x close

อึ้ง ! ค่าใช้จ่ายดูแลข้าวในคลังเดือนละพันล้าน เผยเจอข้าวเสียอื้อ ต้องจำใจทิ้ง

คลังข้าวโครงการจำนำข้าว

           แจงมาตรการจัดการคลังเก็บสินค้าในโครงการรับจำนำข้าว พบค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเดือนละ 1,000 ล้าน แถมรัฐยังขาดทุนมหาศาล ชี้นายกฯ ใช้ ม.44 เพื่อดูแลเจ้าหน้าที่ให้ทำงานได้อย่างสบายใจและโปร่งใส

           วานนี้ (6 พฤศจิกายน 2558) ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 67/58 ได้มีการพิจารณากระทู้ถามทั่วไป กรณีมาตรการในการจัดการเกี่ยวกับคลังเก็บสินค้าข้าวในโครงการรับจำนำข้าว ที่มี นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ว่ารัฐบาลมีมาตรการในการจัดการเกี่ยวกับคลังสินค้าที่เก็บข้าวเสื่อมคุณภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐาน รวมถึงข้าวเน่าเสียหรือไม่ และข้าวที่เก็บรักษาไว้ในคลังสินค้ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเป็นจำนวนเงินเท่าใด รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายการบริหารจัดการในการระบายข้าวเพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากข้าวในคลังสินค้าเสื่อมคุณภาพหรือต่ำกว่ามาตรฐานอย่างไร

           โดย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารงาน ได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อบริหารจัดการสต็อกข้าวของรัฐบาล โดยมีการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพของข้าว พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบสต็อกข้าวจำนวน 100 ชุดทั่วประเทศ ซึ่งได้มีการเก็บตัวอย่างมาดำเนินการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมตามสภาพของข้าว หลังจากการตรวจนับและตรวจสอบแล้ว ก็ตั้งต้นระบายข้าวในเดือนสิงหาคม 2557 โดยมีการประมูลอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานได้

           จากการตรวจสอบสต็อกข้าวทั้งหมด 18.7 ล้านตัน พบว่ามีข้าวที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานหรือหย่อนคุณภาพเล็กน้อย 12 ล้านตัน ข้าวต่ำกว่ามาตรฐานหรือข้าวเสีย 6 ล้านตัน และข้าวขาดบัญชี 4 แสนตัน ซึ่งได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของคลังข้าวที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และข้าวขาดบัญชีแล้ว นอกจากนี้ยังมีข้าวนอกคลังกลางที่จะต้องตรวจสอบอีกจำนวน 3 แสนตัน สำหรับค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา มีค่าเช่าคลัง ค่าฝากเก็บ การเก็บรักษา การรมยา ค่าเงินกู้ รวมทั้งการประกันภัย โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเดือนละ 1,000 ล้านบาท

           ในด้านการบริหารจัดการระบายช่วงที่ผ่านมา เริ่มระบายข้าวที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเปิดประมูลก่อนในเดือนสิงหาคม 2557 โดยชะลอในช่วงปลายเดือนมกราคม-พฤษภาคม และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เพื่อพยุงราคาและไม่ให้กระทบข้าวใหม่ที่กำลังออกมา ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงขณะนี้ ได้ระบายข้าวไปแล้ว 5 ล้านตัน นับเป็นเงิน 52,300 ล้านบาท คงเหลือ 13.7 ล้านตัน อย่างไรก็ตามสำหรับข้าวเสียที่อยู่ในขั้นตอนแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งต้องกันไว้เป็นของกลางนั้น ปรากฏว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้แจ้งเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ว่าอนุญาตให้นำข้าวเหล่านี้ออกระบายได้

           ทั้งนี้ขอยืนยันว่าคำสั่ง คสช. ที่คุ้มครองดูแลเจ้าหน้าที่ทำคดีจำนำข้าวนั้น เจตนารมณ์เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจ ยึดมั่นในความสุจริต และเที่ยงธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ต้องกลัวถูกฟ้องร้องหรือตรวจสอบวินัยย้อนหลัง ไม่ได้ใช้คำสั่งเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้กระทำผิด แต่ยอมรับว่าตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศได้ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างระมัดระวังมากขึ้น จนมีผู้ท้วงติงว่าทำงานช้า แต่เราก็พยายามดำเนินการให้เร็วที่สุดแล้ว โดยต้องโปร่งใส รอบคอบ สามารถตรวจสอบได้

           ขณะที่สำนักข่าวทีนิวส์ ได้มีรายงานการแจกแจงให้เห็นถึงที่มาของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยอ้างอิงจากคำธิบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พบว่าปัจจุบันยังเหลือปริมาณข้าวคงค้างสต็อกจากกระทรวงพาณิชย์อยู่ราว 13 ล้านตัน หลังจากเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีปริมาณสูงถึงกว่า 15 ล้านตัน ซึ่งสามารถจำแนกเกรดแบบคร่าว ๆ ได้ดังนี้

           1. ข้าวเกรดซี 4.60 ล้านตัน ข้าวเกรดนี้มีทั้งข้าวดีและเสียปะปนกันอยู่จะถูกนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ หรือไม่ก็เชื้อเพลิงพวกเอทานอล

