กองทุน Thai ESG มีอะไรบ้าง เลือกกองไหนดี ลดหย่อนภาษี 2567 ได้สูงสุด 300,000 บาท

           กองทุน Thai ESG ตัวช่วยลดหย่อนภาษีปี 2567 ที่ปรับเงื่อนไขใหม่ ก่อนตัดสินใจลงทุนต้องรู้ข้อมูลให้ครบ พร้อมเช็กลิสต์กองทุน Thai ESG ที่น่าสนใจในกลุ่มต่าง ๆ
กองทุน thai esg

           กองทุนรวม Thai ESG เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนและลดหย่อนภาษี 2567 ไปพร้อมกัน ซึ่งในปี 2567 กระทรวงการคลังได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการลงทุนให้คล่องตัวขึ้น ลดระยะเวลาการถือครองกองทุนให้สั้นลง แต่ด้วยตัวเลือกที่หลากหลาย ทำให้เกิดคำถามว่าจะเลือก Thai ESG กองไหนดี ถ้าเช่นนั้นตามมาอ่านวิธีการเลือกกองทุน Thai ESG พร้อมรายชื่อกองทุนที่น่าสนใจกัน

เช็กเงื่อนไขกองทุนรวม Thai ESG

          เงื่อนไขการลงทุนในกองทุน Thai ESG หรือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ของปี 2567 มีดังนี้

  • สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท (จากปกติใช้สิทธิ์ได้เพียง 100,000 บาท)

  • ต้องถือครองกองทุนรวมไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน) (จากเดิมต้องถือครอง 8 ปี) 

  • ไม่ต้องลงทุนทุกปี ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ

กองทุน Thai ESG เหมาะกับใคร

  • ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะคนที่มีฐานภาษีสูง ๆ เช่น 20% ขึ้นไป ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีในกองทุน Thai ESG มากกว่า

  • ผู้ที่ต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจากการลงทุนในกองทุนรวม SSF RMF หรือในกลุ่มการลงทุนเพื่อการเกษียณ เนื่องจากไม่ต้องนำวงเงินไปรวมกับกองทุนอื่น ๆ

  • ผู้ที่มีความสนใจการลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินงานตามหลักการ ESG คือ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล 

  • ผู้ที่ต้องการลงทุนในตลาดหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทย เนื่องจากกองทุน Thai ESG มีนโยบายลงทุนเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ต่างจากกองทุนรวม SSF หรือ RMF ที่สามารถลงทุนในต่างประเทศหรือสินทรัพย์ทางอื่น ๆ ได้

  • ผู้ที่ต้องการลงทุนระยะกลาง-ยาว เพราะต้องถือครองกองทุนเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี 

  • ผู้ที่สามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้

  • ผู้ที่ไม่ต้องการมีภาระลงทุนติดต่อกันทุกปี เนื่องจากกองทุน Thai ESG ไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องซื้อทุกปีเหมือนกับ RMF

วิธีเลือกกองทุนรวม Thai ESG

กองทุน esg มีอะไรบ้าง

          ในการลงทุน ThaiESG เราควรเปรียบเทียบหลาย ๆ กองทุน เพื่อหาตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด โดยพิจารณาจากประเด็นต่อไปนี้

  • ความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ : หากรับความเสี่ยงได้น้อย กลัวขาดทุน การเลือกกองทุน ThaiESG ที่ลงทุนในตราสารหนี้จะเหมาะสมกว่า แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้สูง เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น อาจเลือกลงทุนในกองทุนผสมหรือกองทุนตราสารทุนที่เน้นลงทุนในหุ้น โดยมีให้เลือกทั้งแบบเชิงรุก (Active) และเชิงรับ (Passive)  

  • ศึกษานโยบายการลงทุนของกองทุน : ศึกษาข้อมูลว่ากองทุนนั้นลงทุนในตราสารหนี้ประเภทใด หรือลงทุนในหุ้นอะไรบ้าง เป็นสัดส่วนเท่าไร หากกองทุนกระจายการลงทุนในหลายบริษัทและหลายอุตสาหกรรมจะช่วยลดความเสี่ยงได้

  • ผลการดำเนินงานย้อนหลัง : พิจารณาผลการดำเนินงานในอดีตว่าให้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร แม้ว่าจะไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคตได้ แต่อย่างน้อยช่วยให้เห็นภาพรวมของประสิทธิภาพการทำงานของกองทุนนั้น ๆ ว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงเวลาใดบ้าง และใช้เปรียบเทียบกับผลตอบแทนของกองทุนอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน

  • นโยบายการจ่ายปันผล : กองทุน ThaiESG มีทั้งชนิดจ่ายปันผล และไม่จ่ายปันผลซึ่งจะเรียกว่าชนิดสะสมมูลค่า กรณีเลือกรับปันผล เงินปันผลจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%

  • ค่าธรรมเนียม : เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมการซื้อ-ขาย ควรเลือกกองทุนที่คิดค่าธรรมเนียมน้อยกว่าเพื่อลดต้นทุนโดยรวม เมื่อต้นทุนลดลง โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

