x close

ประกันสังคม มาตรา 39 คืออะไร สิทธิประกันสังคม มีอะไรบ้าง



          มาตรา 39 คืออะไร ประกันสังคม มาตรา 39 มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้างนั้น วันนี้ เรามีคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝาก
 
            ประกันสังคม มาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจที่ยังอยากส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหลังผันตัวออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือมีเหตุให้ต้องหลุดออกจากงานเดิม แต่ยังต้องการคงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของประกันสังคมไว้ ว่าแต่...สิทธิประโยชน์ประกันสังคม ในส่วนของมาตรา 39 มีอะไรบ้าง ขึ้นทะเบียนประกันสังคม มาตรา 39 ต้องทำอย่างไร ใช้เอกสารอะไรประกอบ วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก 

สิทธิรักษาพยาบาล

ประกันสังคม มาตรา 39 คืออะไร


            มาตรา 39 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ระบุว่า

            "ผู้ใดเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบสองเดือน และต่อมาความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 (2) ถ้าผู้นั้นประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในหกเดือน นับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

            จำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง ต้องส่งเข้ากองทุนตามมาตรา 46 วรรคสอง ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจในขณะนั้นด้วย ให้ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละครั้ง ภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป

            ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งซึ่งไม่ส่งเงินสมทบหรือส่งไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคสาม ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่งหรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ สำหรับเศษของเดือน ถ้าถึงสิบห้าวันหรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่งเดือน ถ้าน้อยกว่านั้นให้ปัดทิ้ง"

            เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเท่ากับบุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาก่อน เมื่อได้สิ้นสุดความเป็นลูกจ้างของบริษัทที่เราเป็นลูกจ้าง ก็ทำให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสุดตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ หากเรายังมีความประสงค์จะรักษาสถานภาพการเป็นผู้ประกันตนต่อก็สามารถทำได้ ด้วยการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเอง เพราะทางประกันสังคมต้องการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกัน ตามนโยบายพื้นฐานที่ว่าด้วยการเฉลี่ยความสุขและทุกข์

ประกันสังคม มาตรา 39 ต่างกับ มาตรา 33 อย่างไร


          ประกันสังคม มาตรา 33 ถือเป็นภาคบังคับที่บริษัทต้องทำให้พนักงาน/ลูกจ้าง โดยพนักงานต้องส่งเงินสมทบเข้าสำนักงานประกันสังคม 5% ของฐานเงินเดือน ส่วนนายจ้างต้องสมทบให้อีก 5% ขณะที่รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มให้อีก 2.75% โดยยึดฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

          นั่นคือพนักงานบริษัทจะจ่ายเงินสมทบสูงสุดไม่เกินเดือนละ 750 บาท นายจ้างก็จะจ่ายสมทบให้สูงสุดไม่เกินเดือนละ 750 บาท และรัฐบาลจะจ่ายสมทบให้ไม่เกินเดือนละ 412.50 บาท

          ทั้งนี้ ผู้ประกันตน มาตรา 33 จะได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน

          ส่วนผู้ประกันตน มาตรา 39 เป็นการประกันตนภาคสมัครใจ กรณีที่เคยทำงานในบริษัทและประกันตน มาตรา 33 มาก่อน แต่เกิดตกงานหรือลาออก แล้วยังต้องการรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมอยู่ ก็สามารถสมัครในมาตรา 39 ได้ โดยผู้ประกันตนจะส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน (คิดจากฐานสูงสุด 4,800 บาท) และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน ได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ

          อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 จะต้องผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และลาออกมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน นอกจากนี้ต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ จึงจะสมัครมาตรา 39 ได้

           นอกจากนี้ยังมี ประกันสังคม มาตรา 40 ซึ่งเป็นแบบประกันสังคมสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร รวมไปถึงพนักงานอิสระต่าง ๆ อีกหนึ่งมาตราด้วย

ประกันสังคม มาตรา 39 สิทธิประโยชน์มีอะไรบ้าง


            ผู้ประกันสังคม มาตรา 39 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนครบ จะได้รับความคุ้มครอง ดังนี้

            1. กรณีเจ็บป่วย 
            2. กรณีทุพพลภาพ 
            3. กรณีคลอดบุตร 
            4. กรณีสงเคราะห์บุตร
            5. กรณีชราภาพ
            6. กรณีเสียชีวิต

1. สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย ตามมาตรา 39

สิทธิกรณีเจ็บป่วย

          มีหลายกรณีที่ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล คือ
          - กรณีเจ็บป่วย
          - กรณีปลูกถ่ายไขกระดูก
          - กรณีการบำบัดทดแทนไต
          - กรณีทันตกรรม
          - กรณีขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้
          - ค่าพาหนะกรณีย้ายสถานพยาบาล

          ในที่นี้จะขอให้รายละเอียดเฉพาะ 3 กรณีหลัก ๆ คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทันตกรรม และกรณีขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ ส่วนกรณีอื่น ๆ สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ประกันสังคม

            1. กรณีเจ็บป่วยทั่วไป อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน แบ่งได้ 2 กรณี

                - เจ็บป่วยปกติ ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

                - เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอันตราย

                สำหรับกรณีประสบอันตราย ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจํานวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน วันที่ 22 กันยายน 2560 ระบุว่า หากผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลตามสิทธิ และจำเป็นต้องรักษาในสถานพยาบาลแห่งอื่น สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล ดังนี้

สถานพยาบาลของรัฐ

            ผู้ป่วยนอก

            - สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น

            ผู้ป่วยใน

            - สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ยกเว้น ค่าห้องและอาหารเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท

สถานพยาบาลเอกชน

            กรณีผู้ป่วยนอก

            - สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินครั้งละ 1,000 บาท

            - สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงเกินครั้งละ 1,000 บาทได้ หากมีการตรวจรักษาตามรายการในประกาศ ดังนี้

                      * การได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาทต่อยูนิต

                      * สารต่อด้านพิษจากเชื้อบาดทะยักชนิดทำจากมนุษย์ เท่าที่จ่ายจริง 400 บาทต่อราย
  
                      * ค่าฉีดวัคซีน/เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
                          - Rabies Vaccine เฉพาะเข็มแรก เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 290 บาท
                          - Rabies antiserum-ERIG เฉพาะเข็มแรก เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาท
                          - Rabies antiserum-HRIG เฉพาะเข็มแรก เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 8,000 บาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

                      * อัลตราซาวด์ เฉพาะกรณีภาวะฉุกเฉินเฉียบพลันในช่องท้อง เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาทต่อราย

                      * CT-SCAN เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 4,000 บาท หรือ MRI เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 8,000 บาทต่อราย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์กำหนด

                      * การขูดมดลูก เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,500 บาทต่อราย เฉพาะกรณีที่มีภาวะตกเลือดหลังการคลอดหรือภาวะตกเลือดจากการแท้งบุตร

                      * ค่าฟื้นคืนชีพรวมค่ายาและอุปกรณ์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 4,000 บาทต่อราย

                      * กรณีที่มีการสังเกตอาการในห้องสังเกตอาการตั้งแต่ 3 ชั่วโมงขึ้นไป เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาทต่อราย

            กรณีผู้ป่วยใน

          จะได้รับค่าบริการทางแพทย์เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ดังนี้

            - ค่ารักษาพยาบาล กรณีที่ไม่ได้รักษาในห้อง ICU ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกินวันละ 2,000 บาท

            - ค่าห้องและค่าอาหารตามจริง ไม่เกินวันละ 700 บาท

            - ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาลกรณีที่รักษาในห้อง ICU ตามจริง ไม่เกินวันละ 4,500 บาท

            - กรณีที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000-16,000 บาท ตามระยะเวลาการผ่าตัด

            - การฟื้นคืนชีพรวมค่ายาและอุปกรณ์ตามจริง ไม่เกิน 4,000 บาท

            - ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ และหรือเอกซเรย์ ตามจริง ไม่เกินรายละ 1,000 บาท

            - กรณีมีความจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยพิเศษ ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง การตรวจคลื่นสมอง การตรวจอัลตราซาวด์ การสวนเส้นเลือดหัวใจและเอกซเรย์ การส่องกล้อง การตรวจด้วยการฉีดสี การตรวจด้วย CT-SCAN หรือ MRI จ่ายตามเงื่อนไขที่กำหนด

          สำหรับกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินในสถานพยาบาลรัฐหรือเอกชน ให้เบิกจ่ายได้ตามกรณีประสบอันตราย และยังมีเพิ่มเติมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ดังนี้

             -กรณีใช้ยาละลายลิ่มเลือด ในการรักษาโรคเกี่ยวกับการอุดตันของหลอดเลือดสมอง จ่ายค่ายาละลายลิ่มเลือดด้วยการฉีดยาทางหลอดเลือดดำและทำ CT Brian ก่อนและหลังฉีดยา เหมาจ่ายครั้งละ 50,000 บาทถ้วน

             - กรณีใช้ยาละลายลิ่มเลือดรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดที่มีการยกขึ้นของคลื่นไฟฟ้าส่วน ST จ่ายเป็นค่าละลายลิ่มเลือด Streptokinase และค่าฉีดยาเหมาจ่ายครั้งละ 10,000 บาทถ้วน และกรณีใช้ยาละลายลิ่มเลือด rt-PA หรือ TNK-tPA และค่าฉีดยาเหมาจ่ายครั้งละ 50,000 บาทถ้วน


          ทั้งนี้ กรณีที่เป็นโรคหรือเข้ารับบริการในกลุ่มโรคยกเว้น จะไม่มีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ คือไม่สามารถเบิกประกันสังคมได้ ประกอบด้วย

          1. การกระทำใด ๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

          2. การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง

          3. การรักษาภาวะมีบุตรยาก

          4. การตรวจใด ๆ ที่เกินกว่าความจำเป็นในการรักษาโรคนั้น

          5. การเปลี่ยนเพศ

          6. การผสมเทียม

          7. ทันตกรรม ยกเว้นการถอนฟัน การอุดฟัน การขูดหินปูนและผ่าฟันคุด ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 900 บาทต่อปี กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ มีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,300-4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี

          8. แว่นตา


          2. กรณีทันตกรรม

ทันตกรรม

          ผู้ประกันตนสามารถทำฟันได้ในสถานพยาบาลที่รองรับสิทธิประกันสังคม โดยได้รับสิทธิประโยชน์คือ

          - ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง 900 บาทต่อครั้งต่อปี
          - กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
             (ก) 1-5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท
             (ข) มากกว่า 5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท 

          - กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
             (ก) ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท
             (ข) ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท  

          ทั้งนี้ หากเข้ารับบริการทันตกรรมแล้ว ผู้ประกันตนจะต้องสำรองจ่ายไปก่อน และต้องขอใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จรับเงิน และแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16) มายื่นขอรับเงินคืนที่สำนักงานประกันสังคม

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสถานพยาบาลหลายแห่งที่เข้าร่วมโครงการทำฟันไม่ต้องสำรองจ่าย ดังนั้น หากผู้ประกันตนเข้ารับบริการทันตกรรมในสถานพยาบาลแห่งนี้ ก็จะไม่ต้องนำเอกสารต่าง ๆ มายื่นขอรับเงินคืนอีก 

          3. เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วยมาตรา 39

            เงินทดแทนการขาดรายได้สำหรับการหยุดงาน เพื่อการรักษาพยาบาลตามคำสั่งแพทย์ในรอบปีปฏิทิน ถ้าผู้ประกันตนลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างครบ 30 วัน ตามกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแล้วต้องหยุดงานตามคำสั่งแพทย์ต่อไปอีก สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินเรียกว่า "เงินทดแทนการขาดรายได้" ซึ่งผู้ประกันตนได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ในรอบปีหนึ่ง ๆ ก็จะจ่ายให้ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน

            ดังนั้น ผู้ประกันตน มาตรา 39 จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 80 บาท โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุด 4,800 บาท เท่ากับได้รับค่าจ้างวันละ 160 บาท จึงจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของ 160 บาท คือ 80 บาท

          อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในระหว่างหยุดงาน เพื่อการรักษาพยาบาลตามกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือมีสิทธิตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานสัญญาจ้างแรงงาน หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วแต่กรณี ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จนกว่าสิทธิที่ได้รับเงินค่าจ้างนั้นได้สิ้นสุด จึงจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ดังกล่าวเท่ากับระยะเวลาที่คงเหลือ

ปัจจุบันกำหนดโรคเรื้อรังไว้ 6 รายการ ดังนี้

             1. โรคมะเร็ง
             2. โรคไตวายเรื้อรัง
             3. โรคเอดส์
             4. โรคหรือการบาดเจ็บของสมอง เส้นเลือดสมองหรือกระดูกสันหลังอันเป็นเหตุให้เป็นอัมพาต
             5. ความผิดปกติของกระดูกหักที่มีภาวะแทรกซ้อน
             6. โรคหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ต้องรักษาตัวนานติดต่อกันเกินกว่า 180 วัน ระหว่างการรักษาทำงานไม่ได้ให้ยื่นเรื่องขอมติคณะกรรมการการแพทย์
 

2. สิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพ ตามมาตรา 39


ทุพพลภาพ

            ทุพพลภาพ คือ การสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย หรือสูญเสียภาวะปกติของจิตใจจนไม่สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด

            และผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้เป็นผู้ทุพพลภาพ และเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจนถึงขั้นทุพพลภาพเท่านั้น จึงจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์นี้ได้

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพจะได้รับ มีดังนี้

ค่ารักษาพยาบาล
 
            - กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลของรัฐ สำหรับผู้ทุพพลภาพสามารถเข้าทำการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่เลือก หรือสถานพยาบาลของรัฐ กรณีผู้ป่วยนอก จ่ายค่ารักษาเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น กรณีผู้ป่วยใน เข้ารักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทางสถานพยาบาลจะเป็นผู้มายื่นเรื่องเบิกกับทางสำนักงานประกันสังคม

            - กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยนอก จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท ส่วนผู้ป่วยใน จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท

            - ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับ-ส่งผู้ทุพพลภาพ ให้เหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท

            - กรณีเบิกรถนั่งสำหรับผู้ทุพพลภาพที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ด้วยตัวเองตลอดชีวิต (ตามดุลยพินิจของคณะกรรมการ) สามารถเบิกได้ไม่เกินคันละ 150,000 บาท

เงินทดแทนการขาดรายได้


            - ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพรุนแรง จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างประเมิน (สูงสุดไม่เกิน 4,800 บาท) ทุกเดือน ตลอดชีวิต 

            - กรณีทุพพลภาพไม่รุนแรง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างประเมิน (สูงสุดไม่เกิน 4,800 บาท) เป็นเวลาไม่เกิน 15 ปี หรือ 180 เดือน

            สำหรับค่าทดแทนการขาดรายได้ หากนายจ้างยังจ่ายไม่ครบ 15 ปี แล้วลูกจ้างเสียชีวิตก่อน นายจ้างจะต้องจ่ายให้ผู้มีสิทธิ เช่น ทายาท ต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาตามสิทธิ แต่ระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนรวมกันต้องไม่เกิน 10 ปี

ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน

            - ผู้ทุพพลภาพสามารถเข้ารับการฟื้นฟูในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานของสำนักงานประกันสังคม โดยมีค่าฟื้นฟูไม่เกิน 40,000 บาท

เงินบำเหน็จชราภาพ

            - ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเมื่อมีมติให้เป็นผู้ทุพพลภาพ และสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน

ค่าทำศพ

            กรณีผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพถึงแก่ความตาย ผู้จัดการศพมีสิทธิได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท (มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป)

เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต

            - หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 36 เดือน แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ 4 เท่าของเงินทดแทนการขาดรายได้ เดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย

            - หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ 12 เท่าของเงินทดแทนการขาดรายได้ เดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย


3. สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร มาตรา 39

กรณีคลอดบุตร

            ค่าคลอดบุตร

            กรณีคลอดบุตรผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 จะต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร จึงมีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้ โดยคุณสามารถฝากครรภ์และคลอดบุตรที่โรงพยาบาลใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามบัตร เมื่อคลอดบุตรแล้วให้นำเอกสารมาเบิกเงินเหมาจ่ายค่าคลอด 15,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวน) และเงินค่าฝากครรภ์ จำนวนไม่เกิน 1,500 บาท (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป)

        ทั้งนี้ ในการขอเบิกเงินค่าคลอดบุตรนั้น ผู้ประกันตนจะต้องมายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น ซึ่งหากผู้ประกันตนไม่มารับภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน

            ค่าตรวจและรับฝากครรภ์

            - ครั้งที่ 1 : อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 500 บาท
            - ครั้งที่ 2 : อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
            - ครั้งที่ 3 : อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
            - ครั้งที่ 4 : อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ (7-8 เดือน) จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 200 บาท

            - ครั้งที่ 5 : อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป (8-10 เดือน) จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 200 บาท

