x close

18 ข้อคิดมนุษย์เงินเดือน สู่อิสรภาพทางการเงิน

18 ข้อคิดมนุษย์เงินเดือน

เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณ maibat สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม, เฟซบุ๊ก Maibat ข้อคิดการเงิน

          เส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงินของมนุษย์เงินเดือน กับข้อคิดที่ต้องอ่าน อยากบอกลาชีวิตมนุษย์เงินเดือนสักที มาดูข้อคิดเหล่านี้กันด่วน

          ใคร ๆ ต่างก็อยากสบายกันทั้งนั้น แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานหนักเพื่อแลกความสุขสบายแค่ช่วงปลายเดือนแล้ว การก้าวสู่ชีวิตอิสระที่ไม่ต้องทำงานหนักอาจดูเป็นเรื่องยากไปสักหน่อย จนหลายคนถอดใจและยอมใช้ชีวิตไปแบบเดือนชนเดือน แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นอิสระทางการเงินไม่ได้ เพราะวันนี้กระปุกดอทคอมมีข้อคิดดี ๆ เพื่อก้าวสู่อิสรภาพทางการเงิน จาก คุณ maibat สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม มาเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวมนุษย์เงินเดือนกันค่ะ


18 ข้อคิดสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อยากมีอิสรภาพทางการเงิน โดยคุณ maibat

          อาชีพมนุษย์เงินเดือนเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ในประเทศ มีรายได้มั่นคงแต่น้อยคนนักที่พบกับอิสรภาพทางการเงิน ผมขอแชร์แนวคิดจากประสบการณ์ตรง โดยที่ผมวางเป้าหมายส่วนตัวอยากมีอิสรภาพทางการเงินอายุไม่เกิน 45 ปี และมีทรัพย์สินที่สร้างรายได้เพียงพอตลอดทั้งชีวิต

1. จงรู้จักออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย

          ซึ่งเคล็ดลับอยู่ที่ควบคุมความอยากของตนเอง โดยการทยอยซื้อของชิ้นใหญ่ อย่าซื้อทีเดียวติดกัน เช่น โทรศัพท์มือถือ แพคเกจเที่ยว และรถยนต์ ให้เว้นช่วงห่างกันเป็นเดือน ๆ เพราะความอยากของคนเราไม่มีที่สิ้นสุด ที่สำคัญควรซื้อของที่มีโอกาสได้ใช้จริง ผมตั้งเป้าอัตราการออม 30-70% ของรายได้ทั้งปี ตามรายได้ที่มากขึ้น

2. จงเก็บเงินโบนัสไว้ให้ดี

          เพราะเป็นเงินก้อนที่เอาไปลงทุนได้ ผมให้รางวัลตัวเองในแต่ละปีไม่เกิน 30% ของเงินโบนัสที่เหลือเก็บเอาไปลงทุน

3. จงเริ่มต้นเก็บเงินล้านบาทแรกให้ได้

          แล้วล้านบาทต่อไปจะตามมา ผมคิดว่าคำกล่าวนี้จริงและรู้สึกว่าเก็บเงินล้านบาทหลังจะเร็วขึ้นเรื่อย ๆ

4. จงเลือกทำงานที่ตนเองชอบและถนัดในธุรกิจที่มีอนาคต

          จะทำให้เงินเดือนและตำแหน่งเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญควรเลือกทำงานกับเจ้านายฉลาดและส่งเสริมให้เราก้าวหน้า 


18 ข้อคิดมนุษย์เงินเดือน


5. จงใช้บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือในการลดค่าใช้จ่าย

          ควรใช้บัตรเครดิตซื้อของที่ต้องการซื้ออยู่แล้ว อย่าใช้จ่ายเกินตัว เพราะบัตรเครดิตให้ส่วนลด คะแนนสะสม และเงินคืนกลับมาดีกว่าการใช้เงินสด ผมใช้บัตรเครดิตหลายใบโดยชำระเต็มจำนวน และใช้บัตรที่ให้ส่วนลดสำหรับร้านค้านั้น ๆ มากที่สุด

6. จงลองคิดมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่สามารถทำได้ง่ายและเห็นผลจริง

          ผมเคยทำสำเร็จมาแล้วโดย วิธีการแรก ทำเรื่องรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อลดดอกเบี้ย วิธีการสอง เอารถไปติดแก๊สเพื่อลดค่าน้ำมัน วิธีการสาม เปลี่ยนเคเบิลเป็นแบบไม่มีค่ารายเดือน พบว่าช่วยประหยัดไปเป็นแสนบาทต่อปี

7. จงหาทางลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด

          เพราะเป็นการเพิ่มเงินออมโดยตรง ได้แก่ ประกันชีวิต กองทุน LTF/RMF ดอกเบี้ยบ้าน เครดิตภาษีหุ้นปันผล ผมจ่ายภาษีจริงน้อยกว่าครึ่งของภาษีที่คำนวณได้

8. จงเริ่มทำบันทึกการเติบโตของรายได้และสินทรัพย์สุทธิเป็นประจำทุกปี

          ต้องกำหนดเป้าหมายการเติบโตของสินทรัพย์ในแต่ละปีเพื่อเป็นแนวทางบรรลุเป้าหมายทางการเงิน

