คุณพ่อคุณแม่ที่มีบุตรวัยแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ หากอยู่ในระบบประกันสังคมจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรประกันสังคม เพื่อช่วยค่าเลี้ยงดูทุกเดือน แต่เราก็อาจมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เดือนละ 600 บาท ด้วยเช่นกัน หากมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งนี่เป็นสวัสดิการของรัฐที่ช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อย
ดังนั้น ใครที่ยังไม่เคยลงทะเบียนเงินอุดหนุนบุตร ลองมาเช็กเงื่อนไขการสมัคร รวมทั้งเปิดปฏิทินปี 2566 ว่า เงินอุดหนุนบุตรเข้าวันไหน
เงินอุดหนุนบุตรเข้าวันไหน ปี 2566
กรมบัญชีกลางจะยึดหลักเกณฑ์จ่ายเงินเข้าบัญชีทุกวันที่ 10 ของเดือน และหากตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ จะจ่ายเงินเด็กแรกเกิดเข้าบัญชีล่วงหน้าก่อนวันหยุด ดังนั้น ในปี 2566 กรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินอุดหนุนบุตรเข้าบัญชี ดังนี้
- เดือนมกราคม : วันอังคารที่ 10 มกราคม 2566
- เดือนกุมภาพันธ์ : วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566
- เดือนมีนาคม : วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566
- เดือนเมษายน : วันจันทร์ที่ 10 เมษายน 2566
- เดือนพฤษภาคม : วันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2566
- เดือนมิถุนายน : วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566
- เดือนกรกฎาคม : วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม 2566
- เดือนสิงหาคม : วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2566
- เดือนกันยายน : วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2566
- เดือนตุลาคม : วันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566
- เดือนพฤศจิกายน : วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566
- เดือนธันวาคม : วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงวันที่โอนเงิน กรมบัญชีกลางจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
สามารถดู ปฏิทิน ได้จากที่นี่
เงินอุดหนุนบุตร ปี 2566 ใครจะได้รับบ้าง ?
- เป็นผู้ลงทะเบียนรายเดิมที่มีสิทธิรับเงินอุดหนุน และบุตรยังมีอายุไม่ครบ 6 ปีบริบูรณ์
- ผู้ลงทะเบียนรายใหม่ที่ผ่านการพิจารณาแล้ว และมีการบันทึกข้อมูลสมบูรณ์อยู่ในระบบฐานข้อมูลของโครงการเงินอุดหนุนฯ ภายในวันที่กำหนด
ใครลงทะเบียนเงินอุดหนุนบุตรได้บ้าง ?
เด็กแรกเกิดที่มีสิทธิรับเงินอุดหนุนบุตร
- ต้องมีสัญชาติไทย
- พ่อแม่ของเด็กต้องมีสัญชาติไทย หรือคนใดคนหนึ่งมีสัญชาติไทย
- เด็กเกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป จนครบ 6 ปีบริบูรณ์
- อาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
- ไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน
ผู้ปกครองที่มีสิทธิลงทะเบียนเงินอุดหนุนบุตร
- มีสัญชาติไทย
- เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในอุปการะ (ไม่ใช่พ่อแม่ก็ได้)
- เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
- อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย คือ สมาชิกในครัวเรือนที่อาศัยอยู่ติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 180 วัน ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี (นำรายได้รวมทั้งครัวเรือน 1 ปี มาหารด้วยจำนวนสมาชิกในครัวเรือน)
- มีประกันสังคม หรือไม่มี ก็สามารถลงทะเบียนได้
- รับราชการก็สามารถลงทะเบียนได้
* หมายเหตุ มารดาที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ยังไม่ต้องมายื่นคําร้องขอลงทะเบียนขอรับสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด รอให้คลอดบุตรก่อนจึงลงทะเบียนได้
ลงทะเบียนอุดหนุนบุตร 2566 ได้ที่ไหน ?
- กรณีเคยลงทะเบียนเงินเด็กแรกเกิดไว้แล้วในปีก่อน ๆ มาถึงปีนี้ก็ไม่ต้องมาลงทะเบียนใหม่ โดยจะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีอย่างต่อเนื่องจนบุตรมีอายุ 6 ปีบริบูรณ์
- กรณียังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน หรือเพิ่งคลอดบุตร ก็สามารถมาลงทะเบียนได้เลยตามสถานที่รับลงทะเบียนต่อไปนี้
-
กรุงเทพมหานคร : ลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่พักอาศัยอยู่
-
เมืองพัทยา : ลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
-
ส่วนภูมิภาค : ลงทะเบียนที่สำนักงานเทศบาล หรือที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลตามภูมิลำเนา
-
เอกสารที่ใช้ลงทะเบียนเงินอุดหนุนบุตร
ณ หน่วยรับลงทะเบียน
- แบบคําร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
- แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02) โดยต้องได้รับการรับรองแล้วจากบุคคล 2 คน คือ
ผู้รับรองคนที่ 1
- กรุงเทพมหานคร : อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการชุมชนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปฏิบัติงานในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง หากไม่มีผู้รับรองคนที่ 1 ให้ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งในระดับปฏิบัติการขึ้นไป หรือเทียบเท่าที่ปฏิบัติหน้าที่ในกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับรองได้
- เมืองพัทยา : อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนเมืองพัทยา
- ส่วนภูมิภาค : อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือชุมชน
ผู้รับรองคนที่ 2
ได้แก่ ประธานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำตำบล ประธานชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการสถานบริการสาธารณสุขในระดับตำบล ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งในระดับปฏิบัติการขึ้นไปหรือเทียบเท่า ที่ปฏิบัติหน้าที่ในท้องที่หรือท้องถิ่นแห่งนั้น (ต้องไม่ใช่ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมายในการรับลงทะเบียน)
* กรณีสมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคน ไม่ต้องมีผู้รับรองสถานะของครัวเรือน
3. บัตรประจําตัวประชาชนแบบ Smart Card ของผู้ปกครอง
4. สูติบัตรเด็กแรกเกิด
5. ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ของสมาชิกในครัวเรือนทุกคนที่ประกอบอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท
6. สำเนาเอกสาร หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรหรือเอกสารอื่นที่แสดงสถานะหรือตำแหน่งของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2
7. สมุดบัญชีเงินฝากของผู้ปกครอง (บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย บัญชีเงินฝากเผื่อเรียก ธนาคารออมสิน หรือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น)
ลงทะเบียนเงินอุดหนุนบุตรออนไลน์ได้ไหม ?