           2. ข้าวเสีย 1.29 ล้านตัน ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

           3. ข้าวดี 9.57 ล้านตัน เป็นข้าวที่ยังรักษาคุณภาพเพื่อจำหน่ายสำหรับบริโภคได้

           ขณะนี้การตรวจสอบโกดังที่เก็บข้าวเสีย 1.29 ล้านตัน และข้าวเกรดซี 4.6 ล้านตัน ได้ดำเนินการใกล้จะเสร็จสิ้นหมดแล้ว และกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำแผนการระบายข้าวในส่วนนี้ ซึ่งจะเริ่มระบายก่อนชุดเล็ก ๆ เพื่อนำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยจะมีการวางระบบการตรวจสอบตั้งแต่ขนข้าวออกจากโกดังไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการรั่วไหลออกสู่ตลาดปกติ

           โดยการระบายข้าวข้าวเสียและข้าวเกรดซี มีโกดังที่เกี่ยวข้องมากประมาณ 1,300 โกดัง ซึ่งเมื่อระบายข้าวออกไปแล้วก็จะขายได้ในราคาต่ำกว่าที่รับฝากเก็บ รัฐก็ต้องฟ้องร้องเรียกค่าส่วนต่างจากเจ้าของโกดัง ซึ่งจะทำให้มีคดีความเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เจ้าของโกดังจะไม่ยอมจ่าย เลือกใช้วิธีฟ้องกลับภาครัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำเนินการระบายข้าวเพื่อประวิงเวลา ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อมี ม.44 ปัญหาเหล่านี้ก็หมดไป

           นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการคัดแยกข้าว 15 ล้านตันเป็นเกรดต่าง ๆ รวมถึงการแยกคุณภาพข้าวแต่ละกองเป็นรายกระสอบ ซึ่งพบว่ามีต้นทุนในการคัดแยก จากค่าแรงกระสอบละ 12 บาท และค่าเซอร์เวย์เยอร์ในการตรวจคุณภาพข้าว วันละ 1.2 หมื่นบาทต่อ 1 สาย ทำให้การคัดแยกมีต้นทุนตกอยู่ที่กระสอบละ 16 บาท ซึ่งยังไม่รวมค่าดำเนินการอื่น ๆ รวมถึงการจัดส่ง ที่คาดว่าอาจจะไม่คุ้มค่ากับการคัดแยกข้าวที่ยังมีคุณภาพดีออกจากข้าวเสีย ทำให้มูลค่าการขาดทุนของข้าวคงค้านสต็อกเพิ่มพูนขึ้นไปอีก โดยตัวเลขความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าว สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วนคือ

           1. ขาดทุนจากราคารับจำนำสูงกว่าตลาด
           2. ค่าดูแลรักษาข้าว
           3. ค่าจำแนกข้าวแต่ละประเภท
           4. กรณีเกิดการทุจริต

           ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้มีการเผยข้อมูลถึงค่าบริหารจัดการข้าวที่อยู่ในสต็อกของรัฐบาล ที่ต้องใช้งบประมาณกว่า 33 ล้านบาทต่อวัน รวม 1 ปีมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 12,045,000,000 บาท และการบริหารจัดการข้าวจำเป็นจะต้องมีมาตรการควบคุมในรายละเอียดที่ชัดเจน เพื่อป้องกันข้าวไหลกลับเข้ามาสู่ในระบบ ซึ่งจะกระทบต่อตลาดข้าวในรอบการผลิตใหม่

           น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังเปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมการค้าต่างประเทศถึงผลการเปิดประมูลข้าวสต็อกรัฐบาล ครั้งที่ 7/2558 ปริมาณ 4.45 แสนตัน ปรากฏว่าสามารถอนุมัติขายออกไปได้เพียงแค่ 4 ราย ปริมาณรวม 1.12 แสนตัน มูลค่าประมาณ 1,057 ล้านบาท เนื่องจากมีการเสนอราคาต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้ (ฟลอร์ แวลู) การอนุมัติขายข้าวในรอบนี้คาดว่ารัฐบาลจะขาดทุนตันละ 1.4 หมื่นบาท เมื่อคิดจากราคาต้นทุนข้าวสารในโครงการรับจำนำข้าวตันละ 2.4 หมื่นบาท เพราะสามารถขายได้ในราคาเฉลี่ยเพียงตันละ 1 หมื่นบาท รวมแล้วจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 1,400 ล้านบาท ทั้งนี้หากรวมการประมูลข้าวทั้งหมด 11 ครั้งของรัฐบาลชุดนี้ที่อนุมัติขายไปแล้ว พบว่าขาดทุนแล้วทั้งสิ้น 6.52 หมื่นล้านบาท

           จากข้อมูลที่ปรากฏไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะพบว่ามีแต่ค่าใช้จ่าย และสิ้นเปลืองงบประมาณของชาติ ประกอบกับการจะระบายข้าวที่อยู่ในสถานะของกลางทางคดี ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นกังวล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จึงตัดสินใจใช้ ม.44 เพื่อเข้ามาแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า สร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่อย่างสุจริตว่าจะไม่ถูกฟ้องร้อง

           ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกเสียใจที่ต้องนำเอาข้าวที่เกิดจากหยาดเหงื่อของชาวนามาเผาเพื่อใช้ทำพลังงาน เนื่องจากข้าวในโครงการส่วนใหญ่เป็นข้าวเสื่อมสภาพจนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ หรือทำเป็นอาหารสัตว์ได้


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อึ้ง ! ค่าใช้จ่ายดูแลข้าวในคลังเดือนละพันล้าน เผยเจอข้าวเสียอื้อ ต้องจำใจทิ้ง อัปเดตล่าสุด 9 พฤศจิกายน 2558 เวลา 11:12:04 13,077 อ่าน
TOP