ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice คืออะไร ต้องซื้อร้านไหนถึงใช้สิทธิ Easy E-Receipt ได้

          ทำความรู้จักกับ e-Tax Invoice ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร และต้องซื้อสินค้าร้านไหนถึงใช้สิทธิ Easy E-Receipt 2567 ได้ ที่นี่มีคำตอบ
          หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการ Easy E-Receipt เพื่อให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท และสามารถใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) มาเป็นหลักฐานการยื่นภาษี ได้ด้วยนั้น ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ มันคืออะไรกันนะ และต้องไปซื้อสินค้ากับร้านไหนบ้าง ซึ่งในวันนี้เราจะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักพร้อม ๆ กันเลย

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

          ตามปกติแล้วใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่เราเคยเห็นกันมานานจะเป็นแบบกระดาษ แต่สำหรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) นั้นจะเป็นข้อมูลใบกำกับภาษี รวมทั้งใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับ ที่มาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ Microsoft Word, Excel หรือ PDF ซึ่งผู้จัดทำเอกสารจะลงลายเซ็นแบบดิจิทัล (Digital Signature) แล้วส่งให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการผ่านช่องทางออนไลน์อย่างอีเมล หรือ SMS

          ส่วนการส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรนั้น ผู้ประกอบการจะต้องส่งเป็นไฟล์ XML เท่านั้น และต้องเก็บใบกำกับภาษีไว้อย่างน้อย 5 ปี

ข้อดีของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

          เราอาจจะเห็นว่ามีร้านค้าหลายแห่งที่เริ่มเปลี่ยนมาใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์กันแล้ว ด้วยข้อดีดังต่อไปนี้

  • จัดการข้อมูลและเอกสารง่ายกว่าแบบกระดาษ
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์เอกสาร
  • ประหยัดเวลาที่ใช้ในการส่งเอกสาร
  • ลดการใช้กระดาษ ช่วยลดโลกร้อน
  • ไม่ต้องใช้พื้นที่จัดเก็บเอกสารที่เป็นกระดาษ
  • รองรับธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ในอนาคต
  • เหมาะกับการออกใบกำกับภาษีจำนวนมากและเป็นระบบบัญชีขนาดใหญ่ 

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ 
ต้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง

          ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องเป็นไฟล์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ .pdf, .doc, .docx, .xls, .xlsx โดยจะต้องมีขนาดภายใน 1 ไฟล์ ไม่เกิน 3MB และข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ในเอกสารจะต้องไม่ใช่รูปภาพ ซึ่งก็คือห้ามใช้การถ่ายภาพหรือแปลงมาจากเอกสารแบบกระดาษ นอกจากนี้ก็จำเป็นต้องมีการลงลายเซ็นดิจิทัล (Digital Signature) หรือประทับรับรองเวลา (Time Stamp) เพื่อให้เอกสารถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานสำคัญในทางกฎหมายได้นั่นเอง

          ทั้งนี้ ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 (1)-(8) ต้องประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้

  1. คำว่า “ใบกำกับภาษี”
  2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ
  3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ รวมทั้งเลขประจำตัวประชาชนของผู้ซื้อสินค้า-บริการ
  4. หมายเลขลำดับที่ของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
  5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าสินค้า/บริการ
  6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้า-บริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้า-บริการให้ชัดเจน
  7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
  8. ข้อความอื่น ๆ ที่อธิบดีกำหนด

ร้านไหนออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้บ้าง 
เช็กก่อนใช้สิทธิ Easy E-Receipt

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

          หลังจากที่ได้รู้จักกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์กันไปแล้ว ใครที่ตั้งใจจะไปใช้สิทธิ Easy E-Receipt และอยากรู้ว่าร้านไหนสามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้บ้าง สามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ได้เลยที่เว็บไซต์ efiling.rd.go.th หรือเว็บไซต์ etax.rd.go.th โดยกดไปที่เมนู "ผู้มีสิทธิจัดทำ" ซึ่งจะแสดงรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติให้จัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์

