x close

รู้ทันแอปฯ ยืมเงินออนไลน์ เจ้าไหนกู้ได้ถูกกฎหมาย ถูกโกงไปแล้วทำไงดี ?

          ยืมเงินออนไลน์ผ่านแอปฯ กู้เงินต้องเช็กให้ชัวร์ แบบไหนถูกกฎหมาย ไม่เสี่ยงถูกโกง หรือเป็นหนี้นอกระบบ ก่อนเสียรู้ เสียเงินไปฟรี ๆ

          การกู้เงินออนไลน์หรือให้สินเชื่อเงินด่วนแบบผิดกฎหมายกำลังระบาดอย่างหนัก เห็นได้จากแอปพลิเคชันปล่อยเงินกู้ผุดเป็นดอกเห็ด ส่งข้อความ SMS อนุมัติสินเชื่อมาให้ไม่เว้นวัน ทั้งที่ไม่เคยขอสินเชื่อหรือลงทะเบียนที่ไหนมาก่อนด้วยซ้ำ บางคนกำลังร้อนเงินพอดีเลยกรอกข้อมูลขอกู้ไปซะเลย สุดท้ายโดนหว่านล้อมให้โอนค่าธรรมเนียมมาก่อน แล้วถูกเชิดเงินไปดื้อ ๆ  

          ดังนั้นใครคิดจะยืมเงินออนไลน์ต้องพิจารณาดูให้ดีว่าเจ้าไหนถูกกฎหมายจริง ๆ ไม่ใช่หนี้นอกระบบ ทีนี้เราจะทราบได้อย่างไรล่ะว่าแบบไหนหลอก แบบไหนจริง หรือใครถูกหลอกโอนเงินไปแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อดี เรารวบรวมข้อมูลมาแนะนำกันทีละประเด็น 

กลโกงแอปฯ กู้เงินออนไลน์ แบบนี้เสี่ยงถูกหลอก
          มิจฉาชีพที่ตั้งใจจะหลอกเอาเงินจากเหยื่อ หรือปล่อยกู้ดอกเบี้ยโหด ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบที่ไม่แตกต่างกันมาก ดังที่เห็นเป็นประจำก็อย่างเช่นการใช้วิธีต่อไปนี้
ยืมเงินออนไลน์

1. ส่ง SMS หรือ LINE มาให้คลิกลิงก์

          เป็นรูปแบบที่พบบ่อยสุด ๆ ในช่วงนี้ โดยการแอบอ้างหน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้ว่าให้เงินกู้ฉุกเฉินบ้างล่ะ คุณเป็นผู้โชคดีได้เงินจากโครงการของรัฐบ้างล่ะ หรืออยู่ ๆ ดีก็บอกว่ายินดีด้วยพร้อมโอนเงินเข้าบัญชีให้เรียบร้อย เจอแบบนี้เข้าไปหลายคนก็ตกใจ เพราะยังไม่ได้กู้อะไรเลย รีบคลิกลิงก์ที่แนบมาให้เข้าไปดู ทีนี้ก็ตกเป็นเหยื่อทันที

          แม้แต่การโทร. หาโดยตรงเพื่อเชิญชวนให้มากู้ก็มี หากผู้ที่ได้รับการติดต่อสนใจ มิจฉาชีพก็จะส่ง SMS มาให้คลิกลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอปฯ หรือให้แอดไลน์คุยกัน

          ทั้งนี้หลายหน่วยงาน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ได้ออกมาเตือนแล้วว่าไม่เคยส่ง SMS เพื่อให้สินเชื่อใด ๆ ทั้งสิ้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ

2. สร้างแอปฯ หรือเว็บไซต์ให้ดูน่าเชื่อถือ

          ผู้ปล่อยกู้มักสร้างเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน เปิดเพจเฟซบุ๊ก หรือแม้กระทั่งบัญชี LINE ที่ดูน่าเชื่อถือ อาจใช้ชื่อคล้ายบริษัทเงินกู้ใหญ่ ๆ มีผู้ติดตามมากมาย เพื่อล่อให้คนเชื่อว่าไม่หลอกลวง แต่นั่นอาจเป็นตัวเลขปลอมที่สร้างขึ้นมาเอง ดังนั้นอย่าหลงเชื่อกู้เงินเพียงเพราะเห็นว่ามีคนติดตามหรือเป็นลูกค้าเยอะ

3. ใช้คำโฆษณาเกินจริง

          โดยมิจฉาชีพมักอ้างว่าใครเดือดร้อนต้องการเงินด่วนให้ทักแชตมา หรืออาจโทร. มาหาเองเลยก็ได้ พร้อมกับคำโฆษณาสวยหรู เช่น 
  • เงินด่วน 10 นาที โอนเข้าบัญชี
  • แอปฯ เงินด่วน 30 นาทีรู้ผล
  • เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การันตีได้เงินเร็วทันใจ 
  • อนุมัติไว ให้วงเงินกู้สูง 
  • กู้ได้เลยไม่ต้องใช้เอกสาร ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวก็อนุมัติได้แล้ว 
  • อายุไม่ถึง 18 ปีก็กู้ได้ 
  • ไม่ต้องมีหลักประกัน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ 
  • ผ่อนจ่ายได้เป็นรายเดือน

4. ขอเอกสารส่วนตัว

          ทั้งสำเนาบัตรประชาชนด้านหน้า-ด้านหลัง หน้าสมุดบัญชี สำเนาทะเบียนบ้าน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ไม่ควรส่งให้ใครง่าย ๆ โดยเฉพาะเว็บไซต์หรือแอปฯ ที่เราไม่ทราบที่มาที่ไป แต่หากเป็นแอปฯ กู้เงินของจริงจะขอแค่ข้อมูลที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ชื่อ-นามสกุล, เลขที่บัญชี และ Statement เดินบัญชีย้อนหลัง

5. อ้างว่าต้องโอนเงินมาก่อน

          พอลงทะเบียนขอกู้เงินไปแล้ว มิจฉาชีพจะตอบกลับหรือส่งภาพสัญญากู้ (ปลอม) มาให้ดูว่าอนุมัติวงเงินเรียบร้อย แล้วจะอ้างว่ายังถอนเงินตอนนี้ไม่ได้นะ ลูกค้าต้องโอนค่าดำเนินการ ค่าธรรมเนียม หรือวางเงินประกัน 10-20% ของวงเงินกู้มาก่อน

          บางทีก็อ้างว่า เราติดแบล็กลิสต์ หรือกรอกข้อมูลผิด กรอกเลขที่บัญชีผิด ทำผิดขั้นตอนเลยโอนเงินให้ไม่ได้ ต้องจ่ายค่าปลดแบล็กลิสต์ ค่าปลดล็อกบัญชี ค่ายืนยันตัวตน หรือค่าแก้ไขข้อมูล ค่าลัดคิวเพื่อให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น หรือบอกให้โอนเงินมัดจำ โอนดอกเบี้ยงวดแรกมาก่อนถึงจะถอนเงินก้อนได้ หากหลงเชื่อโอนไปปุ๊บ อาจมีข้ออ้างอื่น ๆ มาหลอกให้เราโอนเพิ่มไปอีกเรื่อย ๆ สุดท้ายเงินกู้ก็ไม่ได้ แถมยังเสียเงินฟรี ๆ จบด้วยการบล็อกไลน์หายไปเลย

6. ให้วงเงินกู้สูงกว่าที่ขอ

         บางคนเลือกใช้บริการกู้เงินออนไลน์เพราะต้องการใช้เงินแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น หลักพัน แต่ทางแอปฯ กลับให้วงเงินกู้สูงถึงหลักหมื่น ซึ่งมักจะอ้างว่าต้องกู้ขั้นต่ำเท่านี้ ให้เงินกู้ต่ำกว่านี้ไม่ได้ ทำให้ผู้กู้ต้องยอมรับวงเงินที่สูง และจ่ายคืนรวมดอกเบี้ยในอัตราแพง

7. โอนเงินกู้ให้ไม่เต็มจำนวน

         เช่น ขอกู้ไป 5,000 บาท อาจได้รับเงินแค่ 3,000 บาท โดยอ้างว่าหักค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่หักมากกว่า40%

8. คิดดอกเบี้ยมหาโหด

หนี้นอกระบบ

         แอปฯ ที่หลอกลวงอาจจะให้ข้อมูลดอกเบี้ยไม่ชัดเจน หรือแม้ว่าได้โทร. คุยกับพนักงานที่อ้างว่าเป็นคอลเซ็นเตอร์ของบริษัทก็จะพูดจาคลุมเครือชวนให้งงเข้าไว้ แต่สุดท้ายแล้วยังไงอัตราดอกเบี้ยก็สูงเกินที่กฎหมายกำหนดแน่นอน และมักให้เรารีบจ่ายคืนภายใน 3 วัน 7 วัน เผลอ ๆ บังคับให้จ่ายดอกรายวัน ถ้าไม่จ่ายก็โทร. ทวงเช้า ทวงเย็น ตามถึงบ้านไม่ต่างจากเงินกู้นอกระบบทั่วไป 

9. ข่มขู่ให้กลัว

         ในกรณีที่ผู้ขอกู้เห็นเงื่อนไขสัญญาไม่ตรงตามที่คุยกัน หรือคุยไปคุยมาชักไม่อยากกู้เงินแล้ว คนร้ายจะอ้างว่าไม่สามารถยกเลิกได้ พร้อมข่มขู่ว่าถ้าไม่กู้จะเอาข้อมูลของเราไปโพสต์ประจาน หรืออ้างว่าจะไปติดต่อธนาคารหรือแบงก์ชาติให้ขึ้นแบล็กลิสต์ บ้างก็บอกว่าจะแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยใช้คำพูดกดดันที่ทำให้คนฟังรู้สึกกลัว
          ทั้งนี้ หากเราหลวมตัวไปกู้เงินนอกระบบแบบนี้ แล้วไม่สามารถจ่ายหนี้ได้หรือจ่ายช้า อาจถูกมิจฉาชีพข่มขู่หรือทำอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สินของเรา นอกจากนี้ เจ้าหนี้นอกระบบอาจส่งข้อความไปข่มขู่เพื่อนในรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือของเรา หรือโทรศัพท์ไปบอกว่าเราติดหนี้เขาอยู่ ให้เพื่อนซึ่งมีรายชื่อเป็นผู้ค้ำประกันมาชดใช้แทนทำให้เรารู้สึกอับอายและคนใกล้ตัวถูกคุกคามไปด้วย
เจอแอปฯ กู้เงินต้องสงสัย ทำไงดี
          ถ้าเจอเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือ SMS ที่มีลักษณะดังที่กล่าวมาข้างต้น อย่าเพิ่งหลงเชื่อ แนะนำให้ทำตามนี้
  • อย่ากดลิงก์ SMS ที่ชักชวนให้กู้เงิน หรือเสนอเงิน เสนอรางวัลให้เด็ดขาด เพราะการกดลิงก์อาจกลายเป็นการอนุญาตให้แอปฯ เข้าถึงข้อมูลทั้งหมดในโทรศัพท์มือถือได้ รวมทั้งอาจทำให้มัลแวร์เข้าโทรศัพท์มาขโมยข้อมูลส่วนตัว
     
  • อย่าตกปากรับคำว่าจะกู้เงิน โดยที่ยังไม่เห็นเอกสารสัญญากู้และไม่ทราบเงื่อนไขของการให้กู้ชัดเจน และเมื่อได้รับสัญญาแล้วต้องอ่านทำความเข้าใจให้ดี โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืน เพราะอาจมีอะไรตุกติกแอบแฝงอยู่
     
  • ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัวโดยไม่จำเป็น เช่น เลขบัตรประชาชน รหัสผ่านต่าง ๆ ถ้ายังไม่มั่นใจว่าเว็บไซต์หรือแอปฯ นั้นเป็นของจริงหรือไม่ เพราะข้อมูลที่เรากรอกไปอาจถูกนำไปสวมรอยก่ออาชญากรรมอื่น ๆ 
     
  • ห้ามโอนเงินไปก่อน ถ้าฝ่ายตรงข้ามอ้างว่าจำเป็นต้องโอนเงินมาเพื่อการใด ๆ ก็ตาม ให้สันนิษฐานได้เลยว่าน่าจะถูกหลอก
     
  • ต้องตรวจสอบชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ให้กู้ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ได้รับใบอนุญาตหรือมีใบขึ้นทะเบียนให้ประกอบธุรกิจหรือไม่ มีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า เบอร์โทรศัพท์ติดต่อได้จริงไหม 
     
  • หลีกเลี่ยงแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ไม่มีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแล เพราะอาจเป็นการกู้เงินนอกระบบ หรืออาจถูกเข้าถึงข้อมูลสำคัญในสมาร์ตโฟน
     