          สำหรับคนที่สนใจลงทุนในกองทุนรวม Thai ESG วันนี้เรารวบรวมกองทุนรวม Thai ESG แยกตามประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุนมาให้พิจารณาบางส่วน

กองทุนรวม ThaiESG
ประเภทตราสารหนี้

thai esg กองไหนดี ตราสารหนี้

           กองทุนรวม ThaiESG ที่ลงทุนในตราสารหนี้ เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ แม้จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยไม่สูงมาก แต่โอกาสขาดทุนก็น้อยกว่ากองทุนรวมแบบผสมหรือหุ้น ลองมาดูว่ามีกองทุนไหนน่าสนใจบ้าง

1. B-SI-THAIESG

          กองทุนรวมบัวหลวง ตราสารภาครัฐไทยเพื่อความยั่งยืน จาก บลจ.บัวหลวง มีนโยบายลงทุนในตราสารภาครัฐของไทยระยะยาว (Long Term General Bond) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 3 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ)

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 500 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี 

  • ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน : 3.05% ต่อปี (ณ วันที่ 30 กันยายน 2567)

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.2140% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.4259% ต่อปี
     

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารกรุงเทพ

2. K-ESGSI-THAIESG

          กองทุนเปิดเค ตราสารภาครัฐ ESG ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน ของ บลจ.กสิกรไทย เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรกระทรวงการคลัง หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 3 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ)

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 500 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี 

  • ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน : 2.52% ต่อปี (ณ วันที่ 30 กันยายน 2567)

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.2140% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.2729% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารกสิกรไทย

3. KKP GB THAI ESG

          กองทุนเปิดเคเคพี พันธบัตรรัฐบาลไทยเพื่อความยั่งยืน จาก บลจ.เกียรตินาคินภัทร มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน เช่น ตราสารเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green bond) ตราสารเพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) ตราสารส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked bond) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 3 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ)

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี 

  • ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน : 4.81% ต่อปี (ณ วันที่ 30 กันยายน 2567)

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.1926% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.2461% ต่อปี
     

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารเกียรตินาคินภัทร

กองทุนรวม ThaiESG
ประเภทกองทุนรวมผสม

           กองทุนรวมผสม คือ กองทุนรวมที่นำเงินของผู้ลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างสูง โดยตัวอย่างกองทุนรวมผสม Thai ESG ที่น่าสนใจ อาทิ

1. KTAG70/30-ThaiESG

          กองทุนเปิดกรุงไทย ESG A Grade 70/30 (ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน) จาก บลจ.กรุงไทย ลงทุนในหุ้นไทยที่มี ESG ระดับ A ขึ้นไป ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 70% และลงทุนในตราสารหนี้อีกไม่เกิน 30% โดยมีนโยบายจ่ายปันผลให้ผู้ลงทุน

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 5 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง)

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : ไม่กำหนด

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : จ่ายปันผลไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี

  • ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน : 4.62% ต่อปี (ณ วันที่ 30 กันยายน 2567)

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.6050% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.7869% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.กรุงไทย

2. ES-ESG3070-ThaiESG-A

          กองทุนเปิดอีสท์สปริง ESG Mixed 30/70 ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืนสะสมมูลค่า เป็นกองทุนเปิดใหม่จาก บลจ.อีสท์สปริง โดยมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่โดดเด่นในด้าน ESG ไม่เกิน 30% และลงทุนในตราสารหนี้ไม่เกิน 70% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 5 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง)

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : ไม่กำหนด

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่จ่ายปันผล

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.3600% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.5293% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.อีสท์สปริง

3. SCBTM (ThaiESG)

          กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ไทยผสมยั่งยืน ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน จาก บลจ.ไทยพาณิชย์ กระจายการลงทุนให้หุ้นที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านความยั่งยืน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ส่วนอีก 20% อาจลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 5 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง)

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : จ่ายปันผล

  • ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน : 5.28% ต่อปี (ณ วันที่ 30 กันยายน 2567)

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.61% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.72% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.ไทยพาณิชย์

กองทุนรวม ThaiESG
ประเภทกองทุนหุ้นแบบ Passive

thai esg กองไหนดี 2567

            กองทุนรวมหุ้น Passive หรือ กองทุนรวมดัชนี (Index Fund) เป็นกองทุนรวมที่ออกแบบมาเพื่อเลียนแบบผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เช่น SET100, SET ESG เป็นต้น หากดัชนีเติบโต กองทุนรวมดัชนีก็จะเติบโตตามไปด้วย และมักมีค่าธรรมเนียมการจัดการต่ำกว่ากองทุนรวมหุ้น Active ตัวอย่างกองทุน Thai ESG ที่ลงทุนในหุ้น Passive ได้แก่

1. K-TNZ ThaiESG

          กองทุนเปิดเค Target Net Zero หุ้นไทย ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน จาก บลจ.กสิกรไทย ลงทุนตามดัชนี SET100 TRI เน้นหุ้นของบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนการจัดการ และตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย 

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6 (เสี่ยงสูง)

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 500 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่จ่ายปันผล

  • ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน : 8.13% ต่อปี (ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567)

