x close

ลดหย่อนภาษี 2557 รายการที่สามารถนำมาลดหย่อนได้


การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรื่องที่ผู้เสียภาษีควรรู้


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


           การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรื่องที่ผู้เสียภาษีควรรู้ว่ามีรายการอะไรที่สามารถเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้

           พอใกล้ถึงช่วงที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย คงต่างคร่ำเคร่งไล่เช็กบัญชีของตนเองกันให้วุ่น เพราะไม่รู้ว่าปีนี้ จะได้เงินภาษีคืนไหม หรือจ่ายภาษีเพิ่มกันแน่ และด้วยความที่แต่ละคนต่างก็วางแผนภาษีที่แตกต่างกัน ทำให้ได้รับการลดหย่อนภาษีที่ไม่เหมือนกัน และเพื่อไม่ให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ทำหน้าที่ของพลเมืองดีที่ด้วยการชำระภาษีเป็นประจำทุกปี ต้องพลาดข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการเสียภาษีไป วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงได้รวบรวม เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี มาฝาก

รายการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

           สำหรับการหักลดหย่อนภาษี ก็เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีก่อนนำเงินได้ที่เหลือซึ่งเรียกว่าเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และรายการที่สามารถมาหักลดหย่อนภาษีนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

           1. ค่าลดหย่อนที่ไม่เป็นตัวเงิน คือ ค่าลดหย่อนที่กฎหมายกำหนดจากสถานภาพที่ผู้มีเงินได้มี หรือ ได้ช่วยเหลือดูแลบุคคลอื่นๆ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว, ค่าลดหย่อนจากคู่สมรส (กรณีจดทะเบียนสมรส), ค่าลดหย่อนบุตร, ค่าเลี้ยงดูบุพการี, ค่าเลี้ยงดูบุคคลทุพพลภาพ เป็นต้น

           2. ค่าลดหย่อนที่เป็นตัวเงิน คือ ค่าลดหย่อนที่กฎหมายกำหนดจากการลงทุนหรือได้จ่ายเงินได้ไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริม เช่น ค่าลดหย่อนจากเงินค่าซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF), ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF), เบี้ยประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ตามเงื่อนไขที่กำหนด, เบี้ยประกันแบบบำนาญ, ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากหนี้เพื่อซื้อบ้าน เป็นต้น

           และสำหรับเรื่องการลดหย่อนภาษีที่สำคัญนั้น จะขอเน้นไปที่ค่าลดหย่อนที่ไม่เป็นตัวเงิน เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขของค่าลดหย่อนไว้ชัดเจนแล้ว โดยรายละเอียดดังนี้

กรณีหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา

           1. หักลดหย่อนบิดามารดาซ้ำ

           ในกรณีนี้ หากมีบุตรหลายคน จำต้องตกลงกันให้ได้ก่อนว่า บุตรคนใดจะเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อน เพราะสามารถทำใช้สิทธิได้เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่หากตกลงกันไม่ได้ บุตรที่มีเงินได้ทุกคนไม่มีสิทธิหักลดหย่อน

           2. บิดามารดาต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

           3. บิดามารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษี ที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาท ขึ้นไป


การหักลดหย่อน กรณีบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา และหลักฐานการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่า

           1. การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่า

                      (1) ต้องเป็นการบริจาคให้กับสถานศึกษาตามรายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด และไม่เป็นการบริจาคเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่อผู้ใดโดยเฉพาะ

                      (2) เงินที่บริจาคนำไปยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่าย แต่ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมิน

                      (3) การบริจาคให้แก่สถานศึกษา ต้องเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับรายการ ดังต่อไปนี้

                                 3.1 จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดิน ให้แก่ สถานศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา

                                 3.2 จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการศึกษา

                                 3.3 จัดหาครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา การประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย สำหรับนักเรียน นิสิต หรือ นักศึกษาของสถานศึกษา


                      (4) ต้องมีหลักฐานจากสถานศึกษา เป็นใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาเท่านั้น โดยสถานศึกษาต้องระบุ คำว่า "เงินบริจาคเพื่อ.... 3.1, 3.2, 3.3 เพื่อ สนับสนุนการศึกษา ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547" ซึ่งให้เป็นส่วนกลางของสถานศึกษา นั้น

                      (5) หากเป็นการบริจาคให้แก่สถานศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ ที่นอกเหนือจาก ข้อ 3.1 3.2 และ 3.3 ให้นำไปหักลดหย่อนได้ ตามมาตรา 47(7)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร


กรณีการหักลดหย่อนการอุปการะเลี้ยงดูคนพิการและคนทุพพลภาพ

           1. ความสัมพันธ์กับผู้มีเงินได้

                      (1) เป็นบิดามารดาของผู้มีเงินได้

                      (2) เป็นบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้

                      (3) เป็นสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้

                      (4) เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้

                      (5) เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้

                      (6) เป็นบุคคลอื่นที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับผู้มีเงินได้ตาม (1)-(5) แต่ผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู ผู้มีเงินได้นำมาลดหย่อนได้ 1 คน

