เปิดบัญชีคู่ธนาคารไหนดี 2567 จับมือกันออมเงินพร้อมรับดอกเบี้ย

            เปิดบัญชีคู่ธนาคารไหนดี 2567 พร้อมข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรรู้ อีกหนึ่งวิธีการออมเงินร่วมกันสำหรับคนมีคู่
เปิดบัญชีคู่

         ในการออมเงินนั้น นอกจากการเปิดบัญชีเงินฝากคนเดียวแล้ว สามารถเปิดบัญชีคู่เพื่อวางแผนการเงินในอนาคต และเก็บออมร่วมกันสองคนได้เช่นกัน ซึ่งบัญชีเงินฝากของแต่ละธนาคารก็จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป โดยบางบัญชีสามารถเปิดแบบคู่หรือหลายคนได้ แต่บางบัญชีก็ไม่สามารถทำได้ วันนี้เราจึงได้รวบรวมตัวอย่างบัญชีเงินฝากที่สามารถเปิดบัญชีคู่ได้ พร้อมรับดอกเบี้ยสูง มาแนะนำกัน

เปิดบัญชีคู่คืออะไร

         การเปิดบัญชีคู่ คือ การเปิดบัญชีเงินฝากที่เป็นเหมือนเงินกองกลาง ให้คนสองคนได้เป็นเจ้าของบัญชีร่วมกัน และมีสิทธิ์ในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับบัญชีนั้น ๆ เท่าเทียมกัน เหมาะสำหรับคู่รักที่วางแผนเก็บออมเงินและบริหารค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตคู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเลี้ยงดูบุตร และอื่น ๆ

ใครเปิดบัญชีคู่ได้บ้าง

เปิดบัญชีคู่

          หลายคนเมื่อเห็นคำว่าเปิดบัญชีคู่ อาจจะเข้าใจกันไปเองว่าต้องเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมายเท่านั้นจึงจะเปิดบัญชีคู่ด้วยกันได้ แต่ในความเป็นจริง แม้ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง แฟนที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เพื่อน กลุ่มสมาชิกที่ต้องการเปิดบัญชีกองกลาง หรือใคร ๆ ก็สามารถเปิดบัญชีคู่ร่วมกันได้ แต่ก็ควรจะเป็นบุคคลที่มีความไว้ใจซึ่งกันและกันน่าจะดีกว่า

บัญชีคู่มีแบบไหนบ้าง

          การเปิดบัญชีคู่จะแบ่งออกเป็น 3 แบบ โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

1. บัญชีออมทรัพย์คู่

         ในการเปิดบัญชีออมทรัพย์คู่นั้น โดยทั่วไปจะมี 4 แบบ ซึ่งจะแตกต่างกันที่คำเชื่อมระหว่างชื่อเจ้าของบัญชีทั้งสอง คือ “และ”, “หรือ”, “เพื่อ”, “โดย” แต่ส่วนใหญ่คนที่มาเปิดบัญชีร่วมกัน เช่น คู่สามี-ภรรยา กลุ่มเพื่อน มักจะใช้บัญชีใน 2 รูปแบบ คือ “และ” กับ “หรือ”

  • ในกรณีเป็นบัญชี “และ” เช่น "ชื่อบัญชี “นาย A และนางสาว B” การทำธุรกรรมต่าง ๆ จะต้องมีลายเซ็นเจ้าของบัญชีทั้งสอง เว้นแต่การฝากเงินที่ใครคนใดคนหนึ่งสามารถทำธุรกรรมเองได้
  • ส่วนบัญชี “หรือ” เช่น ชื่อบัญชี “นาย A หรือนางสาว B” กรณีนี้มีเพียงแค่ลายเซ็นของคนใดคนหนึ่งก็สามารถทำธุรกรรมได้แล้ว ยกเว้นเมื่อต้องการเปิดบัญชีหรือปิดบัญชีจะต้องมีลายเซ็นทั้งสองคน

         ทั้งนี้ สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบออมทรัพย์จะได้เฉลี่ยประมาณ 0.25-1.00% ต่อปี และสามารถฝาก-ถอนได้ไม่จำกัด

