x close

เงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคม เบิกยังไง จ่ายย้อนหลังได้ไหม ต่างกับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดอย่างไร


          ประกันสังคม สงเคราะห์บุตร คืออะไร เหมือนหรือแตกต่างจากเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เดือนละ 600 บาท ใครมีสิทธิ์ได้รับบ้าง มาเช็กรายละเอียดกันเลย

ประกันสังคม

          สมัยนี้การมีลูกสักคน คงเลี่ยงไม่ได้กับค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่จะตามมา ซึ่งก็ทำให้หลายครอบครัวเงินตึงมือไปตาม ๆ กัน แต่ถ้าใครเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม รู้ไหมว่า ตัวเองก็มีสิทธิประโยชน์เรื่องเงินสงเคราะห์บุตร เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรด้วยนะ

          หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าประกันสังคมให้สิทธิ์เรื่องนี้ด้วย และอาจสงสัยว่า เงินสงเคราะห์บุตรของประกันสังคม แตกต่างจากเงินอุดหนุนบุตร ของโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดอย่างไร วันนี้ กระปุกดอทคอม รวบรวมรายละเอียดมาแจกแจงให้ทราบกัน

เงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคม คืออะไร ใครเบิกได้บ้าง ?


           สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร จากประกันสังคม จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

          1. เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 โดยไม่รวมผู้ประกันตนมาตรา 40
          2. จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทน
          3. ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรม หรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
          4. บุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

เงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคม ได้เท่าไหร่ ?


          จากเดิมจะได้รับเดือนละ 600 บาทต่อบุตรหนึ่งคน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเพิ่มเป็นเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน โดยโอนผ่านบัญชีธนาคาร หรือพร้อมเพย์

          ทั้งนี้ การได้รับเงินจะเป็นการจ่ายหลังจากเดือนที่ได้รับสิทธิ์ไปแล้ว 3 เดือน เนื่องจากระบบตัดจ่ายเงินของสำนักงานประกันสังคมได้กำหนดให้ตัดจ่ายเงินย้อนหลัง 3 เดือน เพื่อปรับฐานข้อมูลผู้ประกันตนให้ถูกต้องก่อนการตัดจ่ายเช่น
          - เงินสงเคราะห์บุตรของเดือนมกราคม 2564 จะได้รับในเดือนเมษายน 2564
          - เงินสงเคราะห์บุตรของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะได้รับในเดือนพฤษภาคม 2564
          - เงินสงเคราะห์บุตรของเดือนมีนาคม 2564 จะได้รับในเดือนมิถุนายน 2564

          ดังนั้น เงินสงเคราะห์บุตร จำนวน 800 บาท จะได้รับโอนเข้าบัญชีครั้งแรกในเดือนเมษายน 2564

เงินสงเคราะห์บุตร กับ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด  ต่างกันอย่างไร ?


          สิ่งที่เหมือนกันคือ เป็นการให้เงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ เช่นเดียวกัน แต่มีข้อแตกต่างตรงที่เป็นคนละโครงการกัน เพราะให้ความช่วยเหลือคนละกลุ่ม และจำนวนเงินที่ได้รับแตกต่างกัน คือ

          - เงินสงเคราะห์บุตร เป็นของกองทุนประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะให้สิทธิ์แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ในระบบประกันสังคม ซึ่งต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนวันที่ได้รับสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป จะได้รับเดือนละ 800 บาท

          - เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลักในการดูแล จะให้สิทธิ์กับเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน โดยสมาชิกในครอบครัว มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 100,000 บาท/คน/ปี และไม่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะได้เดือนละ 600 บาท


ผู้ประกันตนจะรับเงินสงเคราะห์บุตร และเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ทั้ง 2 อย่างได้ไหม ?


          ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ที่ส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือน และมีบุตรแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ สามารถยื่นขอรับเงินสงเคราะห์บุตรได้เลย

          นอกจากนี้ ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ถ้าผู้ประกันตนอยู่ในครอบครัวยากจน สมาชิกในครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 100,000 บาท/คน/ปี และมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ก็ลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดได้ด้วย

          เท่ากับว่าผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือทั้ง 2 ทาง ไม่ว่าจะเป็นเงินสงเคราะห์บุตร และเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด รวมจะได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 1,400 บาท ต่อบุตร 1 คน
   

วิธีเบิกเงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคม


          หากผู้ประกันตนมีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาข้างต้น ให้เตรียมเอกสารหลักฐาน ดังนี้

          1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01)

          2. กรณีผู้ประกันตนเคยยื่นใช้สิทธิ์แล้ว และประสงค์จะใช้สิทธิสำหรับบุตรคนเดิม ให้ใช้หนังสือขอใช้สิทธิ์บุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน จำนวน 1 ฉบับ

          3. กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ์ ต้องใช้เอกสารดังนี้
              - สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) จำนวน 1 ชุด

