x close

ตกงานทำไงดี 10 สิ่งที่ควรทำหลังโดนไล่ออกจากงาน ล้มแล้วต้องรีบลุก !

          ตกงาน หรือโดนเลิกจ้างด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา อย่าเพิ่งฟูมฟาย ตั้งสติให้ดีแล้วทำตามนี้ ล้มแล้วต้องรีบลุก เริ่มต้นใหม่ให้ได้โดยไว 

ตกงาน
 
          สำหรับมนุษย์เงินเดือนทุกคน สิ่งที่ไม่อยากพบเจอมากที่สุดก็คือ การตกงาน หรือการถูกเลิกจ้าง เพราะนอกจากจะทำให้เสียรายได้ และเสียโอกาสไปแล้ว สมัยนี้งานดี ๆ ก็ไม่ได้หากันง่าย ๆ แต่ถ้าหากคุณต้องพบกับเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้นมาโดยไม่ทันตั้งตัว สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การมานั่งเสียใจ หรือตีอกชกตัวให้รู้สึกเจ็บใจมากขึ้นไปกว่าเดิม แต่ควรตั้งสติแล้วเริ่มทำทั้ง 10 สิ่งที่เราหยิบมาแนะนำกันในวันนี้ อย่าปล่อยให้ตัวเองจมปลักอยู่กับความผิดหวัง ในเมื่อเราสามารถลุกขึ้นมาเริ่มต้นใหม่ได้
 
1. ควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้

          แน่นอนล่ะว่าคงไม่มีใครสามารถทำให้ตัวเองใจเย็นได้หลังจากที่รู้ว่าตัวเองต้องตกงาน แต่การควบคุมอารมณ์ให้ได้มากที่สุดก็เป็นหนึ่งวิธีที่จะทำให้คุณตั้งสติได้ไวขึ้น และรู้ว่าควรจะทำอะไรต่อไป แม้ว่าในตอนนั้นอาจจะเต็มไปด้วยความรู้สึกโกรธ ผิดหวัง เสียใจ ท้อแท้ แต่ก็มีแค่คุณเท่านั้นที่จะช่วยพยุงตัวเองให้ลุกขึ้นมาได้ใหม่ ฉะนั้นดึงสติตัวเองกลับมาเดี๋ยวนี้เลย รับรองว่าจะได้มองเห็นหนทางดี ๆ ที่ตอนแรกคุณอาจจะมองไม่เห็นอย่างแน่นอน

2. รักษาสิทธิ์ของตัวเอง

          ถึงแม้จะถูกเลิกจ้าง แต่ก็ใช่ว่าคุณจะไม่มีสิทธิ์ในฐานะลูกจ้าง คุณไม่ควรปล่อยให้ทุกอย่างจบไปโดยตัวเองเสียเปรียบ กลับไปอ่านสัญญาการว่าจ้างที่คุณเคยเซ็นตอนเริ่มงาน และกลับมาถามในสิ่งที่คุณพึงได้จากการออกจากงานในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นใบรับรองผ่านงาน กองทุนสำรอง เงินสะสม ประกันสุขภาพ หรือเงินชดเชย ควรถามให้ละเอียด เพราะไม่มีใครสามารถรักษาสิทธิ์ของคุณได้ดีเท่ากับตัวเองแน่นอน

          ทั้งนี้ หากคุณถูกเลิกจ้างยังมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยจากนายจ้าง ตั้งแต่ 30 วัน ถึง 400 วัน ขึ้นอยู่กับอายุงานด้วย อ่านรายละเอียดเรื่องเงินชดเชยที่นี่


ตกงาน
 
3. อย่ามัวตำหนิคนอื่น แต่จงมองข้อผิดพลาดของตนเอง

          หลาย ๆ คนที่ถูกไล่ออกจากงานก็มักจะเอาแต่คิดและตำหนิหัวหน้าหรือที่ทำงานเก่า รวมทั้งมองหาข้อผิดพลาดของพวกเขาเหล่านั้นเพื่อเป็นการปลอบใจตัวเอง แต่ถ้าทำแบบนั้นคุณจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และถ้าหากได้งานใหม่ก็อาจจะทำให้คุณมีจุดจบแบบเดิม ๆ ดังนั้นหยุดอวยตัวเอง หันมามองถึงข้อผิดพลาดของตนเอง นำข้อผิดพลาดเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนและปรับปรุงตัวเองเพื่อรอรับสิ่งใหม่ ๆ กันดีกว่า

4. ขอบคุณเพื่อนร่วมงาน

          แม้ว่าสุดท้ายระหว่างคุณกับที่ทำงานจะจบกันไม่สวย แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่คุณจะไม่ไยดีในสิ่งที่ผ่านมา ลองใช้เวลานึกทบทวนในสิ่งดี ๆ ที่เคยได้รับจากหัวหน้า และเพื่อนร่วมงาน แล้วเขียนอีเมลส่งไปขอบคุณพวกเขา แม้ว่าในที่สุดจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว แต่บางทีการคงเหลือมิตรภาพในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่งก็ย่อมดีกว่า และไม่แน่ว่าในวันหนึ่งเพื่อนร่วมงานอาจจะเป็นคนหยิบยื่นโอกาสในการทำงานดี ๆ ให้คุณก็ได้นะ

5. เช็กสิทธิประกันสังคม

ตกงาน

          สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ทำงานมาเป็นเวลานาน ๆ หลายปี หากวันหนึ่งคุณต้องออกจากงานแบบกะทันหัน สิ่งที่คุณควรทำเป็นอันดับแรกก็คือตรวจสอบสิทธิที่พึงได้รับจากสำนักงานประกันสังคม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทำงานเกือบทุกคน ทั้งนี้ ควรจะเช็กว่าตัวเองจะได้รับการคุ้มครองเรื่องการรักษาพยาบาลถึงเมื่อไร ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน

          นอกจากนี้ควรรีบไปขึ้นทะเบียนคนว่างงานภายในระยะเวลา 30 วัน ตั้งแต่ออกจากงานด้วย เพราะตามเงื่อนไขของประกันสังคม ผู้ที่ส่งเงินสมทบติดต่อกัน 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนว่างงาน จะสามารถขึ้นทะเบียนคนว่างงาน และรับเงินชดเชยได้ ดังนี้

          - ลาออกเอง จะได้รับชดเชย 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย ไม่เกินปีละ 90 วัน
          - ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชยในจำนวน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย ไม่เกินปีละ 180 วัน
 
          ทั้งนี้ เงินชดเชยจะคิดจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำ 1,650 บาท/เดือน และฐานเงินสมทบสูงสุด 15,000 บาท/เดือน

          อย่างไรก็ตาม หากเป็นการเลิกจ้าง หรือลาออกเอง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 โดยบังคับใช้เป็นเวลา 2 ปี) จะได้รับเงินชดเชยในอีกอัตราหนึ่ง คือ

          - ลาออกเอง รับเงินกรณีว่างงาน 45% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน

          - ถูกเลิกจ้าง รับเงินกรณีว่างงาน 70% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน

          โดยต้องลงทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคม และขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่เว็บไซต์ empui.doe.go.th ภายใน 30 วัน หลังออกจากงาน

6. ขึ้นทะเบียนกับกรมจัดหางาน

          หากกำลังอยู่ในช่วงสุญญากาศ จะหางานใหม่ก็ยังหาไม่ได้ จะหาอะไรทำเป็นรายได้เสริมก็ไม่รู้จะทำอะไรดี ขอแนะนำให้ขึ้นทะเบียนตนเองกับกรมการจัดหางาน หน่วยงานนี้นอกจากเป็นตัวช่วยในการหางานใหม่ให้คุณแล้ว ก็ยังมีการฝึกอบรมดี ๆ ที่สามารถไปสร้างเป็นอาชีพได้ โดยสามารถไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานจัดหางานได้ทั่วประเทศ ไม่แน่นะ บางทีอาจจะได้ความรู้ด้านอาชีพใหม่ ๆ หรืออาจจะได้โอกาสในการทำงานดี ๆ จากที่นี่ก็เป็นได้

7. ปรับปรุงเรซูเม่

ตกงาน

          หลายคนเมื่อยังทำงานอยู่ก็ไม่เคยนึกจะสนใจกับเรซูเม่ของตนเอง จนกระทั่งถึงเวลาที่จะต้องใช้อีกครั้งนี่ล่ะ ดังนั้น หากในวันหนึ่งที่คุณเกิดตกงานละก็ ก่อนที่จะเริ่มหางานใหม่ ควรให้เวลากับการปรับปรุงเรซูเม่อันเดิมเสียก่อน เพิ่มเติมข้อมูลของงานที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตของงาน ผลงานที่เคยทำ ถ้าคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ ๆ ก็อย่าลืมเติมความสนใจใหม่ ๆ ลงไปด้วย หรือถ้าคิดว่ารูปแบบเรซูเม่ของคุณเริ่มจะล้าสมัยเกินไป ก็ทำขึ้นมาใหม่เลย แล้วส่งใบสมัครไปเรื่อย ๆ หรือกรอกใบสมัครตามเว็บไซต์หางานทั่วไปก็ได้ เท่านี้ก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้หางานใหม่ได้ง่ายขึ้นไปอีกนิดแล้วล่ะ