2. บัญชีฝากประจำคู่

          บัญชีฝากประจำคู่จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีเงินเย็น สามารถบริหารจัดการเงินได้และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน เพราะต้องฝากเงินตามระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด เช่น 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี ซึ่งจะให้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ แต่ในบางบัญชีของบางธนาคารก็อาจมีเงื่อนไขให้มีเจ้าของบัญชีได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเปิดเป็นบัญชีคู่ได้ จึงต้องศึกษารายละเอียดให้ดี

3. บัญชีกองทุนคู่

          สำหรับคู่ที่ต้องการออมเงินในรูปแบบของการลงทุน จะเหมาะกับการเปิดบัญชีกองทุนคู่ ซึ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนแต่ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุน โดยบัญชีกองทุนคู่จะกำหนดจำนวนซื้อ-ขายหน่วยลงทุนขั้นต่ำเอาไว้ ขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุน เช่น 500 บาท 1,000 บาท

         ทั้งนี้ ในการเปิดบัญชีกองทุนคู่จำเป็นจะต้องเป็นชื่อเดียวกับบัญชีเงินฝากที่นำมาผูกด้วย นั่นก็หมายความว่าก่อนจะเปิดบัญชีกองทุนคู่ ทั้งสองคนต้องมีบัญชีเงินฝากร่วมกันก่อน นอกจากนี้ควรสอบถามทางธนาคารให้แน่ชัด เพราะบางกองทุนมีเงื่อนไขไม่ให้เปิดบัญชีร่วมกันได้

บัญชีคู่ถอนเงินอย่างไร
ไปถอนคนเดียวได้ไหม

เปิดบัญชีคู่

          การถอนเงินจากบัญชีคู่นั้น หากได้ทำบัตร ATM ผูกกับบัญชีนั้น ๆ ไว้ด้วย ผู้ที่ถือบัตรก็สามารถไปถอนเงินที่ตู้ ATM คนเดียวได้เลย 

          ส่วนในกรณีไปถอนเงินที่สาขาธนาคาร ขึ้นอยู่กับว่าเราได้ระบุเงื่อนไขการถอนเงินตอนเปิดบัญชีไว้แบบไหน ถ้าเป็นแบบถอนคนเดียวก็สามารถถอนเงินคนเดียวได้ แต่ถ้าระบุไว้เป็นแบบถอนสองคนก็จำเป็นต้องไปถอนเงินด้วยกันทั้งสองคน หรืออาจให้อีกคนทำหนังสือมอบอำนาจแทน

วิธีเปิดบัญชีคู่
ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

         การเปิดบัญชีคู่ ในกรณีเจ้าของบัญชีทั้งสองมีสัญชาติไทย ใช้เพียงบัตรประชาชนอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว พร้อมกับเงินฝากขั้นต่ำตามที่ธนาคารกำหนด แต่ถ้าหากเป็นชาวต่างชาติจะต้องใช้หลักฐานอื่น ๆ แทน เช่น หนังสือเดินทาง ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หนังสือรับรองการทำงาน หนังสือรับรองจากสถานศึกษา เป็นต้น 

         ทั้งนี้ อย่าลืมเช็กก่อนด้วยว่าบัญชีที่ต้องการเปิดนั้นสามารถเปิดเป็นบัญชีคู่ได้หรือไม่ เนื่องจากหลายบัญชีจะระบุเงื่อนไขเอาไว้ว่า เปิดได้เฉพาะบัญชีเดี่ยว มีชื่อบัญชีเพียงคนเดียว โดยไม่รับเปิดบัญชีร่วม

เปิดบัญชีคู่ธนาคารไหนดี 2567 
เงินฝากออมทรัพย์

           ในที่นี้จะยกตัวอย่างบัญชีเงินฝากทั้งแบบออมทรัพย์และประจำของปี 2567 ที่สามารถเปิดบัญชีคู่ได้ และมีอัตราดอกเบี้ยที่น่าสนใจ