          4. กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ์ ต้องใช้เอกสารดังนี้
              - สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่า พร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตน หรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 1 ชุด
              - สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วยจำนวน 1 ชุด)

          5. กรณีเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล ให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลด้วย จำนวน 1 ชุด

          6. กรณีผู้ประกันตนต่างชาติขอรับประโยชน์ทดแทนให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคมและสำเนาหนังสือเดือนทาง (passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ จำนวน 1 ชุด

          7. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ จำนวน 1 ฉบับ ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน เลือกธนาคารใดธนาคารหนึ่ง ดังนี้
         
          - ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
          - ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
          - ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
          - ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
          - ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
          - ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
          - ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
          - ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
          - ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)

          8. เอกสารประกอบการยื่นคำขอฯ ที่เป็นสำเนาให้รับรองความถูกต้องของสำเนาทุกฉบับ และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ กรณีเอกสารหลักฐานสำคัญต่อการพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน

ประกันสังคม

ยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์บุตรได้ที่ไหน

 

          สามารถยื่นขอรับเงินได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่กระทรวงสาธารณสุข) ในวันและเวลาราชการ โดยจะไปยื่นเองหรือให้ผู้อื่นไปยื่นแทนก็ได้ แต่ต้องมีหนังสือมอบอำนาจไปด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถยื่นเอกสารผ่านทางไปรษณีย์ได้เช่นกัน

ขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน


          1. กรอกแบบ สปส.2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน (กรณีผู้ประกันตนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตร 3 คน ในคราวเดียวกันสามารถใช้แบบคำขอฯ ชุดเดียวกันได้)

          2. เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณาอนุมัติ

          3. สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา

          4. พิจารณาสั่งจ่าย จ่ายเป็นรายเดือนโดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน
 
ประกันสังคม

เงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคม ยื่นขอรับเงินย้อนหลังได้ไหม ?


          ผู้ประกันตนหลายคนไม่ทราบว่าได้รับสิทธิ์นี้ จึงไม่ได้ยื่นเรื่องตั้งแต่คลอดบุตร จนปัจจุบันบุตรอาจมีอายุ 1-2 ขวบแล้ว กรณีสามารถยื่นย้อนหลังได้ โดยประกันสังคมจะทำการตรวจสอบการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน หากมีการนำส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนบุตรคลอด จึงจะมีการย้อนหลังให้ไม่เกิน 1 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด ยกเว้น กรณีผู้ประกันตนมิได้นำส่งเงินสมทบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ทางสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินให้ผู้ประกันตน ณ วันที่สิทธิเกิดขึ้นเท่านั้น

คลอดบุตรแฝด ได้เงินสงเคราะห์บุตรเท่าไหร่ ?


          การจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคม จะคิดตามจำนวนบุตรที่คลอด เพราะฉะนั้น หากได้บุตรแฝด 2 คน ก็จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรจำนวน 1,200 บาท/เดือน แต่กำหนดจ่ายเงินสูงสุดไว้คราวละไม่เกิน 3 คน หรือไม่เกิน 1,800 บาท

ผู้ชายเบิกเงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคมได้ไหม ?


          ผู้ประกันตนชายสามารถเบิกเงินสงเคราะห์ จำนวน 800 บาท/เดือน ได้เช่นเดียวกันกับผู้ประกันตนหญิงเลย แต่จะใช้สิทธิ์ได้เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นนะ คือ ถ้าทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ต้องเลือกว่าจะให้ใครใช้สิทธิ์ ไม่สามารถใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองคนได้

เงินสงเคราะห์บุตรไม่เข้าบัญชี ทำยังไงดี


          โดยปกติแล้วทางสำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินสงเคราะห์บุตร เข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนทุก ๆ สิ้นเดือน แต่หากมีเดือนไหนที่เงินไม่เข้าบัญชี เราสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ประกันสังคม หรือโทรสอบถามโดยตรงได้เลยที่สายด่วนประกันสังคม 1506

หมดสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์บุตรในกรณีไหนบ้าง ?


          ผู้ประกันตนจะหมดสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์บุตรทันทีก็ต่อเมื่อ

          1. บุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
          2. บุตรเสียชีวิต
          3. ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
          4. กรณีที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง เช่น ลาออกจากงาน จึงต้องออกจากการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33


          คงจะเคลียร์ชัดกันแล้วสำหรับรายละเอียดของสิทธิประโยชน์เงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคม แต่ถ้าใครที่ยังมีข้อสงสัยอื่น ๆ เพิ่มเติม ก็สามารถเข้าไปสอบถามที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน หรือโทร. 1506 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคม เบิกยังไง จ่ายย้อนหลังได้ไหม ต่างกับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดอย่างไร อัปเดตล่าสุด 31 ตุลาคม 2566 เวลา 15:56:10 525,639 อ่าน
TOP