8. จัดระเบียบรายรับ-รายจ่ายใหม่

          เมื่อตอนที่ยังทำงานอยู่ จะใช้จ่ายอะไรก็ดูจะไม่ขัดสนมากนัก แต่เมื่อตกอยู่ในสภาพคนว่างงานที่ไม่มีรายได้ การใช้เงินแบบเดิม ๆ จะทำให้คุณลำบากอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น ควรให้เวลาในการจดบันทึกรายจ่ายที่เคยผ่านมา ดูว่าตรงไหนที่จำเป็น และตรงไหนที่ควรตัดทิ้ง การรัดเข็มขัดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด นอกจากจะช่วยให้คุณไม่ลำบากจนเกินไปแล้ว ก็เป็นการเปลี่ยนนิสัยการใช้เงินในระยะยาวด้วย

          แต่หากมีเงินไม่พอใช้จริง ๆ ลองดูวิธีเหล่านี้ 9 ขั้นฝ่าวิกฤตการเงิน เมื่อถูกลดเงินเดือน รายได้หดหาย เงินไม่พอใช้ ทำไงดี ? 

9. มองหาโอกาสใหม่ ๆ

ตกงาน

          สำหรับบางคนการออกจากงานที่เก่าก็อาจจะไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำงานไปในแต่ละวันโดยที่ไม่ได้ชอบงานที่ทำอยู่จริง ๆ หรือมีความฝันที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองชอบแต่ไม่มีเวลาจริง ๆ จัง ๆ เสียที ดังนั้น ใช้เวลานี้ให้เป็นประโยชน์ ลองหาโอกาสใหม่ ๆ ทบทวนความฝันที่เคยพับเก็บไปเพราะการทำงาน นำออกมาปัดฝุ่นแล้วเริ่มทำซะ ไม่มีอะไรสายไปหรอกนะ ถ้าหากตั้งใจจะเริ่มทำจริง ๆ

10. ใช้เวลากับตัวเองให้มากขึ้น

          ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ จนพักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือไม่มีเวลาแม้แต่จะออกกำลังกาย จงใช้เวลาตอนนี้ให้คุ้มค่า อย่ามองว่าเวลาที่ว่างลงเพราะไม่ได้ทำงานจะเป็นเรื่องเลวร้าย คิดเสียว่าตัวเองได้พักผ่อนเพื่อดูแลตัวเองให้มากขึ้น นอกจากนี้อย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่บ้านเฉย ๆ เด็ดขาด แต่ควรหาอะไรทำให้ตัวเองไม่ว่าง จะได้ไม่คิดฟุ้งซ่านไงล่ะ

          เช่น มีงานอดิเรกอะไรที่ชอบทำ และสามารถนำมาสร้างอาชีพได้ หรือเคยมีอาชีพเสริมอะไรที่ทำแล้วได้เงิน ถึงเวลาหยิบสิ่งเหล่านั้นมาหารายได้อย่างจริง ๆ จัง ๆ ซะที
 
          แม้การถูกเลิกจ้างจะเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด แต่ก็อย่ามองโลกในแง่ร้ายมากจนเกินไป ทุกอย่างย่อมมีทางออกเสมอหากเราตั้งสติได้ไว และนำข้อผิดพลาดเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนสอนให้เราไม่ทำผิดพลาดอีกเป็นครั้งที่ 2 เชื่อว่าถ้าเราสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว โอกาสก็ไม่มีวันจะทอดทิ้งเราไปอย่างแน่นอน


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 27 เมษายน 2563


ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานประกันสังคม
businessinsider.com 
lifehack.org
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตกงานทำไงดี 10 สิ่งที่ควรทำหลังโดนไล่ออกจากงาน ล้มแล้วต้องรีบลุก ! อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2563 เวลา 16:26:44 126,982 อ่าน
TOP