            เงินสงเคราะห์กรณีหยุดงานคลอดบุตร

            สำหรับผู้ประกันตนหญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอดร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 2 ครั้ง) โดยต้องเตรียมเอกสารการเบิก สปส.2-01 พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน สูติบัตรตัวจริงและสำเนา แล้วนำมาเบิกได้ที่ สปส. พื้นที่ที่สะดวก ยกเว้นสำนักงานใหญ่ สำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน

            กรณีผู้ประกันตนชาย 

            หากเป็นผู้ประกันตนชายที่มีภรรยาคลอดบุตร สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ โดยนำสำเนาสูติบัตรของบุตร, สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี) หรือหนังสือรับรองกรณีไม่มีทะเบียนสมรส (เฉพาะกรณีผู้ประกันตนไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภริยา) มาเบิกเงินที่สำนักงานประกันสังคม จะได้รับเฉพาะเงินค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย 15,000 บาท

            กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้เลือกใช้สิทธิเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


4. สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร ตามมาตรา 39

สงเคราะห์บุตร

            หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์

            หลักเกณฑ์ที่จะทำให้ท่านมีสิทธิ คือ จ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีสงเคราะห์บุตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนและเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 สิทธิที่ท่านจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาท ต่อบุตร 1 คน

            ซึ่งกรณีนี้ผู้มีสิทธิขอรับประโยชน์มีเพียงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น และบุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน

            เงื่อนไขที่ได้รับกรณีสงเคราะห์บุตร

            - เงินสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน (บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น)

            - ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

            - จดทะเบียนสมรสกับมารดาของบุตร

            - จดทะเบียนรับรองบุตร

            - ยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร

            การหมดสิทธิรับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร

            - เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ขวบปีบริบูรณ์

            - บุตรเสียชีวิต

            - ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น

            - ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

          นอกจากนี้ ประกันสังคมยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนสามารถลงทะเบียนเพื่อรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดได้อีก 600 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ขวบ หากแม่หรือผู้ปกครองของเด็กมีคุณสมบัติ ดังนี้

          - สัญชาติไทย

          - อยู่ในครัวเรือนยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจน คือ มีรายได้รวมของครัวเรือนทั้งหมด หารด้วยจำนวนสมาชิกในครัวเรือน ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคนต่อปี


5. สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ มาตรา 39

บำนาญชราภาพ

            ผู้ประกันตน มาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบครบถ้วน จะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จประกันสังคม และเงินบำนาญประกันสังคม

            บํานาญชราภาพ ประกันสังคม มาตรา 39

            - จะได้รับเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

            - กรณีที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่จำเป็นต้องติดต่อกัน และรวมเดือนที่ประกันตนในมาตรา 33) มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

            - ในกรณีที่จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นทุก 12 เดือน

           - กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย

            บําเหน็จชราภาพ ประกันสังคม มาตรา 39

            จะได้รับเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนหรือทายาทจะได้รับเงินส่วนนี้

          *กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบ 12-179 เดือน (รวมเดือนที่ประกันตนในมาตรา 33)
         
             ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับจำนวนเงินสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบไว้ทั้งหมด พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด

          วิธีคำนวณเงินชราภาพ ประกันสังคม มาตรา 39

          - เดือนที่ประกันตนในมาตรา 33 จะได้รับเงินร้อยละ 6 คิดจากฐานรายได้ 1,650-15,000 บาทต่อเดือน เท่ากับจะได้รับเงิน 99-900 บาทต่อเดือน พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน

          - ส่วนเดือนที่ประกันตนในมาตรา 39 จะได้รับเงินร้อยละ 6 คิดจากฐานรายได้ 4,800 บาทต่อเดือน เท่ากับ 288 บาทต่อเดือน พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน

 
6. สิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิต ตามมาตรา 39

เสียชีวิต

            ผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน จะได้รับสิทธิประโยชน์ ตามมาตรา 39 เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย

            สำหรับหลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิต ตามมาตรา 39 มีรายละเอียด ดังนี้

            หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์

            1. ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท (มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2563) โดยจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ (ตามประกาศกฏกระทรวง วันที่ 26 มิถุนายน 2563)

            2. ได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย ดังนี้

                 * ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน
                 * ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน ให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิสามารถขอรับประโยชน์ทดแทนได้ภายใน 2 ปี

            หมายเหตุ : ค่าจ้างเฉลี่ย (ตามมาตรา 57) คือ ค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ 3 เดือนสูงสุด ภายในระยะเวลา 15 เดือน นำมารวมกันแล้วหารด้วย 90 จะได้ค่าจ้างต่อวัน แล้วคูณด้วย 30 จะได้ค่าจ้างต่อเดือน

            3. ทายาทสามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพได้ภายใน 2 ปี นับแต่ตาย (ดูรายละเอียดในกรณีชราภาพ)


            ใครคือผู้จัดการศพ

            บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพและได้เป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน กรณีไม่ได้ทำหนังสือระบุให้ใครเป็นผู้รับ จ่ายให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมายโดยเฉลี่ยเท่ากัน คือ

            - คู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน

            - บุคคลอื่นที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
 
สิทธิประกันสังคม
ภาพจาก เฟซบุ๊กสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

ประกันสังคม มาตรา 39 ได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้างในช่วงโควิด


          - ค่ารักษาพยาบาล กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

          - เงินทดแทนรายได้ อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยและต้องหยุดงาน ตามคำสั่งของแพทย์ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง (วันละ 80 บาท)

          - ผู้ประกันตน มาตรา 39 จะไม่ได้รับเงินกรณีว่างงานเหมือนกับผู้ประกันตน มาตรา 33 แต่สามารถลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือจากกระทรวงการคลัง ได้เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาท ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com 

          - ปรับลดอัตราเงินสมทบ ในปี 2564 จะได้ปรับลดอัตราส่งเงินสมทบดังนี้

            >> เดือนมกราคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 278 บาท
            >> เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 38 บาท
            >> เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 216 บาท  

          - ผู้ประกอบกิจการ 9 อาชีพที่ได้รับผลกระทบ ใน 10 จังหวัดพื้นที่สีแดง ตามคำสั่ง ศบค. ฉบับที่ 27 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท โดย 9 กิจการอาชีพประกอบด้วย
  
           1. กิจการก่อสร้าง

           2. กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร

           3. กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ

           4. กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ

           5. สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า

           6. สาขาขายส่งและการขายปลีก

           7. สาขาการซ่อมยานยนต์

           8. สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ

           9. สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

สมัครประกันสังคม มาตรา 39 ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร


            1. เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน

            2. ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

สมัครประกันสังคม มาตรา 39 ได้อย่างไร


            การยื่นใบสมัครผู้ประกันตน มาตรา 39 คือ

            ผู้ประกันตนที่ประสงค์จะส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมด้วยตนเองโดยสมัครใจ โดยมีรายละเอียดการยื่นใบสมัครผู้ประกันตนมาตรา 39 ดังนี้

            1. ต้องยื่นใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส.1-20) ด้วยตนเอง ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน

            2. สถานที่ยื่นใบสมัคร

                - กรุงเทพฯ : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 แห่ง

                - ภูมิภาค : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

สมัครประกันสังคม มาตรา 39 ใช้หลักฐานอะไร


            1. แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20)   

            2. บัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนา

            3. กรณีประสงค์จะชำระเงินสมทบโดยหักบัญชีธนาคาร ให้แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชี พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

สมัครประกันสังคม มาตรา 39 ออนไลน์ได้ไหม


           ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคม เปิดให้สามารถสมัครประกันสังคม มาตรา 39 ทางออนไลน์ได้แล้วที่ www.sso.go.th

ประกันสังคม มาตรา 39
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน - Social Security Office

ประกันสังคม มาตรา 39 จ่ายเงินสมทบเท่าไร


            สำหรับเงินสมทบที่ต้องนำส่งสำนักงานประกันสังคม คือ เดือนละ 432 บาทต่อเดือน

            เงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาท เท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาทต่อเดือน) ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี (กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ) ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

เงินสมทบประกันสังคม
 

วิธีจ่ายเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 39


            ผู้ประกันตนสามารถจ่ายเงินสมทบมาตรา 39 ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา พร้อมแบบส่งเงินสมทบ (สปส. 1-11) หรือใช้วิธีหักจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และการจ่ายด้วยเงินสดที่ธนาคาร ดังนี้

            1. หักจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ คือ

                - ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
                - ธนาคารกรุงไทย
                - ธนาคารกสิกรไทย
                - ธนาคารไทยพาณิชย์
                - ธนาคารทหารไทยธนชาต
                - ธนาคารกรุงเทพ


