กองทุนวายุภักษ์ 2567 ซื้อที่ไหน สรุปทุกเรื่องต้องรู้ก่อนลงทุน รับผลตอบแทน 3-9% ต่อปี

           กองทุนวายุภักษ์ คืออะไร ให้ผลตอบแทนเท่าไร ถ้าอยากลงทุน จะซื้อได้ที่ไหน ซื้อยังไง เปิดขายเมื่อไหร่ รวบรวมข้อมูลน่าสนใจจากกองทุนวายุภักษ์ 2567 มาบอกกันตรงนี้
กองทุนวายุภักษ์ คืออะไร

ภาพจาก : หนังสือชี้ชวนกองทุนวายุภักษ์

          กองทุนวายุภักษ์ หรือ กองทุนรวมวายุภักษ์ ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้งในปี 2567 เพื่อกระตุ้นให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยฟื้นตัว หลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกกว่า 5 แสนล้านบาท ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี

          การกลับมาของกองทุนวายุภักษ์ครั้งนี้ได้รับความสนใจไม่น้อยจากนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อย ที่มองหาโอกาสลงทุนในระยะยาว ได้ผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอน ซึ่งกองทุนวายุภักษ์ค่อนข้างตอบโจทย์ในเรื่องนี้ วันนี้เลยชวนมาศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้เข้าใจก่อนจองซื้อ

กองทุนวายุภักษ์ คืออะไร

          กองทุนวายุภักษ์ หรือ กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง (VAYU1) เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเมื่อปี 2546 มีเงินทุนตั้งต้นที่ 1 แสนล้านบาท โดยวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้งกองทุนนี้เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยพยุงตลาดหุ้นของไทยหลังวิกฤตทางเศรษฐกิจ โดยกองทุนวายุภักษ์แบ่งชนิดหน่วยลงทุนออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. หน่วยลงทุนประเภท ก. ขายให้นักลงทุนทั่วไป มีกำหนดอายุ 10 ปี เมื่อครบอายุแล้วในปี 2556 ก็ได้ปิดกองทุนไป ไม่ได้เปิดขายให้ประชาชนทั่วไปอีก

  2. หน่วยลงทุนประเภท ข. รัฐบาลเป็นผู้ถือ เช่น กระทรวงการคลัง รัฐวิสาหกิจ นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม เป็นต้น ปัจจุบันยังคงดำเนินอยู่ โดยมีสินทรัพย์รวมประมาณ 3.5 แสนล้านบาท

          กระทั่งในปี 2567 กระทรวงการคลังฟื้นกองทุนวายุภักษ์กลับขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยจุดประสงค์เพื่อระดมทุนและเพิ่มทางเลือกการออมเงินให้กับประชาชนทั่วไป โดยกำหนดระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้นอยู่ที่ 10 ปีเช่นเดิม ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับเงินปันผลในแต่ละปีตามอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุน แต่ต้องไม่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ และไม่เกินกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูง ซึ่งจะเป็นอัตราคงที่ตลอด 10 ปี

กองทุนวายุภักษ์ 2567
ลงทุนในทรัพย์สินใด

กองทุนวายุภักษ์ ถือหุ้นอะไรบ้าง

           กองทุนวายุภักษ์ เป็นกองทุนรวมผสมที่มีความเสี่ยงระดับ 5 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง) จาก 8 ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม มีนโยบายลงทุนเชิงรุก (Active) และเชิงรับ (Passive) ลงทุนในสินทรัพย์ 3 ประเภท คือ

1. หลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง

            เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ระยะสั้น ฯลฯ ทั้งในและต่างประเทศ

2. ตราสารทุน

          ลงทุนใน 3 กลุ่ม คือ

  • หุ้นที่มีรายชื่ออยู่ใน SET 100 ที่มีอัตราผลตอบแทนดี มั่นคงในระยะยาว และมีความยั่งยืนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยอยู่ในกลุ่ม ESG ที่มีเรตติ้งดี คือ คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงและปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาธิบาล

  • กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และหุ้นที่มีรายชื่อใน SET 100 อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูง หรือมีแนวโน้มการเติบโตสูง มีสภาพคล่อง มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี

  • หุ้นที่อยู่นอก SET 100 ที่ผลประกอบการมีแนวโน้มดี มั่นคงระยะยาว และเข้าเกณฑ์ ESG

3. หลักทรัพย์อื่น ๆ

          เช่น หลักทรัพย์ของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ หรือตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยลงทุนได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม รวมทั้งอาจพิจารณาลงทุนในหน่วยลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนในทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ

กองทุนวายุภักษ์
ถือหุ้นอะไรบ้าง

          ตามพอร์ตการลงทุนของกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง ประเภท ข. จนถึง ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2567 มีสัดส่วนประเภททรัพย์สินที่ลงทุน 5 อันดับแรก ดังนี้

     1. หุ้นสามัญ 88.36% 

     2. พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย 7.01% 

     3. ตั๋วคงคลัง 1.48% 

     4. เงินฝากธนาคาร 1.07%

     5. หุ้นกู้ 0.62%

          ในส่วนของหุ้นสามัญที่ถือครองมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

     1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 35.07%

     2. บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) 25.03%

     3. ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) 5.54%

     4. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3.36%

     5. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 3.03%

กองทุนวายุภักษ์ 2567
ผลตอบแทนขั้นต่ำเท่าไร

กองทุนวายุภักษ์ ผลตอบแทน

          กองทุนวายุภักษ์ หน่วยลงทุนประเภท ก. จะจ่ายเงินปันผลให้อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง (เฉพาะกรณีที่กองทุนรวมมีกำไร) ขั้นต่ำที่ 3% ต่อปี และสูงสุดไม่เกิน 9% ต่อปี คงที่ตลอด 10 ปี 

          หมายความว่า หากอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนในปีนั้นน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ ผู้ลงทุนในหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลเท่ากับอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ แต่หากปีใดกองทุนได้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์ ผู้ลงทุนก็จะได้รับเงินตามอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงด้วย

ตัวอย่างเช่น กองทุนกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำไว้ที่ 3% ต่อปี

  • หากปีนั้นกองทุนทำผลตอบแทนได้ 2.5% ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้ผลตอบแทน 3% 

  • ถ้ากองทุนทำผลตอบแทนได้ 5% ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้ผลตอบแทน 5% 

  • ถ้ากองทุนทำผลตอบแทนได้ 10% ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้ผลตอบแทน 9%

          สำหรับหน่วยลงทุนประเภท ข. จะคิดอัตราผลตอบแทนแตกต่างออกไปจากหน่วยลงทุนประเภท ก.

          ทั้งนี้ หากย้อนดูผลตอบแทนของกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง ที่ผ่านมาจะพบว่ามีทั้งช่วงที่ทำผลตอบแทนได้สูงกว่าเกณฑ์และต่ำกว่าเกณฑ์ (ข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2567) คือ

  • ผลตอบแทนปี 2557 : 24.07% ต่อปี

  • ผลตอบแทนปี 2558 : -25.39% ต่อปี

  • ผลตอบแทนปี 2559 : 42.13% ต่อปี

  • ผลตอบแทนปี 2560 : 12.84% ต่อปี

  • ผลตอบแทนปี 2561 : -0.79% ต่อปี

  • ผลตอบแทนปี 2562 : -0.97% ต่อปี

  • ผลตอบแทนปี 2563 : -11.73% ต่อปี

  • ผลตอบแทนปี 2564 : 13.76% ต่อปี

  • ผลตอบแทนปี 2565 : -3.58% ต่อปี

  • ผลตอบแทนปี 2566 : 5.53% ต่อปี

กองทุนวายุภักษ์ 2567
ใครซื้อได้บ้าง

           สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่จะซื้อกองทุนรวมได้ต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่มีถิ่นที่อยู่ในไทย มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 

กองทุนวายุภักษ์ 2567
ซื้อได้เมื่อไร

           กระทรวงการคลังเตรียมเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ในช่วงเดือนกันยายน 2567 มูลค่าไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท โดยมีไทม์ไลน์ดังนี้
วันที่ 16-20 กันยายน 2567

         เวลา 09.00 น. ของวันที่ 16 กันยายน 2567 - เวลา 16.00 น. ของวันที่ 20 กันยายน 2567 เปิดขายหน่วยลงทุนประเภท ก. อายุโครงการเบื้องต้น 10 ปี ให้นักลงทุนทั่วไป มูลค่า (NAV) 10 บาทต่อหน่วย 

          โดยต้องลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท (1,000 หน่วย) และเพิ่มทีละ 1,000 บาท (100 หน่วย) เช่น เราสามารถซื้อ 10,000 บาท / 12,000 บาท / 25,000 บาท / 50,000 บาท / 100,000 บาท / 503,000 บาท เป็นต้น และไม่จำกัดจำนวนเงินลงทุนสูงสุด 

          ทั้งนี้ จะใช้ระบบจัดสรรหน่วยลงทุนแบบ Small Lot First คือผู้จองซื้อจำนวนน้อยจะได้รับการจัดสรรก่อน หมายความว่าคนที่จองซื้อ 10,000 บาท จะได้หน่วยลงทุนแน่นอน หลังจากนั้นจะทยอยจัดสรรให้ครั้งละ 1,000 บาท ให้ทุกคนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบจำนวนผู้จองซื้อทั้งหมด ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องรีบซื้อในวันแรก ๆ เพราะการซื้อก่อนหรือหลังไม่มีผลต่อการได้รับหน่วยลงทุน

          นอกจากนี้ในขั้นตอนการซื้อ เราต้องระบุด้วยว่าจะนำหน่วยลงทุนฝากไว้ที่ใด ซึ่งมีให้เลือก 2 ช่องทาง คือ

  • ฝากไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่เรามีบัญชีซื้อ-ขายอยู่ (เข้าพอร์ตหุ้น)
  • กรณีที่ผู้ซื้อไม่มีบัญชีหลักทรัพย์จะต้องฝากไว้กับนายทะเบียนที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) หรือที่เรียกว่า บัญชี 600
วันที่ 25 กันยายน 2567
           ประกาศผลการจัดสรรหน่วยลงทุนสำหรับรายย่อย สามารถเช็กผลการจัดสรรได้ที่ www.settrade.com
วันที่ 25-27 กันยายน 2567
           เปิดขายหน่วยลงทุนให้นักลงทุนสถาบันและนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม
วันที่ 1 ตุลาคม 2567
           กองทุนวายุภักษ์เริ่มลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
วันที่ 7 ตุลาคม 2567
           นำหน่วยลงทุนประเภท ก. VAYU1 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เทรดซื้อ-ขายในตลาดต่อไป
กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง

ภาพจาก : KTAM Smart Trade

กองทุนวายุภักษ์
ซื้อที่ไหนได้บ้าง

กรณีซื้อตลาดแรก (IPO)

          สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 16-20 กันยายน 2567 กับผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน ดังนี้

     1. บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

     2. บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน)

     3. ธนาคารกสิกรไทย 

          จองซื้อได้ที่สาขาธนาคาร

          ระบบออนไลน์ K-My-Invest 

          ระบบโทรศัพท์บันทึกเสียงสำหรับลูกค้า (KBank Private Banking)

     4. ธนาคารกรุงเทพ 

          จองซื้อได้ที่สาขาธนาคาร 

          โมบายแบงกิ้ง

     5. ธนาคารกรุงไทย 

          จองซื้อได้ที่สาขาธนาคาร

          เว็บไซต์ moneyconnect.krungthai.com 

          ระบบ Money Connect ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT

     6. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 

          จองซื้อได้ที่สาขาธนาคาร

          แอปพลิเคชัน KMA

     7. ธนาคารไทยพาณิชย์ 

          จองซื้อได้ที่สาขาธนาคาร

          แอปพลิเคชัน SCB EASY

     8. ธนาคารออมสิน 

          จองซื้อได้ที่แอปพลิเคชัน MyMo

กรณีซื้อตลาดรอง (หลังเปิดขาย IPO)

           หลังจากปิดการเสนอขายหน่วยลงทุนในตลาดแรก (IPO) บริษัทจัดการจะนำหน่วยลงทุนประเภท ก. เข้าไปจดทะเบียนซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ ในชื่อ VAYU1 และจะเปิดให้ซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นไป โดยราคาจะเปลี่ยนแปลงไปตามแรงซื้อ-ขายของนักลงทุน ณ ขณะนั้น ซึ่งราคาอาจสูงกว่า เท่ากัน หรือต่ำกว่า 10 บาทต่อหน่วยก็ได้ เปรียบเสมือนเราซื้อหุ้นตัวหนึ่ง

กองทุนวายุภักษ์
ซื้อแล้วขายคืนได้ไหม

           ผู้ลงทุนหน่วยลงทุนประเภท ก. 10 ปี ไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนให้กับ บลจ. ได้ จนครบกำหนดระยะเวลาการลงทุน แต่เราสามารถซื้อ-ขายในตลาดรอง คือตลาดหุ้นไทย ภายหลังบริษัทจัดการนำหน่วยลงทุนไปจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ โดยราคาซื้อ-ขายอาจจะมากกว่า เท่ากับ หรือน้อยกว่า 10 บาทต่อหน่วยที่ซื้อในตลาดแรก ขึ้นอยู่กับราคาตลาด ณ เวลานั้น

กองทุนวายุภักษ์ 2567
คุ้มครองเงินต้นไหม

          กองทุนรวมไม่ได้รับประกันเงินลงทุนและผลตอบแทน แต่มีกลไกในการคุ้มครองผลตอบแทนของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. แบบ Waterfall Structure ดังนี้

  • ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินลงทุนคืนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข.

  • ผลตอบแทนของกองทุนรวมจะจ่ายให้ผู้ถือหน่วย ก. ก่อนผู้ถือหน่วย ข.

  • หากกองทุนรวมขาดทุนจนมีมูลค่าทรัพย์สินลดลง ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะรับผลขาดทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.

          อย่างไรก็ตาม จากหนังสือชี้ชวนยังระบุด้วยว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อาจไม่ได้รับเงินต้นคืนบางส่วนหรือทั้งหมด หรือไม่ได้รับเงินปันผล ในกรณีดังนี้

  • มูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (จาก 5 แสนล้านบาท เหลือ 1.5 แสนล้านบาท)

  • ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลงอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สิน  

  • เหตุการณ์อื่น ๆ ที่ส่งผลให้กำไรของกองทุนรวมและสำรองเงินปันผลของกองทุนรวมลดลงจนไม่เพียงพอจ่ายเงินปันผลขั้นต่ำ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จึงอาจได้เงินปันผลจริงในอัตราที่ต่ำกว่า 3% ต่อปี 

  • ในกรณีที่กำไรของกองทุนรวมและสำรองเงินปันผลของกองทุนรวมหมดไป อาจไม่ได้รับเงินปันผลจากการลงทุน อย่างไรก็ดี จากข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 กองทุนรวมยังคงมีกำไรสะสมอยู่ที่ 1.42 แสนล้านบาท

          ทั้งนี้ โอกาสที่จะไม่ได้รับเงินต้นคืนนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากทางกองทุนมีกลไกในการป้องกันความเสี่ยงอยู่พอสมควร เช่น ในกรณีที่มูลค่าของกองทุนลดลงมามากจนถึงจุดที่กำหนดก็จะทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติเพื่อรักษาเงินต้นให้กับผู้ลงทุน ดังนั้น ตราบใดที่เงินในกองทุนยังไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท จากที่มีอยู่ 5 แสนล้านบาท ก็จะมีเงินคืนให้นักลงทุนครบทั้งหมด

          ส่วนผู้ที่ซื้อในตลาดรอง ขึ้นอยู่กับว่าสามารถซื้อหน่วยลงทุนได้ในราคาเท่าไร เพราะอาจซื้อได้ในราคามากกว่า 10 บาท แต่เมื่อครบอายุก็จะได้รับคืนที่ 10 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับผู้ที่ลงทุนในตลาดแรก

กองทุนวายุภักษ์
ถือครบ 10 ปี ได้เงินคืนอย่างไร

          เมื่อครบระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี

  • หากกองทุนรวมจะไม่ระดมทุนต่อ : บริษัทจัดการจะทำการไถ่ถอนหน่วยลงทุน ก. ทั้งหมดโดยอัตโนมัติ
  • หากกองทุนรวมจะระดมทุนต่อ : คณะกรรมการจะพิจารณาปรับสัดส่วนหน่วยลงทุน ก. และ ข. รวมทั้งพิจารณาอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำและขั้นสูงต่อปีใหม่ แล้วแจ้งให้นักลงทุนทราบล่วงหน้า เพื่อแสดงความประสงค์ว่าต้องการลงทุนต่อไปหรือไม่ โดยมีกรอบระยะเวลาการลงทุนรอบใหม่อีก 10 ปี ถ้าเราไม่ต้องการลงทุนต่อ บริษัทจัดการจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดที่เรามีอยู่ โดยคำนวณราคา ณ สิ้นวันทำการรับซื้อคืน  

