ช่วงต้นปีเป็นเวลาที่ผู้มีรายได้ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเราสามารถยื่นได้ทั้งแบบกระดาษ หรือ ยื่นภาษีออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร หากใครถูกหักภาษีเกินจำนวนไว้ก็สามารถขอคืนภาษีได้
อย่างไรก็ตาม คำถามที่หลายคนอยากรู้ก็คือ เงินภาษีได้คืนเมื่อไหร่ ต้องใช้เวลากี่วัน เพราะมีบางคนยื่นภาษี มาหลายสัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังไม่มีวี่แววจะได้ขยับสถานะจาก “วิเคราะห์แบบ” สักที งั้นลองมาตรวจสอบข้อมูลกันวิธีตรวจสอบสถานะขอคืนภาษี
ก่อนอื่นให้เราลองตรวจสอบดูว่า สถานะการคืนภาษีของเราตอนนี้อยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว โดยตรวจสอบได้ดังนี้
1. เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th
2. เลือก “My Tax Account ตรวจสอบข้อมูลทางภาษี”
ทั้งนี้ หากอยู่ในขั้น “ส่งคืนภาษี” แสดงว่าเรากำลังจะได้เงินคืนภาษีแล้ว โดยกรมสรรพากรจะโอนเงินเข้าบัญชีที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้ด้วยหมายเลขบัตรประชาชน
แต่สำหรับคนที่ยังติดอยู่ในสถานะ “นำเข้าข้อมูล” หรือ “วิเคราะห์แบบ” ให้เราเข้ามาตรวจสอบเรื่อย ๆ ว่าทางกรมสรรพากรจะขอเอกสารประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมหรือไม่ หากไม่ขอเอกสารจะเปลี่ยนสถานะเป็น “พิจารณาคืนภาษี” ต่อไปยื่นภาษีกี่วันถึงได้เงินคืน
สำหรับประเด็นนี้คงไม่สามารถระบุเป็นจำนวนวันได้ชัดเจน เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้การขอคืนเงินภาษีของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน เช่น ประเภทของรายได้ที่มี สิทธิลดหย่อนภาษีที่ใช้ เอกสารหลักฐานที่ต้องตรวจสอบ ช่วงเวลาที่ยื่นภาษี รวมถึงจำนวนผู้เสียภาษีในพื้นที่นั้นที่รอคิวตรวจสอบ
เช่น ในกรณีที่มีรายได้เพียงประเภทเดียว ไม่มีข้อมูลซับซ้อน ไม่เข้าเกณฑ์ความเสี่ยง หากเจ้าหน้าที่ไม่พบปัญหาใด ๆ อาจจะได้รับเงินคืนเร็วสุดภายใน 3-4 วันทำการ หลังจากยื่นภาษี
ส่วนคนที่มีรายได้หลายทาง มีข้อมูลซับซ้อน มักติดสถานะตรวจก่อนคืนภาษี ดังนั้น แม้จะยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ แต่เจ้าหน้าที่จะต้องใช้เวลาตรวจสอบมากขึ้น และหากมีการแจ้งขอให้ส่งเอกสารประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม กว่าจะได้รับเงินคืนอาจใช้เวลานานกว่า 1 เดือนก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมาย กรมสรรพากรจะมีระยะเวลาดำเนินการตรวจสอบภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ได้รับคำร้องขอคืนเงินภาษี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้เงินคืนภายใน 3 เดือน เพราะถ้าในระหว่างการตรวจสอบ สรรพากรเรียกขอเอกสารเพิ่ม ก็จะเริ่มนับระยะเวลา 3 เดือนใหม่อีกครั้งหลังจากเราส่งเอกสารให้สรรพากรครบแล้ว
ยื่นภาษี แต่ยังไม่ได้เงินคืนเพราะอะไร
กรณียื่นภาษีไปหลายสัปดาห์แล้วแต่ยังไม่ได้เงินคืน อาจเป็นเพราะสาเหตุเหล่านี้
-
ข้อมูลมีความซับซ้อน เช่น มีรายได้หลายทาง ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีหลายประเภท เจ้าหน้าที่จึงต้องตรวจสอบอย่างละเอียด
-
กรอกข้อมูลตกหล่นหรือผิดพลาด เช่น กรอกข้อมูลรายได้ผิดมาตรา หรือกรอกตัวเลขค่าซื้อสินค้าในโครงการช้อปดีมีคืน 2566 ไม่ถูกต้อง เนื่องจากบางรายการไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าขนส่ง แม้จะมีข้อมูลปรากฏขึ้นมาในระบบ My Tax Account
-
ยื่นแบบมากกว่า 1 ฉบับ กล่าวคือ ได้ยื่นแบบไปแล้ว แต่มายื่นเพิ่มภายหลัง ทำให้ต้องตรวจสอบใหม่ทั้งหมด
-
เจ้าหน้าที่ต้องการขอเอกสารเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งเราสามารถนำเอกสารไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เพิ่มเติมได้ หรืออัปโหลดเอกสารผ่านทางออนไลน์ได้เช่นกัน โดยรองรับไฟล์ JPG, BMP, PNG, TIF, PDF จำกัดขนาดของไฟล์ไม่เกิน 3MB และขนาดของไฟล์รวมกันแต่ละครั้งไม่เกิน 20MB
ทั้งนี้ กรมสรรพากรมีระยะเวลาตรวจสอบและจ่ายเงินภาษีคืนให้เราภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ยื่นแบบภาษี หรือวันที่ยื่นเอกสารเพิ่มเติมครบถ้วน ดังนั้น หากพ้นกำหนดไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงินคืนภาษี กรณีนี้ก็มีกฎหมายระบุไว้ให้กรมสรรพากรจ่ายดอกเบี้ย 1% ต่อเดือนให้กับผู้เสียภาษีด้วย โดยเราต้องยื่นเอกสารเพื่อทวงถามเรื่องดอกเบี้ยภายใน 15 วัน
ยื่นภาษีได้เงินคืนทางไหน
ปัจจุบันกรมสรรพากรคืนภาษีให้เราได้ 3 ช่องทาง
1. โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก (หากลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเบอร์โทรศัพท์จะไม่สามารถรับเงินโอนได้)
2. คืนเงินผ่านธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับคนที่ไม่ต้องการรับเงินภาษีคืนด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ โดยกรมสรรพากรจะออกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.21) เป็นหลักฐานเพื่อนำไปติดต่อรับเงินคืนที่สาขาธนาคารกรุงไทย หรือ ธ.ก.ส.
3. จ่ายเป็นเช็ค เฉพาะคนที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประชาชนไม่ได้ เช่น ชาวต่างชาติ ต่างด้าว ห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคล วิสาหกิจชุมชน และกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง โดยกรมสรรพากรจะออกหนังสือ ค.21 พร้อมเช็ค จัดส่งทางไปรษณีย์ตามที่อยู่บนแบบแสดงรายการให้ผู้ขอคืน เพื่อนำไปเข้าบัญชีเงินฝากที่สาขาธนาคารเท่านั้นบทความที่เกี่ยวข้องกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ขอบคุณภาพจาก : กรมสรรพากร
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร (1), (2), (3), ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน