สำนักงาน ประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ตอบคำถามข้อสงสัย โดนลดเงินเดือน จากผลกระทบโควิด 19 จะได้รับเงินชดเชยเยียวยาไหม

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยา ให้เงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 รายละ 5,000 บาทต่อเดือน ผ่านการลงทะเบียน www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยให้สิทธิ์เพียงแค่ ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ
ที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ตามเกณฑ์ที่กำหนด
ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เท่าเทียม
โดยผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมจำนวนไม่น้อย ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่ต่างกัน บางรายหากไม่ถูกบังคับให้ลาออก เลิกจ้าง หรือหยุดงานแบบไม่ได้รับเงินเดือน ก็อาจจะถูกปรับลดเงินเดือน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่า แล้วบุคคลกลุ่มนี้จะได้รับเงินชดเชยเยียวยาอย่างไรบ้างหรือไม่ ล่าสุด วันที่ 11 เมษายน 2563 ทางเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ออกมาตอบแล้ว

คำตอบคือ ไม่มี เนื่องจากลูกจ้างได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายประโยชน์ทดแทน
- กรณีนายจ้างให้หยุดงาน และจ่ายเงินค่าจ้างให้ 75 เปอร์เซ็นต์ ทางสำนักงานประกันสังคมจะเยียวยาอย่างไร
คำตอบคือ ไม่มี เนื่องจากนายจ้างยังจ่ายเงินให้อยู่ ถือว่ามีรายได้ จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย และนายจ้างมีหน้าที่หักค่าจ้าง เพื่อนำส่งเงินสมทบให้ลูกจ้างตามกฎหมาย
- กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง และไม่มีการแจ้งออกจากงาน จะได้รับสิทธิใดบ้าง
คำตอบคือ ลูกจ้างยังคงทำงาน แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง ให้ลูกจ้างไปยื่นคำร้องที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทุกจังหวัด แต่หากไม่มีการจ้างงาน แต่นายจ้างไม่แจ้งออกจากระบบประกันสังคม ทางสำนักงานประกันสังคมมีหน้าที่ดำเนินการติดตาม ให้นายจ้างชี้แจงข้อเท็จจริงตามกฎหมาย เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์