          ทั้งนี้ ผู้ที่ขอใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ จะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ 50,000 บาท โดยผู้ประกอบการจะจัดส่งไฟล์ให้ทางอีเมลหรือ SMS และสามารถนำหลายใบมารวมกันเพื่อลดหย่อนภาษีในโครงการ Easy E-Receipt ได้

ร้านค้าที่ต้องการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ต้องทำอย่างไร

         สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องการเข้าร่วมมาตรการ Easy E-Receipt สามารถยื่นคำขอจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax) ได้ดังนี้

ขั้นตอนการยื่นคำขอจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt

  • เข้าไปที่เว็บไซต์กรมสรรพากร หรือ etax.rd.go.th โดยกดไปที่เมนู "ลงทะเบียน สำหรับผู้ใช้บริการครั้งแรก" เพื่อยื่นคำขอ บ.อ.01
  • ดาวน์โหลดโปรแกรม Ultimate Sign & Viewer Free และติดตั้งลงเครื่องคอมพิวเตอร์ 
  • เชื่อมต่ออุปกรณ์ Token หรือ HSM ที่จัดเก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ 
  • กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
  • ตรวจสอบข้อมูล ลงลายมือชื่อดิจิทัลใน บ.อ.01 และข้อตกลง ผ่านโปรแกรมลงทะเบียน โดยไม่ต้องนำส่งเอกสารให้กรมสรรพากรพิจารณา
  • ตรวจสอบอีเมล และสร้างบัญชีผู้ใช้งาน 
  • ตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุมัติ บ.อ.01 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร
          ทั้งนี้ สามารถศึกษาวิธีการจัดทำและนำส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่เว็บไซต์
etax.rd.go.th และกดไปที่ เมนูสนับสนุน > คำแนะนำ/คู่มือการใช้งาน

ขั้นตอนการยื่นคำขอจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ระบบ e-Tax Invoice by Email

          ระบบนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ที่ออกใบกำกับภาษีจำนวนน้อยและเป็นระบบบัญชีขนาดเล็ก โดยเป็นการจัดทำข้อมูลใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ส่งมอบแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการผ่าน e-mail และข้อมูลดังกล่าวก็จะถูกนำส่งให้กรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ

  • เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร เพื่อยื่นคำขอ 
  • กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและตรวจสอบข้อมูล 
  • พิมพ์เอกสาร ก.อ.01 เพื่อลงนาม 
  • สแกน ก.อ.01 และเอกสารเกี่ยวข้องเพื่ออัปโหลดเอกสาร 
  • กรมสรรพากรตรวจสอบความถูกต้อง และจัดส่งเอกสารยืนยันทางไปรษณีย์ พร้อมรหัสยืนยัน (Activate Code) 
  • ยืนยันตัวตนผ่านทางเว็บไซต์ และกำหนดรหัสผ่านภายใน 15 วันทำการ 
  • แจ้งอีเมลที่ประสงค์จะใช้ในการส่งใบกำกับภาษีและใบรับ 
  • ตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุมัติ ก.อ.01 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร
          ทั้งนี้ สำหรับร้านค้าที่ต้องการทำระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ สามารถติดต่อได้ที่กรมสรรพากร หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ etax.rd.go.th หรือสายด่วน โทร. 1161 นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Service Provider) เพื่อให้ช่วยดำเนินการเป็นตัวแทนรวบรวมข้อมูลส่งต่อเข้าระบบของกรมสรรพากรได้โดยตรง 

บทความที่เกี่ยวข้องกับภาษี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice คืออะไร ต้องซื้อร้านไหนถึงใช้สิทธิ Easy E-Receipt ได้ อัปเดตล่าสุด 2 มกราคม 2567 เวลา 19:21:37 97,755 อ่าน
TOP
x close