           2. หลักเกณฑ์และองค์ประกอบการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ

                      (1) คนพิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

                      (2) เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้มีเงินได้ตาม 1

                      (3) ผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู และมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ

                      (4) คนพิการมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท ในปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อน (ไม่รวมเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42)

                      (5) คนพิการต้องมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

                      (6) กรณีคนพิการมีผู้อุปการะเลี้ยงดูหลายคน ใครเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อนนั้น ให้ดูว่าผู้มีเงินได้คนใดมีชื่อเป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ ผู้มีเงินได้คนนั้นเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน

           3. หลักเกณฑ์และองค์ประกอบการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ

           กรณีคนทุพพลภาพที่ผู้มีเงินได้ซึ่งอุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพจะนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ ต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้

                      (1) ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ได้ตรวจ และแสดงความเห็นว่าบุคคลนั้น มีภาวะจำกัดหรือขาดความสามารถ ในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจาก สาเหตุทางปัญหาสุขภาพ หรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่อง มาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพ มาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน

                      (2) บุคคลทุพพลภาพต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท ในปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิ หักลดหย่อน (ไม่รวมเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42)

                      (3) บุคคลทุพพลภาพต้องมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

                      (4) ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ

           4. การรับรองและหลักฐานกรณีคนทุพพลภาพ

           กรณีคนทุพพลภาพที่ผู้มีเงินได้อุปการะเลี้ยงดูจะนำมาหักลดหย่อนได้ หลักฐานที่แสดงว่าเป็นคนทุพพลภาพคือ ใบรับรองแพทย์ และนอกจากหลักฐานใบรับรองแพทย์แล้ว ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรอง การเป็นผู้อุปการะ เลี้ยงดูคนพิการ ที่รับรองว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ

           ผู้รับรองต้องมีความสัมพันธ์กับคนทุพพลภาพ ดังนี้

                      สามี ภริยา
                      บุตรชอบด้วยกฎหมาย บุตรบุญธรรม หรือหลาน
                      บิดามารดา
                      พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
                      ปู่ย่าตายาย
                      ลุงป้าน้าอา

           ผู้รับรองอาจเป็นบุคคลอื่นก็ได้ อาทิ

                      กำนันผู้ใหญ่บ้าน ในท้องที่ที่บุคคลทุพพลภาพอยู่อาศัย
                      บุคคลที่เป็นสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในท้องที่ที่บุคคลทุพพลภาพอยู่อาศัย

           5. การใช้สิทธิและหลักฐานการหักลดหย่อน

                      (1) การหักค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้น จะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่

                      (2) กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้เฉพาะคนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

                      (3) กรณีผู้มีเงินได้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ และคนพิการดังกล่าวก็ยังเป็นผู้ทุพพลภาพด้วยการใช้สิทธิหักค่าลดหย่อน ให้หักได้ในฐานะเป็นคนพิการฐานะเดียว

                      (4) หลักฐานในการหักค่าลดหย่อน ผู้มีเงินได้ที่ใช้สิทธิหักค่าลดหย่อน อุปการะเลี้ยงดูคนพิการ คนทุพพลภาพต้องยื่นแบบ ล.ย.04 พร้อมหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษี

                      กรณีหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการ โดยแนบในส่วนที่แสดงว่า ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลด้วย

                      กรณีหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพให้แนบ


                               (ก) ใบรับรองแพทย์

                               (ข) หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04-1)

                      (5) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งเป็นคนพิการหรือ คนทุพพลภาพ เป็นสามีหรือภริยา และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปี ภาษีโดยภริยามีเงินได้ตามมาตรา 40(1) และแยกยื่นแบบต่างหาก จากสามีให้สามีภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ต่อบุตรที่พิการ หรือทุพพลภาพนั้น โดยสามีภริยาต้องแนบหลักฐาน ดังนี้

                      ภาพถ่ายแบบ แบบ ล.ย.04 ของผู้มีเงินได้ ซึ่งสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ได้ลงลายมือชื่อรับรอง

                     
ภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการ/ใบรับรองแพทย์และหนังสือการอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ (ล.ย.04-1)


หลักเกณฑ์การยกเว้นการหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

            1. เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

            2. ต้องเอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในไทย

            3. มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ จะจ่ายเท่ากันทุกงวดหรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้ โดยจะจ่ายตามการทรงชีพที่อาจมีการรับรองจำนวนงวดในการจ่ายที่แน่นอน

            4. มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปี หรือกว่านั้น และต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้ว ก่อนได้รับผลประโยชน์


ตารางสรุปการหักลดหย่อนและยกเว้นภาษี

ตารางสรุปการหักลดหย่อนและยกเว้นภาษี



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสรรพากร, ธนาคารกสิกรไทย, rpacc.co.th





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลดหย่อนภาษี 2557 รายการที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ อัปเดตล่าสุด 2 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 15:54:12 16,637 อ่าน
TOP