เปิดบัญชีให้ลูก ธนาคารไหนดี ใช้เอกสารอะไรบ้าง เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนออมเงินให้ลูก !

           เปิดบัญชีให้ลูก ธนาคารไหนดี ใช้เอกสารอะไรบ้าง สำหรับพ่อแม่ที่อยากออมเงินให้ลูก หรือหัดให้ลูกออมเงินด้วยตัวเอง ควรศึกษาข้อมูลไว้
เปิดบัญชีให้ลูก

           นอกจากการเลี้ยงดูลูกน้อยให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพแล้ว การวางแผนด้านการเงินให้ลูกก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายคนให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งสำหรับพ่อแม่ที่มีความตั้งใจอยากจะออมเงินให้ลูกไว้เพื่ออนาคต หรือสอนให้ลูกรู้จักการเก็บออมด้วยตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าจะเลือกเปิดบัญชีให้ลูกธนาคารไหนดี หรือต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง วันนี้เราจึงได้รวบรวมมาแนะนำให้พิจารณากัน

วิธีเลือกบัญชีเงินฝากให้ลูก

เปิดบัญชีให้ลูก

           ในการเปิดบัญชีให้ลูก คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาเรื่องต่อไปนี้

อายุที่รับเปิดบัญชี

           บัญชีเงินฝากสำหรับเด็กจะกำหนดอายุที่รับเปิดบัญชีแตกต่างกันไป มีทั้งเปิดบัญชีได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือต้อง 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และบัญชีบางประเภทยังกำหนดอายุสูงสุดที่รับเปิดบัญชีด้วย จึงควรพิจารณาเลือกบัญชีที่ลูกของเรามีคุณสมบัติตรงกับเงื่อนไขของบัญชีนั้น

ประเภทบัญชีและเงื่อนไขของบัญชี

           บัญชีเงินฝากมีหลายประเภท เช่น ออมทรัพย์ ออมทรัพย์พิเศษ ฝากประจำ ฝากประจำปลอดภาษี เป็นต้น ซึ่งแต่ละแบบมีเงื่อนไขการฝาก-ถอนไม่เหมือนกัน หากต้องการฝากเงินในบัญชีที่ถอนได้คล่องตัว ควรเลือกบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ แต่ถ้าเน้นเรื่องออมเงินเป็นหลัก ไม่ต้องการถอนเงินจนกว่าจะครบกำหนดเวลา ควรเลือกฝากประจำที่มักให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์

อัตราดอกเบี้ย

           ควรเลือกบัญชีของธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยที่สูง เพื่อให้เงินออมของลูกมีโอกาสเติบโตเร็วขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาให้ดีด้วยว่าจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดไว้ได้หรือไม่ อย่างเช่นในกรณีที่เป็นบัญชีเงินฝากประจำก็จะต้องไม่ถอนเงินออกมาก่อนครบกำหนด มิเช่นนั้นจะทำให้ได้ดอกเบี้ยน้อยลงหรืออาจจะไม่ได้ดอกเบี้ยเลย

เงินฝากขั้นต่ำและสูงสุด

           บัญชีเงินฝากแต่ละแห่งจะกำหนดว่าต้องเปิดบัญชีขั้นต่ำเท่าไร หรือฝากได้สูงสุดเท่าไร เช่น บัญชีออมทรัพย์บางแห่งมีเงินเพียง 100 บาทก็ฝากได้แล้ว แต่บางเล่มก็อาจต้องเปิดบัญชีขั้นต่ำที่ 500-1,000 บาท ในขณะที่บัญชีเงินฝากประจำมักมีข้อกำหนดให้เปิดบัญชีที่ 1,000 บาทขึ้นไป ซึ่งถ้าเป็นบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีก็จะมีเงื่อนไขให้ฝากเงินจำนวนเท่ากันทุกเดือนด้วย เพราะฉะนั้นจึงควรพิจารณาจำนวนเงินและรูปแบบที่ตั้งใจจะออมก่อนเลือกเปิดบัญชี

สาขาธนาคาร

           การเปิดบัญชีให้ลูกจะต้องดำเนินการติดต่อธนาคารด้วยตัวเองทั้งเด็กและผู้ปกครอง จึงควรเลือกธนาคารที่สะดวกต่อการเดินทางไปเปิดบัญชี รวมถึงกรณีต้องการฝาก-ถอนที่เคาน์เตอร์ของสาขาต่าง ๆ

สิทธิประโยชน์พิเศษ

           นอกจากเรื่องดอกเบี้ยแล้ว หลายบัญชียังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ สามารถผูกบัญชีกับโมบายแบงกิ้งได้ ทำให้ฝาก-ถอนได้สะดวก หรือสามารถสมัครบริการหักบัญชีอัตโนมัติได้ มีโบนัสดอกเบี้ย มีความคุ้มครองประกันอุบัติเหตุ หรือเป็นบัญชีที่ฝากแล้วได้สิทธิพิเศษบางอย่าง เป็นต้น

เปิดบัญชีให้ลูก ใช้เอกสารอะไรบ้าง

เปิดบัญชีให้ลูก

           ในการที่พ่อแม่จะเปิดบัญชีให้ลูกนั้น โดยทั่วไปแล้วเอกสารหลักที่จำเป็นต้องใช้ก็คือ

1. กรณีลูกอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์

  • บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ที่ยังไม่หมดอายุของบิดาหรือมารดา

  • สูติบัตรของเด็ก

2. กรณีลูกอายุตั้งแต่ 7 ปี และไม่เกิน 15 ปี

  • บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ที่ยังไม่หมดอายุของเด็ก

  • บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ที่ยังไม่หมดอายุของบิดาหรือมารดา

          ทั้งนี้ ในกรณีเปิดบัญชีให้ลูก บางธนาคารอาจต้องใช้เอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • ทะเบียนบ้านของบิดา-มารดาและเด็ก 

  • ทะเบียนสมรสของบิดา-มารดา และหนังสือรับรองบุตร (กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรส)

  • บัตรนักเรียนที่มีรูปถ่ายของเด็ก 

  • กรณีไม่สามารถอ่านข้อมูลจากบัตรประชาชนได้ จะต้องใช้บัตรที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายพร้อมระบุเลขประจำตัวประชาชนและยังไม่หมดอายุ เช่น บัตรประจำตัวข้าราชการ หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ เป็นต้น

3. กรณีเด็กอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองที่ไม่ใช่พ่อแม่

  • บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ที่ยังไม่หมดอายุของผู้ปกครอง

  • สูติบัตรของเด็ก หรือบัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ที่ยังไม่หมดอายุของเด็ก

  • สำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อของเด็ก

  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ปกครอง

  • สำเนาคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครอง

เปิดบัญชีให้ลูก ถอนได้ไหม

          ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบัญชี โดยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ก็จะมีทั้งแบบที่สามารถถอนได้ไม่จำกัดครั้ง และแบบจำกัดจำนวนครั้งต่อเดือน หากถอนมากกว่านั้นก็จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม

          แต่ถ้าเป็นบัญชีเงินฝากประจำก็มักจะไม่สามารถถอนเงินได้จนกว่าจะครบกำหนด ถ้าหากมีการถอนเงินก่อนครบกำหนดก็อาจจะไม่ได้รับดอกเบี้ย หรือได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ

เปิดบัญชีให้ลูก ธนาคารไหนดี

1. เงินฝากออมทรัพย์พิเศษสำหรับผู้เยาว์ (Krungthai KIDS Savings) ธนาคารกรุงไทย

เปิดบัญชีให้ลูก

ภาพจาก : ธนาคารกรุงไทย

  • ประเภทบัญชี : เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ

  • อายุรับฝาก : แรกเกิด - 15 ปี

  • จำนวนเงินรับฝาก : ขั้นต่ำ 2,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : 0.30% ต่อปี และหากภายในเดือนนั้นมียอดเงินที่ฝากมากกว่ายอดเงินที่ถอนจะได้รับโบนัส 100% ของยอดดอกเบี้ยที่ได้รับ รวมดอกเบี้ยและโบนัสเท่ากับ 0.60% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566)

