่น มีระบบแฟรนไชส์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เปิดร้านได้ไม่ยาก ราคาแฟรนไชส์ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของร้าน โดยเริ่มต้นลงทุนที่ 150,000 บาท สำหรับรูปแบบ Glass House พื้นที่ขนาด 18 ตารางเมตร (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • ยกนิ้ว กาแฟโบราณ : อีกหนึ่งกาแฟถุงกระดาษแบรนด์แรก ๆ ของไทย แล้วพัฒนามาสู่ธุรกิจกาแฟสดที่มีเมนูเครื่องดื่มมากกว่า 100 เมนู ซึ่งจุดเด่นของแบรนด์นี้เขาจะไม่ใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ผสมในเครื่องดื่ม และใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 18,900 บาท โดยไม่ต้องเสียค่าการตลาดหรือค่าธรรมเนียมแรกเข้า-รายปี (ข้อมูลเพิ่มเติม) 

7. แฟรนไชส์ชาผลไม้

แฟรนไชส์ชาผลไม้

           นอกจากแฟรนไชส์ชานมไข่มุกที่ฮิตติดลมบนมาหลายปีแล้ว แฟรนไชส์ชาผลไม้ก็กำลังมาแรงในตลาดเครื่องดื่มของไทย เป็นอีกทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการความสดชื่นและรสชาติที่แปลกใหม่ พร้อมกับราคาที่เข้าถึงได้ง่าย
ตัวอย่างแฟรนไชส์ชาผลไม้
  • WEDRINK : ร้านเครื่องดื่มจากจีนที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก เด่นที่เมนูไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟและชาผลไม้หลากเมนู โดยใช้วัตถุดิบจากไร่ชาและสวนผลไม้ที่ปลูกเอง หากสนใจลงทุนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการจัดการ 25,000 บาท/ปี ค่าแฟรนไชส์ 50,000 บาท/ปี นอกจากนี้ยังมีค่าฝึกอบรม ค่าประกันร้าน ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ค่าวัตถุดิบล็อตแรก รวมแล้วประมาณ 705,000 บาท ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมค่าตกแต่งร้าน ค่าเช่า และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • ปิงฉุน : ร้านไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟที่ขายชาผลไม้และชานม แม้จะเพิ่งขยายกิจการมาไทยได้ไม่นาน แต่ด้วยราคาเริ่มต้น 15 บาท ก็ดึงดูดให้คนอยากลิ้มลองรสชาติได้ไม่ยาก สามารถเปิดร้านได้โดยใช้งบประมาณ 800,000 บาทขึ้นไป (ยังไม่รวมค่าตกแต่งร้าน) และต้องจ่ายค่าแฟรนไชส์ปีละ 50,000 บาท ค่าธรรมเนียมจัดการปีละ 25,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • Ai-CHA : ร้านชาผลไม้และไอศกรีมจากอินโดนีเซียที่เข้าตีตลาดในไทยได้ราว ๆ 2 ปี พร้อมเปิดแฟรนไชส์ขยายสาขาทั่วประเทศ ซึ่งจะมีค่าแฟรนไชส์ปีละ 60,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งค่าประกัน ค่าออกแบบร้าน ค่าก่อสร้าง ค่าวัตถุดิบ รวมแล้วใช้งบลงทุนอย่างน้อย 1 ล้านบาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

8. แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก-เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ

แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก-เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ

           ความต้องการในการซักผ้าเป็นปัจจัยพื้นฐานและเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน แฟรนไชส์เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญจึงตอบสนองความต้องการของคนที่ไม่ค่อยมีเวลาซักผ้า ไม่มีที่ตากผ้า หรือไม่อยากเสียเวลารอผ้าแห้งหลายชั่วโมง อีกทั้งเป็นธุรกิจที่ใช้ระบบเงินสด ทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้ามาตลอดเวลา
ตัวอย่างแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก-เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ
  • WashXpress : ร้านสะดวกซักที่สามารถซัก อบ จบ ใน 50 นาที ถูกใจคนไม่อยากรอนาน โดยแฟรนไชส์มีหลายขนาดให้เลือก ใช้งบลงทุนเริ่มต้นประมาณ 3.25 ล้านบาท เมื่อเปิดร้านแล้วจะมีช่างมาคอยซ่อมบำรุงเครื่องให้อย่างสม่ำเสมอ (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • TOKI Wash&Dry : แฟรนไชส์ธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญที่ควบคุมด้วยระบบ Smart iot ทั้งร้าน โดยเชื่อมต่อผ่านระบบคลาวด์ และมีระบบ DriveThru เจ้าแรกในไทย พร้อมซัก อบ รีด ครบวงจร ลงทุนเริ่มต้น 1.9 ล้านบาท คืนทุนไวใน 3 ปี (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • CleanChain : แฟรนไชส์ร้านสะดวกซักยอดนิยมนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น สามารถซักได้แบบ All in one ซัก-อบในเครื่องเดียว ไม่ต้องเสียเวลาย้ายถัง ลงทุนเริ่มต้น 1.8 ล้านบาท ไม่ต้องเสียค่าแฟรนไชส์และค่าที่ปรึกษาเพิ่มเติม (ข้อมูลเพิ่มเติม)

