แบงก์เปียกน้ำ ควรทำยังไง ถ้าชำรุดจะแลกคืนได้ไหม ?

          เมื่อทำแบงก์เปียกน้ำ ควรทำอย่างไรให้แห้งไว ๆ ถ้าแบงก์ขาดหรือชำรุดจะสามารถแลกคืนได้หรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ
           เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกเป็นประจำ หลาย ๆ แห่งก็ประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งนอกจากข้าวของในบ้านที่เปียกน้ำเสียหายแล้ว แบงก์หรือธนบัตรที่เก็บไว้ก็อาจจะเปียกหรือชำรุดได้ วันนี้เราจึงจะมาแบ่งปันวิธีแก้ปัญหาเมื่อแบงก์เปียกน้ำว่าควรทำยังไงเพื่อให้แบงก์แห้งไว ๆ หรือถ้าเกิดชำรุดจนนำไปใช้จ่ายไม่ได้แล้ว จะสามารถแลกคืนได้ไหม ถ้าอยากรู้แล้วก็ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลย
แบงก์เปียกน้ำ ทำยังไงให้แห้งดี ?
ธนบัตรชำรุด

          หากทำแบงก์เปียกน้ำ สิ่งแรกที่ต้องระวังเลยก็คือ อย่าขยำหรือดึงแบงก์แรงเกินไป เพราะอาจทำให้แบงก์ขาดชำรุดได้ ส่วนวิธีการทำให้แห้งนั้น แนะนำให้ลองทำตามนี้ดู

  • นำไปผึ่งพัดลมหรือแอร์ โดยหาที่ตากหรือวางไว้บริเวณที่พัดลมเป่าถึง

  • แขวนบนราวตากผ้า แต่ต้องระวังฝนตกด้วย

  • เป่าด้วยไดร์เป่าผม แต่อย่าเปิดเบอร์แรงเกินไป เพราะอาจทำให้แบงก์ขาดได้

          อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ห้ามทำเด็ดขาดเลยก็คือ อย่านำแบงก์เข้าไมโครเวฟ เพราะมีความเสี่ยงที่แบงก์อาจจะไหม้ได้

แบงก์ชำรุดเสียหาย ทำยังไงได้บ้าง ?
ธนบัตรชำรุด

          ในกรณีที่แบงก์เปียกจนขาดชำรุด เช่น บางส่วนของแบงก์ขาดวิ่น ขาดครึ่ง หรือเปียกเลอะจนทำให้แบงก์ลบเลือน อ่านข้อความและตัวเลขต่าง ๆ บนแบงก์ไม่ได้ จะถือว่าเป็นแบงก์ที่ไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 18 แต่ถ้าหากยังสามารถระบุได้ว่าเป็นแบงก์ของจริง สามารถนำไปแลกเป็นแบงก์ใบใหม่ได้ ณ สถานที่ดังต่อไปนี้
  • ​ธนาคารออมสินทั่วประเทศ (ให้บริการในเวลาทำการทุกวัน)

  • ธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ (ให้บริการเฉพาะวันพุธ ยกเว้นสาขาย่อยและสาขาในห้างสรรพสินค้า)

          สำหรับมูลค่าของแบงก์ที่แลกได้นั้นจะขึ้นอยู่กับลักษณะการชำรุดของแบงก์ ดังนี้

  • กรณีขาดครึ่งฉบับ สามารถแลกแต่ละครึ่งฉบับได้ครึ่งราคาของราคาเต็มแบงก์นั้น ๆ

  • กรณีส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไป หากส่วนที่เหลืออยู่มีมากกว่าครึ่งฉบับ สามารถแลกได้เต็มราคา

  • กรณีลบเลือน หากไม่ถึงกับทำให้ตรวจสอบไม่ได้ว่าเป็นแบงก์จริง สามารถแลกได้เต็มราคา

ขั้นตอนการขอแลกเปลี่ยนแบงก์ชำรุด
           การขอแลกเปลี่ยนแบงก์ชำรุดที่ธนาคารนั้นมีขั้นตอนที่แตกต่างกัน ทั้งกรณีที่แลกเปลี่ยนได้ทันที กับกรณีที่ต้องเขียนคำร้อง ขึ้นอยู่กับลักษณะของแบงก์ที่ชำรุด ดังนี้

1. กรณีแลกเปลี่ยนได้ทันที

         กรณีแบงก์มีส่วนที่เหลืออยู่เกินกว่า 3 ใน 5 ส่วน และสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นแบงก์จริง จะสามารถแลกเปลี่ยนเป็นแบงก์ใหม่ได้เต็มตามราคา

2. กรณีต้องเขียนคำร้อง

          สำหรับแบงก์ที่ขาดแบบครึ่งฉบับ ขาดจนแยกจากกันมากกว่า 2 ส่วน หรือขาดวิ่นจนเหลือน้อยกว่า 3 ใน 5 ส่วน และกรณีอื่น ๆ เช่น ต้องการการตรวจพิสูจน์จากเจ้าหน้าที่ผู้มีความชำนาญ จำเป็นจะต้องเขียนคำร้องขอแลกเปลี่ยนตามแบบที่กำหนด พร้อมแนบแบงก์ที่ชำรุดและสำเนาสมุดบัญชี (ธนาคารใดก็ได้) ​ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อนำส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาค่าแลกเปลี่ยนต่อไป โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะแจ้งผลการพิจารณา และโอนเงินค่าแลกเปลี่ยนเข้าบัญชีออมทรัพย์ ตามที่ระบุไว้ในคำร้อง
           รู้อย่างนี้แล้ว ถ้าหากใครทำแบงก์เปียกก็อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะยังมีวิธีทำให้แห้งไว ๆ หรือถ้าแบงก์ขาดแต่ยังตรวจสอบได้ว่าเป็นแบงก์จริง ก็ยังสามารถนำไปแลกที่ธนาคารได้ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องกับธนบัตรไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แบงก์เปียกน้ำ ควรทำยังไง ถ้าชำรุดจะแลกคืนได้ไหม ? อัปเดตล่าสุด 22 กันยายน 2565 เวลา 17:54:01 7,636 อ่าน
TOP
x close