x close

5 สเต็ปติวเข้มก่อนเป็นนักลงทุน

การลงทุน

          ความมั่งคั่งสร้างได้ด้วยการวางแผนการลงทุน และทำตามแผนที่วางไว้อย่างสม่ำเสมอ

          เมื่อพูดถึงความมั่งคั่ง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการลงทุน หรือกล่าวได้ว่า ถ้าอยากรวยต้องรู้จักลงทุน แต่เชื่อว่าน้อยคนนักที่รู้ว่าต้องลงทุนอย่างไร ซึ่งการลงทุนที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่ต้องมีเงินลงทุนมาก ๆ หรือลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ แต่อยู่ที่การวางแผนการลงทุน โดยสิ่งที่เราควรทำหรือวางแผนก่อนลงทุนมี 5 ขั้นตอนง่าย ๆ ซึ่ง K-Expert ได้นำมาฝาก ดังนี้

การลงทุน

1. กำหนดเป้าหมายการลงทุน

          ก่อนเริ่มต้นลงทุน ควรถามตัวเองให้ชัดเจนก่อนว่า "เป้าหมายการลงทุนคืออะไร" หรือพูดง่าย ๆ ว่า "ออมเงินไปเพื่ออะไร" และไม่ควรตอบเพียงว่า เพื่อความร่ำรวย หรืออยากมีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง เพราะคำตอบเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่กว้างเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่บรรลุเป้าหมายการลงทุนได้ โดยเป้าหมายที่ดีต้องชัดเจน เป็นไปได้ และมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เช่น ตั้งเป้าหมายว่ามีเงินเก็บ 1 ล้านบาท ภายใน 10 ปี อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรายได้หรือความสามารถในการเก็บเงินของแต่ละคน ซึ่งหากประเมินแล้วเป้าหมายนี้ไม่สามารถเป็นไปได้ หรือทำได้ยาก จะได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมาย

          เมื่อรู้เป้าหมายว่าลงทุนเพื่ออะไรแล้ว จะสามารถประเมินได้ว่า ต้องลงทุนนานแค่ไหน ลงทุนต่อเดือนเท่าไร และลงทุนอย่างไรเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น นอกจากนี้ หากมีหลายเป้าหมาย สิ่งสำคัญที่ควรทำ คือ จัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายตามความจำเป็นในชีวิต

การลงทุน

2. ลงทุนด้วยเงินเหลือหรือเงินเย็น

          เงินที่นำมาลงทุนควรเป็น "เงินเหลือ" หรือ "เงินเย็น" คือ เป็นเงินที่เหลือจากการกันเงินส่วนหนึ่งสำหรับใช้จ่ายในยามฉุกเฉินแล้ว โดยเงินที่เก็บไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินควรมีประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน โดยสามารถเก็บในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง อย่างเงินฝาก หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น แล้วจึงนำเงินส่วนที่เหลือมาลงทุน

          นอกจากนี้ ไม่ควรกู้เงินมาลงทุน เนื่องจากเป็นเงินที่ต้องเสียดอกเบี้ยและมีกำหนดต้องจ่ายคืน ดังนั้น หากผลตอบแทนที่ได้รับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไป จะเท่ากับว่าขาดทุน รวมถึงหากนำเงินกู้ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น จะมีความเสี่ยงสูงในกรณีที่ถึงครบกำหนดชำระเงิน แต่เป็นภาวะตลาดหุ้นขาลง อาจต้องขายหุ้นในราคาที่ขาดทุนเพื่อนำเงินมาชำระคืนหนี้

การลงทุน

3. ทำความรู้จักตัวเอง

          ในโลกการลงทุนมีสินทรัพย์ให้ลงทุนหลายประเภท แต่ละประเภทมีอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ซึ่งความเสี่ยงจากการลงทุน คือ ความไม่แน่นอนของผลตอบแทน

          การตัดสินใจว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดถึงจะเหมาะสมนั้น จำเป็นต้องทำความรู้จักหรือสำรวจตัวเองเสียก่อนถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความสามารถในการรับความเสี่ยง ซึ่งจะแตกต่างกันตาม อายุ รายได้ ระยะเวลาการลงทุน นอกจากนี้ ยังต้องสำรวจตัวเองถึงความเต็มใจในการรับความเสี่ยง เช่น ทัศนคติ ความชอบหรือความสนใจในสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภท โดยความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงจะบอกว่าสามารถลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดได้บ้าง

          ขณะที่ความเต็มใจในการรับความเสี่ยงจะบอกว่าเราเหมาะกับสินทรัพย์ประเภทนั้น ๆ หรือไม่ เช่น คนวัยหนุ่มสาวเป็นวัยที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง สามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อย่างหุ้น กองทุนรวมหุ้น อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากขาดทุนจากการลงทุนมากนัก ก็จะเหมาะกับการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากกว่า อย่างพันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้

การลงทุน

4. ศึกษาสินทรัพย์ที่จะลงทุน

          เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองสนใจในสินทรัพย์ลงทุนประเภทใด คำถามถัดมาคือเรามีความเข้าใจในสินทรัพย์นั้นมากน้อยเพียงใด ทั้งผลตอบแทน ความเสี่ยง วิธีการซื้อขาย หากยังไม่แน่ใจ ควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ลงทุนประเภทนั้น ๆ ให้ดีเสียก่อน เช่น สนใจลงทุนในกองทุนรวม ก็ควรอ่านหนังสือชี้ชวนเพื่อศึกษาว่ามีนโยบายการลงทุนอย่างไร ลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง มีนโยบายจ่ายเงินปันผลหรือไม่ มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ตรงกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้หรือไม่

          การศึกษาทำความเข้าใจในสินทรัพย์ที่ลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแม้ว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่หากลงทุนด้วยความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์ ก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนมากขึ้นได้

การลงทุน

5. มุ่งมั่นกับการลงทุนให้สำเร็จ 
  

          สิ่งสำคัญที่ผู้ลงทุนควรมีติดตัว คือ ความมุ่งมั่น เพราะแม้ว่าแผนการลงทุนที่วางแผนไว้จะดีเพียงใด แต่หากขาดความตั้งใจ ขาดวินัย และขาดความอดทนในการออมการลงทุนแล้ว การไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้คงเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งเป้าหมายการเงินให้ตัวเองได้แล้ว รีบลงมือทำตามแผน อย่าผัดวันประกันพรุ่ง จนไปไม่ถึงเป้าหมาย

          นอกจากนี้ เมื่อเริ่มลงทุนแล้ว ควรมีการประเมินผลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุก 6 เดือน หรือ 12 เดือน หรือมีเหตุการณ์สำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของแผนการลงทุน เช่น ภาวะตลาดหุ้นผันผวน หรือการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย เพื่อปรับปรุงแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อรู้แล้วว่าการเป็นนักลงทุนต้องทำอย่างไรบ้าง อย่าลืมทำตามคำแนะนำอย่างต่อเนื่องเพื่อความมั่งคั่งในชีวิต

K-Expert Action

          •เก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน ก่อนนำเงินไปลงทุน
          •ลงทุนในสินทรัพย์ให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และระยะเวลาในการใช้เงิน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 สเต็ปติวเข้มก่อนเป็นนักลงทุน อัปเดตล่าสุด 26 กันยายน 2560 เวลา 11:53:30 9,638 อ่าน
TOP