วิธีคิดเงินชราภาพประกันสังคม มาตรา 33 และ 39 คำนวณให้รู้ เกษียณแล้วได้บำนาญเดือนละเท่าไหร่

           วิธีคิดเงินชราภาพประกันสังคม หากเกษียณแล้วจะได้รับเงินบำนาญประกันสังคมเท่าไหร่ ใครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 มาดูสูตรคำนวณเงินชราภาพประกันสังคมกันเลย
เงินประกันสังคม

          คนที่ทำงานในระบบราชการ เมื่อเกษียณแล้วจะได้รับเงินบำนาญ ในขณะที่พนักงานเอกชน หากเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 หรือประกันสังคม มาตรา 39 ก็มีสิทธิรับเงินบำนาญที่เรียกว่า เงินชราภาพประกันสังคม ได้เช่นกัน ซึ่งก็มาจากเงินสมทบที่เราทยอยส่งมาทุกเดือนนั่นเอง แต่ทำอย่างไรถึงจะได้เงินก้อนนี้ แล้วจะได้เงินมาก-น้อยแค่ไหน เรามีสูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพประกันสังคมมาบอก

เงินชราภาพประกันสังคม
มีแบบไหนบ้าง

           เงินชราภาพประกันสังคม มีอยู่ 2 แบบ คือ เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินบำนาญชราภาพ ใครจะได้รับแบบไหน ขึ้นอยู่กับว่าได้ส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมมานานแค่ไหนแล้ว

1. ส่งเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน (15 ปี) : รับเงินบำเหน็จชราภาพ ก้อนเดียวจบ

  • ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 1 เดือน - 11 เดือน : ได้บำเหน็จเฉพาะส่วนที่เราเคยส่งสมทบไว้ แต่จะไม่ได้ส่วนที่นายจ้างร่วมจ่ายให้ด้วย

  • ส่งเงินสมทบ 12 เดือน - 179 เดือน : ได้บำเหน็จส่วนที่ตัวเองและนายจ้างจ่ายไว้ รวมกับกำไรที่ประกันสังคมนำเงินไปลงทุน โดยกำหนดอัตราผลตอบแทนที่ได้รับเป็นปี ๆ ไป

2. ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน (15 ปีขึ้นไป) : รับเงินบำนาญชราภาพทุกเดือนตลอดชีวิต

          โดยจะได้รับเงินก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ ต่อไปนี้

  • เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 หรือมาตรา 39 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป ไม่ว่าจะส่งต่อเนื่องหรือหยุดส่งในบางช่วงเวลาก็นับรวมหมด

  • อายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 

  • ได้สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้ว เช่น ลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม 

          ทีนี้มาถึงคำถามที่หลายคนอยากรู้ก็คือ เราจะรู้ได้ยังไงว่าจะได้เงินเท่าไร ตามมาดูสูตรคำนวณกัน

วิธีคิดเงินชราภาพประกันสังคม
กรณีจ่ายครบ 180 เดือน

วิธีคิดเงินชราภาพประกันสังคม

          สำหรับคนที่จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปีพอดิบพอดี จะได้รับเงินบำนาญเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

  • ผู้ประกันตน มาตรา 33 หากมีเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ให้คำนวณตามฐานเงินเดือนจริง แต่ถ้ามีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ให้คำนวณที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท

  • ผู้ประกันตน มาตรา 39 ให้คำนวณที่ฐานเงินเดือน 4,800 บาท

เงินบำนาญชราภาพ = (ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย) x 20 แล้วหาร 100

ตัวอย่าง :

  • นาย A เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้รับเงินเดือน 20,000 บาท ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี และได้ลาออกจากประกันสังคมเมื่ออายุ 55 ปี ดังนั้น นาย A จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ (15,000 x 20%) เท่ากับเดือนละ 3,000 บาท

  • นาย B เป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 หากส่งเงินสมทบครบ 15 ปี และลาออกจากประกันสังคมเมื่ออายุ 55 ปี นาย B จะได้เงินบำนาญชราภาพ (4,800 x 20%) เท่ากับเดือนละ 960 บาท

วิธีคิดเงินชราภาพประกันสังคม
กรณีจ่ายเกิน 180 เดือน

           คนที่ทำงานมานานและส่งเงินสมทบมามากกว่า 180 เดือน หรือตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป นอกจากจะได้เงินบำนาญตามสูตร 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายแล้ว ยังจะได้รับเงินบวกเพิ่มอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน ตามสูตรนี้
เงินบำนาญชราภาพ = (ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย) x [20 + (1.5 x จำนวนปีที่เกินจาก 180 เดือน)] แล้วหาร 100

ตัวอย่าง :

  • นาย C เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้รับเงินเดือน 30,000 บาท ส่งเงินสมทบมาแล้ว 18 ปี พออายุ 60 ปี ได้ลาออกจากงานและลาออกจากประกันสังคม ดังนั้น นาย C จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ [15,000 x [20+(1.5x3)]] / 100 = 3,675 บาทต่อเดือน

  • นาย D เคยเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ส่งเงินสมทบมา 15 ปี ก่อนจะลาออกมาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และส่งเงินสมทบต่ออีก 5 ปี รวมเป็น 20 ปี ถ้านาย D ลาออกจากประกันสังคม จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ [4,800 x [20+(1.5x5)]] / 100 = 1,320 บาทต่อเดือน

คํานวณเงินชราภาพประกันสังคม

ภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม

ตาราง
คำนวณเงินบำนาญประกันสังคม

          ถ้าไม่อยากคำนวณเองให้วุ่นวาย ก็ลองเทียบจำนวนปีที่ส่งเงินประกันสังคมจากตารางด้านล่างนี้เลย โดยในที่นี้จะคิดคำนวณจากกรณีต่อไปนี้

  • เป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 หรือมาตรา 39 มาตราเดียวเท่านั้นในช่วง 60 เดือนสุดท้าย (หากเป็นผู้ประกันตนทั้ง 2 มาตราในช่วง 60 เดือนสุดท้าย ต้องมาคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยอีกครั้ง และไม่สามารถใช้ตัวเลขจากตารางนี้ได้)

  • ระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบต้องเป็นจำนวนเต็มปีเท่านั้น หากมีเศษเดือนให้ตัดทิ้ง เช่น ส่งเงินสมทบมา 190 เดือน จะคิดเป็น 15 ปี แต่ถ้าส่งเงินสมทบมา 192 เดือน จะคิดเป็น 16 ปี

วิธีคิดเงินบํานาญประกันสังคม มาตรา 33 มาตรา 39

          ข้อสังเกตที่อยากให้ผู้ประกันตน มาตรา 33 พิจารณาก็คือ หากลาออกจากมาตรา 33 แล้วไปสมัครมาตรา 39 เพื่อต้องการใช้สิทธิรักษาพยาบาลต่อ จะทำให้ได้รับเงินชราภาพน้อยลงไปด้วย เนื่องจากมาตรา 39 จะคำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ฐานเงินเดือน 4,800 บาทเท่านั้น

          ตัวอย่างเช่น คนที่มีเงินเดือน 15,000 บาท ส่งประกันสังคม มาตรา 33 มาแล้ว 15 ปี จะได้เงินบำนาญเดือนละ 3,000 บาท แต่ถ้า 5 ปีสุดท้าย (60 เดือนสุดท้าย) เขาเปลี่ยนเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 เงินบำนาญที่ได้รับจะลดลงเหลือ 960 บาททันที

           อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นไปตามหลักการจ่ายเงินชราภาพที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตอาจมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย อาทิ ให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับบำนาญขอเลือกรับบำเหน็จแทนได้ หรือให้ผู้ประกันตนขอรับเงินชราภาพบางส่วนก่อนอายุ 55 ปี จึงต้องติดตามความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าว เพราะย่อมส่งผลต่อการคำนวณเงินชราภาพอย่างแน่นอน

บทความที่เกี่ยวข้องกับเงินชราภาพประกันสังคม

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก :  สำนักงานประกันสังคม (1), (2)
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีคิดเงินชราภาพประกันสังคม มาตรา 33 และ 39 คำนวณให้รู้ เกษียณแล้วได้บำนาญเดือนละเท่าไหร่ อัปเดตล่าสุด 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 13:27:52 19,711 อ่าน
TOP
x close