x close

ตอบคำถามลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม เมื่อไรได้เงิน คำนวณยังไง ทำไมได้ไม่เท่ากับเพื่อน

         ลงทะเบียนว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย เพื่อรับเงินเยียวยาจากประกันสังคมไปหลายวันแล้ว แต่เพราะอะไรยังไม่ได้รับเงิน มีวิธีคำนวณอย่างไร แล้วจะจ่ายทีเดียว 90 วันเลยไหม สารพัดคำถามที่ต้องเคลียร์ให้เข้าใจ
          คนทำงานที่เป็นผู้ประกันตนประกันสังคม มาตรา 33 หากประสบปัญหาต้องว่างงาน หยุดงานด้วยเหตุสุดวิสัยจากโควิด 19 สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินทดแทนการว่างงานจากสำนักงานประกันสังคมได้ อย่างไรก็ตาม หลายคนลงทะเบียนไปตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน หรือบางคนได้รับเงินช่วยเหลือแล้ว แต่ได้ไม่เท่ากับเพื่อนร่วมงานที่มีเงินเดือนเท่ากัน คงจะสงสัยว่ามีวิธีคำนวณอย่างไรกันแน่

          วันนี้กระปุกดอทคอมจึงรวบรวมคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับการลงทะเบียนว่างงานของประกันสังคม มาอธิบายให้เข้าใจกัน
ว่างงานสุดวิสัย

ว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยมีอะไรบ้าง ?

  • นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากมีลูกจ้างสุ่มเสี่ยงติด COVID-19 ทำให้ไม่สามารถทำงานตามปกติได้
  • หน่วยงานภาครัฐสั่งหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
  • นายจ้างไม่ให้ทำงาน โดยให้ลูกจ้างกักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด 19

กรณีไหนถึงจะไม่ได้รับเงินทดแทนว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ?

     หากเป็นการว่างงานจากสาเหตุนี้ ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินทดแทนจากประกันสังคม
  • ลูกจ้างยังทำงานอยู่ แต่ถูกปรับลดเงินเดือน จะถือว่าลูกจ้างยังไม่ได้ว่างงาน
  • ลูกจ้างยินยอมลางานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay)
  • สถานประกอบการหยุดชั่วคราว ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงาน แต่นายจ้างยังคงจ่ายเงินให้ลูกจ้างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าไรก็ตาม
  • นายจ้างหยุดงานชั่วคราวเนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้ถูกสั่งปิดโดยรัฐ กรณีนี้ลูกจ้างรับเงินจากประกันสังคมไม่ได้ เพราะไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง แต่นายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้าง 75% ของค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน 
  • นายจ้างยังดำเนินกิจการอยู่

ลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมจากเหตุสุดวิสัยได้ที่ไหน ?

  • กรอกแบบฟอร์มขอรับประโยชน์ กรณีว่างงาน (สำหรับลูกจ้าง/ผู้ประกันตน) ที่นี่  
  • นายจ้างต้องกรอกแบบฟอร์มยืนยันการหยุดงานของลูกจ้างด้วย ที่นี่

          หากไม่สะดวกกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มที่นี่ กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วนแล้วส่งทางไปรษณีย์ หรืออีเมล หรือแฟกซ์ไปยังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่

ประกันสังคม

ลงทะเบียนได้ภายในระยะเวลาเท่าไร ?

           หากผู้ประกันตนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนต้องว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย สามารถยื่นคําขอรับประโยชน์ทดแทนได้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ์

ใครลงทะเบียนว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยได้ ?

          ต้องเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนการว่างงานหรือถูกรัฐสั่งให้กักตัว หากส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน จะไม่สามารถรับเงินทดแทนได้

ประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 ลงทะเบียนรับเงินว่างงานได้ไหม ?

          ไม่ได้ เนื่องจากประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 ไม่คุ้มครองกรณีว่างงานเหมือนประกันสังคม มาตรา 33 โดยประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 จะคุ้มครองกรณีต่อไปนี้เท่านั้น

          มาตรา 39 
          คุ้มครอง 6 กรณี คือ เจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, คลอดบุตร, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ และเสียชีวิต
 

          มาตรา 40 ขึ้นอยู่กับทางเลือก
          - ทางเลือกที่ 1 คุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ และเงินค่าทำศพ

          - ทางเลือกที่ 2 คุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ และเงินบำเหน็จชราภาพ

          - ทางเลือกที่ 3 คุ้มครอง 5 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินสงเคราะห์บุตร

ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม มาตรา 39 ทั้งหมด

ได้เงินทดแทนว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยเท่าไร คำนวณอย่างไร ?

