x close

"Unit Linked" ประกันทางเลือกใหม่ของคนยุค 4.0

ประกันยูนิตลิงค์

          ยูนิตลิงค์เป็นประกันชีวิตที่ผู้ทำประกันสามารถบริหารจัดการเบี้ยประกันที่เป็นส่วนการลงทุนได้เอง ซึ่งไม่มีการการันตีผลตอบแทนที่จะได้รับ ผู้ทำประกันจึงควรมีความรู้เรื่องการลงทุน และรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้
 
          เมื่อกล่าวถึงแบบประกันชีวิตที่หลาย ๆ คนกำลังพูดถึงหรือให้ความสนใจ และบริษัทประกันชีวิตหลาย ๆ แห่งก็กำลังทยอยออกแบบประกันตัวนี้มาเรื่อย ๆ คงหนีไม่พ้น "ยูนิตลิงค์ (Unit Linked) หรือประกันชีวิตควบการลงทุน" ซึ่งรายละเอียดของประกันชีวิตแบบนี้คืออะไร เหมาะกับใคร และน่าสนใจซื้อหรือไม่ K-Expert ธนาคารกสิกรไทยมีคำตอบ


ทำความเข้าใจโครงสร้างของประกันชีวิตเป็นอย่างไร


          ก่อนอื่นอยากให้ทำความเข้าใจโครงสร้างของประกันชีวิตก่อนว่า เบี้ยประกันที่เราจ่ายไปจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. ส่วนของความคุ้มครองชีวิต 2. ส่วนของค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมตามกรมธรรม์ และ 3. ส่วนของเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ

          โดยเบี้ยในส่วนที่เป็นเงินลงทุนของประกันชีวิตแบบทั่วไป (แบบตลอดชีพ แบบสะสมทรัพย์ และแบบบำนาญ) บริษัทประกันจะเป็นผู้บริหารเงินลงทุนเองตามนโยบายของแต่ละบริษัท ส่วนใหญ่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ อาจมีหุ้นบ้างแต่เป็นส่วนน้อย เนื่องจากประกันชีวิตแบบทั่วไปมักมีการการันตีในรูปของ "เงินคืน" เป็นอัตราร้อยละของทุนประกัน จ่ายให้กับผู้ถือกรมธรรม์ ทำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากไม่ได้
          ทั้งนี้ จากการที่เบี้ยประกันมีการแบ่งเป็นส่วนของทุนประกันหรือความคุ้มครองชีวิต และส่วนของผลตอบแทนจากการลงทุน ทำให้เกิดประกันชีวิตแบบต่าง ๆ นั่นคือ หากเป็นประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เบี้ยที่จ่ายไปจะเป็นส่วนของความคุ้มครองชีวิตที่มากกว่าส่วนของเงินลงทุน ทำให้ประกันชีวิตแบบนี้ให้ความคุ้มครองชีวิตสูง แต่หากเป็นประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือแบบบำนาญ เบี้ยที่จ่ายไปจะเป็นส่วนของเงินลงทุนมากกว่าส่วนของความคุ้มครองชีวิต ทำให้ประกันชีวิตแบบนี้ทุนประกันหรือความคุ้มครองชีวิตจะต่ำกว่าแบบตลอดชีพ เปรียบเทียบโดยจ่ายเบี้ยที่เท่ากัน

          อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า บริษัทประกันมักกำหนดเงินคืนไว้เป็นอัตราที่แน่นอน ทำให้การนำเบี้ยของผู้เอาประกันไปลงทุนจะเสี่ยงมากไม่ได้ ดังนั้น แม้จะเป็นประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญที่มีส่วนของเงินลงทุนมากกว่าส่วนของความคุ้มครอง ผลตอบแทนที่ได้รับจากประกันก็ไม่ได้สูงมาก อยู่ที่ประมาณ 1.5-2.5% ต่อปี
 
