x close

ยกเลิกกองทุนน้ำมัน ใครได้-เสียประโยชน์



 ยกเลิกกองทุนน้ำมัน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
          

          ยกเลิกกองทุนน้ำมันแล้วจะเป็นอย่างไร  ชาวบ้านอย่างเราจะได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ หรือจะได้ประโยชน์มากกว่า ตามไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน

          น่าจับตามองเป็นอย่างมากว่า นโยบายการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกมาในทิศทางใด เมื่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ คสช. ยกเลิก "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง" เพราะเห็นว่าการที่รัฐเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรวมกับราคาน้ำมันขายปลีกในท้องตลาด ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและออกมาคัดค้าน

          ชาวบ้านอย่างเรา ๆ ฟังแล้วอาจคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้ว เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับปากท้องของเราทั้งสิ้น ดังนั้น หากทราบข้อมูลคร่าว ๆ ไว้บ้างก็น่าจะมีประโยชน์ในการติดตามข่าวสาร เราลองมาไล่เรียงดูละประเด็น



กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคืออะไร

          กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คือ กลไกที่รัฐใช้เพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และพยุงราคาน้ำมันไม่ให้สูงตามตลาดโลก ด้วยการนำเงินจากกองทุนไปอุดหนุนให้เป็นการชั่วคราว เพื่อที่ประชาชนจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระราคาน้ำมันมากเกินไป อีกทั้งยังบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย

          อ่านความหมาย “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ได้ที่นี่



รายได้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาจากไหน

          กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะได้รับเงินจากผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้นําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ภายในประเทศ โดยกลุ่มนี้มีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามอัตราที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานกำหนด ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ และสถานการณ์ราคาน้ำมันในแต่ละช่วงเวลาเป็นหลัก

          ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2557 จะพบว่า อัตราเป็นดังนี้


ชนิดพลังงาน

ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

น้ำมันเบนซิน (ULG)

10 บาทต่อลิตร

แก๊สโซฮอล์ 95 (E10)

3.30 บาทต่อลิตร

แก๊สโซฮอล์ 91

1.20 บาทต่อลิตร

น้ำมันดีเซล

0 บาทต่อลิตร *

E20

- 1.05 บาทต่อลิตร **

E85

- 11.60 บาทต่อลิตร **

ก๊าซหุงต้ม (สำหรับผู้มีรายได้น้อย)

0.4299 บาทต่อกิโลกรัม

ก๊าซหุงต้ม (ภาคครัวเรือน)

0.4299+4.2056 = 4.6355 บาทต่อกิโลกรัม

ก๊าซหุงต้ม (ภาคขนส่ง)

0.4299 + 3.0374 = 3.4673 บาทต่อกิโลกรัม

ก๊าซหุงต้ม (ภาคอุตสาหกรรม)

0.4299 + 11.22 = 11.6499 บาทต่อกิโลกรัม



















*มติ กบง. เมื่อ 24 มิ.ย.57 ปรับลดการจัดเก็บเงินในส่วนของดีเซลเข้ากองทุนน้ำมัน จากเดิม 0.81 บาทต่อลิตร เป็น 0 บาทต่อลิตร


**E20 และ E85 ไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน โดยได้รับชดเชยจากกองทุนในการพยุงราคา

 

          ในส่วนของก๊าซหุงต้ม (LPG) นั้น มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 2 ส่วน คือ

          ส่วนแรก เรียกเก็บ 0.4299 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากันทั้งส่วนของผู้มีรายได้น้อย ภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม เงินส่วนนี้เก็บเพื่อทำให้ราคา LPG หน้าคลังเท่ากันทั่วประเทศ โดยนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากโรงแยกไปยังคลังต่าง ๆ

           ส่วนที่ 2 เรียกเก็บไม่เท่ากัน (ภาคครัวเรือน 4.2056 บาท, ภาคขนส่ง 3.0374 บาท และภาคอุตสาหกรรม 11.22 บาท ในส่วนของผู้มีรายได้น้อยไม่เรียกเก็บ) เพื่อนำไปชดเชยราคาให้แก่โรงกลั่นและการนำเข้า LPG

          ทั้งนี้ ตัวเลขปัจจุบัน ณ สิ้นวันที่ 22 มิถุนายน 2557 พบว่า สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีสินทรัพย์รวม 8,083 ล้านบาท หนี้สิน 15,605 ล้านบาท เท่ากับมีฐานะสุทธิ ติดลบ 7,522 ล้านบาท (ตรวจสอบฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแบบอัพเดทได้ที่นี่)           



กองทุนน้ำมัน ควรยกเลิกหรือไม่ หรือแนวทางไหนดีกว่ากัน ?