          จะได้รับเงิน 62% ของค่าจ้างเฉลี่ยรายวัน ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน โดยคิดจากฐานค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน 

          ทั้งนี้ ค่าจ้างเฉลี่ยรายวันไม่ได้คิดจากเดือนสุดท้าย แต่จะดูย้อนหลังไป 15 เดือนที่ผ่านมาว่าเดือนไหนได้สูงที่สุด เอานำ 3 เดือนที่ได้รับค่าจ้างสูงที่สุดมารวมกัน แล้วหาร 90 วัน เพื่อหาค่าจ้างเฉลี่ยรายวัน เช่น

  • ในช่วง 15 เดือนย้อนหลัง นาย A ได้รับค่าจ้างไม่เท่ากันเลยในแต่ละเดือน แต่ 3 เดือนที่ได้สูงที่สุด คือ 8,800 บาท / 9,200 บาท / 9,000 บาท รวมเป็น 27,000 บาท เท่ากับได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 300 บาท ก็จะได้เงินทดแทน 62% ของ 300 คือ วันละ 186 บาท ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน 
     
  • นาย B ได้เงินเดือน 12,000 บาท เท่ากันทุกเดือนในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา เท่ากับมีรายได้เฉลี่ยวันละ 400 บาท จะได้เงินทดแทนวันละ 248 บาท ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน
     
  • นาย C ทำงานบริษัทแรกได้เงิน 15,000 บาท แต่เพิ่งลาออกมาอยู่บริษัทที่สองได้ 3 เดือน รับเงินเดือน 10,000 บาท จึงต้องนำเงินเดือน 15,000 บาทมาคำนวณ เพราะถือเป็นค่าจ้างสูงที่สุดภายใน 15 เดือน เท่ากับมีรายได้เฉลี่ยวันละ 500 บาท จึงจะได้เงินทดแทน 62% คือ 310 บาท
     
  • สำหรับคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาท/เดือนขึ้นไป จะได้เงินทดแทนวันละ 310 บาท ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน 

ประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนให้ 90 วันเลยใช่ไหม ?

          ประกันสังคมจะคำนวณเงินทดแทนให้เป็นรายวัน และจ่ายให้ตามจำนวนวันที่เราแจ้งหยุดงานไว้ตอนลงทะเบียนว่าเริ่มหยุดตั้งแต่วันที่เท่าไรถึงวันที่เท่าไร ซึ่งนายจ้างจะต้องลงวันที่ให้ตรงกันด้วย

          แต่หากสถานประกอบการหยุดเพิ่มเติมจากที่แจ้งไว้ครั้งแรก ก็จะต้องยื่นเรื่องเพิ่ม โดยจะได้รับเงินทดแทนสูงสุดไม่เกิน 90 วัน และจะทยอยจ่ายให้เป็นรอบ ๆ ไม่ได้จ่ายทีเดียว 90 วัน เช่น 
  • หากค่าจ้างเฉลี่ยคือ 15,000 บาท จะได้รับเงินสูงสุด 62% คิดเป็น 9,300 บาท/เดือน หาร 30 วัน เท่ากับว่าจะได้รับเงินทดแทนวันละ 310 บาท 
     
  • ถ้าเราลงทะเบียนว่าหยุดงาน 60 วัน ก็จะได้เงินทดแทน 60 วัน คือ 310x60 = 18,600 บาท แต่จะทยอยจ่ายให้ตามรอบวันที่ของแต่ละเดือนจนครบ ไม่ได้จ่ายให้เดือนละ 9,300 บาท เป็นเวลา 2 เดือนเสมอไป ขึ้นอยู่กับรอบวันที่จ่ายของเดือนนั้นด้วย ซึ่งแต่ละรอบอาจได้รับเงินไม่เท่ากัน แต่รวมแล้วจะได้เงินครบ 18,600 บาท แน่นอน

    อย่างไรก็ตาม หากลงทะเบียนว่าหยุดงาน 60 วัน แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว รัฐยังไม่อนุญาตให้สถานประกอบการเปิดทำการ ก็สามารถลงทะเบียนยื่นเรื่องการว่างงานอีกครั้งได้ โดยครั้งนี้จะได้รับเงินไม่เกิน 30 วัน เพราะการรับเงินทดแทนการว่างงานจะได้สูงสุดไม่เกิน 90 วัน  

เงินเดือนเท่ากับเพื่อน แต่ทำไมได้รับเงินทดแทนไม่เท่ากัน ?

          กรณีที่เรามีฐานเงินเดือนเท่ากับเพื่อนร่วมงาน แต่พอได้รับเงินทดแทนรอบแรกมาแล้ว กลับได้เงินไม่เท่ากับเพื่อน เป็นเพราะ

          1. การรับเงินทดแทนประกันสังคมจะคำนวณจากฐานค่าจ้างเฉลี่ยต่อวัน ดังนั้น แม้จะมีเงินเดือนเท่ากัน แต่บางคนอาจมีเงินได้อื่น ๆ เพิ่มเข้ามา ทำให้ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันไม่เท่ากัน เช่น

          มีเงินเดือน 9,000 บาท เท่ากัน แต่เพื่อนอีกคนอาจมีค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเข้ามาในแต่ละเดือน จึงส่งเงินสมทบไปมากกว่า และทำให้ค่าจ้างเฉลี่ย 3 เดือนล่าสุดของเพื่อนสูงกว่า เวลาคำนวณเงินทดแทนว่างงานจึงได้รับมากกว่า

          2. ขึ้นอยู่กับวันที่ยื่นเรื่อง และวันที่วินิจฉัยไม่เท่ากัน เพราะคำนวณเป็นรายวันและจ่ายให้ตามรอบการตัดจ่ายของประกันสังคม เช่น 

  • นาย C และนาย D มีค่าจ้างเฉลี่ย 15,000 บาท/เดือน เท่ากัน หยุดงานพร้อมกัน ดังนั้น จะได้เงินทดแทนวันละ 310 บาท
  • นาย C ยื่นเรื่องวันที่ 1 เมษายน ทางประกันสังคมวินิจฉัยให้ในวันที่ 26 เมษายน นาย C จึงได้รับเงินทดแทนในรอบนี้ จำนวน 26 วัน คือ 8,060 บาท
  • ขณะที่นาย D ยื่นเรื่องวันที่ 1 เมษายน เช่นเดียวกัน แต่ทางประกันสังคมวินิจฉัยให้วันที่ 30 เมษายน นาย D ก็จะได้รับเงินในรอบนี้ จำนวน 30 วัน คือ 9,300 บาท

    อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับเงินทดแทนในรอบแรกไม่เท่ากัน แต่เมื่อครบ 3 เดือน จะได้รับเงินรวมทั้งหมดในจำนวนเท่ากัน

ลงทะเบียนไปแล้ว แต่ทำไมไม่ผ่าน หรือยังไม่ได้รับเงิน ?

   กรณีที่เป็นการว่างงานสุดวิสัยจริง ๆ และลงทะเบียนไปแล้ว แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับเงิน อาจเป็นเพราะสาเหตุต่าง ๆ เช่น
  • เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบข้อมูล เนื่องจากมีผู้ลงทะเบียนจำนวนมาก
  • นายจ้างยังไม่กรอกแบบฟอร์มยืนยันการหยุดงานของลูกจ้าง หากนายจ้างยังไม่ลงทะเบียนรับรองว่าลูกจ้างหยุดงานเพราะเหตุสุดวิสัยจริง ๆ ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย  
  • ลูกจ้างยังส่งเงินสมทบประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน ภายใน 15 เดือน จึงไม่ได้รับสิทธิ์
  • ลูกจ้างและนายจ้างแจ้งข้อมูลไม่ตรงกัน หรือแจ้งข้อมูลไม่ถูกต้อง เช่น ระบุสาเหตุการว่างงาน หรือเขียนชื่อ/เลขบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง ส่งผลให้การตรวจสอบและพิจารณาอนุมัติมีความล่าช้าได้ 

ตรวจสอบอย่างไรว่ามีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนหรือยัง ?

          หากได้รับสิทธิ์แล้วจะมีข้อความแจ้งทางอีเมลที่กรอกไว้ในระบบ e-form หรือสามารถเช็กยอดเงินที่จะได้รับและวันที่อนุมัติสิทธิ์ได้ตามช่องทางต่าง ๆ ของประกันสังคม คือ
          1. แอปฯ SSO Connect เลือกหัวข้อ "การเบิกสิทธิประโยชน์"
          2. เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม เลือกหัวข้อ "ผู้ประกันตน" >> "การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน"
          3. ติดต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัดที่ผู้ประกันตนได้ยื่นเรื่องไว้ (เช็กข้อมูลประกันสังคมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ)  

ผลการตรวจสอบขึ้น "ไม่พบข้อมูล" เกิดจากอะไร ?