1. บัญชี ทีทีบี โนฟิกซ์ ธนาคารทหารไทยธนชาต

เปิดบัญชีคู่

ภาพจาก : ธนาคารทหารไทยธนชาต

          บัญชีออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูง เน้นการออมเงินตามเป้าหมาย สามารถแยกเก็บบัญชีเป็นบัญชีย่อยตามเป้าหมายการออมที่ตั้งไว้ได้ในบัญชีหลักบัญชีเดียว รับดอกเบี้ยสูงในบัญชีเงินฝากตั้งแต่บาทแรก และรับดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน ถอนเงินไม่ใช้บัตรฟรี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

  • จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ : ไม่มีขั้นต่ำ

  • อัตราดอกเบี้ย : (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 11 เมษายน 2567)

    • ยอดเงินฝาก 1 บาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี และมีโอกาสได้ดอกเบี้ยโบนัสเพิ่มอีก 0.55-1.30% รวมได้รับดอกเบี้ย 0.80-1.55% ต่อปี เมื่อทำตามเงื่อนไขที่กำหนด

    • ยอดเงินฝากส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่หากทำตามเงื่อนไขที่กำหนดจะได้รับดอกเบี้ยโบนัส รวมได้รับดอกเบี้ย 0.55-1.30% ต่อปี

  • การจ่ายดอกเบี้ย : คำนวณดอกเบี้ยทุกวันและจ่ายทุกเดือน โดยธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยให้ทุกวันสุดท้ายของเดือนในแต่ละเดือน

  • เงื่อนไขของบัญชี : 

    • ไม่สามารถใช้ร่วมกับบัตรเดบิตได้

    • ไม่สามารถใช้ทำธุรกรรมชำระค่าสาธารณูปโภคและชำระค่าสินค้าได้

    • กรณีเป็นบัญชีร่วมจะไม่สามารถโอนเงินผ่านแอปฯ ttb touch ได้

    • ถอนเงินสดไม่ใช้บัตรได้ที่ตู้ ATM ทีเอ็มบีธนชาต ฟรี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

    • ถอนเงินที่สาขาของธนาคารได้ฟรี เดือนละ 2 ครั้ง แต่หากมีการถอนเงินครั้งต่อไปจะเสียค่าธรรมเนียมรายการละ 50 บาท

  • ช่องทางเปิดบัญชี : เปิดบัญชีได้ที่ทีเอ็มบีธนชาตทุกสาขา
ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารทหารไทยธนชาต

2. บัญชีออมทรัพย์ TISCO My Savings ธนาคารทิสโก้

เปิดบัญชีคู่

ภาพจาก : ธนาคารทิสโก้

          บัญชีออมทรัพย์ของธนาคารทิสโก้ ที่ให้ดอกเบี้ยสูงสุด 2.00% ต่อปี รับดอกเบี้ยทุกเดือน ฟรีค่าธรรมเนียมฝาก-ถอนข้ามเขตเมื่อทำรายการที่สาขาและตู้ ATM ของธนาคารทิสโก้เท่านั้น

  • จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 30 เมษายน 2567)

    • ยอดเงินฝาก 70,000 บาท ดอกเบี้ย 0.30% ต่อปี

    • วงเงินส่วนที่เกิน 70,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี

    • วงเงินส่วนที่เกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.80% ต่อปี

    • วงเงินส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.30% ต่อปี

  • การจ่ายดอกเบี้ย : จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ทุกวันที่ 25 ของเดือน

  • เงื่อนไขของบัญชี : 

    • การปิดบัญชีภายใน 7 วัน นับจากวันที่เปิดบัญชี ธนาคารจะเก็บค่าธรรมเนียมการปิดบัญชี 100 บาท

    • กรณีบัญชีไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลา 24 เดือนติดต่อกัน และมียอดคงเหลือต่ำกว่า 2,000 บาท ธนาคารจะเรียกเก็บค่ารักษาบัญชี 50 บาทต่อเดือน

    • บัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวติดต่อกันนาน 12 เดือน และมียอดเงินคงเหลือในบัญชี ณ ขณะนั้นเท่ากับ 0 บาท ธนาคารจะปิดบัญชีทันที

  • ช่องทางเปิดบัญชี : สาขาธนาคารทิสโก้
ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารทิสโก้

3. บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารไทยเครดิต

เปิดบัญชีคู่

ภาพจาก : ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย

        สำหรับคู่ที่ต้องการเปิดบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปที่ไม่ต้องมีเงื่อนไขมากมาย แต่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารอื่น ทางธนาคารไทยเครดิตก็มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ย 0.40% ต่อปี ฝาก-ถอนได้ทุกวันตามใจ ไม่จำกัดจำนวนเงินและจำนวนครั้ง

  • จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ : 500 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : 0.40% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2567)

  • การจ่ายดอกเบี้ย : จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคมของทุกปี

  • เงื่อนไขของบัญชี : หากบัญชีไม่เคลื่อนไหวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และยอดเงินคงเหลือต่ำกว่า 500 บาท ธนาคารจะเก็บค่ารักษาบัญชี 50 บาทต่อเดือน

  • ช่องทางเปิดบัญชี : ธนาคารไทยเครดิตทุกสาขา

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารไทยเครดิต

4. บัญชีออมทรัพย์ ยูโอบี วีแคร์ ธนาคารยูโอบี

เปิดบัญชีคู่

ภาพจาก : ธนาคารยูโอบี

         บัญชีออมทรัพย์ที่มาพร้อมความคุ้มครองอุบัติเหตุสูงสุด 10 ล้านบาท หรือ 10 เท่าของเงินฝาก รับดอกเบี้ยเป็นรายเดือน สามารถฝาก-ถอนได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

  • จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2567)

    • ยอดเงินฝากน้อยกว่า 50,000 บาท ดอกเบี้ย 0.35% ต่อปี

    • ยอดเงินฝากตั้งแต่ 50,000 บาท แต่ไม่ถึง 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.55% ต่อปี

    • ยอดเงินฝากตั้งแต่ 1-10 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี

    • ยอดเงินฝากมากกว่า 10 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.55% ต่อปี

  • การจ่ายดอกเบี้ย : จ่ายดอกเบี้ยรายเดือน

  • เงื่อนไขของบัญชี : ผู้ฝากเงินจะได้รับวงเงินคุ้มครองการประกันอุบัติเหตุตามเงื่อนไขกรมธรรม์ ดังนี้

    • ผู้ฝากต้องมียอดเงินคงเหลือมากกว่าหรือเท่ากับ 10,000 บาท ก่อนวันเกิดอุบัติเหตุ 1 วัน

    • ผู้ฝากจะได้รับวงเงินความคุ้มครองเป็นจำนวน 10 เท่าของยอดเงินฝากคงเหลือก่อนวันเกิดอุบัติเหตุ 1 วัน แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อคน ไม่ว่าจะถือบัญชียูโอบี วีแคร์ กี่บัญชีก็ตาม

    • กรณีเปิดบัญชีร่วม และไม่ได้ระบุสัดส่วนของสิทธิประโยชน์ของแต่ละคน ธนาคารจะคำนวณเงินความคุ้มครองโดยนำยอดฝากคงเหลือตั้งแต่ 10,000 บาท หารด้วยจำนวนผู้เปิดบัญชีร่วม โดยแต่ละคนจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวน 10 เท่าของสัดส่วนที่หารเฉลี่ย แต่สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อบัญชี 

    • กรณีผู้ฝากเงินมีอายุมากกว่า 70 ปี ณ วันที่เปิดบัญชี จะได้รับค่าสินไหมทดแทนไม่เกิน 70% ของจำนวนวงเงินคุ้มครอง แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อคน

  • ช่องทางเปิดบัญชี : สาขาของธนาคารยูโอบี

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารยูโอบี

เงินฝากประจำ

1. บัญชี ทีทีบี อัพ แอนด์ อัพ

ทีทีบี อัพ แอนด์ อัพ

ภาพจาก : ธนาคารทหารไทยธนชาต

         เงินฝากประจำ 24 เดือนที่ให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาฝาก แตกต่างจากเงินฝากประจำแบบเดิม ๆ เพราะสามารถถอนก่อนกำหนดได้โดยไม่ถูกลดดอกเบี้ย พร้อมกับรับดอกเบี้ยเงินฝากทุก 3 เดือน

  • จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ : 5,000 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2567)

    • เดือนที่ 1-6 ดอกเบี้ย 0.80% ต่อปี

    • เดือนที่ 7-12 ดอกเบี้ย 1.60% ต่อปี

    • เดือนที่ 13-18 ดอกเบี้ย 1.70% ต่อปี

    • เดือนที่ 19-24 ดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี

    • อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 12 เดือน คือ 1.20% ต่อปี และเฉลี่ย 24 เดือน คือ 1.90% ต่อปี

  • การจ่ายดอกเบี้ย : จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน  

  • เงื่อนไขของบัญชี :  

    • ฝากเงินเพิ่มครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท

    • ถอนก่อนกำหนดได้ โดยต้องถอนเต็มจำนวนเงินฝากในแต่ละรายการ และรับดอกเบี้ยตามระยะเวลาการฝากในเดือนที่ถอน

    • ดอกเบี้ยเงินฝากประจำจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

    • กรณีเป็นบัญชีร่วมจะไม่สามารถโอนเงินผ่านแอปฯ ttb touch ได้

  • ช่องทางเปิดบัญชี : สาขาของธนาคารทหารไทยธนชาต

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารทหารไทยธนชาต 

2. บัญชีเงินฝากประจำ ธนาคารออมสิน

เปิดบัญชีคู่

ภาพจาก : ธนาคารออมสิน

          สำหรับคู่ที่ต้องการเก็บเงินร่วมกันยาว ๆ บัญชีเงินฝากประจำก็น่าสนใจ อย่างธนาคารออมสินมีให้เลือกฝากประจำตั้งแต่ 3-36 เดือน ซึ่งให้อัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันไป โดยมีเงื่อนไขต้องฝากเงินเพิ่มครั้งละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท แต่สามารถถอนเงินครั้งละเท่าใดก็ได้

  • จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2566)

    • ฝากประจำ 3 เดือน ดอกเบี้ย 1.20% ต่อปี

    • ฝากประจำ 6 เดือน ดอกเบี้ย 1.30% ต่อปี

    • ฝากประจำ 12 เดือน ดอกเบี้ย 1.70% ต่อปี

    • ฝากประจำ 24 เดือน ดอกเบี้ย 2.10% ต่อปี

    • ฝากประจำ 36 เดือน ดอกเบี้ย 2.20% ต่อปี

  • การจ่ายดอกเบี้ย : จ่ายดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาฝาก

  • เงื่อนไขของบัญชี : 

    • ฝากเงินเพิ่มครั้งละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท

    • ยอดเงินฝากที่ต่ำกว่า 1,000 บาท ธนาคารจะไม่คำนวณดอกเบี้ยให้

    • ฝากไม่ครบ 3 เดือน ไม่ได้รับดอกเบี้ย

    • ดอกเบี้ยเงินฝากประจำจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

  • ช่องทางเปิดบัญชี : สาขาของธนาคารออมสิน

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารออมสิน

3. บัญชีเงินฝากประจำ เคเคพี ธนาคารเกียรตินาคินภัทร

เปิดบัญชีคู่

ภาพจาก : ธนาคารเกียรตินาคินภัทร

          บัญชีเงินฝากประจำที่ให้ดอกเบี้ยสูง สามารถเลือกฝากได้ตั้งแต่ 3-48 เดือน เลือกรับดอกเบี้ยได้ทั้งแบบราย 6 เดือน หรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลา เหมาะกับคนที่ต้องการออมเงินแบบระยะยาว และได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่แน่นอน เน้นเก็บไม่เน้นถอน

  • จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ : 5,000 บาท (ยกเว้นเงินฝากประจำ 4 เดือน จำนวนเงินเปิดบัญชีขั้นต่ำ 100,000 บาท)

  • อัตราดอกเบี้ย : (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2567)