ประกันยูนิตลิงค์


ลักษณะประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์เป็นแบบไหน

          ประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ เบี้ยในส่วนเงินลงทุน ผู้เอาประกันเป็นผู้วางแผนลงทุนเอง โดยบริษัทประกันจะนำเงินส่วนนี้ไปซื้อกองทุนรวมตามคำสั่งของผู้เอาประกัน ซึ่งมีหลากหลายประเภทตั้งแต่กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสมที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น โดยลงทุนได้เฉพาะกองทุนรวมที่บริษัทประกันคัดเลือกมาแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทฯ จะไม่การันตีในเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน ผู้เอาประกันเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการลงทุนเอง นั่นคือ มีโอกาสที่จะได้รับกำไรหรือโอกาสที่จะขาดทุนได้ โดยทั่วไปบริษัทฯ จะนำเสนอผลตอบแทนจากการลงทุน 6-8% ต่อปี ซึ่งเป็นการประมาณการผลตอบแทนในอนาคต โดยอ้างอิงจากข้อมูลการลงทุนในอดีต จึงมีความไม่แน่นอนว่า ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นไปตามสถิติที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่ อาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ก็ได้

          นอกจากนี้ ผู้ทำประกันยังสามารถกำหนดสัดส่วนระหว่างส่วนความคุ้มครองชีวิต และส่วนเงินลงทุน ว่าต้องการให้มีส่วนความคุ้มครองชีวิต หรือส่วนการลงทุนมากกว่ากัน ยกตัวอย่างเช่น ช่วงทำงานมีภาระเยอะ มีลูกในวัยเรียน มีภาระหนี้สิน ต้องการทุนประกันชีวิตที่สูง ก็เลือกทำประกันให้มีสัดส่วนความคุ้มครองสูง แต่ส่วนลงทุนจะน้อย เมื่อภาระลดลง ผ่อนบ้าน ผ่อนรถหมดแล้ว ลูกเริ่มเรียนจบ อาจปรับสัดส่วนความคุ้มครองให้ลดลง เพื่อให้มีส่วนของการลงทุนมากขึ้น เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณอายุ

ประกันยูนิตลิงค์


ใครที่เหมาะกับประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์

          ประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์เหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต และต้องการบริหารจัดการเงินในส่วนของการลงทุนด้วยการเลือกกองทุนรวมด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม ผู้จะซื้อประกันแบบนี้ควรมีความรู้เรื่องการลงทุนในกองทุนรวม รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ และลงทุนได้ระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไปเพื่อลดโอกาสขาดทุนจากการลงทุน เพราะขึ้นชื่อว่า "การลงทุน" ย่อมตามมาด้วย "ความไม่แน่นอน" คือ ไม่แน่นอนทั้งผลตอบแทน และความเสี่ยงหรือโอกาสขาดทุน แม้จะเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนได้แน่นอน หากเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดผันผวนมาก ก็สามารถกระทบกับราคาตราสารหนี้ที่กองทุนรวมลงทุนไว้ได้

           สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยง หรืออยากรู้จำนวนเงินที่จะได้รับแน่นอนจากประกันชีวิต แนะนำทำประกันชีวิตแบบทั่วไปจะดีกว่า โดยหากต้องการรู้จำนวนเงินคืนที่แน่นอนจากประกันชีวิต จะเหมาะกับ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือหากต้องการมั่นใจว่าจะมีจำนวนเงินที่แน่นอนเข้ามาให้ใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอหลังเกษียณ ก็ควรเลือก ประกันชีวิตแบบบำนาญ

          ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือยูนิตลิงค์ ถือเป็นเครื่องมือในการวางแผนการเงิน ที่ให้ในเรื่องความคุ้มครองชีวิต และผลตอบแทนจากการลงทุนกองทุนรวม มีจุดเด่นสำคัญที่ผู้ทำประกันสามารถเลือกสัดส่วนความคุ้มครองชีวิต และการลงทุน รวมถึงบริหารจัดการเงินในส่วนการลงทุนได้เอง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อประกันชีวิตรูปแบบนี้ควรมีความรู้เรื่องการลงทุน และรับความเสี่ยงได้ เพราะหากซื้อหรือทำประกันด้วยความไม่เข้าใจ อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าเงินลงทุนในกรมธรรม์ และทำให้แผนการเงินไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก็ได้

 
          K-Expert Action

          • เลือกแบบประกันให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ และควรมีความคุ้มครองอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี

          • ทำประกันโดยจ่ายเบี้ยต่อปีไม่ควรเกิน 10-20% ของรายได้ต่อปี เพื่อไม่เป็นภาระที่หนักเกินไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
"Unit Linked" ประกันทางเลือกใหม่ของคนยุค 4.0 อัปเดตล่าสุด 23 พฤศจิกายน 2560 เวลา 13:49:17 9,183 อ่าน
TOP