สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แจง กรณีเกิดข้อวิจารณ์โครงการ "ช้อปดีมีคืน" เอื้อเฉพาะกลุ่มคนมีรายได้สูง ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ชี้ เป็น 1 ใน 3 มาตรการที่ออกมา เพื่อครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วน
ภาพจาก AlivePhoto / Shutterstock.com
วันที่ 12 ตุลาคม 2563 เฟซบุ๊ก สถานีข่าวกระทรวงการคลัง เผยข้อชี้แจงโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ประเด็นเกิดข้อวิจารณ์โครงการช้อปดีมีคืน 2 ประเด็น คือ
1. นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มองว่า โครงการนี้เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ตรงจุด เพราะขณะนี้ประชาชนไม่มีความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อเอาภาษีคืน ผลประโยชน์จึงตกไปอยู่กับกลุ่มผู้มีรายได้สูงตั้งแต่ 300,000 บาทขึ้นไป ซึ่งทำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำชัดเจนมากขึ้น
2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า โครงการดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) อาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเท่าใด
ภาพจาก athurstock / Shutterstock.com
ข้อเท็จจริง
กระทรวงการคลัง ขอชี้แจงว่า มาตรการช้อปดีมีคืน เป็น 1 ใน 3 มาตรการเพื่อรักษาระดับการบริโภคในประเทศ นอกเหนือจาก "โครงการคนละครึ่ง" และ "โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ของกระทรวงการคลัง ซึ่งทั้ง 3 มาตรการจะครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วนกว่า 28 ล้านคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 192,000 ล้านบาท และ GDP จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.54
มาตรการ "ช้อปดีมีคืน"
- มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี และประชาชนผู้ที่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น ซึ่งเป็นเศรษฐกิจระดับฐานราก และส่งเสริมการอ่าน อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
- เน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี ไม่มีข้อกำหนดใด ๆ ในเรื่องขนาด ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทุกรายล้วนแล้วแต่อยู่ในข่ายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ทั้งสิ้น
โครงการคนละครึ่ง
- เป็นโครงการดูแลช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าขนาดเล็ก ที่ประกอบกิจการขายสินค้าหาบเร่แผงลอยที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งขณะนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 226,161 ร้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2563)
โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน โดยการเพิ่มวงเงินพิเศษสำหรับซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น 500 บาท/คน/เดือน ระยะเวลา 3 เดือน (ตุลาคม-ธันวาคม 2563) ซึ่งกระทรวงการคลังได้ทำการโอนเงินงวดแรกแล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะมีการติดตามทุกมาตรการ/โครงการอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ขอให้ติดตามรายละเอียดมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" ภายหลังผ่าน ครม. ต่อไป
บทความและข่าวช้อปดีมีคืน