    • ฝากประจำ 3 เดือน ดอกเบี้ย 1.50% ต่อปี

    • ฝากประจำ 4 เดือน ดอกเบี้ย 1.50% ต่อปี

    • ฝากประจำ 6 เดือน ดอกเบี้ย 1.65% ต่อปี

    • ฝากประจำ 9 เดือน ดอกเบี้ย 1.65% ต่อปี

    • ฝากประจำ 12 เดือน ดอกเบี้ย 1.95% ต่อปี

    • ฝากประจำ 18 เดือน ดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี

    • ฝากประจำ 24 เดือน ดอกเบี้ย 2.10% ต่อปี

    • ฝากประจำ 36 เดือน ดอกเบี้ย 2.20% ต่อปี

    • ฝากประจำ 48 เดือน ดอกเบี้ย 2.20% ต่อปี

  • การจ่ายดอกเบี้ย : จ่ายดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดระยะเวลา ยกเว้นฝากประจำที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป สามารถเลือกรับดอกเบี้ยทุก 6 เดือนได้

  • เงื่อนไขของบัญชี : 

    • สามารถฝากเพิ่มได้ครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ยกเว้นเงินฝากประจำ 4 เดือน ฝากเพิ่มครั้งต่อไปต้องไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท

    • กรณีถอนเงินก่อนครบกำหนดจะต้องถอนเต็มจำนวนของยอดฝากแต่ละรายการ

    • ฝากไม่ถึง 3 เดือน ธนาคารไม่จ่ายดอกเบี้ย

    • ฝาก 3 เดือนขึ้นไป แต่ยังไม่ครบกำหนด ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ ณ วันที่ฝาก

    • ดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

  • ช่องทางเปิดบัญชี : ธนาคารเกียรตินาคินภัทรทุกสาขา

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารเกียรตินาคินภัทร

4. เงินฝากประจำพิเศษ 7 เดือน และ 10 เดือน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

เงินฝากประจำกรุงศรีอยุธยา

ภาพจาก : ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

        บัญชีเงินฝากประจำพิเศษจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำทั่วไปของธนาคาร มีให้เลือกทั้ง 7 เดือน และ 10 เดือน และจ่ายดอกเบี้ยให้ทุกเดือน

  • จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ : 10,000 บาท

  • อัตราดอกเบี้ย : (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 30 เมษายน 2567)

    • ฝากประจำพิเศษ 7 เดือน ดอกเบี้ย 1.80% ต่อปี

    • ฝากประจำพิเศษ 10 เดือน ดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี 

  • การจ่ายดอกเบี้ย : จ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน 

  • เงื่อนไขของบัญชี :  

    • ฝากเงินเพิ่มครั้งละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท

    • กรณีถอนเงินก่อนครบกำหนดจะต้องถอนเต็มจำนวนของยอดฝากแต่ละรายการ

    • ฝากไม่ถึง 3 เดือน ธนาคารไม่จ่ายดอกเบี้ย และจะได้รับเงินต้นคืนหลังจากถูกหักดอกเบี้ยที่ได้รับไปแล้วก่อนหน้านั้น

    • ฝาก 3 เดือนขึ้นไป แต่ยังไม่ครบกำหนด ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ ณ วันที่ฝาก และจะได้รับเงินต้นคืนหลังจากถูกหักดอกเบี้ยที่ได้รับไปแล้วก่อนหน้านั้น

    • ดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

    • เมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่ได้ถอนเงินหรือปิดบัญชี ให้ถือว่าตกลงต่ออายุการฝากเป็นเงินฝากประจำ 3 เดือน

  • ช่องทางเปิดบัญชี : สาขาของธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเปิดบัญชีคู่ไม่ได้เป็นตัวรับประกันความมั่นคงของความสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นก่อนจะตัดสินใจเปิดบัญชีคู่กับใครจึงควรพิจารณาไตร่ตรองให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง

บทความที่เกี่ยวข้องกับบัญชีเงินฝาก

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 อัตราดอกเบี้ยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามประกาศของธนาคาร ณ ขณะนั้น
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดบัญชีคู่ธนาคารไหนดี 2567 จับมือกันออมเงินพร้อมรับดอกเบี้ย อัปเดตล่าสุด 13 พฤษภาคม 2567 เวลา 11:52:18 285,862 อ่าน
TOP
x close