          เป็นที่ถกเถียงกันพอสมควรว่า ควรยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดีหรือไม่ เพราะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะช่วยป้องกันความผันผวนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกได้  อีกทั้งยังช่วยอุดหนุนแก๊สแอลพีจี ทำให้ประชาชนได้ใช้แก๊สในราคาถูกกว่าตลาดโลก แต่นั่นก็เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนลิตรละ 10 บาท เพื่อไปอุดหนุนพลังงานอื่น ๆ จึงเกิดความไม่เป็นธรรม และยังทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยด้วย


เหตุผลของฝ่ายที่เห็นด้วยกับการยุบกองทุน

เหตุผลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบกองทุน

-    การเก็บเงินเข้ากองทุนเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ที่ต้องจ่ายเงินมากขึ้น เพื่อนำเงินไปอุดหนุนผู้ใช้แก๊สแอลพีจี, ดีเซล


-    ปัจจุบันการใช้กองทุนน้ำมันผิดวัตถุประสงค์ เพราะมีการนำไปใช้ตรึงราคาเป็นเวลานานเกินไป จนทำให้กองทุนเป็นหนี้


-    เป็นการบิดเบือนโครงสร้างพลังงาน เพราะราคาไม่สะท้อนกลไกตลาด


-    การอุดหนุนของกองทุน ทำให้คนใช้น้ำมันที่ตรึงราคาไว้อย่างฟุ่มเฟือย เช่น ดีเซล ภาครัฐสูญเสียรายได้มากขึ้น


-    นักการเมืองนำกองทุนน้ำมันไปเป็นเครื่องมือหาเสียงประชานิยม ด้วยการประกาศว่าจะยกเลิก/ปรับลดการเก็บเงินเข้ากองทุน เพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลง

 

-    หากราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวน กองทุนน้ำมันจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศได้ ด้วยการเข้าไปช่วยตรึงราคาน้ำมันไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นเกินไป


-    การปล่อยราคาเป็นไปตามกลไกตลาดจะเกิดผลกระทบต่อประชาชน เพราะราคาสินค้า-อาหาร-ขนส่งจะสูงขึ้นตามค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น


-    การยุบกองทุนไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง แต่ควรลดการเก็บเงินจากน้ำมันเบนซิน แล้วไปเก็บจากผู้ใช้แอลพีจีเพิ่ม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม


-    กระทบต่อนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน เพราะคนจะกลับไปใช้น้ำมันเบนซินแทนเอทานอล  ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน


-    การที่คนกลับไปใช้น้ำมันเบนซินมากขึ้น ทำให้ประเทศต้องนำเข้าน้ำมันมากขึ้น


-    หากจะยุบกองทุนน้ำมัน ควรมีคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เหมือนในประเทศอื่น ๆ ก่อน




จะเกิดอะไรขึ้น หากกองทุนน้ำมันถูกยุบ !

          ลองมาแจกแจงกันแบบคร่าว ๆ ดูว่า หากมีการยกเลิกกองทุนน้ำมันจริง จะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง ฝ่ายไหนจะได้ หรือเสียผลประโยชน์จากเรื่องนี้



ประเด็น

ผลดี-ผลกระทบ

ราคาน้ำมันเบนซิน

ได้ส่วนลดลิตรละ 10 บาท

ราคาแก๊สโซฮอล์ 95 (E10)

ได้ส่วนลดลิตรละ 3.30 บาท

ราคาแก๊สโซฮอล์ 91

ได้ส่วนลดลิตรละ 1.20 บาท

ราคา E20

ขึ้นราคาลิตรละ 1.05 บาท

ราคา E85

ขึ้นราคาลิตรละ 11.60 บาท

ราคาน้ำมันดีเซล

ปรับสูงขึ้น เพราะไม่มีเงินจากกองทุนมาชดเชย

ราคาแก๊สหุงต้ม

ปรับสูงขึ้น เพราะไม่มีเงินจากกองทุนมาชดเชยราคาเฉลี่ยหน้าโรงกลั่นที่ตรึงอยู่มาหลายปีแล้ว

ราคาสินค้า-อาหาร-ค่าครองชีพ

ปรับสูงขึ้น เพราะน้ำมันดีเซล-ก๊าซหุงต้ม ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตขึ้นราคา ทำให้การขนส่ง ต้นทุนสินค้า อาหาร ขยับตัวตาม และอาจทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ

การนำเข้าน้ำมัน

ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น เพราะคนจะกลับไปใช้เบนซินที่ถูกลง รถในท้องถนนเพิ่มขึ้น ทำให้รถติด จึงยิ่งสิ้นเปลืองพลังงาน

ธุรกิจเอทานอล

เกษตรกรเดือดร้อนจากราคาวัตถุดิบเอทานอล เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ลดลง เพราะคนใช้แก๊สโซฮอล์น้อยลง

อุตสาหกรรมรถยนต์

ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงาน E20 และ E85 รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วน ต้องปรับลดการผลิตลง

กลไกรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน

ไม่มีเงินมาช่วยพยุงราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นตามตลาดโลกอีกต่อไป ประชาชนต้องจ่ายตามราคาจริง




          ข้อมูลที่สรุปให้เห็นกันข้างต้น คงทำให้ทุกคนมองเห็นภาพของกลไกกองทุนน้ำมันมากขึ้น และพิจารณาได้ถึงข้อดี-ข้อเสียของการยกเลิกกองทุนน้ำมัน หลังจากนี้เราก็ต้องเตรียมปรับตัวให้ทันกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในภาวะปกติ หรือภาวะที่ราคาน้ำมันผันผวน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กระทรวงพลังงาน, สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน), สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, thaipublica.org, set.or.th,






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยกเลิกกองทุนน้ำมัน ใครได้-เสียประโยชน์ อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2557 เวลา 11:12:09 4,302 อ่าน
TOP