เบี้ยผู้สูงอายุ 2565-2566 เปิดลงทะเบียนหรือยัง โอนเข้าบัญชีวันไหน มาดูคุณสมบัติของคนที่สามารถลงทะเบียนรับเบี้ยคนชราได้
เบี้ยผู้สูงอายุ หรือเบี้ยคนชรา เป็นหนึ่งในสวัสดิการของรัฐที่มอบเงินช่วยเหลือให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งในแต่ละปีจะเปิดให้ผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพ โดยจะเป็นการลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อรับเงินในปีงบประมาณถัดไป
ดังนั้นใครที่ยังสงสัยว่าตัวเองหรือผู้สูงอายุในบ้านเข้าเกณฑ์ได้รับเบี้ยยังชีพคนชราแล้วหรือไม่ และต้องไปลงทะเบียนที่ไหน เรารวบรวมรายละเอียดของการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพ ประจำปีงบประมาณ 2565 และปี 2566 มาบอก พร้อมเปิดปฏิทินวันที่จะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีในปี 2565
- สามารถตรวจเช็กวันเดือนปีเพื่อวางแผนชีวิตด้วย ปฏิทินปี 2565 ได้ที่นี่ -
ส่วนคนที่อยากทราบข้อมูลเบี้ยผู้สูงอายุ ปี 2566 อ่านต่อได้ที่บทความด้านล่างนี้เลย
เบี้ยผู้สูงอายุ 2566-2567 ลงทะเบียนเมื่อไหร่ ใครมีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพคนชรา พร้อมเช็กเงินเข้าวันไหน
เบี้ยผู้สูงอายุ 2565 ลงทะเบียนเมื่อไร ได้รับเงินตอนไหน
สำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 - กันยายน 2565) เปิดลงทะเบียนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - กันยายน 2564 ปัจจุบันปิดรับลงทะเบียนแล้ว
โดยผู้ลงทะเบียนรับเงินปี 2565 ต้องเกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2505 ซึ่งจะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุครั้งแรกในเดือนถัดจากวันที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เช่น
- เกิดวันที่ 2-31 ตุลาคม 2504 จะได้รับเงินครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2564
- เกิดวันที่ 2-31 ธันวาคม 2504 จะได้รับเงินครั้งแรกในเดือนมกราคม 2565
- เกิดวันที่ 2-30 เมษายน 2505 จะได้รับเงินครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2565
- เกิดวันที่ 2-31 สิงหาคม 2505 จะได้รับเงินครั้งแรกในเดือนกันยายน 2565
* ยกเว้นคนเกิดวันที่ 1 จะได้รับเงินในเดือนเกิดนั้นเลย เช่น
- เกิดวันที่ 1 มกราคม 2505 จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุครั้งแรกในเดือนมกราคม 2565
- เกิดวันที่ 1 กันยายน 2505 ก็จะได้รับเงินตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 เป็นต้นไป
เงินผู้สูงอายุ 2565 เข้าบัญชีวันไหน
กรมบัญชีกลางจะจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้าบัญชีเงินฝากของผู้มีสิทธิ์โดยตรง ซึ่งจะจ่ายให้ทุกวันที่ 10 ในแต่ละเดือน หากเดือนใดวันที่ 10 ตรงกับวันหยุดราชการ จะจ่ายในวันทำการ ก่อนวันหยุดนั้น ๆ ดังนั้นจะได้รับเงินตามปฏิทินการจ่ายเงินดังนี้
- เดือนตุลาคม 2564 : วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม 2564
- เดือนพฤศจิกายน 2564 : วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน 2564
- เดือนธันวาคม 2564 : วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม 2564
- เดือนมกราคม 2565 : วันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565
- เดือนกุมภาพันธ์ 2565 : วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565
- เดือนมีนาคม 2565 : วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2565
- เดือนเมษายน 2565 : วันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2565
- เดือนพฤษภาคม 2565 : วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2565
- เดือนมิถุนายน 2565 : วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2565
- เดือนกรกฎาคม 2565 : วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2565
- เดือนสิงหาคม 2565 : วันพุธที่ 10 สิงหาคม 2565
- เดือนกันยายน 2565 : วันศุกร์ที่ 9 กันยายน 2565
- เดือนตุลาคม 2565 : วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม 2565
- เดือนพฤศจิกายน 2565 : วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2565
- เดือนธันวาคม 2565 : วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2565
ใครลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุ 2566 ได้บ้าง
ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ คือ
1. อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป คือ เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2506 และยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาก่อน (สำหรับผู้สูงอายุที่ทะเบียนราษฎรระบุเฉพาะปีเกิด แต่ไม่ทราบวันเกิด/เดือนเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคม ของปีนั้น ๆ)
2. มีสัญชาติไทย
3. ต้องไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์เป็นรายเดือนจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ อปท. ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ รวมถึงเงินอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐจัดให้เป็นประจำ
4. มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน
กรณีเคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้ว แต่มีการย้ายภูมิลำเนา เช่น เคยลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2560 แต่ปีนี้เพิ่งย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จะต้องไปลงทะเบียนใหม่ที่สำนักงานเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
เบี้ยผู้สูงอายุ 2566 ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันไหน
- ช่วงที่ 1 เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564
- ช่วงที่ 2 เดือนมกราคม-กันยายน 2565
เบี้ยผู้สูงอายุ 2566 ลงทะเบียนที่ไหน
- กรุงเทพฯ : สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวัน-เวลาราชการ
- ต่างจังหวัด : สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวัน-เวลาราชการ
ใช้เอกสารอะไรบ้าง
1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
2. ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
3. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร สำหรับกรณีที่ผู้ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร
แต่หากผู้สูงอายุไม่สามารถมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นมายื่นคำขอรับเงินแทนได้ โดยต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
1. หนังสือมอบอำนาจ (แบบฟอร์มมอบอำนาจขึ้นอยู่กับการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ อย่างละ 1 ฉบับ
3. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ อย่างละ 1 ฉบับ
ทั้งนี้ สำเนาทุกฉบับต้องลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
ลงทะเบียนแล้วจะได้รับเงินเมื่อไร
เนื่องจากการลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะเป็นการลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อรับเงินในปีงบประมาณถัดไป ดังนั้น ผู้ที่ลงทะเบียนในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 และเดือนมกราคม-กันยายน 2565 จะยังไม่ได้รับเงินในทันที แต่จะได้รับเงินตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป คือช่วงเดือนตุลาคม 2565 - กันยายน 2566
ทั้งนี้ จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุครั้งแรกในเดือนถัดจากวันที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เช่น
- เกิดวันที่ 2-31 ตุลาคม 2505 จะได้รับเงินครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2565
- เกิดวันที่ 2-31 ธันวาคม 2505 จะได้รับเงินครั้งแรกในเดือนมกราคม 2566
- เกิดวันที่ 2-31 มกราคม 2506 จะได้รับเงินครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566
- เกิดวันที่ 2-31 สิงหาคม 2506 จะได้รับเงินครั้งแรกในเดือนกันยายน 2566
* ยกเว้นคนเกิดวันที่ 1 จะได้รับเงินในเดือนเกิดนั้นเลย เช่น
- เกิดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2505 จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2565
- เกิดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2506 จะได้รับเงินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566
- เกิดวันที่ 1 กันยายน 2506 ก็จะได้รับเงินตั้งแต่เดือนกันยายน 2566
ส่วนผู้สูงอายุที่เกิดก่อนวันที่ 2 ตุลาคม 2505 แต่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน และเพิ่งมาลงทะเบียนครั้งแรกหลังอายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
เบี้ยผู้สูงอายุ ได้รับเงินเท่าไร
การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบันจะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต โดยเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ ดังนี้
- อายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน
- อายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน
- อายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน
เคยลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพคนชราแล้ว ปีถัดไปต้องไปลงอีกไหม
กรณีย้ายที่อยู่ ต้องลงทะเบียนใหม่อย่างไร
หากผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพมาโดยตลอดย้ายภูมิลำเนาจะต้องไปลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ในพื้นที่ใหม่ที่เราพักอาศัย ตั้งแต่วันที่ย้ายเข้า แต่ต้องไม่เกินเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น
โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งเดิมยังคงจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถึงเดือนกันยายนของปีงบประมาณที่ย้ายภูมิลำเนา และหลังจากนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่จะจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อเนื่องในเดือนตุลาคมปีงบประมาณถัดไป
เช่น ย้ายออกจากภูมิลำเนาเดิมก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จะต้องมาลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ภูมิลำเนาใหม่ ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จึงจะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
บทความที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ
- เคลียร์ชัด ๆ ! ได้เงินบำนาญชราภาพ แล้วมีสิทธิได้เบี้ยคนชราหรือไม่ มาดู
- ขอคืนเงินประกันสังคม บำเหน็จ บำนาญชราภาพ ก่อนอายุ 55 ปี ได้ไหม ถ้าตกงาน หรือลาออก ?
- เงินชราภาพ บำเหน็จ-บำนาญประกันสังคม ขอคืนได้เมื่อไหร่ ใครมีสิทธิ์บ้าง ?
- วัยเกษียณทําอะไรดี รวม 20 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงาก็ได้ สร้างรายได้เสริมก็ดี !
- เกษียณสนุกในยุค Gig Economy หาอาชีพเสริมอะไรดีที่เหมาะกับเรา
- เบี้ยผู้สูงอายุ 2566-2567 ลงทะเบียนเมื่อไหร่ ใครมีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพคนชรา พร้อมเช็กเงินเข้าวันไหน
ขอบคุณข้อมูลจาก
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
องค์การบริหารส่วนตำบลโคกไทย อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
องค์การบริหารส่วนตำบลกฤษณา อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี