x close

ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เปิดนโยบายพร้อมเผยรายชื่อเศรษฐีที่ดินในไทย


เปิดนโยบายภาษีมรดก ภาษีที่ดิน พร้อมรายชื่อเศรษฐีที่ดินในไทย
ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เปิดนโยบายพร้อมเผยรายชื่อเศรษฐีที่ดินในไทย

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการเรื่องเล่าเช้านี้ โพสต์โดยคุณ เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร

            ภาษีมรดก  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เปิดนโยบายพร้อมเผยรายชื่อเศรษฐีที่ดิน ใครมีที่ดินมากสุด มาดูกัน

            เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เผยคำแถลงนโยบายของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีทั้งสิ้น 11 ด้าน ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่นโยบายที่ถูกจับตามองมากที่สุด ก็คือ การเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยทางมติชนออนไลน์ ได้วิเคราะห์ถึงนโยบายข้อนี้อย่างละเอียดให้ได้ทราบกัน [อ่านนโยบาย 11 ด้าน รัฐบาลประยุทธ์ คลิกเลย]

            สำหรับการเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ระบุอยู่ใน ข้อ 6.10 ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีให้จัดเก็บได้อย่างครบถ้วน โดยปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้คงอัตราภาษีเงินได้ไว้ในระดับปัจจุบัน ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และจะปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีทางด้านการค้าและขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ ซึ่งจะเก็บจากภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้มีผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยให้น้อยที่สุด รวมทั้งปรับปรุงการลดหย่อนภาษีเงินได้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้มีรายได้น้อย และยกเว้นภาษีประเภทที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ที่มีฐานการเงินดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

            ทั้งนี้ในการผลักดันการจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น เป็นเรื่องที่พูดกันมายาวนานมาก แต่ก็ไม่เคยสำเร็จนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ออกเป็นกฎหมาย คือในสมัยรัฐบาลของ นายปรีดี พนมยงค์ แต่กฎหมายดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไปในที่สุด และในรัฐบาลของ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ในช่วงสุดท้ายก็ยุติการผลักดัน โดยอ้างว่า ให้เป็นการผลักดันของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

            โดยร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฐานจัดเก็บภาษีครอบคลุมมากขึ้น ให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีเพื่อกระจายรายได้ ขณะเดียวกันเป้าหมายสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ก็คือลดการกักตุนที่ดินของนายทุน ซึ่งหากใครที่ถือครองที่ดินแต่ปล่อยให้รกร้างไม่ได้ทำประโยชน์ ก็จะต้องเสียภาษีในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า 0.5% ของฐานภาษี (คำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน) และหากปล่อยที่ดินให้รกร้างจะต้องถูกปรับภาษีขึ้น 1 เท่าในทุก 3 ปี แต่มีเพดานไม่สูงเกินกว่า 2% ของฐานภาษี ซึ่งหาก ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้สำเร็จ ก็จะช่วยสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้มาก

            อย่างไรก็ดีร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ก็ทำให้เศรษฐีที่ดินรายใหญ่ทั่วประเทศ ต้องจับตามองดี ๆ เนื่องจากมีผลกระทบในเรื่องการจ่ายภาษี โดยจากการสำรวจพบว่า ตระกูล "สิริวัฒนภักดี"  ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจหลากหลายเช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ พัฒนาที่ดิน การเกษตร ฯลฯ  น่าจะถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทั่วประเทศมากที่สุดกว่า 6.3 แสนไร่ ทั้งในนามส่วนตัว ครอบครัว และผ่านบริษัทต่าง ๆ


            ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ ตระกูลเจียรวนนท์ ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์  ธุรกิจการเกษตรครบวงจร ในนามกลุ่มซีพี และกลุ่มแมกโนเลียส์ ธุรกิจโทรคมนาคม ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ถือครองที่ดินในมือไม่ต่ำกว่า 2 แสนไร่ โดยแปลงใหญ่อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 1 หมื่นไร่

            ต่อด้วยอันดับ 3 คือ บมจ.สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านน้ำมันปาล์มรายใหญ่ในภาคใต้ โดยถือครองที่ดิน 4.44 หมื่นไร่  รองลงมาคือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันมีที่ดินรวมประมาณ 3 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้ราว 7% ปล่อยเช่าสร้างรายได้เชิงพาณิชย์

            นอกจากนี้ ยังมีเศรษฐีที่ดินในประเทศไทยรายอื่น ๆ ประกอบด้วย บมจ.ไออาร์พีซี ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ ที่มีที่ดินร่วม 1.7 หมื่นไร่, ตระกูลมาลีนนท์ มีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นไร่, นายแพทย์บุญ วนาสิน มีประมาณ 1 หมื่นไร่, นายวิชัย พูลวรลักษณ์ ครอบครองอยู่ที่ 8 พันไร่, ตระกูลจุฬางกูร มีที่ดินอยู่ที่ 5-6 พันไร่, ไพวงษ์ เตชะณรงค์ ผู้ก่อตั้งโบนันซ่า  มีที่ดินในเขาใหญ่รวม 5 พันไร่ เป็นต้น

            สำหรับนักการเมืองที่ครอบครองที่ดินในปริมาณมาก ได้แก่ นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยกว่า 2 พันไร่, นายบรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติไทย 2 พันไร่, นายเสนาะ เทียนทอง และนางอุไรวรรณ เทียนทอง 1.9 พันไร่, นายอนุชา บูรพชัยศรี 1.2 พันไร่ ฯลฯ

            อย่างไรก็ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า หากสามารถประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ได้สำเร็จ และจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วงแรก 50% ของอัตราภาษี ก็จะช่วยให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นที่ 45,124 ล้านบาท ถ้าจัดเก็บเพิ่มได้อีก 75% ของอัตราภาษีท้องถิ่น ก็จะมีรายได้เพิ่มที่ 67,686 ล้านบาท และเมื่อจัดเก็บเต็มอัตรา หรือ 100% ท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่มสูงถึงปีละ 90,249 ล้านบาท


 
คลิป เศรษฐีจับตานโยบายรัฐบาลประยุทธ์1 เล็งจัดเก็บภาษีมรดก-ที่ดิน (12ก.ย.57) เครดิตรายการเรื่องเล่าเช้านี้ โพสต์โดยคุณ เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร

ติดตามข่าว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งหมด คลิกเลย


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เปิดนโยบายพร้อมเผยรายชื่อเศรษฐีที่ดินในไทย อัปเดตล่าสุด 9 มิถุนายน 2559 เวลา 13:44:40 2,059 อ่าน
TOP