x close

สรุปสถานการณ์โรงงานปิด-เลิกจ้าง ครึ่งปีหลัง 62 ปัจจัยอะไร ที่ทำลูกจ้างโดนลอยแพ

          เผยปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยชะงัก ทำหลายโรงงานปิดตัว เลิกจ้างฟ้าผ่า ยอดคนว่างงานพุ่งสูงในรอบ 2-3 ปี ขณะที่รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ผุดนโยบายการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ 
 


         เรียกว่าสถานการณ์การเลิกจ้างงานในประเทศไทย 2562 น่าเป็นห่วงไม่น้อย หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขการว่างงาน สูงที่สุดในรอบ 2-3 ปี โดยเฉพาะสถานการณ์การเลิกจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ที่พบว่า ครึ่งปีหลังมีโรงงานใหญ่หลายแห่งปิดตัวลง และลอยแพพนักงานหลายร้อยคน เหตุจากเศรษฐกิจประเทศถดถอย

วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2562) กระปุกดอทคอม จะมาสรุปสถานการณ์การเลิกจ้างงาน การปิดตัวของโรงงานในช่วงครึ่งปีหลัง สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากอะไร เสียงสะท้อนจากภาคเอกชน ภาครัฐ รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ

โรงงานปิดตัวทุกเดือน เลิกจ้างฟ้าผ่า แต่ละครั้ง ลอยแพพนักงานนับร้อย

         - ช่วงเดือนกรกฎาคม บริษัท ซันโย เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บริษัทผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์และซ่อมแซมแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนโลหะ ประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน เหตุผลเพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานของบริษัทขาดทุนสะสม ยินดีจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานกำหนด

อ่านข่าว : ซันโย เจอพิษเศรษฐกิจ ขาดทุนสะสม ประกาศปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงาน
        - ช่วงเดือนสิงหาคม บริษัท GM General Motors Thailand บริษัทผลิตรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเลต (Chevrolet) ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง ประกาศเลิกจ้างทั้งพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวกะทันหัน 300 คน เหตุผลเพราะจำเป็นต้องปรับขนาดองค์กรให้เหมาะสม กับสภาวะตลาดในปัจจุบัน พร้อมมีมาตรการดูแลพนักงานเต็มที่

อ่านข่าว : บริษัท GM ในไทย เลิกจ้างพนักงานฟ้าผ่า 300 ชีวิต แจงต้องปรับขนาดองค์กร
- ช่วงเดือนตุลาคม มีโรงงานใหญ่ ลอยแพพนักงาน 4 แห่งด้วยกัน

         1. โรงงานของบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ที่ จ.สิงห์บุรี เลิกจ้างพนักงานกะทันหัน แถมแบ่งจ่ายเงินชดเชยให้พนักงาน 2 งวด ให้ไปรับเงินที่สำนักงานแรงงานจังหวัดสิงห์บุรี โดยทางบริษัทไม่ได้มาชี้แจงเหตุผลใด ๆ

อ่านข่าว : พนักงานรวมตัวประท้วงโรงงานสิงห์บุรี หลังเลิกจ้างกะทันหัน แถมเงินชดเชยแบ่งจ่าย

           2. บริษัท SRF Industries (Thailand) Ltd. โรงงานเทคนิคสิ่งทอ (ผ้าใบยางรถยนต์) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุต จ.ระยอง มีการเลิกจ้างพนักงาน 420 คน โดยได้แจ้งล่วงหน้า 1 เดือน และจ่ายเงินชดเชย ตามกฎหมายแรงงาน ส่วนเหตุผล ระบุว่า เศรษฐกิจไม่น่าไว้วางใจ ตลาดชะลอตัว ลูกค้ารายใหญ่ยกเลิกออเดอร์ เงินบาทแข็งค่า กระทบการส่งออก

อ่านข่าว : บริษัทดังเลิกจ้างพนักงานกะทันหัน 420 ชีวิตตกงาน บอกเหตุผล เศรษฐกิจไม่น่าวางใจ

           3. บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สาขาบางพลี ซึ่งเป็นบริษัทรับผลิตชุดชั้นในชื่อดัง ลอยแพพนักงาน 350 คน ไม่มีการจ่ายเงินชดเชยใด ๆ แถมนายจ้างบ่ายเบี่ยงไม่ยอมเจรจาไกล่เกลี่ย ทำเอาพนักงานเดือดร้อนหนักจนรวมตัวมาประท้วง พร้อมยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงแรงงาน วอนช่วยเหลือ

อ่านข่าว : ลูกจ้างโรงงานชุดชั้นในชื่อดัง โดนลอยแพ 350 ชีวิต ถูกทิ้งไม่มีงานทำ-นายจ้างไม่เจรจา 

ภาพจาก สปริงนิวส์

         4. โรงงาน ไฮ เทรนด์ อุตสาหกรรม กรุงเทพ ประกอบกิจการประเภทการผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋า อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ปิดกิจการ หลังจากประกอบกิจการมานานกว่า 11 ปี โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ทำให้พนักงานที่ไม่ทราบเรื่องต่างพากันเซอร์ไพรส์อยู่ที่หน้าโรงงานเป็นจำนวนมาก

อ่านข่าว : ปิดอีก โรงงานผลิตกระเป๋าเลิกกิจการ ทำคนงานถูกลอยแพ ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า

สาเหตุเบื้องลึก-ปัจจัยใด ที่ทำ ภาคอุตสาหกรรมไทย ทรุดหนักได้ถึงเพียงนี้ 

         ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงงานต่าง ๆ ต้องปิดตัว และเศรษฐกิจถดถอยนั้น เป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ดังต่อไปนี้

        - สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา-จีน ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เจนส่งผลให้จีดีพีหลายประเทศร่วงอย่างหนัก ทั้งยุโรป หรือชาติยักษ์ใหญ่ในเอเชีย รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็มีการออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจ และการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวนี้ ถึงขั้นที่ไอเอ็มเอฟออกมาประกาศว่า มีประเทศกว่า 90% ที่ได้รับผลกระทบนี้ รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงประเทศไทยด้วย 

         - ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรจากการส่งออกลดลง ต้นทุนสูงขึ้นแต่รายได้ที่ลดลง จึงนำมาสู่การเลิกจ้างพนักงาน

ภาพจาก Evan El-Amin / Shutterstock.com

         - สหรัฐฯ สั่งยกเลิกให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP กับประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออก ถูกตัดสิทธิมีมากถึง 573 รายการ หากจะส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ จะต้องเสียภาษีในอัตราปกติ เฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.5 หรือคิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 1,800 ล้านบาท ซึ่งทางกรมการค้าต่างประเทศอยู่ระหว่างการดำเนินการเจรจาขอคืนสิทธิฯ

อ่านข่าว : GSP คืออะไร หลังสหรัฐฯ สั่งยกเลิกสิทธิพิเศษภาษีไทย

อ่านข่าว : แจงสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย ไม่อ่วมถึง 4 หมื่นล้าน ยังส่งได้แต่เสียภาษี
 

ฟังเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน ส่งออกหด เงินบาทแข็งค่า เศรษฐกิจทรุด

ภาพจาก INN

          - สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์การส่งออกไทยปี 2562 หดตัวติดลบ 1.5% และคาดว่า ปี 2563 การส่งออกเติบโต 0-1% เท่านั้น

          - คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ออกมาแสดงท่าทีต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้มีมาตรการลดผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปในปี 2563 โดยอยากให้มีการทบทวนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย เช่น การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออกเร็วขึ้น หรือผลักดันให้โครงสร้างการส่งออก สามารถแข่งขันได้มากขึ้น พร้อมทั้งเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานระหว่าง กกร., ธปท. และกระทรวงการคลัง เพื่อระดมสมองรับมือเงินบาทแข็งก่อน แล้วค่อยเร่งพัฒนาต้นทุนและราคาของสินค้า สร้างความสามารถในการแข่งขันต่อไป

อ่านข่าว : กกร. จี้ ธปท. ทบทวนนโยบายแก้ปัญหาเงินบาทแข็งเร็ว กระทบส่งออกประเทศ

ฟังเสียงจากภาครัฐ นายกรัฐมนตรี ชี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้ถดถอย แค่โตช้า

ภาพจาก รัฐบาลไทย

         - พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หารือ 2 เรื่องสำคัญ คือ เรื่อง SME และภาพรวมของเศรษฐกิจไทยและอาเซียน ระบุว่า อย่าใช้คำว่าเศรษฐกิจถดถอย แต่เป็นเศรษฐกิจเติบโตช้าลงในปีหน้าและปีต่อไป ซึ่งไทยจะต้องหามาตรการเพื่อช่วยทำให้ดีขึ้น รวมถึงเรื่องการใช้จ่ายภายในประเทศ ที่ต้องเอื้ออำนวยให้เกิดการใช้จ่ายการลงทุนมากยิ่งขึ้น ให้คนนำเงินออกมาลงทุน ตลอดจนสร้างสภาวะแวดล้อม ความมีเอกภาพ และเสถียรภาพ เพื่อประโยชน์ต่อการลงทุนทั้งหมด
เศรษฐกิจถึงคราววิกฤต รัฐบาลใช้ยาแรง ลดดอกเบี้ย-แจกเงิน ที่มาของ ชิมช้อปใช้