กองทุนวายุภักษ์ เสียภาษีไหม

           เมื่อได้รับเงินปันผลจากกองทุนวายุภักษ์จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เหมือนกับกองทุนรวมทั่วไป

กองทุนวายุภักษ์
ลดหย่อนภาษีได้ไหม

           กองทุนวายุภักษ์ไม่ใช่กองทุนรวมเพื่อการลดหย่อนภาษี จึงไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ โดยกองทุนรวมที่สามารถใช้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประกอบด้วย 3 ประเภท คือ กองทุนรวม Thai ESG, กองทุนรวม SSF และกองทุนรวม RMF

กองทุนวายุภักษ์ 
มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

กองทุนวายุภักษ์ ความเสี่ยง

           กองทุนวายุภักษ์ก็มีความเสี่ยงที่ควรพิจารณาเช่นเดียวกับการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป อาทิ
  • ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกตราสาร : หากตราสารที่กองทุนนำเงินไปลงทุนมีผลการดำเนินงานไม่ดี ไม่สามารถทำกำไรหรือจ่ายปันผลได้ ก็อาจกระทบต่อราคาซื้อ-ขายของตราสาร

  • ความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร : กรณีที่ผู้ออกตราสารไม่สามารถจ่ายเงินต้นหรือดอกเบี้ยได้ตามกำหนด อาจส่งผลให้ตราสารที่ลงทุนมีมูลค่าลดลง

  • ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสาร : สภาวะตลาดหุ้นมีความผันผวนได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับค่าเงิน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ผลประกอบการของผู้ออกตราสาร ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นที่กองทุนได้ลงทุนไว้อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตลอดเวลา

  • ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของตราสาร : หากหุ้นต่าง ๆ ที่กองทุนลงทุนไว้ขาดสภาพคล่อง อาจขายตราสารไม่ได้ในช่วงเวลาที่ต้องการ หรืออาจไม่ได้ราคาตามที่คาดหวังเอาไว้

  • ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ : กรณีตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุนจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ จะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อมีการแปลงค่าเงินสกุลต่างประเทศให้เป็นสกุลเงินบาท ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับไม่เป็นตามที่คาดไว้ 

  • ความเสี่ยงจากการทำสัญญาสวอป และ/หรือสัญญาฟอร์เวิร์ด : กองทุนมีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงอาจเสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น

  • ความเสี่ยงจากการลงทุนในสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้า : เนื่องจากการลงทุนในสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าบางประเภทอาจมีการขึ้น-ลงที่ผันผวนมากกว่าหลักทรัพย์พื้นฐาน

  • ความเสี่ยงของประเทศที่ลงทุน : เช่น ประเทศที่กองทุนเข้าไปลงทุนเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร เปลี่ยนแปลงนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง หรือสาเหตุอื่น ๆ

  • ความเสี่ยงจากข้อจำกัดการนำเงินลงทุนกลับประเทศ : หากประเทศที่เข้าไปลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ใด ๆ กองทุนจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ของประเทศนั้น ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุน ค่าใช้จ่าย ภาระทางภาษี เป็นต้น
กองทุนวายุภักษ์

ภาพจาก : กระทรวงการคลัง

กองทุนวายุภักษ์

ภาพจาก : กระทรวงการคลัง

กองทุนวายุภักษ์

ภาพจาก : กระทรวงการคลัง

           สรุปแล้ว กองทุนวายุภักษ์ ถือเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการความมั่นคงและผลตอบแทนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจลงทุน โดยขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน หรืออ่านหนังสือชี้ชวนได้ที่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย

บทความที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กองทุนวายุภักษ์ 2567 ซื้อที่ไหน สรุปทุกเรื่องต้องรู้ก่อนลงทุน รับผลตอบแทน 3-9% ต่อปี อัปเดตล่าสุด 10 กันยายน 2567 เวลา 13:32:26 14,494 อ่าน
TOP
x close