x close

รวมหนี้บัตรเครดิต ธนาคารไหนดี 2567 รีไฟแนนซ์บัตรเครดิตให้ดอกเบี้ยถูกลง ปลดหนี้ได้เร็วขึ้น

           รวมหนี้บัตรเครดิตธนาคารไหนดี 2567 ตัวช่วยคนเป็นหนี้บัตรเครดิตเยอะ ๆ จะได้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง ๆ เพราะผ่อนที่เดียวจบ มีโอกาสปลดหนี้ได้เร็วขึ้น
รวมหนี้บัตรเครดิต

          สำหรับใครที่มีหนี้บัตรเครดิตค่อนข้างเยอะ หรือมีบัตรเครดิตหลายใบ แถมอาจมีหนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มผ่อนชำระไม่ไหว และยังส่งผลให้โดนคิดดอกเบี้ยสูงขึ้นอีกด้วย แนะนำให้โอนหนี้มารวมไว้ที่เดียว ด้วยสินเชื่อรวมหนี้บัตรเครดิต หรือ รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ก็จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยบัตรเครดิตให้น้อยลง และสามารถปลดหนี้ได้เร็วขึ้น โดยในวันนี้เรานำข้อมูลสินเชื่อรวมหนี้บัตรเครดิตของธนาคารต่าง ๆ มาให้ได้เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขต่าง ๆ พร้อมทั้งเคล็ดลับการเลือกสินเชื่อให้เหมาะกับเรา

รวมหนี้บัตรเครดิต คืออะไร

รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต

          ในการรีไฟแนนซ์หรือรวมหนี้บัตรเครดิตนั้น ปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือ

     1. รวมหนี้ของบัตรเครดิตทั้งหมดที่มีอยู่ จากนั้นไปขอกู้สินเชื่อส่วนบุคคลจากสถาบันการเงินแห่งใหม่ เพื่อนำเงินกู้ก้อนใหม่ที่ได้มาไปใช้ชำระหนี้ของเก่าทั้งหมด ซึ่งเหมือนเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่

     2. รวมหนี้บัตรเครดิตกับสินเชื่อบ้านไว้ที่ธนาคารแห่งเดียว โดยสามารถรวมหนี้ข้ามธนาคารได้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีสินเชื่อบ้านอยู่แล้ว ซึ่งเป็นมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เป็นทั้งหนี้บัตรเครดิตและหนี้บ้าน

ข้อดีของการรวมหนี้บัตรเครดิต

  • สามารถนำเงินกู้ก้อนใหม่ไปจ่ายปิดหนี้บัตรเครดิตเดิมที่มีอยู่ได้

  • สินเชื่อส่วนบุคคลที่ขอกู้ใหม่มักคิดอัตราดอกเบี้ยถูกลง ดังนั้น ยอดผ่อนชำระต่อเดือนก็จะลดลงตามไปด้วย

  • เพิ่มโอกาสปลดหนี้บัตรเครดิตได้เร็วขึ้น เพราะจะเหลือหนี้ที่ต้องจ่ายเพียงก้อนเดียว ไม่สับสนว่าต้องจ่ายที่ไหน เท่าไร รู้จำนวนที่ต้องจ่ายแน่นอน และไม่ต้องกลัวว่าจะลืมจ่ายหนี้ จึงบริหารจัดการหนี้และวางแผนการเงินได้ง่าย

  • สามารถยืดเวลาผ่อนชำระหนี้ได้นานขึ้น  

  • มีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน

  • ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน

  • หากมีปัญหาใด ๆ ก็สามารถติดต่อเจ้าหนี้เพียงแห่งเดียวได้เลย ไม่ต้องวุ่นวายหรือถูกทวงถามหนี้จากหลาย ๆ แห่ง

  • หนี้เดิมไม่กลายเป็นหนี้เสีย จึงทำให้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต

ข้อเสียของการรวมหนี้บัตรเครดิต

  • การยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปให้นานขึ้น อาจทำให้ต้องจ่ายหนี้เป็นจำนวนเงินที่มากกว่าหนี้เดิมที่มีอยู่

  • ต้องเสียดอกเบี้ย 2 ต่อ เนื่องจากยอดหนี้บัตรเครดิตที่จะนำมาปิดหนี้นั้นจะรวมทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าปรับต่าง ๆ ซึ่งเงินก้อนนี้จะต้องมาเสียดอกเบี้ยกับเงินกู้ก้อนใหม่ด้วย

  • สินเชื่อส่วนบุคคลสามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงสุดไม่เกิน 25% ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงสุดไม่เกิน 16% ต่อปี ดังนั้น ในช่วงแรกที่ผ่อนกับสินเชื่อส่วนบุคคล เราอาจได้ดอกเบี้ยโปรโมชั่นที่ถูกกว่าบัตรเครดิต แต่เมื่อผ่อนไปนาน ๆ อัตราดอกเบี้ยอาจสูงกว่าบัตรเครดิตได้ จึงต้องเปรียบเทียบทั้งช่วงโปรโมชั่นและหลังโปรโมชั่นให้ดี

  • การกู้เงินเพิ่มจะทำให้เกิดเป็นหนี้ก้อนใหม่ขึ้นมา

  • การกู้เงินเพิ่มอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินเกินตัว

วิธีเลือกสินเชื่อรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต

รวมหนี้บัตรเครดิต ธนาคารไหนดี

          ในการจะเลือกสินเชื่อรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตนั้น มีหลากหลายปัจจัยที่ควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจ ดังต่อไปนี้

  • เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อแต่ละธนาคาร โดยควรเลือกสินเชื่อส่วนบุคคลที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด แต่ก็ต้องไม่ลืมพิจารณาอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญาด้วย เนื่องจากสินเชื่อบางตัวคิดดอกเบี้ยถูกตามโปรโมชั่นปีแรก ๆ แต่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยทั้งสัญญาอาจสูงกว่าสินเชื่อตัวอื่น

  • พิจารณารูปแบบดอกเบี้ยสินเชื่อว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) คือจ่ายเท่าเดิมตลอดอายุสัญญา หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) ที่ปรับขึ้น-ลงได้ตามอัตราดอกเบี้ย MRR ทั้งนี้ หากอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นควรเลือกแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ แต่ถ้าอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลงควรเลือกอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เพราะดอกเบี้ยจะปรับลงตามไปด้วย

  • กรณีผ่อนบ้านอยู่ด้วยควรรวมหนี้บ้านกับบัตรเครดิตไว้ด้วยกัน เพราะดอกเบี้ยบ้านจะคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล ทำให้ดอกเบี้ยลดลงไปมาก

  • เปรียบเทียบจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือน กับระยะเวลาผ่อนชำระของสินเชื่อแต่ละธนาคาร

  • ตรวจสอบวงเงินให้กู้ของธนาคารต่าง ๆ ว่าเพียงพอต่อยอดหนี้บัตรเครดิตของเราหรือไม่ ซึ่งโดยปกติธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อไม่เกิน 2-5 เท่าของรายได้ต่อเดือน

  • พิจารณาคุณสมบัติของตัวเองว่าตรงกับเงื่อนไขสินเชื่อของธนาคารหรือไม่ เช่น อายุผู้กู้ รายได้ขั้นต่ำ อายุงาน อาชีพ เป็นต้น

  • กรณีเป็นพนักงานประจำ ลองมองหาสินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคารที่ใช้รับบัญชีเงินเดือนดูก่อน เพราะอาจได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง หรืออัตราดอกเบี้ยถูกกว่าบุคคลทั่วไป

  • เปรียบเทียบโปรโมชั่นสินเชื่อของแต่ละธนาคาร ซึ่งอาจมีแคมเปญดอกเบี้ยพิเศษ ฟรีค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามเงื่อนไขในแต่ละช่วงเวลา

  • พิจารณาค่าใช้จ่ายส่วนอื่นเพิ่มเติม เช่น บางแห่งต้องทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อ หรือมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ต้องจ่าย

  • พิจารณาวิธีชำระคืนที่เราสะดวก เช่น มีช่องทางชำระเงินที่หลากหลาย เสียค่าธรรมเนียมต่ำหรือไม่เสียค่าธรรมเนียมเลย เป็นต้น

รวมหนี้บัตรเครดิต
ธนาคารไหนดี 2567

1. รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ธนาคารออมสิน

รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ออมสิน

ภาพจาก : ธนาคารออมสิน

          โครงการสินเชื่อออมสินรีไฟแนนซ์เพื่อสังคม (สินเชื่อออมสิน Re-Card) ขานรับนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของรัฐบาล โดยเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตของสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้เป็นเงินกู้ระยะยาว และลดดอกเบี้ยจากเดิม 16% ต่อปี เหลือเพียงเริ่มต้น 8.74% ต่อปี (MRR + 2.145% ต่อปี) ไม่ต้องมีหลักประกัน

  • รายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ :

    • ผู้มีรายได้ประจำ : 20,000 บาท/เดือน (อายุงาน 2 ปีขึ้นไป)

    • ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือเจ้าของกิจการ : 30,000 บาท/เดือน (อายุงานหรือดำเนินกิจการมาแล้ว 2 ปีขึ้นไป)

  • วงเงินให้กู้ : 5 เท่าของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : 