9. แฟรนไชส์การศึกษา

แฟรนไชส์การศึกษา

           ยุคนี้การเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ พ่อแม่จึงมองหาแนวทางการเสริมทักษะต่าง ๆ ให้ลูก ทั้งภาษาต่างประเทศ การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา เสริมความรู้ทางคณิตศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี ฯลฯ ด้วยการเรียนเพิ่มเติมผ่านสถาบันต่าง ๆ ที่ออกแบบหลักสูตรมาอย่างเป็นระบบ ทำให้ธุรกิจการศึกษามีความน่าสนใจในขณะนี้
ตัวอย่างแฟรนไชส์การศึกษา
  • Smart Brain : สถาบันสอนจินตคณิตที่มีสาขากว่า 400 แห่งทั่วประเทศ เน้นหลักสูตรการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาสมองของเด็ก ๆ ให้มีความเข้าใจ มีสมาธิ มีความจำที่ดีขึ้น ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนภาคปกติได้ งบลงทุนอยู่ที่ 250,000 บาท โดยเป็นค่าแฟรนไชส์ในสัญญา 5 ปี (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • KUMON : สถาบันกวดวิชาระดับโลกที่เปิดสอนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย โดยใช้หลักสูตรที่ถูกออกแบบมาให้เด็กเรียนรู้และพัฒนาได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ หากจะเปิดสถาบันคุมองจะมีค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 74,000 บาท และมีค่าใช้จ่ายในการตกแต่งอาคารขั้นต่ำ 700,000 บาทขึ้นไป (ข้อมูลเพิ่มเติม)

  • Winner English : สถาบันกวดวิชาภาษาอังกฤษแบบครบวงจร สำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 - มัธยมศึกษาปีที่ 3 เรียนได้ทั้งแบบออนไซด์และออนไลน์ ครบทักษะ ทั้งแกรมม่า ฟัง พูด อ่าน เขียน และใช้ Gamification ช่วยสร้างแรงจูงใจและการเรียนรู้ ใช้เงินลงทุนเปิดสถาบันเริ่มต้น 50,000 บาท (ข้อมูลเพิ่มเติม)

ข้อดีของการลงทุนแฟรนไชส์

          ก่อนตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ อยากให้ลองศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียของการลงทุนแฟรนไชส์สักนิด

ธุรกิจที่น่าลงทุน

  • แบรนด์เป็นที่รู้จัก : แบรนด์ส่วนใหญ่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว สามารถทำการตลาดได้ง่าย ไม่ต้องสร้างฐานลูกค้าเอง

  • มีความเสี่ยงต่ำกว่าการเปิดธุรกิจเอง : เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ส่วนใหญ่มีระบบที่ผ่านการทดสอบและพัฒนามาแล้ว มีการตั้งกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เราไม่ต้องลองผิดลองถูกเอง จึงช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ

  • เริ่มต้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว : สามารถทำธุรกิจได้เลยทันทีหลังจากซื้อแฟรนไชส์ เพียงศึกษาจากคู่มือและดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ไปตามระบบ

  • มีการจัดการเป็นระบบ : แฟรนไชส์มีระบบการจัดการและดำเนินงานที่เป็นมาตรฐาน ทั้งระบบงานขาย การเงิน บัญชี รวมถึงเรื่องการจัดหาวัตถุดิบ อุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการธุรกิจ 

  • ซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบได้ในราคาประหยัด : เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปหาแหล่งซื้อวัตถุดิบหรือเตรียมอุปกรณ์เอง เพราะในแพ็กเกจแฟรนไชส์มีมาให้พร้อมที่จะเปิดร้าน และหากต้องการซื้อวัตถุดิบเพิ่มเติมจากบริษัทแฟรนไชส์ก็มักจะได้ในราคาส่ง ซึ่งถูกกว่าไปซื้อเอง

  • ให้การสนับสนุนและฝึกอบรมผู้ลงทุน : เจ้าของแฟรนไชส์จะให้การอบรมขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งแนะนำเรื่องการจัดหาวัตถุดิบ การตลาด เพื่อช่วยให้เราทำธุรกิจได้แม้เป็นมือใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน อีกทั้งยังมีระบบหลังบ้านคอยซัพพอร์ตและให้คำปรึกษาอยู่ตลอดเวลา

  • ไม่ต้องเหนื่อยทำการตลาดเอง : เจ้าของแฟรนไชส์จะคอยช่วยประชาสัมพันธ์และโฆษณาร้านอย่างต่อเนื่อง มีแผนการตลาดใหม่ ๆ หรือเปิดตัวสินค้าใหม่ออกมากระตุ้นยอดขายทั้งปี 

ข้อเสียของการลงทุนแฟรนไชส์

  • มีค่าใช้จ่ายสูง : การลงทุนแฟรนไชส์เจ้าใหญ่ ๆ มักต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด และต้องตกแต่งร้านให้เป็นไปตามแบรนด์นั้น ๆ ต้องสั่งวัตถุดิบจากเจ้าของแบรนด์เพื่อควบคุมคุณภาพ ทำให้ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ นอกจากนี้บางแห่งอาจเรียกเก็บค่าแฟรนไชส์รายปี ค่าธรรมเนียมรายปี รวมถึงส่วนแบ่งกำไรต่อปี เป็นต้น

  • มีข้อจำกัดในการบริหารจัดการ : แม้เราจะซื้อแฟรนไชส์มาแล้วก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรฐานของเจ้าของแฟรนไชส์ จึงกลายเป็นข้อจำกัดในการบริหารจัดการธุรกิจของตนเอง เช่น ไม่สามารถออกไอเดีย คิดแนวทางใหม่ ๆ หรือทำอะไรที่ผิดไปจากระบบได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละร้านด้วย

  • การแข่งขันสูง : ธุรกิจแฟรนไชส์บางประเภทมีการแข่งขันสูง เช่น แฟรนไชส์ชาไข่มุก แฟรนไชส์กาแฟ เพราะมีร้านให้เลือกหลายแบรนด์ ทั้งแบบแฟรนไชส์ ธุรกิจส่วนตัว จึงอาจทำกำไรไม่ได้ตามเป้า

  • ความเสี่ยงจากชื่อเสียงของแบรนด์ : หากแบรนด์แฟรนไชส์ได้รับความเสียหาย เช่น มีดราม่า ถูกโซเชียลแบน หรือคุณภาพของสินค้าหรือบริการ ณ สาขาใดสาขาหนึ่งมีปัญหา ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อร้านที่เราเปิดอยู่อย่างเลี่ยงไม่ได้

  • มีโอกาสถูกยกเลิกสัญญา : บางแฟรนไชส์ไม่ได้เป็นการขายขาด แต่ให้สิทธิ์ในการใช้ชื่อร้านตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อครบกำหนดแล้วทางบริษัทอาจไม่ต่อสัญญา หรือในกรณีที่เราไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็มีสิทธิ์โดนยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดได้เช่นกัน

          การลงทุนแฟรนไชส์เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจก็จริง แต่ควรศึกษาข้อมูลและพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ โดยเลือกแบรนด์แฟรนไชส์ที่น่าเชื่อถือ วิเคราะห์ถึงสินค้าและบริการนั้นว่ามีแนวโน้มเติบโตได้อีกในอนาคต และที่สำคัญก็คือ เราควรมีความรู้ในสิ่งที่กำลังจะลงทุน เพื่อให้กิจการแฟรนไชส์เป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ ไม่ล้มเลิกกลางคัน

บทความที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แฟรนไชส์น่าลงทุน 2568 จับกระแสธุรกิจฮิตสำหรับคนอยากเปิดร้าน ปี 2025 อัปเดตล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 18:05:39 24,714 อ่าน
TOP
x close