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.2675% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.4976% ต่อปี
     

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.กสิกรไทย

2. ES-SETESG-ThaiESG-A

          กองทุนเปิดอีสท์สปริง SETESG (ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืนจ่ายเงินปันผล) ของ บลจ.อีสท์สปริง ลงทุนตามดัชนี Set ESG เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีดังกล่าว โดยจะลงทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6 (เสี่ยงสูง)

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : ไม่กำหนด

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : จ่ายปันผล

  • ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน : 4.22% ต่อปี (ณ วันที่ 30 กันยายน 2567)

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.5000% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.6693% ต่อปี
     

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.อีสท์สปริง

3. SCBTP(ThaiESGA)

          กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นไทยยั่งยืนพาสซีฟ ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืนแบบสะสมมูลค่า เป็นกองทุนที่ลงทุนตาม SET ESG แบบไม่มีปันผลของ บลจ.ไทยพาณิชย์ โดยมุ่งหวังผลตอบแทนให้เคลื่อนไหวตามดัชนี

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6 (เสี่ยงสูง)

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่จ่ายปันผล

  • ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน : 5.11% ต่อปี (ณ วันที่ 30 กันยายน 2567)

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.50% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.63% ต่อปี
     

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.ไทยพาณิชย์

กองทุนรวม ThaiESG
ประเภทกองทุนหุ้นแบบ Active

           กองทุนรวมหุ้น Active คือ กองทุนรวมที่บริหารจัดการเชิงรุก ผู้จัดการกองทุนปรับพอร์ตการลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ โดยมีเป้าหมายหลักคือการสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าดัชนีตลาด จึงมีค่าธรรมเนียมแพงกว่ากองทุนอื่น โดยกองทุนรวม Thai ESG ประเภทกองทุนรวมหุ้น Active ที่ให้ผลตอบแทนดีในช่วงที่ผ่านมา เช่น

1. PRINCIPAL EQESG-ThaiESG

          กองทุนเปิดพรินซิเพิล อิควิตี้ ESG ThaiESG (PRINCIPAL EQESG-ThaiESG) จาก บลจ.พรินซิเพิล เน้นลงทุนในหุ้น SET หรือ mai ในบริษัทที่โดดเด่นเรื่อง ESG รวมถึงหุ้นของบริษัทที่ตั้งเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6 (เสี่ยงสูง)

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : จ่ายปันผลไม่เกินปีละ 1 ครั้ง

  • ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน : 3.03% ต่อปี (ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567)

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.8725% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 2.2149% ต่อปี
     

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.พรินซิเพิล

2. KTESG50-ThaiESG

          กองทุนเปิดกรุงไทย ESG50 (ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน) ลงทุนในหุ้น SET หรือ mai ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SETESG และเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ประมาณ 50 หลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดที่เข้าหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ของบริษัทจัดการ

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6 (เสี่ยงสูง)
  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : ไม่กำหนด

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : จ่ายปันผลไม่เกินปีละ 4 ครั้ง

  • ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน : 4.54% ต่อปี (ณ วันที่ 30 กันยายน 2567)

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.6420% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.8200% ต่อปี
     

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.กรุงไทย

3. MT25-ThaiESG

          กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีท็อป 25 หุ้นไทยเพื่อความยั่งยืน จาก บลจ.เอ็มเอฟซี มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี SET ESG Index จํานวน 25 บริษัทแรกที่เข้าหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6 (เสี่ยงสูง)

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 500 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : จ่ายปันผล

  • ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน : 4.81% ต่อปี (ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2567)

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.3375% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันไม่เรียกเก็บ
     

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.เอ็มเอฟซี

ข้อควรระวังในการลงทุน
กองทุนรวม Thai ESG

กองทุน esg

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้น ผลตอบแทนที่ได้รับอาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

  • ผู้จัดการกองทุนอาจปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลต่อความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน

  • สามารถนำมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ ดังนั้น ต้องคำนวณให้ดีว่าเราสามารถใช้เงินลงทุนได้สูงสุดเท่าไร เพื่อจะได้ไม่ซื้อเกินสิทธิ์

  • กรณีลงทุนในปี 2567-2569 ต้องถือครองอย่างน้อย 5 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด (นับวันชนวัน)

  • หากทำผิดเงื่อนไข เช่น ขายก่อนกำหนด ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นทั้งหมดทันที พร้อมจ่ายเงินเพิ่มให้รัฐ 1.50% ต่อเดือน โดยคิดย้อนหลังตั้งแ​ต่เดือนเมษายนของปีที่เคยยื่นขอลดหย่อนภาษีไว้จนถึงวันที่ยื่นคืนภาษี

          ทั้งนี้ ก่อนลงทุนใด ๆ ควรอ่านหนังสือชี้ชวนของกองทุนให้ละเอียดแล้วทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้

บทความที่เกี่ยวข้องกับลดหย่อนภาษี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กองทุน Thai ESG มีอะไรบ้าง เลือกกองไหนดี ลดหย่อนภาษี 2567 ได้สูงสุด 300,000 บาท อัปเดตล่าสุด 22 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14:02:45 2,122 อ่าน
TOP
x close