  • การจ่ายดอกเบี้ย : จ่ายดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือน

  • เงื่อนไข : 

    • เปิดบัญชีได้คนละ 1 บัญชีเท่านั้น

    • หลังจากอายุ 15 ปี บัญชีออมทรัพย์พิเศษสำหรับผู้เยาว์จะเปลี่ยนเป็นบัญชีออมทรัพย์ปกติ

    • ยอดเงินที่ใช้ในการคำนวณโบนัสไม่เกิน 1,000,000 บาท

    • กรณียอดคงเหลือในบัญชีเป็น 0 และไม่เคลื่อนไหวติดต่อกัน 1 ปี ธนาคารจะปิดบัญชีโดยอัตโนมัติ

  • ช่องทางเปิดบัญชี : ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารกรุงไทย

2. เงินฝาก Youth Savings ธนาคารออมสิน

เปิดบัญชีให้ลูก

ภาพจาก : ธนาคารออมสิน

  • ประเภทบัญชี : เงินฝากออมทรัพย์

  • อายุรับฝาก : 7-23 ปี

  • จำนวนเงินรับฝาก : เปิดบัญชีขั้นต่ำ 100 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2566)

    • ยอดเงินฝากต่ำกว่า 1 แสนบาท = 0.55% ต่อปี

    • ยอดเงินฝากตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป = 0.30% ต่อปี

  • การจ่ายดอกเบี้ย : ปีละ 2 ครั้ง ทุกวันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ธันวาคม ของทุกปี

  • เงื่อนไข : 

    • เปิดบัญชีได้คนละ 1 บัญชีเท่านั้น

    • ฝากเพิ่มครั้งละไม่ต่ำกว่า 50 บาท

    • เมื่อผู้ฝากอายุครบ 23 ปีบริบูรณ์ ยอดเงินฝากคงเหลือทั้งหมดจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียก

  • ช่องทางเปิดบัญชี : ธนาคารออมสินทุกสาขา

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารออมสิน

3. เงินฝาก ธอส. รักการออม ธนาคารอาคารสงเคราะห์

เปิดบัญชีให้ลูก

ภาพจาก : ธอส.

  • ประเภทบัญชี : เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ

  • อายุรับฝาก : แรกเกิด - 24 ปี

  • จำนวนเงินรับฝาก : เปิดบัญชีขั้นต่ำ 50 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : 0.60% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2566)

  • การจ่ายดอกเบี้ย : ปีละ 2 ครั้ง คือทุกวันที่ 29 มิถุนายน และ 29 ธันวาคม

  • เงื่อนไข : 

    • 1 ราย สามารถเปิดบัญชีได้ไม่เกิน 5 บัญชี

    • ไม่สามารถโอนผ่าน Mobile Application ได้

    • ถอนเงินได้เดือนละ 1 ครั้ง ไม่จำกัดจำนวนเงินในการถอน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

    • หากเดือนใดมีการถอนครั้งที่ 2 และครั้งต่อไปคิดค่าธรรมเนียมการถอนในอัตรา 1% ของจำนวนเงินที่ถอน แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 50 บาทต่อครั้ง

    • เงินในบัญชีคงเหลือไม่ถึง 50 บาท ธนาคารจะไม่คิดดอกเบี้ยให้

    • หากฝากเงินต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือนครบ 12 เดือน นับจากเดือนที่เปิดบัญชีโดยไม่มีการถอน จะได้บวกเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปีถัดไปให้อีก 0.25% ต่อปี

  • ช่องทางเปิดบัญชี : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขา

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารอาคารสงเคราะห์

4. บัญชียูโอบี จูเนียร์ ธนาคารยูโอบี

เปิดบัญชีให้ลูก

ภาพจาก : ธนาคารยูโอบี

  • ประเภทบัญชี : เงินฝากออมทรัพย์

  • อายุรับฝาก : แรกเกิด - 18 ปี

  • จำนวนเงินรับฝาก : เปิดบัญชีขั้นต่ำ 1,000 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : 0.65% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2566)

  • การจ่ายดอกเบี้ย : ปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมิถุนายนและธันวาคม

  • เงื่อนไข : 

    • เปิดบัญชีได้คนละ 1 บัญชีเท่านั้น

    • บัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวเป็นระยะเวลา 12 เดือนติดต่อกัน และมียอดคงเหลือ ณ สิ้นเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี 100 บาทต่อเดือน ต่อ 1 บัญชี

  • ช่องทางเปิดบัญชี : ธนาคารยูโอบีทุกสาขา

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารยูโอบี

5. บัญชีเงินฝากสินมัธยะทรัพย์ทวี บัวหลวงคิดส์ ธนาคารกรุงเทพ

เปิดบัญชีให้ลูก

ภาพจาก : ธนาคารกรุงเทพ

  • ประเภทบัญชี : เงินฝากประจำปลอดภาษี

  • อายุรับฝาก : แรกเกิด - 14 ปี

  • จำนวนเงินรับฝาก : เปิดบัญชีตั้งแต่ 500-25,000 บาท

  • ระยะเวลารับฝาก : 24 เดือน

  • อัตราดอกเบี้ย : 2.35% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566)

  • การจ่ายดอกเบี้ย : จ่ายดอกเบี้ยเมื่อครบกําหนดตามระยะเวลาฝาก

  • เงื่อนไข : 

    • ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากคนละ 1 บัญชีเท่านั้น (รวมกันทุกธนาคาร)

    • ต้องฝากเงินเป็นประจำทุกเดือนในจำนวนที่เท่ากันตามที่ได้ตกลงไว้กับธนาคาร โดยนำฝากเงินประจำเดือนไม่เกินวันสุดท้ายของเดือนนั้น ๆ

    • ขาดฝากไม่เกิน 2 ครั้ง ยังคงได้รับดอกเบี้ยตามสัญญาและได้รับการยกเว้นภาษี

    • ขาดฝากเกิน 2 ครั้ง แต่ไม่เกิน 4 ครั้ง ยังคงได้รับดอกเบี้ยตามสัญญา แต่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี

    • ไม่สามารถถอนเงินบางส่วน ต้องปิดบัญชีเท่านั้น

    • กรณีถอนก่อนครบกําหนดระยะเวลาฝากน้อยกว่า 3 เดือน จะไม่ได้รับดอกเบี้ย

    • กรณีถอนก่อนครบกําหนดระยะเวลาฝากตั้งแต่ 3 เดือน แต่ก่อนครบกําหนดระยะเวลาการฝาก จะได้รับดอกเบี้ยเท่ากับ 60% ของดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา และต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ของดอกเบี้ยที่ได้รับ

  • ช่องทางเปิดบัญชี : ธนาคารกรุงเทพทุกสาขา

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารกรุงเทพ

6. บัญชีเงินฝากทวีทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย

เปิดบัญชีให้ลูก

ภาพจาก : ธนาคารกสิกรไทย

  • ประเภทบัญชี : เงินฝากประจำปลอดภาษี

  • อายุรับฝาก : 

    • บุคคลธรรมดาอายุตั้งแต่ 12 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

    • บิดาหรือมารดาสามารถเปิดบัญชีเพื่อบุตรผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 12 ปี

  • จำนวนเงินรับฝาก : เปิดบัญชีได้ตั้งแต่ 500-25,000 บาท

  • ระยะเวลารับฝาก : 24 เดือน

  • อัตราดอกเบี้ย : 2.55% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2566)

  • เงื่อนไข : 

    • ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากคนละ 1 บัญชีเท่านั้น (รวมกันทุกธนาคาร)

    • ต้องฝากเงินในจำนวนเท่ากันทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง เป็นจำนวนเงินเท่ากับที่เปิดบัญชีครั้งแรกติดต่อกัน 24 เดือน โดยจะได้รับดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการฝาก

    • ขาดฝากได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ตลอดระยะเวลาการฝาก

    • หากขาดฝากตั้งแต่ครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ธนาคารจะไม่รับฝากเงินในงวดที่เหลือ และจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ตามประกาศของธนาคาร และหักภาษี ณ ที่จ่าย