    • ผู้มีรายได้ประจำ : 8.740% ต่อปี (MRR + 2.145%)

    • ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือเจ้าของกิจการ : 11.740% ต่อปี (MRR + 5.145)

    • ปัจจุบัน MRR = 6.595% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป โดยอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้

  • ระยะเวลาผ่อนชำระ : 

    • ผู้มีรายได้ประจำ : ผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี

    • ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือเจ้าของกิจการ : ผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี

  • ช่องทางสมัคร : ธนาคารออมสินทุกสาขา

  • ระยะเวลาโปรโมชั่น : ยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 โดยอนุมัติและจัดทำสัญญาแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารออมสิน

2. สินเชื่อบุคคล เพอร์ซันนัลแคช ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

รวมหนี้บัตรเครดิต cimb

ภาพจาก : ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

          สินเชื่อบุคคลจาก CIMB Thai มาพร้อมโปรโมชั่นดอกเบี้ยคงที่ ถูกสุด 9.99% ต่อปี สมัครได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน ให้วงเงินอนุมัติตั้งแต่ 20,000-2,000,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก อายุสัญญาขั้นต่ำ 12 เดือน และผ่อนได้นานสูงสุด 72 เดือน

  • รายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ : 20,000 บาท/เดือน

  • วงเงินให้กู้ : สูงสุด 5 เท่าของรายได้ ตั้งแต่ 20,000-2,000,000 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : 9.99-25% ต่อปี

  • ระยะเวลาผ่อนชำระ : สูงสุด 72 เดือน

  • ช่องทางสมัคร : ทางหน้าเว็บไซต์ หรือธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ทุกสาขา

  • ระยะเวลาโปรโมชั่น : 23 มกราคม - 31 พฤษภาคม 2567

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

3. สินเชื่อบุคคลไทยเครดิต ธนาคารไทยเครดิต

รวมหนี้บัตรเครดิต ไทยเครดิต

ภาพจาก : ธนาคารไทยเครดิต

         สินเชื่อบุคคลไทยเครดิต สำหรับพนักงานที่มีรายได้ประจำ โดยให้เป็นวงเงินหมุนเวียนพร้อมใช้ เมื่อชำระคืนแล้วสามารถเบิกใช้ใหม่ได้ หรือจะรวมหนี้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดไว้ที่เดียวก็ได้เช่นกัน คิดดอกเบี้ยต่ำสุด 9.99% ต่อปี นานสูงสุด 5 เดือน ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน

  • รายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ : 15,000 บาท/เดือน (อายุงาน 4 เดือนขึ้นไป)

  • วงเงินให้กู้ : 1.5-5 เท่าของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 2,000,000 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : 9.99-25% ต่อปี (อ้างอิงจาก MRR ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2566 เท่ากับ 10.15% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้)

  • ระยะเวลาผ่อนชำระ : สูงสุด 36 เดือน

  • ช่องทางสมัคร : ธนาคารไทยเครดิตทุกสาขา

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารไทยเครดิต

4. สินเชื่อส่วนบุคคล ยูโอบี เอ็กซ์เพรส ธนาคารยูโอบี

รวมหนี้บัตรเครดิต uob

ภาพจาก : ธนาคารยูโอบี

          สินเชื่อส่วนบุคคล ยูโอบี เอ็กซ์เพรส คิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ เริ่มต้น 9.99% ต่อปี ให้กู้เพื่อใช้จ่ายอเนกประสงค์ เช่น ปิดหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เสริมสภาพคล่องในยามฉุกเฉิน หรือใช้จ่ายเรื่องการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น อนุมัติไวภายใน 30 นาที (ตามเงื่อนไขที่กำหนด) ไม่ต้องมีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน

  • รายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ : 

    • ผู้มีรายได้ประจำ : 15,000 บาท/เดือน (อายุงาน 4 เดือนขึ้นไป)

    • สำหรับเจ้าของกิจการจะต้องมีการจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด และดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกันไม่ต่ำกว่า 3 ปี

  • วงเงินให้กู้ : 1.5-5 เท่าของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 2,000,000 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : 9.99-25% ต่อปี