            2. จ่ายด้วยเงินสดที่

                - ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
                - ธนาคารกรุงไทย
                - ธนาคารทหารไทยธนชาต
                - จ่ายผ่านเคาน์เตอร์บริการ ได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส, เทสโก้ โลตัส, เซ็นเพย์, บิ๊กซี และที่ทำการไปรษณีย์ไทย
                - สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา

หน้าที่ของผู้ประกันตน มาตรา 39


            1. ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากเกินกำหนดต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน

            2. ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงให้สำนักงานประกันสังคม ดังนี้

                - กรณีเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อ ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ตามแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อ (สปส.1-34)

                - กรณีเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุล หรือแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ต้องแจ้งทันทีพร้อมแนบสำเนาหลักฐาน

                - กรณีประสงค์ลาออกหรือกลับเข้าทำงานและมีสถานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรทันทีตามแบบแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส.1-21)

เช็กรายชื่อประกันสังคม มาตรา 39


            สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่อยากเช็กรายชื่อประกันสังคม มาตรา 39 นั้น สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หลังจากนั้นก็ใส่หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักของผู้ที่ต้องการค้นหาลงไป

หนังสือมอบอำนาจเป็นผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 39

 
            ในกรณีที่ผู้ประกันตน มาตรา 39 ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปรับเงินจากกองทุนเงินทดแทน สามารถทำหนังสือมอบอำนาจเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามมาตรา 39 หรือทำเป็นหนังสือมอบฉันทะให้บุคคลอื่นมารับแทนเงินแทนตนได้

            โดยเอกสารที่ผู้ได้มอบอำนาจให้เป็นผู้รับผลประโยชน์ตามมาตรา 39 ประกอบด้วย

            - ทำหนังสือมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้บุคคลอื่นมารับแทน

            - บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้มอบและผู้รับมอบ

            - หนังสือมอบฉันทะหรือหนังสือมอบอำนาจ (ไม่ต้องติดอากรแสตมป์)

ประกันสังคม มาตรา 39 สิ้นสุดสภาพเมื่อไร


            ผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนเมื่อกรณีต่อไปนี้

            1. ตาย

            2. กลับเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

            3. ลาออก

            4. ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน (สิ้นสภาพตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ)

            5. ภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน (สิ้นสภาพในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน)

กรณีขาดส่งประกันสังคม มาตรา 39


            ผู้ประกันตน มาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน จะถือว่าได้สิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่เดือนแรกที่ขาดส่ง หรือกรณีที่ผู้ประกันตนให้หักเงินสมทบผ่านบัญชีธนาคาร แต่ยอดเงินในบัญชีมีไม่เพียงพอ ทำให้สิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนได้เช่นเดียวกัน

ถ้าได้งานใหม่ จะเปลี่ยนจากผู้ประกันตน มาตรา 39 เป็น 33 อย่างไร


            กรณีผู้ประกันตนที่ต้องการแจ้งออกมาตรา 39 สามารถไปแจ้งยกเลิกที่สำนักงานประกันสังคมที่สมัครไว้ได้ทันที หรือนายจ้างหรือผู้รับมอบอำนาจสามารถดำเนินการแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เข้าทำงาน โดยผู้ประกันตนไม่ต้องไปดำเนินการลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส.1-21) แต่อย่างใด ยกเว้นกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีการค้างชำระเงินสมทบจะต้องไปดำเนินการแจ้งการลาออก (สปส.1-21) ด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สมัครไว้ 

ประกันสังคม มาตรา 39 ลดหย่อนภาษีได้ไหม


            ผู้ประกันตน มาตรา 39 สามารถนำเงินที่จ่ายให้แก่ประกันสังคมในปีนั้น ยื่นหักลดหย่อนภาษีได้เหมือนกับผู้ประกันต นมาตรา 33 โดยติดต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองให้
 

แบบฟอร์มผู้ประกันสังคม มาตรา 39 ควรรู้


            - แบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส.1-20)

            - แบบส่งเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส.1-11)

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประกันสังคม มาตรา 39 คืออะไร สิทธิประกันสังคม มีอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 22 มิถุนายน 2566 เวลา 14:53:22 1,444,053 อ่าน
TOP