x close

เปิดบัญชีเงินเดือนข้าราชการ ปรับขึ้นแล้ว 6 ครั้ง ในรอบ 10 ปี


เปิดบัญชีเงินเดือนข้าราชการ ปรับขึ้นแล้ว 6 ครั้ง ในรอบ 10 ปี
เปิดบัญชีเงินเดือนข้าราชการ ปรับขึ้นแล้ว 6 ครั้ง ในรอบ 10 ปี

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            เปิดบัญชีเงินเดือนข้าราชการล่าสุด 2557 ถือเป็นการขึ้นเงินเดือนข้าราชการครั้งที่ 6 ในรอบ 10 ปี ลองมาย้อนดูอัตราการปรับเงินเดือนข้าราชการในอดีต ตั้งแต่ปี 2547-2557

            การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยให้ขยายเพดานเงินเดือนข้าราชการทุกระดับ ร้อยละ 10 และปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการที่ร้อยละ 4 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป ถือเป็นการปรับเงินเดือนขึ้นครั้งที่ 6 ในรอบ 10 ปี ของข้าราชการไทย

            โดยก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ thaipublica.org ได้ทำบทความรายงานถึงโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบัน ซึ่งนำข้อมูลมาจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าแต่ละครั้งมีการปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเท่าใด โดยตัวเลขต่อไปนี้ไม่รวมเงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือน (compensation) ที่จะมีข้าราชการในบางตำแหน่งได้รับ

            เริ่มจากในปี พ.ศ. 2547 สมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการปรับเงินเดือนข้าราชการเพิ่มในอัตราร้อยละ 3 เท่ากันทุกอัตราสําหรับข้าราชการทุกประเภท ตามพระราชกฤษฎีกาการปรับเงินเดือนของข้าราชการ ทำให้เงินเดือนต่ำสุดอยู่ที่ 4,230 บาท สูงสุดที่ 61,850 บาท

            จากนั้นคณะรัฐมนตรีของ พ.ต.ท. ทักษิณ ก็ได้มีมติปรับเงินเดือนขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2548 ตามพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 โดยปรับเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5 เท่ากันทุกอัตราสำหรับข้าราชการทุกประเภท ทำให้เงินเดือนต่ำสุดอยู่ที่ 4,450 บาท สูงสุดที่ 64,950 บาท
 
            ในปี พ.ศ. 2550 สมัย พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนเป็นครั้งที่ 3 ในอัตราร้อยละ 4 เท่ากันทุกอัตราสําหรับข้าราชการทุกประเภท ทำให้เงินเดือนต่ำสุดอยู่ที่ 4,630 บาท สูงสุดที่ 67,550 บาท

            การปรับเพิ่มเงินเดือนครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยครั้งนี้มีการปรับเปลี่ยนระบบการกำหนดตำแหน่งงาน จากเดิมที่ใช้ "ซี" เป็นตัวแบ่งขั้น 1-11 มีบัญชีเงินเดือนเดียว กลายเป็นการกำหนดฐานเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (ไม่รวมข้าราชการทหาร ตำรวจ ฯลฯ) หรือระบบแท่ง ซึ่งจะแบ่งบัญชีเงินเดือนออกเป็น 4 บัญชี คือ ประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ (แบ่งเป็นระดับปฏิบัติการ ชํานาญการ ชํานาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และทรงคุณวุฒิ) และประเภทประเภททั่วไป (แบ่งเป็นระดับปฏิบัติงาน ชํานาญงาน อาวุโส และทักษะพิเศษ) ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

            สำหรับการขึ้นเงินเดือนนี้ จะพิจารณาตามผลการปฏิบัติราชการ และยึดหลักการจ่ายค่าตอบแทนตามค่างานและผลของงาน ซึ่งแต่ละองค์กรจะเป็นผู้พิจารณาเอง ถือเป็นการให้เงินเดือนแบบยืดหยุ่นกว่าระบบซี และครั้งนี้ได้มีการปรับขึ้นร้อยละ 5 เท่ากันทุกประเภท เงินเดือนต่ำสุดอยู่ที่ 4,870 บาท สูงสุดที่ 69,810 บาท

            ต่อมาในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี พ.ศ. 2554 ได้มีการปรับเพิ่มเงินเดือนครั้งที่ 5 ตามพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2554 แต่ครั้งนี้ไม่ได้กำหนดอัตราเป็นร้อยละ คงกำหนดเพียงเงินเดือนต่ำสุดอยู่ที่ 4,870 บาท สูงสุดที่ 69,810 บาท เช่นเดียวกับเมื่อปี พ.ศ. 2551

            และในปี 2557 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คืนความสุขให้ข้าราชการไทยอีกครั้ง เมื่ออนุมัติขยายเพดานเงินเดือนขั้นสูงของข้าราชการและพนักงานราชการทุกประเภท เพิ่มขึ้น 3 ขั้น หรือประมาณร้อยละ 10 สำหรับบัญชีเงินเดือนแบบขั้น ขณะที่ข้าราชการ 6 ประเภท ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือนสามัญ, ข้าราชการทหาร, ข้าราชการตำรวจ, ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และข้าราชการรัฐสภาสามัญ จะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่ม 1 ขั้น หรือประมาณร้อยละ 4
 

            การปรับเงินเดือนข้าราชการที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ก็เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นมา ซึ่งการปรับครั้งล่าสุดในปี 2557 นี้ ใช้งบประมาณถึง 22,900 ล้านบาท โดยมีข้าราชการและพนักงานได้รับประโยชน์เกือบ 2 ล้านคน
 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
thaipublica.org




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดบัญชีเงินเดือนข้าราชการ ปรับขึ้นแล้ว 6 ครั้ง ในรอบ 10 ปี อัปเดตล่าสุด 13 ธันวาคม 2557 เวลา 08:02:22 5,679 อ่าน
TOP