  • ระยะเวลาผ่อนชำระ : สูงสุด 60 เดือน

  • ช่องทางสมัคร : สมัครออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์

  • ระยะเวลาโปรโมชั่น : 21 กุมภาพันธ์ - 31 ธันวาคม 2567

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารยูโอบี

5. บัตรกดเงินสด ทีทีบี แฟลช ธนาคารทหารไทยธนชาต

รวมหนี้บัตรเครดิต ttb

ภาพจาก : ธนาคารทหารไทยธนชาต

          สินเชื่อบัตรกดเงินสดของธนาคารทหารไทยธนชาต ให้เงินสำรองพร้อมใช้ จัดการเรื่องฉุกเฉิน หรือปิดหนี้บัตรเครดิตด้วยการโอนยอดบัตรอื่นมาอยู่ทีทีบี คิดดอกเบี้ยเริ่มต้น 13% ต่อปี คงที่จนกว่าจะจ่ายหมด เลือกได้ทั้งผ่อนแบบเท่ากันทุกเดือนหรือผ่อนขั้นต่ำแค่ 3% ไม่มีค่าธรรมเนียมเบิกเงินสด ค่าธรรมเนียมแรกเข้า และรายปี

  • รายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ : 

    • ผู้มีรายได้ประจำ : 10,000 บาท/เดือน (อายุงาน 4 เดือนขึ้นไป)

    • ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือเจ้าของกิจการ : 15,000 บาท/เดือน (ดำเนินกิจการมาแล้ว 2 ปีขึ้นไป) 

  • วงเงินให้กู้ : 5,000-1,000,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้

  • อัตราดอกเบี้ย : อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 13-20% ต่อปี จนกว่าจะจ่ายหมด (นานสูงสุด 99 เดือน) หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี

  • ระยะเวลาผ่อนชำระ : สูงสุด 99 เดือน

  • ช่องทางสมัคร : ผ่านแอปฯ ttb touch, หน้าเว็บไซต์ หรือที่ธนาคารทหารไทยธนชาต

  • ระยะเวลาโปรโมชั่น : 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2567 และได้รับอนุมัติภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2567

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารทหารไทยธนชาต

6. บริการรวมสินเชื่อ Balance Transfer กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์

รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต กรุงศรี

ภาพจาก : กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์

          บริการรวมหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารอื่นมาไว้ผ่อนที่เฟิร์สช้อยส์ คิดดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลาผ่อนชำระ ต่ำสุดเริ่มต้น 12.99% ต่อปี ผ่อนได้นานสูงสุด 60 เดือน ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน และสามารถโอนเงินเข้าบัญชีสถาบันการเงินตามที่ระบุให้โดยตรง ทั้งนี้ ต้องสมัครพร้อมกับบัตรเครดิตกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ วีซ่า แพลทินัม หรือเอ็กซ์ยู บัตรเครดิต ดิจิทัล หรือบัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ เท่านั้น จึงจะสามารถใช้บริการรวมสินเชื่อได้

  • รายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ : 12,000 บาทขึ้นไป

  • วงเงินให้กู้ : สูงสุด 1,000,000 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : 12.99-25% ต่อปี

  • ระยะเวลาผ่อนชำระ : สูงสุด 60 เดือน

  • ช่องทางสมัคร : ผ่านเว็บไซต์ หรือสาขาเฟิร์สช้อยส์ทั่วประเทศ

  • ระยะเวลาโปรโมชั่น : 1 กุมภาพันธ์ - 31 กรกฎาคม 2567

ข้อมูลเพิ่มเติม : กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์

7. สินเชื่อกรุงไทยเปย์เดะ

รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต กรุงไทย

ภาพจาก : ธนาคารกรุงไทย

          สินเชื่อกรุงไทยเปย์เดะ คือ สินเชื่ออเนกประสงค์พร้อมใช้ที่ให้เงินก้อนสำหรับผู้รับเงินเดือนผ่านบัญชีของธนาคารกรุงไทย ให้วงเงินสูงสุด 5 เท่าของรายได้ แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว MRR+7% ต่อปี ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

  • รายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ : 30,000 บาท/เดือน

  • วงเงินให้กู้ : 1.5-5 เท่าของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : 14.57% ต่อปี (MRR+7%) โดย MRR ปัจจุบันเท่ากับ 7.57 ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้

  • ระยะเวลาผ่อนชำระ : 12-60 เดือน

  • ช่องทางสมัคร : ผ่านแอปฯ Krungthai NEXT

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารกรุงไทย

            อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการรวมหนี้หรือรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยบัตรเครดิตและทำให้มีโอกาสปลดหนี้ได้เร็วขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องไม่ลืมและตระหนักไว้ก็คือ ควรกู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว เพื่อที่จะได้ไม่เกิดเป็นหนี้แบบดินพอกหางหมู ไปจนถึงการเป็นหนี้เสียในภายหลัง

บทความที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รวมหนี้บัตรเครดิต ธนาคารไหนดี 2567 รีไฟแนนซ์บัตรเครดิตให้ดอกเบี้ยถูกลง ปลดหนี้ได้เร็วขึ้น อัปเดตล่าสุด 10 พฤษภาคม 2567 เวลา 23:36:10 21,339 อ่าน
TOP