9. จงหัดออมเงินในรูปแบบอื่นนอกจากฝากเงินกับธนาคาร

          ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้ และประกันชีวิต เพราะผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ผมออมเงินไว้หลากหลายรูปแบบประมาณ 40% ของสินทรัพย์สุทธิ

10. จงหัดลงทุนเพื่อให้มีรายได้เสริม

          ซึ่งอาจจะเป็นรายได้หลักในอนาคต เช่น ลงทุนในหุ้น กองทุนรวมตราสารทุน ทอง คอนโด และขายของออนไลน์ ก่อนลงทุนต้องศึกษาให้รู้จริงและดูว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ผมเคยลองมาหลายอย่างปัจจุบันเน้นลงทุนหุ้นกับคอนโดเป็นหลัก ลงทุนประมาณ 40% ของสินทรัพย์สุทธิ

11. จงเลือกทรัพย์สินที่มิใช่การลงทุนให้ดี

          ได้แก่ บ้านและรถยนต์ที่เราใช้อยู่ เพราะไม่ได้เปลี่ยนกันบ่อย ๆ และถือเป็นต้นทุนจมจนกว่าขายออกไป ผมเลือกบ้านที่ทำเลดี ราคาคุ้มค่า และไปทำงานสะดวก โดยไปเยี่ยมชมโครงการมาไม่น้อยกว่า 50 แห่งก่อนตัดสินใจซื้อ เลือกรถที่เป็นที่นิยมของตลาด ราคาคุ้มค่า และไม่เสียบ่อย เพราะเราจะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น เงินอยู่ในนี้ประมาณ 20% ของสินทรัพย์สุทธิ

12. จงเรียนรู้การลงทุนโดยใช้เงินคนอื่น

          เช่น การกู้เงินซื้อคอนโด เพราะเราจะได้กำไรมากจากเงินลงทุนน้อย ผมลงทุนคอนโดย่านพระราม 9 ซื้อไว้เมื่อ 4 ปีก่อนราคา 1.8 ล้านบาทโดยใช้เงินตนเอง 2 แสนบาท ที่เหลือกู้ธนาคารผ่อนจ่ายเดือนละ 1 หมื่นบาท ปล่อยเช่ามาตลอดได้เดือนละ 1.4 หมื่นบาท ราคาตลาดปัจจุบันที่ขายกันในเว็บไซต์ราคา 2.7 ล้านบาท ถ้าขายไปจะได้กำไรประมาณ 1 ล้านบาทเท่ากับ 400% จากเงินลงทุนจริง

13. จงรักษาเครดิตบูโรของตนเองให้ดี

          เพราะมีผลต่อการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคาร เช่น สมัครบัตรเครดิต กู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถ ผมไม่เคยผิดนัดชำระทำให้การทำธุรกรรมกับธนาคารผ่านตลอด

14. จงระวังวิกฤตเศรษฐกิจ

          เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ วิกฤตแฮมเบอร์ ทำให้คนรวยจนลงในพริบตา ความรู้เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญทำให้เข้าใจวงจรเศรษฐกิจที่มีทั้งเติบโตและตกต่ำสลับกันไปมาตลอด การสังเกตดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ ช่วยให้ลงทุนถูกจังหวะและความเสี่ยงไม่สูงจนเกินไป

18 ข้อคิดมนุษย์เงินเดือน

15. จงเลือกนำเงินไปลงทุนเฉพาะเงินเย็น

          เพราะการลงทุนต้องใช้เวลาและมีโอกาสขาดทุน หากขาดทุนจริงเราก็ไม่เดือดร้อน ผมกำหนดเงินสดขั้นต่ำที่เอาไว้ใช้จ่ายอย่างน้อย 12 เดือน ส่วนที่เหลือก็เอาไปลงทุนได้

16. จงศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

          จากหนังสือ เข้าอบรมสัมมนา เว็บไซต์ เว็บบอร์ด แฟนเพจ ยูทูบ แอพพลิเคชั่น และเพื่อน ๆ ทำให้มีความรู้ลึกซึ้งมากขึ้น

17. จงเรียนรู้จากการลงทุนผิดพลาดในอดีต

          ทุกคนที่เคยลงทุนต้องเคยขาดทุนเป็นเรื่องธรรมดา ผมเองเคยขาดทุนจากวอเรนต์เกือบแสน เคยติดหุ้นวงในมาเกือบสิบปีเพิ่งจะขายได้ ผมไม่เลิกลงทุนในหุ้นแต่จะเลิกเล่นหุ้นในแบบที่เคยเจ็บตัว

18. จงมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ

          เพราะความมุ่งมั่นจะเป็นแรงขับดันลึกลับที่จะพาเราไปถึงฝัน ผมทำข้อต่าง ๆ ที่กล่าวมาเป็นประจำจนเป็นนิสัยซึ่งจะพาเราไปถึงฝันสักวันหนึ่ง การมีอิสรภาพทางการเงิน คืออยากจะทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำอย่างแท้จริง โดยที่ยังมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอแม้ไม่ต้องทำงาน

          เพื่อน ๆ มีความคิดเห็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบข้อไหนกันบ้างครับ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
18 ข้อคิดมนุษย์เงินเดือน สู่อิสรภาพทางการเงิน อัปเดตล่าสุด 26 สิงหาคม 2559 เวลา 17:00:56 5,858 อ่าน
TOP