ภาษีที่ดิน 2566 จ่ายเท่าไหร่ มาเช็กอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้ง 4 ประเภท หลังปรับลดภาษี 15%

           ภาษีที่ดิน 2566 ทั้งที่ดินเกษตรกรรม ที่ดินว่างเปล่า บ้านพักอาศัย แต่ละแบบจะถูกเก็บภาษีเท่าไหร่ ต้องไปจ่ายที่ไหน จ่ายเมื่อไหร่ เรื่องนี้มีคำตอบ !
          ภาษีที่ดิน คืออะไร เก็บเท่าไหร่ ? เป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้ ซึ่งข่าวดีก็คือ ในปี 2566 ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะยังคงจัดเก็บในอัตราเดิมเหมือนกับปี 2563-2565 และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 คณะรัฐมนตรียังได้มีมติให้ปรับลดภาษีที่ดินลงอีก 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ เท่ากับว่าในปี 2566 เราจะเสียภาษีที่ดินน้อยลง

          เช่นนั้นแล้ว ใครมีบ้าน คอนโดมิเนียม บ้านเช่า ที่ดิน ที่นา ควรมาศึกษาข้อมูลภาษีที่ดิน 2566 เอาไว้ เพื่อจะได้คำนวณภาษีที่ดิน และจ่ายภาษีได้อย่างถูกต้อง

ภาษีที่ดิน 2566 ใครต้องเสียบ้าง
ภาษีที่ดิน

  • เจ้าของที่ดิน/เจ้าของสิ่งปลูกสร้าง/เจ้าของห้องชุด (กรณีนี้อาจไม่ใช่เจ้าบ้านก็ได้ เพราะหากเจ้าบ้านไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่มีชื่อในโฉนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น เจ้าบ้านก็ไม่ใช่ผู้ที่ต้องเสียภาษี)

  • ผู้ครอบครองทรัพย์สิน ทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของรัฐ เช่น ผู้เช่าที่ราชพัสดุอยู่ แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของที่นั้น ๆ แต่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายฉบับนี้

  • เป็นผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นอยู่ในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น เช่น 

    • ซื้อคอนโดมิเนียม ในวันที่ 25 ธันวาคม 2565 จะต้องเสียภาษีที่ดินในปี 2566 เพราะถือว่าได้ครอบครองภายในวันที่ 1 มกราคม 2566

    • ซื้อบ้าน ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 จะยังไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน 2566 เพราะยังไม่ได้ครอบครองในวันที่ 1 มกราคม 2566 แต่ต้องไปเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2567

  • กรณีเจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นเป็นคนละคนกัน ให้ต่างคนต่างเสียภาษีเฉพาะส่วนที่ตัวเองเป็นเจ้าของ

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2566 จ่ายเท่าไหร่
ภาษีที่ดิน

ภาพจาก : กระทรวงการคลัง

           สำหรับอัตราการเก็บภาษีที่ดิน จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ได้แก่ เกษตรกรรม, ที่พักอาศัย, อื่น ๆ (พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม) และที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยคิดในแบบขั้นบันได เพิ่มขึ้นตามมูลค่าราคาประเมิน ดังนี้

1. ที่ดินเกษตรกรรม เพดานภาษีสูงสุด 0.15%

ภาษีที่ดิน

           ที่ดินเกษตรกรรม คือ การใช้ที่ดินเพื่อทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่ประกาศกำหนด ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าจะปลูกต้นไม้อะไรก็ได้ ปลูกกี่ต้นก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยระบุไว้ เช่น
  • ปลูกกล้วย ขั้นต่ำ 200 ต้น/ไร่

  • ปลูกกาแฟ พันธุ์โรบัสต้า ขั้นต่ำ 170 ต้น/ไร่, พันธุ์อาราบิก้า ขั้นต่ำ 533 ต้น/ไร่

  • ปลูกขนุน ขั้นต่ำ 25 ต้น/ไร่

  • ปลูกมะม่วง, มะพร้าว, ทุเรียน, ลิ้นจี่, ลำไย ขั้นต่ำ 20 ต้น/ไร่ 

  • ปลูกมะนาว ขั้นต่ำ 50 ต้น/ไร่

          อ่านหลักเกณฑ์และรายละเอียดของการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร ได้ ที่นี่

อัตราภาษีที่ดินเกษตรกรรมปี 2566

  • กรณีเจ้าของที่ดินเป็นบุคคลธรรมดา :

          หากมีที่ดินทำการเกษตร มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี

          หากมีที่ดินทำการเกษตร มูลค่าเกิน 50 ล้าน จะได้รับยกเว้น 50 ล้านบาทแรก/เขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนเกิน 50 ล้านบาทแรก เสียภาษีตามอัตราปกติ

  • กรณีเจ้าของที่ดินเป็นนิติบุคคล : เสียภาษีที่ดินตามอัตราปกติ คือ
ภาษีที่ดิน

ตัวอย่าง

  • นาย B เป็นเจ้าของสวนผลไม้ มูลค่า 15 ล้านบาท จะไม่ต้องเสียภาษีที่ดินในปี 2566 เพราะได้รับการยกเว้น 50 ล้านบาทแรก/อปท.

  • นาย C เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม มูลค่า 60 ล้านบาท ดังนั้น 50 ล้านบาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนอีก 10 ล้านบาท จะต้องเสียภาษี 0.01% เท่ากับต้องจ่าย 1,000 บาท แต่ในปี 2566 ได้ส่วนลด 15% จึงเสียภาษีเพียง 850 บาท

  • บริษัท A เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม มูลค่า 20 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีที่ดินอัตรา 0.01% คือ 2,000 บาท แต่ในปี 2566 ได้ส่วนลด 15% จึงเสียภาษีเพียง 1,700 บาท

           หมายเหตุ : ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องจับตาดูว่าในปี 2566 จะมีการปรับอัตราการเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมที่เพดานสูงสุด 0.15% ตามเกณฑ์โซนสีผังเมืองหรือไม่ หลังจากช่วงที่ผ่านมาพบการใช้ที่ดินผิดประเภท โดยนำที่ดินที่มีมูลค่าสูงในย่านศูนย์กลางธุรกิจมาปลูกพืชทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกกล้วยใจกลางเมือง เพื่อหลบเลี่ยงภาษี ทำให้ทาง กทม. กำลังหารือและพิจารณาออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดเก็บภาษีให้สูงขึ้น

2. ที่พักอาศัย เพดานภาษีสูงสุด 0.30%

ภาษีที่ดิน

          คำว่า "ที่พักอาศัย" ตามกฎหมายฉบับนี้ หมายถึงกรณีดังต่อไปนี้

  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย หรือให้เช่าเพื่ออยู่อาศัย 

  • ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยด้วย เช่น บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง เป็นต้น

  • บ้านเช่า หอพัก อพาร์ตเมนต์ หรือคอนโดที่ปล่อยเช่ารายเดือน (แต่ถ้าเป็นบ้านหรือห้องพักให้เช่าเป็นรายวัน จะจัดอยู่ในหมวดใช้ประโยชน์เพื่อการอื่น ๆ ซึ่งเสียภาษีแพงกว่า)

  • โฮมสเตย์ ซึ่งเป็นสถานที่พักชั่วคราวที่เจ้าของดัดแปลงเป็นห้องพักไม่เกิน 4 ห้อง มีผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน จัดบริการสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร และเป็นการพักรวมกับเจ้าของในชายคาเดียวกัน อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริม

          โดยการจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัยจะแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

2.1 บ้านหลังหลัก (บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน)

           บ้านหลังหลัก คือ เราเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่อในทะเบียนบ้าน กรณีนี้จะได้รับยกเว้นภาษีในส่วนที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่ถ้ามีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินจะต้องเสียภาษีตามอัตราปกติ
ภาษีที่ดิน

ตัวอย่าง

  • มีบ้านหลังหลักพร้อมที่ดิน มูลค่า 3 ล้านบาท : ไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน

  • มีบ้านหลังหลักพร้อมที่ดิน มูลค่า 20 ล้านบาท : ไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน

  • มีบ้านหลังหลักพร้อมที่ดิน มูลค่า 50 ล้านบาท : ไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน

  • มีบ้านหลังหลักพร้อมที่ดิน มูลค่า 60 ล้านบาท : ทรัพย์สินส่วน 50 ล้านบาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนที่เหลืออีก 10 ล้านบาท นำมาคำนวณภาษี 0.03% เท่ากับต้องเสียภาษี 3,000 บาท แต่ในปี 2566 ได้ส่วนลด 15% จึงเสียภาษี 2,550 บาท

  • มีบ้านหลังหลักพร้อมที่ดิน มูลค่า 90 ล้านบาท : ทรัพย์สินส่วน 50 ล้านบาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี ส่วน 25 ล้านบาทต่อมา นำมาคำนวณภาษี 0.03% เท่ากับ 7,500 บาท และส่วน 20 ล้านบาทสุดท้าย คิดอัตรา 0.05% เท่ากับ 10,000 บาท รวมเสียภาษี 17,500 บาท แต่ในปี 2566 ได้ส่วนลด 15% จึงเสียภาษี 14,875 บาท

2.2 บ้านหลังหลัก (บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน)

          ประเภทที่สอง คือ เป็นบ้านหลังหลักที่เรามีชื่อในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน เช่น ซื้อคอนโดมิเนียม หรือคนที่สร้างบ้านอยู่บนที่ดินเช่า กรณีนี้จะได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินจะต้องเสียภาษีที่ดินตามอัตรานี้

ภาษีที่ดิน

ตัวอย่าง

  • มีคอนโดมิเนียม มูลค่า 5 ล้านบาท และมีชื่อในทะเบียนบ้าน : ไม่ต้องเสียภาษี

  • มีบ้านบนที่ดินเช่า มูลค่า 30 ล้านบาท และมีชื่อในทะเบียนบ้าน : 10 ล้านบาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนที่เหลือ 20 ล้านบาท จะนำมาคิดภาษีที่ 0.02% เท่ากับต้องเสียภาษี 4,000 บาท แต่ในปี 2566 ได้ส่วนลด 15% จึงเสียภาษี 3,400 บาท

2.3 บ้านหลังอื่น ๆ เช่น บ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป หรือบ้านที่ไม่มีชื่อเราอยู่ในทะเบียนบ้าน

          ส่วนคนที่มีบ้านหลายหลัง ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะมีชื่อหรือไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน การเป็นเจ้าของที่ดินหรือบ้านตั้งแต่หลังที่ 2 เป็นต้นไป จะต้องเสียภาษีทั้งหมด ไม่ได้รับการยกเว้น ดังนี้

ภาษีที่ดิน

ตัวอย่าง

  • มีบ้านหลังที่ 2 มูลค่า 5 ล้านบาท : เสียภาษี 0.02% คือ 1,000 บาท แต่ในปี 2566 ได้ส่วนลด 15% จึงเสียภาษี 850 บาท

  • มีบ้านหลังที่ 3 มูลค่า 60 ล้านบาท : ส่วน 50 ล้านบาทแรก เสียภาษี 0.02% คือ 10,000 บาท ที่เหลืออีก 10 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% เท่ากับ 3,000 บาท รวมแล้วต้องเสียภาษี 13,000 บาท แต่ในปี 2566 ได้ส่วนลด 15% จึงเสียภาษี 11,050 บาท

  • มีบ้านหลังที่ 2 มูลค่า 90 ล้านบาท : ส่วน 50 ล้านบาทแรก เสียภาษี 0.02% คือ 10,000 บาท ส่วน 25 ล้านบาทถัดมา เสียภาษี 0.03% คือ 7,500 บาท และที่เหลืออีก 20 ล้านบาท คิดอัตรา 0.05% คือ 10,000 บาท รวมเสียภาษีทั้งหมด 27,500 บาท แต่ในปี 2566 ได้ส่วนลด 15% จึงเสียภาษี 23,375 บาท

          หมายเหตุ : หากเป็นทรัพย์สินที่ได้รับมรดกมาจะได้ลดภาษีอีก 50%

         หมายถึง เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาได้รับมรดกเป็นบ้านพร้อมที่ดิน หรือห้องชุด โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วย หากจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมก่อนวันที่ 13 มีนาคม 2562 จะได้ลดภาษีที่ดิน 50% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย

         เช่น นางสาว A ได้รับมรดกที่ดินพร้อมบ้าน มูลค่า 60 ล้านบาท โดยเป็นบ้านหลังหลัก มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 กรณีนี้จะได้รับยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก ส่วนเกินอีก 10 ล้านบาท จะเสียภาษี 0.03% คิดเป็น 3,000 บาท แต่ได้ลดภาษี 50% เหลือจ่ายภาษีเพียง 1,500 บาท และในปี 2566 ก็ยังได้ลดเพิ่มอีก 15% ดังนั้นเหลือจ่ายภาษีจริง ๆ คือ 1,275 บาท

3. ที่ดินใช้ประโยชน์อื่น นอกจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย เพดานภาษีสูงสุด 1.20%