1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน "เงินเด็ก"
2. ผู้ปกครองจะต้องพิสูจน์ตัวตนก่อนในครั้งแรก
นำบัตรประชาชนของตัวเองไปยืนยันตัวตนที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ หรือศาลาว่าการเมืองพัทยา พร้อมยืนยันตัวตนผ่านระบบ D.DOPA ของกรมการปกครอง
3. เตรียมข้อมูลดังต่อไปนี้ ก่อนลงทะเบียนในแอปฯ เงินเด็ก
- ข้อมูลส่วนตัวของเด็ก
- ข้อมูลผู้ปกครองและสมาชิกในครัวเรือนทุกคน
- ข้อมูลผู้รับรอง 2 คน พร้อมเอกสารรับรอง
4. เปิดแอปพลิเคชัน "เงินเด็ก" เลือก "ลงทะเบียน"
- กรอกข้อมูลเด็ก
- กรอกข้อมูลผู้ปกครอง พร้อมแนบหนังสือรับรองเงินเดือน หรือสลิปเงินเดือน
- กรอกข้อมูลของสมาชิกในครัวเรือนทุกคน พร้อมแนบหนังสือรับรองเงินเดือน หรือสลิปเงินเดือนของสมาชิกที่มีรายได้น้อยทุกคน (กรณีเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท)
- กรอกข้อมูลผู้รับรอง 2 คน และแนบสำเนาบัตรประจำตัวที่แสดงตำแหน่งของผู้รับรองทั้ง 2 คน พร้อมเขียนข้อความกำกับรับรองความถูกต้อง
ทั้งนี้ ผู้รับรองจะต้องมีตำแหน่งตามเงื่อนไข ได้แก่ อพม., อสม., คณะกรรมการการชุมชน, ข้าราชการ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เพื่อรับรองว่าผู้ปกครองเป็นผู้ดูแลเด็ก และมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับสิทธิ
5. รอการตรวจสอบ
หลังจากลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ให้รอหน่วยงานตรวจสอบข้อมูล ซึ่งเมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว จะมีข้อความแจ้งเตือนเข้ามาในแอปฯ เงินเด็ก เราสามารถตรวจสอบสถานะการรับเงินอุดหนุนบุตรได้เลย- กรณีลงทะเบียนสำเร็จ จะได้รับการแจ้งเตือนว่า “สิทธิของท่านได้รับการอนุมัติแล้ว” สามารถรอรับเงินได้เลย ในวันที่ 10 ของเดือนถัดจากที่ลงทะเบียนสำเร็จ
- กรณีลงทะเบียนไม่สำเร็จ ระบบจะแจ้งสาเหตุที่สมัครไม่ผ่าน เพื่อให้เราดำเนินการแก้ไขข้อมูลหรือเอกสารต่าง ๆ ผ่านแอปฯ ภายใน 15 วัน
6. ผูกบัญชีพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประชาชนกับธนาคาร
ก่อนที่กรมบัญชีกลางจะโอนเงินให้ ผู้ปกครองจะต้องผูกบัญชีพร้อมเพย์กับธนาคารที่ต้องการรับเงินโอนเข้าบัญชีก่อน โดยเลือกวิธีผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน
แต่หากใครมีบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนอยู่แล้ว ก็สามารถใช้บัญชีธนาคารนั้นได้เลย
ตรวจสอบสถานะเงินอุดหนุนบุตรได้อย่างไร
หากไม่ทราบว่าตัวเองลงทะเบียนผ่านไหม ได้รับสิทธิหรือยัง หลังจากยื่นเอกสารไปแล้ว 20 วัน ถึง 1 เดือน สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ดังนี้
- วิธีที่ 1 ตรวจสอบที่เว็บไซต์กรมกิจการเด็กและเยาวชน csgcheck.dcy.go.th
- วิธีที่ 2 เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง govwelfare.cgd.go.th
- วิธีที่ 3 แอปพลิเคชันทางรัฐ
- วิธีที่ 4 แอปพลิเคชันเงินเด็ก สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน