ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป คืออะไร ต้องระบุข้อมูลอะไรไว้บ้าง

          ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เรื่องที่คนต้องการนำหลักฐานไปใช้ลดหย่อนภาษีต้องรู้ เพื่อให้ได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ช้อปช่วยชาติ
ภาพจาก กรมสรรพากร

          ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ต้องการนำค่าใช้จ่ายนั้นไปยื่นลดหย่อนภาษี จะต้องมีหลักฐานการเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตาม ม.86/4 แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่า ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นมีลักษณะแบบไหน ต้องระบุข้อมูลอะไรบ้าง เพราะปกติเวลาเราซื้อของจะได้รับเพียงใบกำกับภาษีอย่างย่อเท่านั้น กระปุกดอทคอมจึงสืบค้นข้อมูลจากกรมสรรพากรมาอธิบายให้ฟังกันค่ะ

          สำหรับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้น ตาม ม.86/4 แห่ง ป.รัษฎากร ระบุว่าต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

           1. คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

           2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

           3. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อ (เลขประจำตัวผู้เสียภาษี = เลขประจำตัวบัตรประชาชน) โดยประเด็นนี้มีสิ่งที่ต้องรู้ คือ
             - ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อ จำเป็นต้องระบุในใบกำกับภาษี
             - เลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ซื้อไม่ได้บังคับ หากใบกำกับภาษีนั้นไม่ได้ระบุเลขบัตรประชาชนของผู้ซื้อ ก็ยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้
             - ที่อยู่ของผู้ซื้อ จะใช้ที่อยู่ตามบัตรประชาชน ตามทะเบียนบ้าน หรือที่อยู่ในปัจจุบันก็ได้

           4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

           5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

           6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

           7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

           8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด (ถ้ามี) เช่น คำว่า เอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ


          ทั้งนี้รายการในใบกำกับภาษีต้องเป็นภาษาไทย เป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศ หรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี
   
          นอกจากนี้ ใบกำกับภาษีอาจออกรวมกันสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการหลายอย่างก็ได้ เว้นแต่อธิบดีจะได้กำหนดให้การออกใบกำกับภาษีสำหรับสินค้าหรือบริการบางอย่างหรือหลายอย่างต้องกระทำแยกต่างหาก โดยมิให้รวมไว้ในใบกำกับภาษีเดียวกันกับรายการอื่น
 

ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสรรพากร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป คืออะไร ต้องระบุข้อมูลอะไรไว้บ้าง อัปเดตล่าสุด 30 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13:05:35 143,145 อ่าน
TOP
x close