แอปฯ กู้เงินถูกกฎหมายมีที่ไหนบ้าง
แอปกู้เงินถูกกฎหมาย

         หากเป็นแอปฯ กู้เงินออนไลน์ของจริงจะให้กู้เต็มจำนวน คิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุด 2.75% ต่อเดือน หรือไม่เกิน 33% ต่อปีตามกฎหมาย และจะไม่ขอให้เราโอนค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ไปก่อนล่วงหน้าเด็ดขาด ดังนั้นเพื่อความสบายใจก่อนขอสินเชื่อออนไลน์ แนะนำตรวจสอบข้อมูลของผู้ให้บริการว่ามีใบอนุญาต หรือได้ขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจการเงินแล้วหรือไม่ โดยมีวิธีตรวจสอบ ดังนี้

วิธีที่ 1

          คลิกเข้าไปที่ Bot License Check    
          ให้เรากรอกชื่อบริษัท สถานประกอบการ หรือเลขที่ใบอนุญาต ถ้ามีรายชื่อขึ้นแสดงว่าเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อภายใต้การกำกับของของแบงก์ชาติ 

วิธีที่ 2

          หากต้องการทราบรายชื่อ Non-Bank และสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยกู้ได้ทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้ที่ www.bot.or.th ซึ่งจะมีข้อมูลเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน ที่อยู่ และเบอร์ติดต่อของผู้ให้บริการระบุไว้ชัดเจน ดังตัวอย่าง

วิธีที่ 3

          กรณีเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (Pico Finance) ภายใต้การกำกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ ที่นี่  
ถูกหลอกเอาเงินไปแล้ว จะทำอะไรได้บ้าง
          หลายคนอาจไม่ทันระวังหรือไม่ได้ตรวจสอบก็ตกลงกู้เงินและถูกโกงจนได้รับความเสียหายไปแล้ว เมื่อเป็นแบบนี้ต้องทำอะไรบ้าง

1. เก็บรวบรวมหลักฐานทุกอย่าง

          ทั้งบทสนทนาที่คุยกับคนร้าย, ชื่อเว็บไซต์-แอปพลิเคชัน, หลักฐานการโอนเงิน, สมุดบัญชีธนาคาร รวมทั้งเตรียมสำเนาบัตรประชาชนของตัวเองไว้ด้วย

2. แจ้งความ

          นำหลักฐานเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ คือ เราโอนเงินที่ไหนให้ไปแจ้งความที่เขตนั้น ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่รู้ว่าโดนหลอก โดยบอกกับพนักงานสอบสวนว่า "ประสงค์ขอแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย" ไม่ใช่แค่ขอลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน

3. ติดต่อธนาคาร

          โดยนำเอกสารการแจ้งความ รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ติดต่อไปยังให้ธนาคารเพื่อแจ้งอายัดยอดเงินในบัญชีของมิจฉาชีพ
แจ้งเบาะแสและร้องเรียนได้ที่ไหน
          หากพบเห็นผู้กระทำผิดหรือเป็นผู้เสียหายต้องการร้องเรียนสามารถติดต่อได้ตามช่องทางต่าง ๆ คือ
  • แจ้งความดำเนินคดี ณ สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ
  • ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร. 1599 หรือกรอกข้อมูลที่ต้องการแจ้งผ่านเว็บไซต์ pct.police.go.th  
  • สายด่วนธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213
  • กรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร. สายด่วน DSI Call Center 1202 
          ด้วยสถานการณ์บางอย่างอาจทำให้เราจำเป็นต้องใช้เงิน และการขอสินเชื่อก็คือทางออกในยามที่ไม่สามารถหมุนเงินได้ทัน แต่ถึงกระนั้นก็อย่าเพิ่งตัดสินใจยืมเงินออนไลน์โดยไม่ได้ตรวจสอบให้ดี เพราะถ้าหลงเชื่อตกหลุมพรางแอปฯ กู้เงินออนไลน์นอกระบบ สุดท้ายก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้แย่กว่าเดิม

บทความที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินและการหารายได้เสริม

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
ธนาคารแห่งประเทศไทย (1), (2)
ศคง. 1213 (1), (2
เฟซบุ๊ก กองปราบปราม (1), (2), (3), (4)
กรมสอบสวนคดีพิเศษ 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ทันแอปฯ ยืมเงินออนไลน์ เจ้าไหนกู้ได้ถูกกฎหมาย ถูกโกงไปแล้วทำไงดี ? อัปเดตล่าสุด 3 มกราคม 2565 เวลา 06:48:05 108,543 อ่าน
TOP