    • ไม่สามารถถอนเงินต้นบางส่วนก่อนครบระยะเวลาฝากได้ ต้องปิดบัญชีเท่านั้น

    • กรณีถอนเงินก่อนครบกำหนด หากฝากมาแล้วไม่ถึง 3 เดือน ธนาคารจะไม่จ่ายดอกเบี้ย

    • กรณีถอนเงินก่อนครบกำหนด หากฝากมาแล้วตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำสุดของเงินฝากออมทรัพย์ประเภทบุคคลธรรมดา ตามที่ธนาคารประกาศ ณ วันที่เริ่มฝาก พร้อมหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

  • ช่องทางเปิดบัญชี : ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารกสิกรไทย

7. บัญชียูโอบี ปลอดภาษี แคร์โฟร์คิดส์ ธนาคารยูโอบี

เปิดบัญชีให้ลูก

ภาพจาก : ธนาคารยูโอบี

  • ประเภทบัญชี : เงินฝากประจำปลอดภาษี

  • อายุรับฝาก : แรกเกิด - 15 ปี

  • จำนวนเงินรับฝาก : เปิดบัญชีตั้งแต่ 1,000-25,000 บาท หากต้องการเปิดบัญชีมากกว่า 1,000 บาท จะต้องเพิ่มขึ้นช่วงละ 500 บาท

  • ระยะเวลารับฝาก : เลือกได้ตั้งแต่ 24 เดือน, 36 เดือน, 48 เดือน และ 60 เดือน

  • อัตราดอกเบี้ย : 2.50% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2566)

  • การจ่ายดอกเบี้ย : จ่ายดอกเบี้ยเมื่อครบกําหนด

  • เงื่อนไข : 

    • ต้องเปิดบัญชี "เพื่อ / โดย" เท่านั้น

    • ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากคนละ 1 บัญชีเท่านั้น (รวมกันทุกธนาคาร)

    • ต้องฝากเงินเท่ากันทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง จนครบกำหนดการฝาก และต้องไม่เกินวันทำการสุดท้ายในเดือนนั้น ๆ โดยยอดเงินฝากรวมกันแล้วไม่เกิน 600,000 บาท ตลอดระยะเวลาฝาก 24, 36, 48 และ 60 เดือน

    • ขาดฝากได้ไม่เกิน 2 งวด หากขาดฝากงวดที่ 3 ขึ้นไป ธนาคารจะปิดบัญชีและได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ตามประกาศธนาคาร พร้อมเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 

    • กรณีถอนก่อนครบกำหนด โดยฝากไม่ถึง 3 เดือน ธนาคารจะปิดบัญชีและไม่จ่ายดอกเบี้ย

    • กรณีถอนก่อนครบกำหนด โดยฝากตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ธนาคารจะปิดบัญชีและได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ตามประกาศธนาคาร พร้อมเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 

    • เมื่อครบกำหนดการฝาก ถ้าผู้ฝากไม่ได้แจ้งปิดบัญชี ธนาคารจะรับฝากต่ออัตโนมัติด้วยระยะเวลาฝาก 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน

    • ได้รับความคุ้มครองอุบัติเหตุตลอดระยะเวลาของการฝากเงิน ด้วยวงเงิน 2 เท่าของจำนวนเงินส่วนที่เหลือที่จะต้องฝากทั้งหมดจนครบระยะเวลาฝากหลังจากวันที่เกิดอุบัติเหตุ หรือสูงสุดถึง 1.18 ล้านบาทต่อคน

  • ช่องทางเปิดบัญชี : ธนาคารยูโอบีทุกสาขา

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารยูโอบี
           ทั้งหมดนี้ก็คือบัญชีเงินฝากจากธนาคารต่าง ๆ สำหรับพ่อแม่ที่อยากเปิดบัญชีให้ลูกได้ออมเงินกัน อย่างไรก็อย่าลืมพิจารณาเงื่อนไขให้ดีก่อนตัดสินใจด้วยนะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับบัญชีเงินฝาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดบัญชีให้ลูก ธนาคารไหนดี ใช้เอกสารอะไรบ้าง เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนออมเงินให้ลูก ! อัปเดตล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 23:16:35 59,632 อ่าน
TOP
x close