         - ชิมช้อปใช้ กลายเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยาแรงของรัฐบาล ที่ออกมาแจกเงินให้คนใช้กว่า 1,000 บาท และยังมีตัวเลือกอื่น ๆ ที่คืนเงินเมื่อใช้จ่ายผ่านแอปฯ เป๋าตัง หลังจากที่ส่อเค้าว่าเศรษฐกิจในไทยจะชะลอตัวหนักหนา ซึ่งผลปรากฏว่า ชิมช้อปใช้ กลายเป็นโครงการที่มีเสียงตอบรับอย่างดีจากประชาชน รวมมีผู้ลงทะเบียนกว่า 13 ล้านคน หลายคนลุกขึ้นมาลงทะเบียนตั้งแต่เที่ยงคืน จนระบบล่ม จนก่อให้เกิด ชิมช้อปใช้ เฟส 2 

         ทว่า มาตรการชิมช้อปใช้ กลับก่อให้เกิดคำถามที่ว่า นี่เป็นยาแรงที่ส่งเสริมเศรษฐกิจจริง ๆ หรือไม่ เพราะคนจำนวนมากที่ลงทะเบียน ไม่ได้เอาเงินไปใช้ตามจังหวัดที่ท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจถึงระดับรากหญ้า หากแต่เอาไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน และกลายเป็นว่ามาตรการชิมช้อปใช้นี้ ก็วนเงินกลับเข้าสู่นายทุนเหมือนเดิม 

          - โครงการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการยาแรงของรัฐบาล ที่ต้องการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว โดยให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เตรียมของขวัญมอบให้แก่ประชาชนกว่า 4 หมื่นรายการ โดยคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถลงทะเบียนใช้สิทธิ์ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย ได้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.100เดียวเที่ยวทั่วไทย.com 

        - มาตรการลดดอกเบี้ย อสังหาริมทรัพย์ ประกาศลดค่าธรรมเนียมการโอน จากเดิม 2% เหลือเพียง 0.01% ลดค่าจดทะเบียนจดจำนอง จาก 1% เป็น 0.01% สำหรับการซื้อขายที่ดินพร้อมที่อยู่อาศัย หรือห้องชุดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 - 24 ธันวาคม 2563 ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ภายหลังจากที่รัฐออกมาตรการ LTV จนเป็นผลให้คนกู้ซื้อบ้านยากขึ้นกว่าเดิม

        - คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม ให้ปรับจาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี ก่อนที่เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ให้เหลือ 1.25% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ การส่งออกหดตัวลง การบริโภคในครัวเรือนชะลอตัว

        ทั้งนี้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกดีขึ้น และส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ปรับลดลง เป็นการกระตุ้นให้คนในประเทศจับจ่ายใช้สอยเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

อ่านข่าว : ลดดอกเบี้ยนโยบาย มีผลอย่างไร จะกระทบกับเงินของเราไหม ? 

 

กระตุ้นเศรษฐกิจเอาไม่อยู่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทรุดหนักในรอบ 65 เดือน
          - แม้รัฐบาล จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจมากขนาดไหน แต่ตัวเลขจากหลาย ๆ สถาบัน ยังคงชี้ให้เห็นถึงความน่าเป็นห่วง อาทิ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่กล่าวว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แม้ว่ารัฐบาลจะเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น แต่ผู้บริโภคก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
คนไทยยังช้ำต่อ ตัวเลขชี้ชัด การว่างงานของประเทศไทย สูงที่สุดในรอบ 2-3 ปี
         - นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผย ตัวเลขการว่างงานของประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 หรือประมาณมากกว่า 400,000 อัตรา ผลพวงจากสงครามการค้า และการแข็งค่าของเงินบาท

อ่านข่าว : เผยคนไทยตกงานกราว สูงสุดที่สุดในรอบ 2-3 ปี หลังค่าเงินบาทแข็งตัว
 
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก รายการเรื่องเล่าเช้านี้, รายการเรื่องเล่าเช้านี้, สปริงนิวส์, ธนาคารแห่งประเทศไทย   
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปสถานการณ์โรงงานปิด-เลิกจ้าง ครึ่งปีหลัง 62 ปัจจัยอะไร ที่ทำลูกจ้างโดนลอยแพ อัปเดตล่าสุด 9 พฤศจิกายน 2562 เวลา 07:13:11 108,942 อ่าน
TOP