จ่ายเงินประกันสังคม มาตรา 39 ได้กี่วิธี ส่งเงินสมทบประกันสังคมออนไลน์ได้ไหมนะ ?

           จ่ายประกันสังคม มาตรา 39 ผ่านแอปฯ ธนาคาร หรือโอนผ่านออนไลน์ได้ไหม มีวิธีไหนบ้างที่สามารถส่งเงินสมทบประกันสังคมได้ ใครเป็นผู้ประกันตน ม.39 มาเช็กข้อมูลกัน
ส่งเงินสมทบประกันสังคมออนไลน์

          ประกันสังคม มาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนที่เคยอยู่ใน ประกันสังคม มาตรา 33 มาก่อน ก่อนจะลาออกจากงานประจำ และสมัครใจจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเอง อย่างไรก็ตาม หลายคนที่เพิ่งย้ายมาสมัครประกันสังคม มาตรา 39 อาจยังไม่ทราบว่าจะส่งเงินสมทบประกันสังคได้ทางไหนบ้าง หรือโอนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ไหม วันนี้เรามีข้อมูลมาบอก

เช็กคุณสมบัติผู้ประกันตน
มาตรา 39

          ผู้ที่จะสมัครมาตรา 39 ได้นั้น ต้องเคยเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นอกจากนี้ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

ประกันสังคม มาตรา 39
สิทธิประโยชน์มีอะไรบ้าง

ประกันสังคมมาตรา 39 รักษาพยาบาล

          ผู้ประกันตน มาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครองเหมือนกับผู้ประกันตน มาตรา 39 ยกเว้นเรื่องเดียวคือ จะไม่ได้รับเงินชดเชยการว่างงาน เท่ากับว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ 6 รายการ คือ

1. กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยกรณีเจ็บป่วย

          ใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ รวมทั้งใช้สิทธิทำฟันได้ปีละ 900 บาท

2. กรณีทุพพลภาพ

          ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต และค่าทำศพ 50,000 บาท

3. กรณีคลอดบุตร

          ผู้หญิงสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาทต่อครั้ง รวมทั้งค่าตรวจ-รับฝากครรภ์ และเงินสงเคราะห์การหยุดงาน ส่วนผู้ชายสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาทต่อครั้ง

4. กรณีสงเคราะห์บุตร

          ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาท ต่อบุตร 1 คน โดยจ่ายให้บุตรที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน

5. กรณีชราภาพ

  • กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 

  • กรณีส่งเงินสมทบ 180 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ โดยจ่ายเงินให้เป็นรายเดือนตลอดชีวิต

6. กรณีเสียชีวิต

          ได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2-6 เดือน (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ) และค่าทำศพ 50,000 บาท ให้กับผู้จัดการศพ

          ทั้งนี้ สามารถศึกษาสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม มาตรา 39 เพิ่มเติมได้จากบทความนี้ 
 

ประกันสังคม มาตรา 39 คืออะไร สิทธิประกันสังคม มีอะไรบ้าง

สมัครประกันสังคม มาตรา 39
อย่างไร

           ผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ต้องการสมัครเข้ามาตรา 39 จะต้องยื่นใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส.1-20) ด้วยตนเอง ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน โดยทำได้ 2 ช่องทาง

สมัครด้วยตัวเองที่สำนักงานประกันสังคม

  • กรุงเทพฯ : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 แห่ง

  • ภูมิภาค : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

สมัครประกันสังคมออนไลน์

          โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
สมัครประกันสังคม ม39

  1. เข้าเว็บไซต์ www.sso.go.th

  2. หากเคยสมัครใช้งานระบบสมาชิกผู้ประกันตนแล้วให้ Login เข้าสู่ระบบ แต่ถ้ายังไม่มี Username และ Password เนื่องจากยังไม่ได้สมัครใช้งาน จะต้องทำการสมัครใช้งานระบบก่อน

  3. เลือกหัวข้อ “สมัครมาตรา 39” เพื่อเข้าสู่หน้าจอระบบสมัคร

  4. ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร โดยอ่านข้อตกลงและเงื่อนไขให้ครบทุกข้อโดยละเอียด จากนั้นใส่เครื่องหมาย ☑ หน้าข้อความ “ข้าพเจ้าเข้าใจและยอมรับข้อตกลงข้างต้น” และกดเลือก “ยอมรับข้อตกลง”

  5. กรอกใบสมัครให้ครบถ้วน เมื่อผู้สมัครกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้วให้กดทำเครื่องหมายหน้าข้อความ “ข้าพเจ้าขอรับรองว่าข้อความข้างต้นเป็นความจริงทุกประการ” จากนั้นเลือก “บันทึก” หากตรวจสอบข้อมูลที่ระบบบันทึกแล้วพบว่าข้อมูลถูกต้อง เลือก “ยืนยันการสมัคร”

  6. รอรับผลการอนุมัติเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ทางระบบ e-Service ภายใน 2-4 วันทำการ

มาตรา 39 จ่ายเงินสมทบเท่าไร

           สำหรับมาตรา 39 จะส่งเงินสมทบประกันสังคมจำนวน 432 บาทต่อเดือน (คิดจากฐานสูงสุด 4,800 บาท) และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน โดยเราจะต้องจ่ายเงินสมทบภายในวันที่ 1 ของเดือนนั้น จนถึงวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เพื่อรักษาสิทธิประกันสังคม

จ่ายเงินประกันสังคมวิธีไหนได้บ้าง

           ปัจจุบัน ผู้ประกันตน มาตรา 39 สามารถจ่ายเงินสมทบประกันสังคมได้ 4 ช่องทาง คือ

1. สำนักงานประกันสังคม

           สามารถนำบัตรประชาชนเข้าไปติดต่อจ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร หรือที่สาขาทั่วประเทศ

2. เคาน์เตอร์บริการ

          นำเงินสดไปจ่ายได้ที่เคาน์เตอร์ธนาคาร หรือจุดบริการ ดังนี้

  • เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

  • เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

  • เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ทุกสาขาทั่วประเทศ

  • จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-ELEVEN

  • จ่ายผ่านเคาน์เตอร์โลตัส

  • จ่ายผ่านเคาน์เตอร์ CenPay Powered By บุญเติม

  • จ่ายผ่านเคาน์เตอร์ Boonterm Bill Payment

          นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายเป็นธนาณัติ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ พร้อมแบบส่งเงินสมทบ (สปส.1-11) ถึงสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา (กรณีจ่ายผ่านธนาณัติ แนะนำให้สอบถามเจ้าหน้าที่ด้วยว่าสั่งจ่ายที่ทำการไปรษณีย์ใด)

3. หักจากบัญชีเงินฝากธนาคาร

          เพื่อความสะดวกและไม่ลืมจ่ายเงินสมทบ สามารถแจ้งหักเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ได้ 7 ธนาคาร คือ

  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

  • ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)

  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

  • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

  • ธนาคารออมสิน

  • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

จ่ายประกันสังคม มาตรา 39

ภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม

4. จ่ายเงินประกันสังคมออนไลน์ผ่านแอปฯ

          ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ผู้ประกันตน มาตรา 39 สามารถจ่ายเงินสมทบออนไลน์ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน แบบฟรีค่าธรรมเนียม คือ

  1. แอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ของธนาคารกรุงไทย (คลิกดูวิธีจ่ายเงินผ่านธนาคารกรุงไทย)
  2. แอปพลิเคชัน Bangkok Bank ของธนาคารกรุงเทพ (คลิกดูวิธีจ่ายเงินผ่านธนาคารกรุงเทพ)
  3. แอปพลิเคชัน BAAC Mobile ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 
  4. แอปพลิเคชัน Shopee 

          ทั้งนี้ สามารถชำระเงินสมทบงวดเดือนย้อนหลังพร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมาย (ถ้ามี) ได้ 1 งวด และงวดเดือนปัจจุบัน 1 งวด โดยพิมพ์ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ได้ทันทีหลังจากชำระเงินเรียบร้อยแล้ว 

จ่ายเงินสมทบออนไลน์ ม.39

ภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม

วิธีสมัครหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ

          ใครกลัวลืมจ่ายเงินสมทบประกันสังคมแล้วจะเสียสิทธิ สามารถใช้บริการหักบัญชีธนาคารอัตโนมัติได้ โดยธนาคารจะหักบัญชีเงินฝากทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน

          วิธีสมัครทำได้โดยเตรียมสำเนาหนังสือยินยอมการหักบัญชีเงินฝาก, แบบคำขอส่งเงินสมทบ และสำเนาสมุดเงินฝาก ประเภทออมทรัพย์ (เลือกได้ 7 ธนาคาร) แล้วยื่นเอกสารได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ

           กรณีมีข้อสงสัยต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนสำนักงานประกันสังคม โทร. 1506 โดยเปิดให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

บทความที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม (1), (2), เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน  
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จ่ายเงินประกันสังคม มาตรา 39 ได้กี่วิธี ส่งเงินสมทบประกันสังคมออนไลน์ได้ไหมนะ ? อัปเดตล่าสุด 16 ตุลาคม 2567 เวลา 11:33:53 35,882 อ่าน
TOP
x close