          เมื่อตรวจสอบข้อมูลผ่านเว็บไซต์ หรือแอปฯ SSO Connect แล้ว พบว่าผลการตรวจสอบมีสถานะ "ไม่พบข้อมูล" หรือไม่ปรากฏวันจ่ายเงิน หมายความว่าเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ลูกจ้างและนายจ้างแจ้งไว้อยู่ โดยอาจเป็นไปได้ว่า...

1. นายจ้างและลูกจ้างแจ้งข้อมูลคนละช่องทาง เช่น
          - ลูกจ้างแจ้งข้อมูลผ่านแฟกซ์ / อีเมล / ไลน์ของสำนักงานประกันสังคม
          - นายจ้างแจ้งข้อมูลผ่านระบบ e-form ในเว็บไซต์

2. นายจ้างและลูกจ้างแจ้งข้อมูลคนละช่อง และคนละพื้นที่ เช่น
          - ลูกจ้างแจ้งข้อมูลผ่านระบบ e-form ในเว็บไซต์ ระบุ สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 2
          - นายจ้างแจ้งข้อมูลผ่านแฟกซ์ / อีเมล / ไลน์ของสำนักงานประกันสังคม ระบุ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดตรัง

3. นายจ้างและลูกจ้างแจ้งข้อมูลไม่ตรงกัน เช่น
          - ลูกจ้างแจ้งสาเหตุว่างงาน เพราะรัฐสั่งปิด
          - นายจ้างแจ้งสาเหตุว่าปิดกิจการเอง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ

          ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้เวลาพิจารณา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

กรอกข้อมูลในระบบ e-form ผิด จะต้องทำอย่างไร ?

          หากกรอกข้อมูลผิด ไม่สามารถแก้ไขได้ ให้เรากรอกข้อมูลที่ถูกต้องและกดส่งใหม่ โดยทางสำนักงานประกันสังคมจะใช้ข้อมูลล่าสุดที่กรอกเข้ามา

ต้องส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขอรับเงินเยียวยาหรือไม่ ?

          หากกรอกรายละเอียด ชื่อ และเลขที่บัญชีเงินฝากถูกต้องผ่านแบบ e-form แล้ว ไม่ต้องส่งเอกสารมาที่สํานักงานประกันสังคม เพราะถือว่าลูกจ้างและนายจ้างได้ยืนยันข้อมูลแล้ว แต่หากข้อมูลไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะขอเอกสารเพื่อการตรวจสอบภายหลัง

หากไปยื่นเอกสารที่สํานักงานประกันสังคม หรือส่งไปรษณีย์/Fax/อีเมล เรียบร้อยแล้ว ยังจะต้องกรอก e-form หรือไม่ ?

          ไม่ต้องกรอกข้อมูลผ่านระบบ e-form เพราะถือว่าได้ยื่นเอกสารขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานแล้ว

จะได้รับเงินเมื่อไร ?

          เมื่อนายจ้างและลูกจ้างลงทะเบียนเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูล หากข้อมูลถูกต้องจะอนุมัติสั่งจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนให้ ซึ่งจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนภายใน 5-7 วันทำการ พร้อมส่งหนังสือแจ้งผลการอนุมัติให้ทราบ

ยังไม่ได้รับเงินของเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ทำยังไงได้บ้าง ?

         หากยังไม่ได้รับเงินเยียวยาในรอบเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 สักที ให้ติดต่อสำนักงานประกันสังคม หรือส่งข้อมูล ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ไปที่อีเมล ssolive1506@gmail.com

          ท่านสามารถเช็กสิทธิประกันสังคมผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน SSO Connect มือถือ ใช้ตรวจสอบได้ทั้งผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40      

          ทั้งนี้ หากใครยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมในเรื่องใด ๆ หรืออยากตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ สามารถสอบถามได้ตามช่องทางต่อไปนี้

*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 19 มิถุนายน 2563

ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานประกันสังคม, เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, YouTube งานโสตฯ ศูนย์สารนิเทศ 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตอบคำถามลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม เมื่อไรได้เงิน คำนวณยังไง ทำไมได้ไม่เท่ากับเพื่อน อัปเดตล่าสุด 7 มีนาคม 2567 เวลา 14:19:44 389,025 อ่าน
TOP