ภาษีที่ดิน

           การเก็บภาษีในประเภทนี้จะหมายถึง ที่ดินอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรและการอยู่อาศัย เช่น ใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ โรงงาน หอพักรายวัน บ้านเช่ารายวัน โดยต้องเสียภาษีตามอัตราต่อไปนี้
ภาษีที่ดิน

ตัวอย่าง

  • มีร้านค้า มูลค่า 5 ล้านบาท : เสียภาษี 0.3% หรือ 15,000 บาท

  • มีร้านอาหาร มูลค่า 20 ล้านบาท : เสียภาษี 0.3% หรือ 60,000 บาท และในปี 2566 จะได้ลด 15% เหลือ 51,000 บาท

4. ที่รกร้างว่างเปล่า เพดานสูงสุด 3%

ภาษีที่ดิน

          กรณีมีที่ดินเปล่าแต่ปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้ใช้ทำเกษตรกรรม ไม่ได้ปลูกสร้างอาคาร หรือใช้ประกอบกิจการใด ๆ จะถูกจัดเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสียภาษีแพงที่สุด คือ
ภาษีที่ดิน

          นอกจากนี้ หากเจ้าของที่ดินปล่อยรกร้างไว้นานติดต่อกัน 3 ปี เมื่อไปเสียภาษีในปีที่ 4 จะถูกเก็บเพิ่มอีก 0.3% และจะเพิ่มอัตราภาษีอีก 0.3% ในทุก ๆ 3 ปีที่ปล่อยที่ดินทิ้งไว้โดยไม่นำมาทำประโยชน์อะไร แต่โดยรวมทั้งหมดแล้วจะเก็บภาษีได้ไม่เกิน 3% ซึ่งเป็นเพดานสูงสุด

          เท่ากับว่าในปี 2566 จะเป็นปีที่ครบกำหนด 3 ปีพอดีนับตั้งแต่ประกาศใช้กฎหมายภาษีที่ดินปี 2563 นั่นหมายความว่า ถ้าเจ้าของที่ดินปล่อยที่ดินไว้เฉย ๆ มาตั้งแต่ปี 2563 เมื่อมาถึงปี 2566 จะต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 0.3%

ตัวอย่าง

  • มีที่ดินรกร้าง มูลค่า 10 ล้านบาท : เสียภาษี 0.3% หรือ 30,000 บาท แต่ถ้าที่ดินผืนนี้ถูกปล่อยทิ้งไว้จนครบ 3 ปีแล้ว ในปี 2566 จะถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก 0.3% คือจ่ายเพิ่มอีก 30,000 บาท รวมเป็น 60,000 บาท อย่างไรก็ตาม เจ้าของที่ดินยังจะได้ลดภาษีอีก 15% เหลือจ่ายจริง 51,000 บาท

  • มีที่ดินรกร้าง มูลค่า 60 ล้านบาท : ส่วน 50 ล้านบาทแรก เสียภาษี 0.3% หรือ 150,000 บาท ที่เหลืออีก 10 ล้านบาท เสียภาษี 0.4% คือ 40,000 บาท รวมทั้งหมดต้องจ่าย 190,000 บาท แต่ถ้าที่ดินผืนนี้ถูกปล่อยทิ้งไว้จนครบ 3 ปีแล้ว ในปี 2566 จะถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก 0.3% จาก 60 ล้านบาท คิดเป็น 180,000 บาท รวมแล้วต้องเสียภาษี 370,000 บาท ทั้งนี้ ยังจะได้ลดภาษีอีก 15% ตามมติ ครม. จึงจ่ายจริง 314,500 บาท

ภาษีที่ดิน คำนวณอย่างไร
ภาษีที่ดิน

           การตีมูลค่าของบ้านจะต้องแยกเป็นมูลค่าของที่ดิน และมูลค่าของสิ่งปลูกสร้าง จากนั้นจึงนำผลลัพธ์มารวมกัน คือ

1. ที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง

          ภาษีที่ต้องจ่าย = มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี 

         โดยมูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ที่ดิน

2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

          ภาษีที่ต้องจ่าย = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี 

          โดยมูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ที่ดิน 

          มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) - ค่าเสื่อมราคา

3. ห้องชุด

          ภาษีที่ต้องจ่าย = มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี  

          โดยมูลค่าห้องชุด = ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.)

          สำหรับการหักค่าเสื่อมราคาของสิ่งปลูกสร้าง เป็นไปตามประเภทและระยะเวลาการก่อสร้าง ตามตารางนี้
ภาษีที่ดิน

ภาพจาก : กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

          ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2566 ผู้ครอบครองที่ดินอาจต้องเสียภาษีที่ดินเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมธนารักษ์ประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 2566-2569 ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ซึ่งทำให้ราคาประเมินทั้งประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 8% ขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร ปรับขึ้นประมาณ 3% โดยพื้นที่ใจกลางเมืองติดรถไฟฟ้า อย่างถนนสีลม ถนนวิทยุ ถนนเพลินจิต มีราคาแพงที่สุดคือ ตารางวาละ 1 ล้านบาท

          และด้วยราคาประเมินทุนทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นในปี 2566 จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 จำนวน 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ เพื่อบรรเทาภาระภาษี พร้อมกับมีระยะเวลาปรับตัวและวางแผนเพิ่มขึ้น
ที่ดินใช้ประโยชน์หลายประเภท คิดภาษีอย่างไร
          สำหรับที่ดินที่ใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น เป็นทั้งบ้านพักอาศัย เปิดร้านค้า หรือทำการเกษตรไปด้วย จะต้องแบ่งการเสียภาษีที่ดินตามประเภทต่าง ๆ โดยคำนวณภาษีตามการใช้งาน 

          ตัวอย่างเช่น บ้านขนาด 50 ตารางวา 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นร้านขายของ ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ให้แยกกันคำนวณตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังนี้

  •  ชั้นแรกที่เป็นร้านขายของ : คำนวณตามอัตราภาษีที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม

  •  ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย : คำนวณตามอัตราภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย

ภาษีที่ดิน

ภาพจาก : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

ตรวจสอบภาษีที่ดินออนไลน์ได้ไหม
มีช่องทางไหนบ้าง

          กรณีที่เราไม่แน่ใจว่าอสังหาริมทรัพย์ของเราเข้าเกณฑ์เสียภาษีที่ดินหรือไม่ สามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ดังนี้

  • หนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งหน่วยงานจะส่งข้อมูลให้ผู้เสียภาษีได้ทราบทางไปรษณีย์

  • สำนักงานเขต สำนักงานเทศบาล อบต. หรือ อปท. ที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่

    ดังนั้นจึงไม่สามารถตรวจสอบภาษีที่ดินทางออนไลน์ได้

ภาษีที่ดิน จ่ายเมื่อไหร่

           ตามกฎหมายได้กำหนดระยะเวลาเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้

  • ประกาศราคาประเมินที่ดิน : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/สำนักงานเขต ออกหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน/บ้าน ให้ผู้เสียภาษีทราบภายในเดือนกุมภาพันธ์ แต่สำหรับในปี 2566 ได้มีการขยายกำหนดเวลาเป็นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2566
     

  • แจ้งการประเมินภาษีให้ผู้เสียภาษีทราบ : จากเดิมภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ขยายเวลาเป็นภายในเดือนเมษายน 2566 เมื่อได้รับหนังสือแจ้งให้ตรวจสอบอัตราภาษี ประเภทของภาษีที่จัดเก็บให้เรียบร้อย กรณีที่พบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง เช่น ประเมินบ้านซึ่งเป็นที่พักอาศัย เป็นการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้เสียภาษีมากขึ้น หรือมีข้อมูลผิดพลาดตรงไหน เราสามารถใช้สิทธิ์คัดค้านการประเมินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ภ.ด.ส.6
     

  • ชำระภาษี : จากเดิมภายในเดือนเมษายน 2566 ขยายเวลาเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 แต่หากต้องจ่ายภาษีเป็นจำนวนเกิน 3,000 บาท เราสามารถใช้สิทธิ์ขอผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่เสียดอกเบี้ย คือต้องจ่ายงวดที่ 1 ภายในเดือนมิถุนายน งวดที่ 2 เดือนกรกฎาคม และงวดที่ 3 เดือนสิงหาคม 
     

  • อปท. มีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้างชำระ : จากเดิมภายในเดือนพฤษภาคม 2566 ขยายเวลาเป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2566

วิธีคัดค้านการประเมินภาษีที่ดิน

         หากบ้านไหนได้รับหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน/บ้าน และพบข้อมูลไม่ถูกต้อง สามารถยื่นเรื่องคัดค้านได้ภายใน 30 วัน ตามขั้นตอนต่อไปนี้

     1. นำเอกสารไปยื่นที่หน่วยงานจัดเก็บภาษีที่ออกแบบแจ้งประเมิน และแสดงความจำนงขอคัดค้านการประเมิน เช่น หากอยู่ใน กทม. ก็ให้ไปติดต่อสำนักงานเขตที่สิ่งปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่ หรือยื่นผ่านช่องทางอื่น ๆ ตามที่ อปท. นั้นกำหนด

     2. กรอกคำร้องคัดค้านการประเมินหรือเรียกเก็บภาษีที่ดินฯ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

          ถ้าไม่คัดค้านการประเมินภายในกำหนดเวลา จะถือว่ายอมรับการประเมินของเจ้าพนักงาน และต้องเสียภาษีที่ดินตามประเภทของการใช้งานที่ระบุไว้ต่อไป

ภาษีที่ดิน จ่ายที่ไหน
ภาษีที่ดิน

          สามารถชำระภาษีที่ดินได้ด้วยตัวเองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของพื้นที่นั้น ๆ คือ
  • กรุงเทพฯ : ชำระภาษีที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่ทรัพย์สินตั้งอยู่

  • เมืองพัทยา : ชำระภาษีที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา

  • ต่างจังหวัด : ชำระภาษีที่สำนักงานเทศบาล/ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบล/ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกฎหมายกำหนด หรือสถานที่อื่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนด รวมทั้งจุดบริการเคลื่อนที่ที่ อปท. กำหนด

เสียภาษีที่ดินออนไลน์ได้ไหม
จ่ายด้วยวิธีไหนบ้าง
           หลายคนมีที่ดินหรือบ้านอยู่คนละจังหวัดกับที่พักปัจจุบัน เลยไม่สามารถเดินทางไปเสียภาษีที่ อปท. ด้วยตัวเองได้ แต่เราสามารถจ่ายภาษีที่ดินได้ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของ อปท. นั้น ๆ รวมทั้งวิธีอื่น ๆ ตามช่องทางต่อไปนี้
  • ชำระผ่านเคาน์เตอร์ของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ 

  • ชำระผ่านเครื่อง ATM ธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ 

  • ชำระผ่าน Mobile Banking และ Internet Banking  

  • ชำระผ่านบัตรกรุงไทยวีซ่าเดบิต หรือบัตรเครดิตของสถาบันการเงินทุกแห่ง 

  • ชำระเงินข้ามธนาคารด้วยบาร์โค้ด หรือสแกน QR CODE ผ่าน Mobile Banking ทุกธนาคาร

  • ชำระผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เช่น ธนาณัติ ตั๋วแลกเงิน เช็ค

ภาษีที่ดินจ่ายล่าช้า เสียค่าปรับเท่าไหร่

          สำหรับคนที่จ่ายภาษีที่ดินเกินระยะเวลาที่กำหนดจะต้องเสียภาษีค้างชำระ รวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ดังนี้

          1. หากไม่มาชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด แต่ต่อมาได้มาชำระภาษีก่อนจะได้รับหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 10 ของจำนวนภาษีค้างชำระ

          2. หากมาชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 20 ของจำนวนภาษีค้างชำระ

          3. หากมาชำระภาษีภายหลังจากที่กำหนดในหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 40 ของจำนวนภาษีค้างชำระ

          4. หากไม่ได้ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1 ต่อเดือนของจำนวนภาษีค้างชำระ เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน

          5. กรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นให้ขยายกำหนดเวลาชำระภาษี และได้ชำระภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น ให้คิดเงินเพิ่มลดลงเหลือร้อยละ 0.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน

          6. เบี้ยปรับอาจงดได้ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกยึดหรืออายัดตามกฎหมาย โดยเราจะต้องยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อของดเบี้ยปรับของภาษีที่ค้างชำระ

 
          ได้ทราบข้อมูลและวิธีการคำนวณภาษีที่ดินแล้ว ใครเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างภายในวันที่ 1 มกราคม 2566 และอสังหาริมทรัพย์นั้นมีมูลค่าถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ในปี 2566 ก็อย่าลืมดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนหมดเขต เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับภายหลัง

บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีที่ดิน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาษีที่ดิน 2566 จ่ายเท่าไหร่ มาเช็กอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้ง 4 ประเภท หลังปรับลดภาษี 15% อัปเดตล่าสุด 22 มกราคม 2567 เวลา 14:47:58 239,268 อ่าน
TOP
x close